เกม..แห่งชีวิต (๒)

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 25 ตุลาคม 2009

พวกเราต่างล้วนมีประสบการณ์กับเกมการพนัน เกมการเสี่ยงดวง  ทุกเช้าหลายคนรีบเร่งสาวเท้าให้ไวและเร็ว คาดหวังว่าเราจะไปให้ทันกับรถเมล์ที่กำลังเคลื่อนตัว ภาวนาว่าคนขับคงชะลอรถรอเราได้  หรือเมื่อพวกเราขับรถ เราก็อดลุ้นและนึกพนันในใจว่า ทัน ไม่ทัน กับไฟเขียวไฟแดงข้างหน้า ผลการพนันที่ออกมาก็คือ ทัน กับไม่ทัน เสียเวลามากหรือเสียเวลาน้อย  ขณะเดียวกันเวลาที่เรารักใครสักคน เกมพนันที่ผุดขึ้นในใจทันทีก็คือ เราจะสมหวังหรือผิดหวัง  พร้อมๆ กับทุกสิ้นปี เกมพนันในใจก็คือ เราจะได้รับเงินเดือนขึ้นเท่าไร โบนัสเท่าไร  หรือเมื่อมีข่าวคราวเรื่องการปลดพนักงาน สิ่งที่ผุดขึ้นในใจคือ เราโดนหรือไม่โดน

ทุกเช้าเมื่อเราลืมตาตื่น เรารู้ได้ว่ากิจวัตรที่เกิดขึ้นในวันนี้จะเป็นอย่างไร  หากว่าเรามีกิจธุระที่ธนาคาร ร้านค้า หรือโทรศัพท์หาเพื่อน พูดคุยกับเพื่อนผ่านทางอินเทอร์เน็ต เราคาดหมายได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เนื่องเพราะโครงสร้างและระเบียบสังคมกำหนดอยู่  แต่ความจริง เรารู้และตระหนักกับจิตใจของเราดีว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่คาดหมาย ไม่คาดคิด ต่างสามารถเกิดขึ้นได้  คนคุ้นเคยที่เราได้พบปะ พูดคุยเมื่อวันวาน เราอาจพบว่าคนคุ้นเคยเหล่านี้ได้จากเราไปแล้ว  หรือเราก็อาจพบว่าความเป็นตัวเรา สถานภาพของตัวเราเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยไม่คาดคิด เช่นหลายคนที่กลับกลายจากเศรษฐีกลายเป็นยาจก จากสภาพเจ้าหนี้กลายเป็นลูกหนี้ได้  หรืออารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อ ทัศนคติของเรา หรือคนสำคัญที่เคยผูกคำสัญญากับเรา ก็สามารถแปรเปลี่ยนได้  เราล้วนต่างอยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์ แต่พื้นฐานจิตใจของเราไม่ยอมรับ

เรามักเลือกที่จะพนันขันต่อกับกฎกติกาชีวิตในข้อนี้ เช่น เราเชื่อโดยไม่ต้องคิดนึกทบทวนว่า “ความสุขพึงต้องอยู่กับเราตลอดไป” “เราสามารถจัดการหรือกำจัดความทุกข์ได้” หรือ “ความทุกข์เป็นสิ่งน่ารังเกียจ พึงหลีกเลี่ยง” และที่สำคัญเราหลอกลวงตนเองว่า เราน่าจะได้รับการยกเว้นในกฎกติกาข้อนี้  ขณะเดียวกันในบางจังหวะของเกมชีวิต เราก็ปิดกั้นตัวเอง และขังตัวเองอยู่ในโลกของความมั่นคง ปลอดภัย ด้วยการเลือกอยู่ เลือกกระทำในสิ่งที่เป็นความคุ้นเคย เช่น อุปนิสัยความเคยชิน การอยู่กับความกลัว  สิ่งที่น่าสนใจของเกมชีวิตเช่นนี้คือ ผลแพ้ชนะไม่ใช่จำนวนเงินได้หรือเสียแบบที่เราคุ้นเคยในเกมการพนัน  แต่ผลแพ้-ชนะของเกมชีวิตที่เราเผชิญคือ การมีชีวิตที่เหมือนกับการถูกกัด-ข่วน เกิดเป็นบาดแผลชีวิตเล็กหรือใหญ่ก็ได้

“ต้น” เล่าประสบการณ์เล็กๆ แต่น่าสนใจให้ฟังว่า ในยามเย็นขณะที่เธอกำลังทานอาหารเย็นกับแม่ สนทนาตามประสาแม่ลูกจนใกล้เสร็จสิ้น น้องชายของเธอก็กลับบ้านและมาร่วมทานอาหารเย็นด้วย  ไม่นานคุณแม่ก็เอาซองกฐินที่ร่วมทำบุญมาให้ลูกชายอธิษฐาน อนุโมทนาในการร่วมบุญด้วย  พริบตาที่เธอได้เห็นเหตุการณ์ตรงนั้น ความรู้สึกนึกคิดน้อยใจ โกรธ และเสียใจก็ผุดพรายขึ้นมากลางหน้าอก  คำถามผุดขึ้นในใจทันทีว่า “อ้าว เกิดอะไรขึ้น” “ทำไมและทำไม .. เธอจึงได้รับการปฏิบัติที่ดูไม่เท่าเทียมจากคุณแม่เช่นนี้” (เหตุการณ์สืบเนื่องจะเป็นอย่างไร คงขอเปิดโอกาสให้ผู้อ่านใช้สิทธิในการจินตนาการต่อไปได้เต็มที่)

อีกเหตุการณ์ก็คือ “ตาล” เล่าประสบการณ์ที่ตนเดินทางไปปฏิบัติธรรมที่แห่งหนึ่ง  ด้วยไม่คุ้นเคยกับสถานที่ ทำให้เธอหลง โชคร้ายที่เป็นยามโพล้เพล้และใกล้ค่ำ เธอจำเป็นต้องเดินตัดผ่านกลางทุ่งหญ้าซึ่งจะช่วยย่นระยะทางการเดินทางให้ถึงที่พักได้เร็วขึ้น  แต่สิ่งที่ผุดขึ้นในใจเธอคือ ความกลัวต่อภัยอันตรายที่เกิดจาก “งู” เธอกลัวงูมาก และพบว่าช่วงการเดินตัดผ่านทุ่งหญ้า มันช่างทรมานและเลวร้ายเหลือเกิน ในหัวสมองเห็นแต่ภาพงูเต็มไปหมด  ในที่สุดเธอก็ถึงที่หมาย ท่ามกลางความโล่งใจและน้ำตา

อีกเหตุการณ์คือ “เตย” จากการลองเล่นพนันบอล เริ่มต้นจากเงินจำนวนไม่กี่ร้อย ชัยชนะและเงินรายได้ที่เข้ามาอย่างง่ายดาย ค่อยๆ สร้างความชะล่าใจที่จะทำให้เตยค่อยๆ กล้าเล่นพนันบอลด้วยวงเงินที่สูงมากขึ้นและมากขึ้น และในที่สุดเตยก็พบว่าตนเองถลำลึกเมื่อตนเองตกเป็นหนี้พนันร่วมแสนบาท  ความโลภที่ค่อยๆ เพิ่มพูนมันก็ค่อยๆ พาเตยลงสู่หุบเหวนรกด้วย  โชคดีอยู่บ้างที่เตยสามารถหยุดตนเองได้ ก่อนที่หนี้พนันจะบานปลาย

สิ่งที่สะท้อนในทั้งสามเหตุการณ์ก็คือ เหตุปัจจัยที่ทำให้เราต้องเป็นทุกข์ โดยเฉพาะความทุกข์ทางจิตใจ เราสามารถแยกได้ ๒ ลักษณะคือ ตัวเราเอง และเหตุปัจจัยจากภายนอก  ตัวอย่างที่สอง สาเหตุความทุกข์ หลายคนอาจมองว่าคือ งู แต่หากพินิจให้ดีก็จะพบว่าแท้จริง “งู” ที่หลอกหลอนก็คือ งู ในความรู้สึกนึกคิดของตัวเธอนั่นเอง  พร้อมกับที่ตัวอย่างแรกที่ดูเหมือนสาเหตุความทุกข์จะมาจากการกระทำของคุณแม่ แต่สิ่งที่ทำให้เรื่องราวความทุกข์นั้นบานปลายก็คือ ความรู้สึกนึกคิดที่ปรุงแต่งในจิตใจวุ่นวายใหญ่โต  ขณะที่เหตุการณ์สุดท้าย ความโลภเป็นสาเหตุสำคัญ พร้อมกับที่ค่านิยมสังคม รวมถึงช่องทางส่งเสริมเกมพนันบอลก็มีส่วนผลักดันให้เกิดความทุกข์อยู่ด้วย โดยเฉพาะกับผู้คนที่มีภูมิต้านทานต่ำต่อความโลภและค่านิยมที่ล่อลวงเช่นนี้

แท้จริงสาเหตุภายนอกอาจมีส่วนอยู่บ้าง แต่ที่แท้ สิ่งที่ทำร้ายตัวเรามากที่สุดก็คือตัวเราเอง  คำพูดคมคายประโยคหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า “ไม่มีสิ่งใดทำร้ายเราได้ ถ้าเราไม่อนุญาต”  ใช่หรือไม่ว่าตัวเรานั่นเองที่คาดหวัง กดดัน ให้รางวัลและลงโทษทัณฑ์ ยามที่เราผิดหวังจากสิ่งที่ต้องการ หรือยามที่เราได้รับในสิ่งที่ไม่พึงประสงค์

เราล้วนอยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์ แต่พื้นฐานจิตใจของเราไม่ยอมรับ

ที่สุดแล้วเกมชีวิตนี้คืออะไร  เราทุกคนต่างรู้ดีว่าปลายทางของชีวิต เราต้องจากโลกนี้ไป ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีและยึดถือ ในที่สุดเราก็ต้องคืนกลับไป  ทรัพย์สมบัติที่หามาก็ต้องตกเป็นของญาติมิตรคนอื่นต่อไป พร้อมกับที่ร่างกายที่เราพยายามดูแลรักษา เราก็ต้องคืนสู่ผืนดินในรูปซากศพหรือเถ้าถ่าน  สิ่งที่เรานำติดตัวไปได้ก็คือ คุณความดี และภาวะการตายช่วงขณะของการลาจากว่า เราจะตายดี หรือตายไม่ดี

ทุกจังหวะก้าวของเกมชีวิต บางเหตุการณ์คือโอกาสสำคัญของการเปลี่ยนแปลง บางเหตุการณ์คือบทเรียนอันมีค่า เท่าๆ กับที่หลายๆ เหตุการณ์เป็นความทุกข์ยากเจ็บปวด  เราพบได้ว่าในเหตุการณ์ที่เป็นความทุกข์ ความเจ็บปวด เราสามารถพบแสงสว่างได้เช่นกัน  สำหรับ “ตาล” การได้ประจักษ์ชัดเจนว่า งูที่สร้างความหวาดกลัว แท้จริงมาจากการนึกคิดปรุงแต่งของตัวเอง ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นให้ตาลสนใจศึกษาธรรมะ เรียนรู้เรื่องของสติ  ส่วน “ต้น” เรียนรู้ที่จะเท่าทันความคิดของตนเอง  เช่นเดียวกับ “เตย” ที่เรียนรู้และเข็ดหลาบจากการเป็นหนี้สิน

ท้ายที่สุดของเกม จึงไม่ใช่เพียงผลแพ้ชนะ แต่คือเราได้เรียนรู้อะไรจากเกมชีวิตแต่ละขณะหรือไม่  การที่เราสามารถเรียนรู้ได้ นั่นคือสิ่งมหัศจรรย์ในชีวิต และหมายถึงการที่เรามีเทพคุ้มครองให้เราได้มีสติและปัญญาเพื่อช่วยนำทางชีวิต

ขอเราทุกท่านได้เล่นเกมชีวิตนี้อย่างดี ด้วยสติ ปัญญา และสัมปชัญญะ


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน