เงินวัดไปไหน?

สมเกียรติ มีธรรม 23 มิถุนายน 2001

อารามหรือที่เราเรียกกันในปัจจุบันว่า “วัด” นั้น หมายถึงที่มายินดี หรือสวนเป็นที่รื่นรมย์  โดยความหมายนี้ จะมีวัดสักกี่แห่งที่ยังคงสภาพบรรยากาศของวัดให้เป็นสถานที่รื่นรมย์น่ายินดีไว้ได้  สถานที่รื่นรมย์และน่ายินดีนั้นต้องเป็นสถานที่หรือบุคคล ซึ่งเป็นที่สบาย เกื้อกูล หรืออำนวยแก่การบำเพ็ญ และประคับประคองรักษาสมาธิ  ซึ่งในทางพุทธศาสนาเรียกว่า “สัปปายะ” มี 7 อย่างด้วยกัน กล่าวคือ ที่อยู่อาศัย ที่บิณฑบาตหรือแหล่งอาหาร มีการพูดคุยแต่เรื่องที่เสริมการปฏิบัติ มีผู้เกี่ยวข้องด้วยช่วยให้จิตผ่องใส่สงบมั่นคง มีอาหาร และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม  ทั้ง 7 อย่างนี้เป็นปัจจัยภายนอกสำคัญที่เอื้อต่อการศึกษาพัฒนาตนเองตามหลักพระพุทธศาสนา

แต่สภาพปัจจุบัน วัดวาอารามตามเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ได้ลดทอนความสัปปายะ คือที่ซึ่งสบาย เกื้อกูล หรืออำนวยแก่การบำเพ็ญ และประคับประคองรักษาสมาธิลงไปอย่างน่าเสียดาย  วัดกลายเป็นสถานที่อะไรไม่รู้ที่ไม่เอื้อและส่งเสริมการปฎิบัติธรรมแต่อย่างใด มีสิ่งก่อสร้างใหญ่โตหรูหราอัปลักษณ์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน  บางวัดสร้างกุฏิที่พัก ศาลา อาคาร วิหารใหญ่โตสูงไม่รู้กี่ชั้นต่อกี่ชั้น แลดูแทบจะไม่รู้ว่าเป็นวัดเอาเสียเลย รกรุงรังหาความร่มรื่นสบายไม่ได้ จนทำให้ฆราวาสหลายท่านเบื่อวัด ไม่อยากเข้าวัดเลยก็มี  โดยนัยนี้สวนสาธารณะและศูนย์การค้าใหญ่ๆ จึงสามารถดึงคนให้มาพบปะกัน สนุกสนานตามวิถีทางที่วัดเอื้อให้แก่เขาไม่ได้  ผู้คนจะเข้าวัดทีก็ตอนมีทุกข์ ทำบุญ สะเดาะเคราะห์ ดูโชคชะตา หรืออย่างมากก็เข้ามาปฏิบัติธรรมบ้างเท่านั้น  มิหนำซ้ำเข้าวัดทุกครั้งก็ต้องจ่ายสตางค์ไม่ต่างจากเข้าห้างสรรพสินค้าแต่อย่างใด เพราะเหตุนี้คนหนุ่มสาวร่วมสมัยจึงเฮกันไปห้างสรรพสินค้ามากกว่าวัด

จากงานวิจัยของเรืองฤทธิ์ ประสันรักษ์ เรื่อง “รายรับรายจ่ายของวัดไทยในกรุงเทพมหานคร” เมื่อปี 2539 พบว่า รายได้ของวัดส่วนใหญ่มาจากการบริจาคทำบุญ ก่อสร้างเสนาสนะ และบูรณปฏิสังขรณ์มากที่สุด คือมีรายได้เฉลี่ยต่อปีต่ำสุด 30,000 บาท สูงสุด 6,300,000 บาท มีผู้บริจาคมากที่สุดอยู่ระหว่าง 100,000 บาท ถึง 500,000 บาท  ส่วนรายได้จากการจัดงานประจำปี เฉลี่ยต่อปีมากที่สุดอยู่ในระหว่าง 100,000 บาท ถึง 800,000 บาท  งานพิเศษอื่นๆ รายได้ของวัดโดยเฉลี่ยจะอยู่ในระหว่าง 120,000 บาทถึง 550,000 บาท  ขณะที่ฌาปนสถานมีรายได้อยู่ที่ 5,000 ถึง 900,000 บาทต่อปี  รายได้จากที่จอดรถและให้เช่าที่ ต่ำสุด 10,000 บาท 5,000 บาท และสูงสุด 540,000 บาท และ 1,500,000 บาทต่อปี  นอกจากนี้ยังมีรายได้ที่เกิดจากการให้เช่าวัตถุมงคล รายได้ของมูลนิธิ รายได้ที่รัฐบาลสนับสนุน และรายได้จากอื่นๆ ต่ำสุด (เรียงตามประเภท) 10,000 บาท 200,000 บาท 2,000 บาท และ 30,000 บาท  สูงสุด (เรียงตามประเภท) 700,000 บาท 11,000,000 บาท 15,800,000 บาท และ 500,000 บาทต่อปี  ขณะที่ดอกผลของเงินมูลนิธิต่ำสุดเฉลี่ย 10,000 บาท สูงสุด 5,084,366 บาทต่อปี

รายได้มากมายมหาศาลโดยไม่ต้องทำงานเช่นนี้ วัดจึงกลายเป็นแหล่งสะสมทุน (เงิน) สำคัญที่ทำให้หลายฝ่ายกำลังเป็นห่วงวิถีชีวิตของพระสงฆ์ในพรมหจรรย์นี้ว่า ผ่องใสสงบมั่นคงหรือไม่  ขณะที่สมภารวัดใหญ่ๆ นั่งรถเบนซ์ มีเครื่องอำนวยความสะดวกมากมายในกุฏิวิหาริก มีโทรศัพท์มือถือ มีคอมพิวเตอร์ และอื่นๆ อีกมากมาย  ซึ่งคณะสงฆ์ไทยควรจะออกมาตอบคำถามเหล่านี้ให้ชัดเจนว่า วิถีชีวิตแบบพุทธนั้นเป็นอย่างไร การก่อสร้างและสะสมเงินมากมายนั้นถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัยหรือไม่

รายได้ของวัดส่วนใหญ่มาจากการบริจาคทำบุญ ก่อสร้างเสนาสนะ และบูรณปฏิสังขรณ์มากที่สุด คือมีรายได้เฉลี่ยต่อปีต่ำสุด 30,000 บาท สูงสุด 6,300,000 บาท

จากงานวิจัยชิ้นเดียวกัน ได้ชี้ให้เห็นว่าเงินที่ได้มามากมายนั้น ส่วนใหญ่ใช้จ่ายไปในงานก่อสร้าง และบูรณปฏิสังขรณ์มากกว่าการศึกษา โดยเฉลี่ยอยู่ในระหว่าง 1,000,000 – 6,500,000 บาท  ขณะที่งานด้านการศึกษาพัฒนามนุษย์ กลับมีรายจ่ายเพียงร้อยละ 7.6 เท่านั้น  ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายในการเผยแผ่และสาธารณูปการ ซึ่งมีรายจ่ายเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่ 6,000 บาท 10,000 บาท สูงสุด 1,000,000 บาท และ 5,000,000 บาทต่อปี

หากนำเอารายรับทั้งหมดรวมกัน แล้วลบด้วยรายจ่ายสุทธิ ก็จะมีเงินคงเหลืออีกมากมายให้พระสงฆ์ไว้จับจ่ายใช้สอยกันอย่างสบาย  เพราะเหตุนี้ผู้ที่ไม่มีทางไปจึงได้แห่มาพึ่งผ้ากาสาวพัตร์จนพระวิทยาธรไล่จับกันไม่ไหว ยิ่งนานวันก็ยิ่งเฮกันมาบวชมากขึ้นตามลำดับ  พร้อมกับทิ้งคำถามให้แก่สังคมต่อการดำเนินชีวิตพรหมจรรย์ของพระสงฆ์ในขณะนี้ ซึ่งมีเรื่องเงินๆ ทองๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย และน่าจะทำให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ไม่เฉพาะแต่มูลนิธิเท่านั้น วัดซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายก็ควรได้รับการตรวจสอบให้ถูกต้องโปร่งใสด้วยเช่นกัน  หาไม่แล้วเงินมากมายที่ได้จากการทำบุญของชาวบ้าน ก็อาจจะไหลไปรวมกันในบัญชีของสมภารวัดต่างๆ ทั้งทางฝ่ายธรรมยุติ และมหานิกายก็ได้

โดยนัยนี้กฎหมายฟอกเงินที่ประกาศออกมาเร็วๆ นี้ ก็น่าจะมีการนำมาตรวจสอบรายรับรายจ่ายของวัดให้ถูกต้อง สะอาด  พระสงฆ์ท่านก็จะไม่หวาดกลัวอีกต่อไป ทั้งยังเป็นการเกื้อหนุนท่านให้ดำเนินชีวิตพรหมจรรย์ได้ดีอีกด้วย


ภาพประกอบ