เงินหรือชีวิต?

พระไพศาล วิสาโล 29 กุมภาพันธ์ 2004

ชีวิตนี้มีค่าเพียงใด?  แต่ก่อนเรามักตอบว่าชีวิตนี้มีคุณค่ามากจนประมาณไม่ได้ หรือไม่ก็ตอบในเชิงนามธรรมโดยโยงกับเรื่องศาสนา  แต่ในยุคที่ทุกอย่างถูกทำให้กลายเป็นสินค้าดังทุกวันนี้ คุณค่าของชีวิตสามารถประเมินเป็นตัวเงินได้แล้วว่าราคาเท่าไร  การประเมินค่าของชีวิตในรูปตัวเงินดูเหมือนจะช่วยให้การวางแผนในทางเศรษฐกิจและธุรกิจเป็นไปได้ง่ายขึ้น แต่สุดท้ายมันหมายถึงอันตรายที่คุกคามชีวิตอย่างแท้จริง

เมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อน บริษัทรถยนต์ชื่อดังแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาพบว่ารถยนต์รุ่นใหม่ที่ตนผลิตนั้นมีปัญหา จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการความปลอดภัย กล่าวคือต้องผลิตอุปกรณ์ตัวหนึ่งใส่เข้าไปในตัวรถ  อุปกรณ์ตัวนั้นราคาเพียงแค่ ๑๑ ดอลลาร์เท่านั้น แต่ผู้ผลิตไม่ต้องการเสียเงินเพิ่ม  จึงมีการคำนวณว่า ระหว่างการใส่อุปกรณ์ตัวนั้นกับการไม่ใส่ ทางเลือกไหนจะทำให้บริษัทต้องจ่ายเงินมากกว่ากัน  บริษัทได้คาดการณ์ว่า ถ้าไม่ใส่อุปกรณ์นั้นเข้าไป จะมีอุบัติเหตุประมาณ ๒,๑๐๐ คันต่อปี ในจำนวนนั้นจะมีคนบาดเจ็บ ๑๘๐ คน และมีคนถูกไฟครอกตายอีก ๑๘๐ คน  แต่ตัวเลขเพียงเท่านี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะทำให้เขาต้องจ่ายเงินเท่าไร  ดังนั้นจึงมีการ “ตั้งราคา” ให้กับผู้ประสบเหตุ กล่าวคือบริษัทคำนวณว่าสำหรับคนเจ็บบริษัทต้องจ่ายรายละ ๖๗,๐๐๐ ดอลลาร์ ส่วนคนตายบริษัทประเมินว่ามีราคา ๒๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์  สุดท้ายก็ได้ตัวเลขออกมาว่าหากบริษัทไม่ใส่อุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัย จะต้องจ่ายค่าเสียหายทั้งหมด ๔๙.๕ ล้านดอลล่าร์ (รวมค่ารถที่ประสบเหตุด้วย)

แต่หากบริษัทติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัยดังกล่าวเข้าไปในรถทุกคันซึ่งมี ๑๒.๕ ล้านคัน ก็จะต้องเสียเงินเพิ่มปีละ ๑๓๗.๕ ล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าตัวเลขข้างบนเกือบ ๙๐ ล้านดอลลาร์  ดังนั้นบริษัทจึงตัดสินใจไม่ติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัย  กล่าวอีกนัยหนึ่งบริษัทรถยนต์แห่งนี้ยอมที่จะปล่อยให้มีคนตายและบาดเจ็บหลายร้อยคน ด้วยเหตุผลว่าไม่ต้องการเสียเงินเพิ่มเพื่อแก้ไขความผิดพลาดของตน

อย่างไรก็ตามบริษัทรถแห่งนี้ประเมินสถานการณ์ผิด เพราะปรากฏว่าคนที่ตายเพราะความผิดพลาดของรถยนต์ดังกล่าวมิได้มีเพียงแค่ ๑๘๐ คน แต่ตายกว่า ๕๐๐ คน บริษัทจึงต้องจ่ายค่าชดเชยมากกว่าที่คิดไว้หลายเท่า  แต่นั่นไม่ใช่เรื่องร้ายแรงเท่ากับข้อเท็จจริงที่ว่า คนกว่า ๕๐๐ คนนั้นไม่จำเป็นต้องตายเลย หากมีการติดตั้งอุปกรณ์ราคาแค่ ๑๑ ดอลลาร์ไปในรถของคนเหล่านั้น

นี้คือโศกนาฏกรรมของคนในยุคนี้ที่ชีวิตถูกตีค่าเป็นตัวเงินและกลายเป็นเพียงตัวเลขอย่างหนึ่งในการวางแผนทางธุรกิจเท่านั้น  ความคิดแบบนี้ได้ทำให้ชีวิตของคนจำนวนไม่น้อยถูกเซ่นสังเวยให้กับการวางแผนที่ผิดพลาดเพราะเห็นเงินเป็นใหญ่  น่าเศร้าก็คือเหตุการณ์ทำนองนี้ยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

โศกนาฏกรรมที่เกิดกับหลายครอบครัวจากกรณีไข้หวัดนกในไทยนั้นไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเลยหากผู้มีอำนาจในบ้านเมืองไม่เห็นเงินเป็นใหญ่  เป็นที่รู้กันแล้วว่าไข้หวัดนกนั้นระบาดในเมืองไทยมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยที่ทางราชการ (และอาจรวมถึงบางคนในรัฐบาล) ก็รู้มาโดยตลอด แต่ไม่ยอมเปิดเผยเพราะกลัวจะกระทบกับการส่งออกไก่ซึ่งมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท  แม้จะมีความพยายามกำจัดไข้หวัดนกอย่างกระมิดกระเมี้ยน แต่เมื่อเลี่ยงที่จะใช้วิธีประกาศเขตโรคระบาดและกำจัดไก่ทุกตัวในเขตนั้นเพราะกลัวจะเป็นข่าวไปทั่วโลก ผลที่ตามมาก็คือไข้หวัดนกระบาดลุกลามไปไม่หยุด  ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ ครอบครัวผู้เลี้ยงไก่ไม่ได้รับการเตือนภัยในเรื่องนี้ จึงรับเอาไข้หวัดนกมามากมาย กว่าจะรู้ตัวก็สายเกินการณ์แล้ว

เห็นได้ชัดว่าผู้มีอำนาจนั้นไม่ได้สนใจชีวิตคนเลย หรืออาจเป็นได้ว่าเขาไม่เฉลียวใจด้วยซ้ำว่าการปิดข่าวของตนนั้นจะมีผลกระทบต่อชีวิตของคนที่เกี่ยวข้อง  ถ้าเป็นประการหลังก็นับเป็นเรื่องที่น่าเศร้ายิ่งกว่ากรณีบริษัทรถยนต์ที่กล่าวถึงข้างบน  ถึงจะแย่อย่างไร บริษัทรถยนต์นั้นยังเอาชีวิตคนมาใส่ไว้ในสมการคำนวณผลได้ผลเสีย  แต่กรณีของเมืองไทย ดูเหมือนว่าไม่มีความคิดที่จะเอาชีวิตคนมาคิดคำนวณในหัวของผู้มีอำนาจด้วยซ้ำ  สิ่งที่เอามาคิดก็มีเพียงรายได้จากการส่งออกไก่กับค่าชดเชยไก่ที่ถูกทำลายเท่านั้น  แต่แม้จะคิดในเชิงเศรษฐกิจล้วนๆ สุดท้ายก็พบด้วยตัวเองว่าการปิดข่าวนั้นทำลายการส่งออกไก่มากยิ่งกว่าการเปิดข่าวและแก้ปัญหาแต่เนิ่นๆ  นี้ก็เช่นเดียวกรณีบริษัทรถยนต์ที่ไม่ยอมแก้ปัญหาแต่เนิ่นๆ เพราะกลัวจะมีรายจ่ายเพิ่ม  สุดท้ายกลับควักกระเป๋ายิ่งกว่าเดิม

ชีวิตของคนจำนวนไม่น้อยถูกเซ่นสังเวยให้กับการวางแผนที่ผิดพลาดเพราะเห็นเงินเป็นใหญ่  น่าเศร้าก็คือเหตุการณ์ทำนองนี้ยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ความตายของผู้คนและความพินาศของฟาร์มไก่ทั่วประเทศเป็นผลพวงของนโยบายและวิธีคิดที่เน้นแต่เศรษฐกิจและตัวเงินเป็นหลัก โดยมุ่งแต่ผลได้เฉพาะหน้าแค่จมูก  แต่เราคงโทษรัฐบาลอย่างเดียวไม่ได้ตราบใดที่ประชาชนก็พลอยชื่นชมยินดีกับนโยบายดังกล่าวด้วย  หากสนับสนุนนโยบายและวิธีคิดแบบนี้ของรัฐบาล ประชาชนก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจรับผลพวงจากนโยบายดังกล่าวด้วย  ซึ่งหมายรวมถึงการถูกตีค่าชีวิตเป็นตัวเงิน หรือยิ่งกว่านั้นก็คือถูกตัดออกไปจากการคิดคำนวณและวางแผนทางเศรษฐกิจ

จะต้องเดือดร้อนและเจ็บปวดกันอีกเท่าใดถึงจะตระหนักกันเสียทีว่า เงินนั้นเป็นบ่าวที่ดีแต่เป็นนายที่เลว


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา