เทคโนโลยีตัดนิสัย : ความอับจนของสังคมสมัยใหม่

อรศรี งามวิทยาพงศ์ 20 กรกฎาคม 2003

ข่าวเล็กๆ บอกว่า ญี่ปุ่นได้คิดค้นฝาผนังชนิดที่สามารถป้องกันการเข้ามาของคลื่นโทรศัพท์มือถือได้อย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นรุ่นหรูเลิศไฮเทคเพียงใดก็ตาม  โดยตั้งใจที่จะเอาฝาผนังที่ว่านี้ ไว้สำหรับสร้างห้องประชุมประเภทแสดงคอนเสิร์ต-ละคร ภาพยนตร์หรือกิจกรรมประเภทที่ต้องการความสงบเงียบหรือปลอดจากเสียงโทรศัพท์มือถือที่ตามไปส่งเสียงอย่างไม่รู้กาละเทศะ จนกระทั่งทำลายบรรยากาศของกิจกรรมอย่างอื่นให้เป็นที่รำคาญใจอย่างควบคุมไม่ได้ แม้ในประเทศญี่ปุ่นที่ว่ากันว่า มีระเบียบวินัยสูงมากชาติหนึ่ง  เชื่อได้ว่าฝาผนังที่ว่าคงจะขายดีทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศไทย ซึ่งคนกำลังเสพติดโทรศัพท์มือถือ (ถึงกับมีโฆษณาบอกว่า เป็นอวัยวะที่ 33) จนกระทั่งอดใจไม่ไหวที่จะต้องเปิดเครื่องเพื่อรับสายอยู่ตลอดเวลา โดยไม่สนใจว่าจะก่อความรำคาญให้กับใครหรือไม่ก็ตาม  เมื่ออับจนหนทางควบคุม จึงต้องหาทางสกัดกั้นกันด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือ “ตัดนิสัย” แทนใช้การอบรมสั่งสอน การศึกษา เป็นเครื่องมือ “ขัดเกลาหรือดัดนิสัย” ให้รู้จักมีมารยาท จิตสำนึก และจริยธรรมตระหนักรู้ในความเดือดร้อนของคนอื่นอย่างในอดีต

ข่าวนี้คงเป็นอีกข่าวที่ย้ำว่า สังคมสมัยใหม่กำลังอยู่ในยุคของการต้องใช้เครื่องมือ “ตัดนิสัย” มนุษย์มากขึ้นเป็นลำดับ เพราะคนเราไม่สามารถยับยั้งชั่งใจด้วยตนเอง  เราต้องใช้วิธีการปิดเซิร์ฟเวอร์ของเกมส์ออนไลน์เพื่อควบคุมการเล่นเกมส์เกินพิกัดของเด็กๆ โดยยังไม่ต้องนับไปถึงกฎระเบียบในโรงเรียน สถานที่สาธารณะอีกไม่รู้เท่าไรที่จะต้องออกมาในอนาคต เพื่อช่วย (ควบคุม) คนในสังคมให้มีมารยาท มีวินัย  แม้ว่าการใช้เทคโนโลยีจะให้ผลชะงัดชัดเจนแน่นอน แต่เครื่องมือ “ตัดนิสัย” และเครื่องมือ “ขัดเกลานิสัย” ย่อมให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันอย่างมากด้วย  ที่เห็นชัดๆ คือแบบแรกเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุและแก้ชั่วคราว ควบคุมกันได้เป็นครั้งๆ  วันไหนที่เครื่องมือ กลไก เกิดชำรุด ล้าสมัย หรือผู้มีหน้าที่ควบคุมไม่ทำงานไม่ว่าด้วยเหตุอันใด (การรับสินบน กำลังไม่พอดูแล ฯลฯ) ก็ไม่สามารถจับได้ไล่ทันและสกัดกั้นนิสัยที่ก่อปัญหาได้ เพราะเป็นการควบคุมจากภายนอก  นอกจากนี้ วิธีการดังกล่าวยังสิ้นเปลืองเงินทอง งบประมาณ เวลา ทรัพยากรโลก ฯลฯ อีกด้วย

ซ้ำร้ายกว่านั้นคือ เครื่องมือตัดนิสัยด้วยเทคโนโลยี ยังอาจกัดกร่อนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในสังคมซึ่งความสัมพันธ์ก็ห่างเหินกันอยู่แล้ว ให้ยิ่งมีโอกาสบาดหมางกันมากยิ่งขึ้นอีกด้วย  เพราะการควบคุมจากภายนอกทำให้เกิดคน 2 ฝ่าย ซึ่งอยู่ตรงข้ามกัน  ฝ่ายหนึ่ง “ควบคุม/ตรวจจับ”  อีกฝ่ายหนึ่ง “หลบเลี่ยง/หลีกหนี”  แม้ไม่ใช่ศัตรูก็เหมือนศัตรูกันโดยปริยายและง่ายดาย  การควบคุมพฤติกรรมจากภายนอก จึงทำให้เรามักเห็นการก่นด่ากันระหว่างคนในสังคมที่ไม่รู้จักกัน แต่ต้องรับผลจากพฤติกรรมที่ไร้มารยาท-จิตสำนึกของคนอื่นที่หลบหลีกการควบคุม  สังคมที่จัดระเบียบโดยใช้เครื่องมือหรือวิธีการควบคุมจากภายนอกเป็นฐาน (กฎหมาย สิทธิ การลงโทษ ฯลฯ) จึงไม่เอื้อให้เกิดหรือพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดี หรือความรู้สึกซาบซึ้งประทับใจในเพื่อนมนุษย์ให้งอกงามขึ้นได้

แม้คนส่วนใหญ่จะรู้ว่า การใช้เทคโนโลยีหรือกฎหมายควบคุมพฤติกรรมมนุษย์มิใช่ทางออกที่ดี  เราอยากให้การควบคุมมาจาก “จิตสำนึก” หรือจริยธรรมของบุคคลมากกว่า เพราะเป็นการควบคุมที่มั่นคง ไม่ต้องสิ้นเปลืองเครื่องมือสกัดกั้น ตรวจจับ  แต่ทำไมนับวันเรากลับต้องไปพึ่งพิงเครื่องมือให้ช่วยเราจัดระเบียบ  อะไรทำให้จิตสำนึก มารยาท จริยธรรม หายไปจากสังคม  คนจำนวนหนึ่งตอบว่า เพราะสังคมมีขนาดใหญ่ มีคนร้อยพ่อพันแม่มารวมกันอยู่ ยากแก่ควบคุม และระบบการศึกษาก็ล้มเหลวในการอบรมสั่งสอนคนให้มีจิตสำนึกต่อผู้อื่น จึงทำให้เราต้องหันมาใช้เทคโนโลยีควบคุมพฤติกรรมมนุษย์  แม้ว่าเหตุผลดังกล่าวมีส่วนถูกต้อง แต่ก็อาจไม่ละเอียดพอที่จะทำให้เราเข้าใจปรากฏการณ์

แม้สังคมมีขนาดใหญ่ขึ้นจริง แต่เป็นเพราะวิถีชีวิตในสังคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะสังคมเมือง ทำให้เรามองไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับคนอื่นไปเกินกว่าครอบครัวและญาติมิตรของตัวเองต่างหาก  เราอยู่โดยคิดไปว่าสามารถอยู่ได้ มีความสุขความมั่นคงได้ ตราบเท่าที่เรามีเงิน  เราจึงพึ่งเงินมิใช่พึ่งคนอื่น (คนกวาดถนน เทขยะ ชาวนา ฯลฯ)  เราพึ่ง กฟผ. กปน. มิได้พึ่งธรรมชาติ  อีกทั้งระบบการศึกษาที่ผ่านมา เข้าไปแบ่งแยกความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ให้ยิ่งแยกห่างออกจากกัน ระหว่างคนเรียนเก่ง-ไม่เก่ง โรงเรียนหัวกระทิ-หางกระทิ ฯลฯ ยิ่งทำให้มนุษย์แตกต่างกันและมีโลกที่คับแคบแยกส่วนมากยิ่งขึ้น  ไม่สามารถเป็นเครื่องมือ “ขัดเกลานิสัย” ของบุคคลให้ไปสู่ระดับจิตสำนึกที่เชื่อมโยงให้มนุษย์เห็นความสัมพันธ์ของตัวเองกับผู้อื่นอย่างกลมกลืนสมานฉันท์ได้ อย่างที่การศึกษาควรจะเป็น

วิถีชีวิตในสังคมเมืองสมัยใหม่ ทำให้เรามองไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับคนอื่นเกินไปกว่าครอบครัวและญาติมิตรของตัวเอง

ในความเชื่อของพุทธศาสนา จิตสำนึกที่มีต่อผู้อื่นหรือจริยธรรมนั้นจะเกิดขึ้นได้ ต้องมาจากการขัดเกลาด้วยความสัมพันธ์แบบ “กัลยาณมิตร” หรือความสัมพันธ์อันดีหรือมีความเมตตาเป็นฐาน  ทั้งระหว่างคนกับคน และคนกับพืช สัตว์ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ  การที่ธรรมชาติของมนุษย์นั้น เรียนรู้จากประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมจริง  การขัดเกลาจิตใจภายในจึงต้องผสมผสานเชื่อมโยงกันทั้งภายในและภายนอก  บุคคลจะเริ่มต้นเรียนรู้การควบคุมตนเองโดยอาศัยศีล แม้จะเป็นการควบคุมจากภายนอก แต่ก็เข้าใจว่าเป็นไปเพื่อมิให้ไปละเมิดชีวิต ทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งถือเป็น “เพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย” ไม่ว่า คน พืช สัตว์ เทวดา เปรต ฯลฯ  ความสะอาดของกายวาจาจากศีล เป็นปัจจัยพัฒนาให้จิตใจและความคิดเกิดความสว่างและสงบ (สมาธิ-ปัญญา) เชื่อมโยงเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน  เกิดเป็นกำลังให้บุคคลผู้นั้นมีอำนาจของตนเองในการควบคุม-บังคับกายวาจาใจจากภายใน อย่างพอใจและมีความสุขที่จะได้ทำเพื่อคนอื่น สิ่งอื่น โดยไม่ต้องบังคับและหลอกล่อ

สังคมที่ใช้อำนาจมากโดยละเลยความสัมพันธ์ของมนุษย์ ปล่อยให้ธรรมชาติถูกทำลาย และส่งเสริมการหาเพื่อนจากวงน้ำเมากันอย่างทุกวันนี้ คงยากที่จะพัฒนาให้เกิดบุคคลอย่างที่กล่าวมาได้


ภาพประกอบ