เทศกาลของขวัญ

วิชิต เปานิล 18 ธันวาคม 2004

ในช่วงสิ้นปี ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ คนไทยดูเหมือนจะสดใสแช่มชื่นขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพราะช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง เราเริ่มเห็นสินค้าที่ใช้เป็นของขวัญของกำนัลออกวางขายกันทั่วไป ตั้งแต่แผงลอยริมทางเท้าไปจนกระทั่งในห้างสรรพสินค้าหรู

พร้อมๆ กันนั้น เราก็จะพบผู้คนออกเดินจับจ่าย ซื้อสินค้าของกำนัลกันสนุกมือ ไม่เว้นแม้แต่เด็กอนุบาลตัวน้อยก็ยังถือห่อของขวัญไปโรงเรียน มิใยต้องพูดถึงเด็กวัยรุ่น ที่มักหอบหิ้วถุงใส่ของขวัญมากมายไว้ให้กับเพื่อนๆ และคนพิเศษของตน

หลายท่านอาจรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติธรรมดา สำหรับในช่วงเทศกาลเช่นนี้และไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องเสียหายอะไร เพราะต่างก็เป็นความพอใจไม่ว่าจะในด้านผู้ให้หรือผู้รับ แล้วก็เป็นสิ่งที่คนทั่วโลกทำกัน

การมอบของขวัญ ให้ของกำนัล หรือการมีของฝากติดไม้ติดมือไปมอบให้กับผู้ที่เราเคารพนับถือหรือรักใคร่สนิทสนม เป็นสิ่งที่มีมานานไม่ว่าในสังคมไหนๆ ถือว่าเป็นวัฒนธรรมที่คนในแต่ละท้องถิ่นสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะช่วยจรรโลงให้สังคมนั้นๆ อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

การเรียนรู้เกี่ยวกับของขวัญที่คนในสังคมนั้นมอบให้กัน จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่นักวิชาการบางกลุ่มใช้ทำความเข้าใจผู้คนในแต่ละวัฒนธรรม

การที่สังคมไทยยุคนี้ให้ความสำคัญมากขึ้นกับของขวัญ ของกำนัล ซึ่งจะเห็นได้จากโอกาสที่เราจะต้องแสดงความยินดีในแต่ละปีดูเหมือนจะมีมากขึ้นๆ และในการแสดงความยินดีแทบทุกครั้ง ก็มักจะต้องมีของขวัญติดไม้ติดมือไปด้วย

ขณะเดียวกันรูปแบบของของขวัญก็พัฒนาขึ้นไปด้วยเช่นกัน ทั้งในด้านความแปลกใหม่ของสินค้า ราคาที่แพงขึ้น ซึ่งปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งเป็นเพราะแนวคิดพื้นฐานของการให้ในรูปแบบนี้ได้เปลี่ยนไป

เปลี่ยนจากการให้ภายใต้หลักของพรหมวิหารของพุทธศาสนา คือการให้ด้วยความเมตตา กรุณา มุทิตา หรือแม้แต่อุเบกขาที่ทำให้เราให้ (หรือไม่ให้) ของขวัญด้วยใจที่เป็นกลางไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไปสู่การให้ภายใต้หลักการทางเศรษฐศาสตร์ ที่เป็นเรื่องของการลงทุนอย่างหนึ่งที่จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องของกิเลส

ภายใต้วิธีคิดเช่นนี้เอง ของขวัญ ของกำนัล ที่ถือกันว่าเป็นตัวแทนของความคิดความรู้สึก จึงได้ถูกแปลงให้อยู่ในรูปแบบของสินค้าและบริการมากมาย ที่ต้องการสื่อให้กับผู้รับได้รู้ว่า ผู้ให้อยากจะบอกอะไร

ภายใต้สังคมที่มองเรื่องเงินเป็นพระเจ้า ของขวัญที่แพง ที่ประณีต จึงถูกนำมาใช้สื่อให้เห็นถึงความมากน้อยของความรัก ความจริงใจที่มีต่อผู้รับ จนกลายเป็นว่าให้ของราคาถูกแสดงว่าไม่เต็มใจหรือไม่รักกันจริง หรือถ้าไม่ให้เลยกลายเป็นการแสดงถึงความเกลียดแค้นชิงชังกันไปโดยปริยาย

เมื่อความหมายของการให้ของขวัญเปลี่ยนมาเป็นลักษณะนี้ และในฐานะเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม ได้ทำให้ความหมายใหม่ของการให้ของขวัญนี้กลายมาเป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิต ส่งผลให้คนที่ไม่สามารถทำตามแบบแผนใหม่ทางวัฒนธรรมนี้ต้องเกิดความรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ

เช่นเดียวกับคนที่เคยชินกับวัฒนธรรมใหม่ก็พลอยรู้สึกไม่พอใจ เสียใจ น้อยใจ กับบางคนที่ไม่ได้ให้ของขวัญตามมาตรฐานวัฒนธรรมใหม่ เช่น หากไม่ได้รับบัตรอวยพร หรือของขวัญเลยแม้แต่ชิ้นเดียวในช่วงปีใหม่ก็จะรู้สึกเสียใจ

ของขวัญ ของกำนัล ได้ถูกแปลงให้อยู่ในรูปแบบของสินค้าและบริการมากมาย เพื่อเป็นการสื่อว่า “ผู้ให้อยากจะบอกอะไร”

บางครั้งที่เราไม่มีเงินพอ หรือไม่สามารถซื้อของขวัญดีๆ แพงๆ ให้กับเพื่อนสนิทหรือญาติพี่น้องได้ เราก็จะรู้สึกเสียหน้า อึดอัด หรืออาจถึงกับเสียใจกับการไม่สามารถให้ของขวัญของเรา

เราจะเห็นการตอกย้ำมาตรฐานใหม่ของวัฒนธรรมการให้ของขวัญของกำนัลแบบนี้ ผ่านทางภาพการให้ของขวัญที่หรูหราราคาแพงถูกถ่ายทอดหรือตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านสื่อแทบทุกชนิด พร้อมคำชื่นชมยินดี ที่ดูเหมือนจะเป็นแบบอย่างที่ดีของคนทันสมัย

แม้องค์กรพัฒนาเอกชนที่ดูเหมือนจะพยายามต้านกระแสทุนกระแสบริโภคมาโดยตลอด เมื่อถึงเทศกาลให้ของขวัญ ก็ดูเหมือนจะร่วมผสมโรงสรรหาของขวัญทางเลือกที่แม้จะดูใกล้ชิดธรรมชาติมากกว่า แต่ราคาก็ไม่หนีจากราคาที่ค่อนข้างสูงและเกินความจำเป็นไปบ้าง

อย่างไรก็ตามเราต้องเข้าใจว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นมา ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่คนในสังคมร่วมกันปรับปรุงแก้ไขได้ แม้ว่ากระบวนการสร้างการยอมรับให้กับวัฒนธรรมใหม่ของการให้ของขวัญนี้ จะถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยมีแหล่งทุนมากมายและมีผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นเครื่องล่อใจ

การให้ของขวัญ ของกำนัล ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย ที่จะต้องกำจัดหรือขัดขวางโต้แย้ง แต่ทัศนะผิดเพี้ยนไปของการให้ของขวัญที่อิงอยู่กับเงินกับวัตถุจนเกินงาม จนเป็นภาระต่างหากที่ควรได้รับการพิจารณาทบทวน

ก่อนจะให้ของขวัญกับใครๆ ปีใหม่นี้ เราลองมาใส่ใจให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่องพรหมวิหาร 4 กันสักนิด ใส่ความรัก ความเมตตา ความปรารถนาดีลงไปในของขวัญเราด้วย พลังแห่งคุณธรรมนี้ก็จะได้รับการสื่อไปยังผู้รับผ่านทางของชิ้นเล็กๆ ที่เรามอบให้ ผ่านข้อความจากใจที่เราฝากไว้ในบัตรอวยพร และผ่านท่าทีที่เต็มไปด้วยความรักความจริงใจของเราขณะที่มอบให้

ด้วยความปรารถนาดีเช่นนี้เป็นฐาน ของขวัญจากเราก็จะไม่มีเครื่องดองของเมาที่จะลดทอนสติของคนที่เรารักลง หรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเขา รวมทั้งจะไม่เป็นของขวัญที่ฟุ่มเฟือยใช้ทรัพยากรหรือทำลายสิ่งแวดล้อมไปโดยเปล่าประโยชน์

หากเราช่วยกัน ของขวัญและท่าทีใหม่ของการให้ของขวัญของเราในปีนี้ อาจจะเป็นอีกมาตรฐานหนึ่งของวัฒนธรรมการให้ของขวัญในสังคมไทย ที่จะช่วยฉุดรั้งไม่ให้มาตรฐานการให้ของขวัญสุดโต่งไปแต่ในด้านวัตถุเงินตราแต่เพียงด้านเดียว… ช่วยกันนะครับ


ภาพประกอบ