เปลี่ยนคิดร้ายให้เป็นดี

ปรีดา เรืองวิชาธร 11 ตุลาคม 2009

เคยจับเข่าคุยกันบ่อยครั้งกับเพื่อนสนิทถึงเรื่องการคิดร้าย ที่ประสบการณ์ตรงกันและกระทบใจมาก ก็คือ หากมีเรื่องให้ต้องเกลียดชังจนถึงกับผูกใจเจ็บ ก็มักเพ่งมองในแง่ร้ายต่อใครหรือสิ่งใดที่ทำให้เราเจ็บปวด เมื่อถึงเวลาที่ต้องพบปะหรือแม้นึกถึงคนนั้นขึ้นมาคราใด ใจเป็นต้องกระวนกระวายเครียดขึ้งขึ้นมาทุกที ยิ่งคิดก็ยิ่งโกรธเกลียดชิงชัง หรือไปไกลกว่านั้นก็นึกคิดที่จะหาทางให้ร้ายทำลายเขา หากมีโอกาสเหมาะเมื่อไหร่ก็พร้อมที่จะลงมือทำตามแรงพยาบาทนั้นทันที

บางคนมีเรื่องคิดร้ายในทางพยาบาทน้อย แต่กลับมีเรื่องคิดร้ายไปอีกทางหนึ่ง คือ ยามใดที่ใจจดจ้องคิดอยากได้อยากสิ่งใดแล้ว แรงอยากได้อยากเอาก็ยิ่งมากขึ้น ซึ่งมักจะเป็นตำแหน่ง ชื่อเสียง หรืออำนาจ เป็นต้น ทำให้เราตกเป็นเบี้ยล่างอยู่ภายใต้อำนาจของมันอย่างง่ายดายดังเช่น ละโมบอยากได้ทรัพย์สินเงินทอง คิดอยากได้เฉยๆ ยังพอทำเนา แต่จะกลับกลายเป็นคิดร้ายทันทีก็ต่อเมื่อจ้องจะครอบครองมันด้วยการแสวงหาด้วยวิธีการที่ทุจริตไม่ชอบธรรม รวมถึงแสวงหาด้วยการแลกกับการเป็นหนี้สินท่วมตัว หรือเหยียบย่ำเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียหายได้รับความทุกข์เดือดร้อนจากการได้ครอบครองของเรา

การคิดร้าย ๒ ทางใหญ่ๆ ที่ว่านี้ ในวงสนทนาต่างรู้สึกแย่ไปตามๆ กันโดยที่เราแทบไม่สามารถเอาชนะหรือข้ามพ้นการคิดแบบนี้ไปได้เลย เวลาคนนั้นสิ่งนั้นเวียนเข้ามาในความคิดเมื่อไหร่เป็นต้องเสียท่าทุกที ยิ่งชีวิตในสังคมสมัยใหม่ที่กระตุ้นเร้าให้เราเกลียดชังใช้ความรุนแรง และให้เกิดความอยากได้อยากเอาผ่านสื่อและกลไกทางสังคมอื่นๆ ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้ตกเป็นทาสของการคิดร้ายได้ง่ายดายยิ่ง ซึ่งยากที่จะสลัดหลุดออกมาจากวังวนนั้น

ในวิตักกสัณฐานสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม ๑๒ หน้า ๒๒๖-๒๓๒) พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงวิธีการแก้ไขบรรเทาการคิดร้ายไว้อย่างน่าใคร่ครวญ ท่านบอกว่า ตามปรกติคนเรามักจะคิดร้ายอยู่ ๓ ด้าน (อกุศลวิตก) คือ ๑) คิดอยากได้อยากเอาเพื่อสนองความเอร็ดอร่อยทางร่างกาย (กามวิตก) คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย  ๒) คิดผูกใจเจ็บเคียดแค้นหรือมองผู้อื่นในแง่ร้าย (พยาบาทวิตก)  ๓) คิดจ้องเบียดเบียนทำลายหรือให้ร้ายผู้อื่นจนเสียหายได้รับความทุกข์เดือดร้อน (วิหิงสาวิตก) ทั้ง ๓ ข้อเรียกอีกอย่างว่า การคิดที่ผิดพลาด (มิจฉาสังกัปปะ)  การคิดร้ายทั้ง ๓ นี้ เราต่างทราบดีว่า เวลามันออกโรงขึ้นมาเมื่อใด ย่อมทำให้ใจดิ้นรนเร่าร้อนหาความสงบสุขได้ยาก จะคิดอ่านหรือทำกิจสิ่งใดก็มักผิดพลาดก่อความเสียหายได้ง่าย

คนเรามักจะคิดร้ายอยู่ ๓ ด้าน คือ คิดอยากได้ คิดผูกใจเจ็บ และคิดเบียดเบียน

ท่านตรัสแนะนำต่อว่า หากเจ้าความคิดร้ายที่ว่านี้เกิดขึ้นมาเมื่อใด ให้ลองปฏิบัติตามวิธีการดังต่อไปนี้

วิธีแรก เปลี่ยนการคิดเป็นเรื่องอื่นในทางที่ดีงามแทน คือ แทนที่จะวนเวียนติดพันกับการคิดร้ายนั้น เมื่อรู้สึกตัวแล้ว (สติ) ก็น้อมใจให้คิดถึงเรื่องที่ทำให้จิตใจผ่องแผ้ว ซึ่งอาจหมายถึง เรื่องดีงามของเราเองที่มองเห็นได้ง่ายชัดเจน  ด้านดีงามของคนที่เราจ้องเคียดแค้นพยาบาท  เหตุการณ์หรือบุคคลที่นึกถึงแล้วชวนให้รู้สึกแช่มชื่นเบิกบานหรือทำให้รู้สึกได้ถึงความงดงามของมนุษย์ รวมถึงสิ่งที่งดงามใดก็ได้ที่ปรากฏในโลกสีน้ำเงินใบนี้  หรืออาจระลึกนึกถึงความภาคภูมิใจหรือปิติยินดีที่เราเคยเอาชนะใจที่คิดอยากได้อยากเอา  หรือแม้เป็นเรื่องอื่นใดนอกเหนือจากนี้ที่พอเรานึกขึ้นมาทีไร มันจะมีอิทธิพลทางจิตใจที่ดีขึ้นมาได้ง่าย และมีอำนาจมากพอที่จะทำให้ใจเราสลัดหลุดไปจากการเกาะเกี่ยวกับเรื่องคิดร้าย เป็นต้น  วิธีนี้เป็นการใช้อำนาจของเรื่องที่ดีงามให้มานั่งแทนอำนาจของเรื่องร้าย

หากใช้วิธีแรกแล้วยังไม่ได้ผล ก็ ใช้สติน้อมจิตใจให้พิจารณาถึงโทษของการคิดร้ายนั้น กล่าวคือ พิจารณาในใจอย่างแยบคายจนเห็นถึงโทษภัยต่างๆ ของการอยากได้อยากเอา เช่น ต้องเสียแรงเสียเวลาในการแสวงหาและรักษาทรัพย์สินเงินทองนั้น หากมีเงินไม่พอซื้อหาก็จะต้องเป็นหนี้สิน ทำให้ชีวิตต้องดิ้นรนอีกมากเพื่อหาทางใช้หนี้  หรือหากได้มาด้วยการทุจริต ไหนจะต้องหวาดระแวงกลัวคนอื่นรู้เห็น เมื่อคนอื่นจับได้ก็ต้องรับโทษทัณฑ์ต่างๆ ถูกประณามทางสังคม และนึกถึงภาพความทุกข์เดือดร้อนของคนอื่นจากการทุจริตของเรา เป็นต้น  อีกด้านหนึ่งก็พิจารณามองเห็นโทษจากการคิดเคียดแค้นชิงชังและคิดจ้องให้ร้ายทำลายผู้อื่น ดังเช่น มองเห็นจิตใจที่ดิ้นรนเร่าร้อนจากแรงพยาบาทชีวิตย่อมอยู่ไม่เป็นสุข มองเห็นผลภายหลังจากการให้ร้ายทำลายผู้อื่นทั้งในแง่ตัวเราและผู้อื่น โดยเฉพาะในแง่จิตใจกำลังสั่งสมความหยาบกระด้างมากขึ้นเรื่อยๆ และพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงได้ทุกโอกาส เป็นต้น

ใช้วิธีที่สองแล้วยังไม่ได้ผลอีก ให้ใช้สติน้อมใจเพื่อตัดเจ้าความคิดร้ายนั้นเสีย สิ่งใดคนใดที่เป็นเหตุให้คิดร้ายให้ตัดการระลึกนึกถึง วิธีการนี้เป็นการฝึกฝนปิดหูปิดตาหรือปิดทวารทั้งหลายอย่างฉับพลันทันที ทั้งนี้ควรรวมไปถึงการฝึกอยู่ห่างๆ จากสิ่งกระตุ้นเร้าให้เพิ่มความเกลียดชังและผูกโกรธ กระตุ้นความอยากได้อยากเอา เช่น หนังละคร และรายการต่างๆ ในทีวี สื่อและกลไกทางสังคมต่างๆ ที่หนุนเสริมความรุนแรงและวัฒนธรรมบริโภคนิยม พยายามอยู่ห่างๆ จากกลุ่มเพื่อนที่นิยมความรุนแรงนิยมเสพบริโภคของอย่างฟุ่มเฟือยหรูหรา เป็นต้น

หากวิธีที่สามยังไม่ได้ผลอีก ให้ใช้สติน้อมใจพิจารณาถึงที่ตั้งหรือที่มาของความคิดร้ายนั้น ว่า ที่เราคิดร้ายนั้นเป็นเพราะเหตุปัจจัยใดบ้าง วิธีนี้เป็นการใช้สติเพื่อให้รู้จักฉุกคิดขึ้นมาว่า จิตใจที่กำลังดิ้นรนเร่าร้อนนั้น แท้จริงแล้วเราต้องการสิ่งใดกันแน่ เมื่อฉุกคิดได้ก็อาจจะมองเห็นได้ชัดเจนว่า สิ่งที่เราต้องการหรือมีอิทธิพลผลักดันเราให้คิดร้ายนั้น แท้จริงแล้วอาจไม่มีประโยชน์อันใดเลยที่จะต้องคิดอย่างนั้น แต่เป็นเพราะแรงขับภายในที่เราสั่งสมจนคุ้นเคยมาแสดงฤทธิ์เดชให้เห็นบ่อยครั้งเท่านั้นเอง  อุปมาคล้ายกับบางคนที่ปกติมักจะเดินเหินรวดเร็ว แม้จะวางภาระการงานไปแล้ว ก็ยังคุ้นเคยกับการเดินเหินอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือกำลังเดินเล่นตามสวนสาธารณะ แต่พอฉุกใจถามตัวเองว่า “จะรีบเดินไปไหนหรือ” ก็อาจพบคำตอบว่า “ก็ไม่มีอะไรเป็นจุดหมายที่ต้องรีบเร่งขนาดนั้น” ภายหลังจึงเดินช้าลง วิธีนี้สำคัญก็เพราะต้องการให้เราฉุกคิดตรวจสอบต้นตอที่แท้จริงที่ทำให้เราคิดร้าย จะได้จับเค้าเงื่อนได้ถูกต้องว่า สมควรที่จะปล่อยใจให้คิดร้ายต่อไปหรือ

ปฏิบัติมาทั้งสี่วิธีแล้วยังไม่ได้ผลอีก ทรงแนะนำว่า พึงกัดฟันเอาลิ้นดันเพดาน ข่มบีบบังคับจิตด้วยจิต เป็นการใช้กำลังของจิตกดข่มความคิดร้าย หรือไล่ความคิดร้าย จะเรียกว่าการหักดิบด้วยกำลังของจิตก็ได้

สำหรับประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว มักจะใช้วิธีการที่สองและสี่เป็นหลัก เพราะรู้สึกใช้ได้ผลดี เหมาะกับจริตตัวเอง แต่บางสถานการณ์ก็ใช้ไม่ได้ผล และตึงเครียดหนักขึ้นไปอีก หากเป็นดังนี้ก็จำต้องพลิกแพลงใช้วิธีอื่นเสริมบ้าง  และเริ่มค้นพบว่าแต่ละวิธีต่างให้ผลไม่เหมือนกันทีเดียวนัก อย่างวิธีแรก (การคิดเรื่องด้านดี) เมื่อฝึกฝนบ่อยขึ้นก็ช่วยเสริมให้มองโลกและชีวิตในแง่ดีและสดใสได้ง่ายขึ้น ช่วยคลี่คลายความเครียดกดดันภายในได้ดีขึ้น เป็นต้น  ดังนั้นแต่ละท่านควรทดลองหลายๆ วิธีเพื่อค้นหาวิธีที่เหมาะสมกับตัวเอง หรืออาจใช้ร่วมกันหลายวิธีก็ได้ ที่สำคัญคือการหมั่นฝึกฝนให้เกิดความคุ้นเคยชำนาญในการเปลี่ยนวิธีคิด จนสามารถสลัดหลุดจากการคิดร้ายได้ง่ายดังใจหมาย


ภาพประกอบ

ปรีดา เรืองวิชาธร

ผู้เขียน: ปรีดา เรืองวิชาธร

สนใจและศึกษาเรื่องการเรียนรู้แนวจิตวิญญาณและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกระบวนกรให้กับเสมสิกขาลัยนับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน