เป็นหนึ่งกับธรรมชาติ

ซังเซม โซสัง 12 เมษายน 2015

ช่วงหยุดยาววันเทศกาลทีไร แทบเป็นเรื่องปกติที่เราจะเห็นรถจากเมืองกรุงทยอยออกต่างจังหวัด ส่วนหนึ่งอาจเป็นผู้ที่เดินทางกลับถิ่นฐานบ้านเกิด แต่อีกส่วนหนึ่งก็คือคนกรุงเทพฯ ที่หวังออกไปเที่ยวพักผ่อนให้สาแก่ใจในวันหยุดยาว

สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติต่างๆ เป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ ในการไปพักผ่อนของผู้คน บ้างไปภูเขา ไปป่า ไปเกาะ หรือทะเล  ทว่า บางครั้งแทนที่จะได้ไปสัมผัสบรรยากาศธรรมชาติงามๆ กลับเห็นแต่ฝูงชนคับคั่ง  ที่แย่ที่สุดก็คือหลายๆ แห่งเกลื่อนกลาดไปด้วยขยะประเภทต่างๆ เช่น ขวดน้ำ กล่องโฟม ถุงขนม ถุงพลาสติก

คำถามที่ควรพิจารณาคือ “เราไปเที่ยวด้วยความเคารพในธรรมชาติ หรือ ด้วยความต้องการกอบโกยเอาจากธรรมชาติ และ เราต้องการไปเที่ยวธรรมชาติ หรือ ต้องการไปแสวงหาความสะดวกสบาย?”

เราอยากชื่นชมสิ่งแวดล้อม ทิวทัศน์ แมกไม้ แม่น้ำ ฯลฯ แต่ก็ขาดไม่ได้ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เราอยากได้แอร์คอนดิชั่น โทรทัศน์ เครื่องเสียง เครื่องทำน้ำอุ่น ตู้เย็น ฯลฯ เราพกเอาของกินของใช้อย่างดีมาจากเมือง เครื่องดื่ม อาหารกล่อง อาหารกระป๋อง และเราจะจากไป ด้วยการทิ้งสิ่งเหล่านี้ไว้เบื้องหลัง  หรืออันที่จริงแล้วเราอาจไม่ได้รักธรรมชาติอะไรนักหรอก เราแค่อยากละทิ้งหน้าที่การงาน และเมืองอันวุ่นวาย ไปใช้ชีวิตอัน “สะดวกสบาย” นอกเมืองก็เท่านั้น

เราจึงไม่ค่อยได้ใส่ใจหรือรับผิดชอบในการไปเยือนของเรา ว่าได้มีส่วนทำลายธรรมชาติไปมากน้อยเพียงใดหรือไม่ เราเห็นได้จากข่าวสารต่างๆว่า ภูเขา ป่าไม้ สัตว์ป่า เกาะ ปะการัง หลายต่อหลายแห่งถูกทำลาย เนื่องด้วยผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว

ในพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ มีหลายข้อที่ทรงเกื้อหนุนต่อการเคารพและรักษาธรรมชาติ เช่น ห้ามพระภิกษุทิ้งของสกปรกลงในแม่น้ำ ห้ามตัดต้นไม้ ห้ามบ้วนน้ำลาย ถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระบนต้นไม้ ห้ามฆ่าสัตว์ แม้แต่หากภิกษุดื่มน้ำเข้าไปทั้งที่รู้เห็นว่ามีสัตว์เล็กๆ อยู่ในน้ำนั้น ก็ทรงถือว่าเป็นความผิด  และอีกหลายๆ แห่งในพระไตรปิฎกก็แสดงไว้ว่า ป่าอันร่มรื่นนั้นเป็นสถานที่อันดีเลิศที่เกื้อหนุนการบำเพ็ญพรต ปฏิบัติธรรม

โลกทัศน์ของพุทธศาสนาจึงไม่ได้มองเห็นว่ามนุษย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล หากแต่เห็นว่ามนุษย์เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติและเราไม่อาจอยู่ได้หากปราศจากธรรมชาติ ดังที่ พระอาจารย์ ทิจ เญิ้ต หั่ญ พระเถระในพุทธศาสนานิกายเซ็นแห่งเวียดนามได้กล่าวไว้ว่า

“….ในการที่จะรักษามนุษยชาติ เราต้องรักษาองค์ประกอบทั้งหลายที่ไม่ใช่มนุษย์ เพราะว่าองค์ประกอบเหล่านี้คือ บรรพบุรุษของเรา และถ้าเธอทำลายพวกเขา ก็ไม่มีทางที่เราจะสามารถดำรงอยู่ตรงนี้  นั่นคือเหตุผลที่ว่า เหตุใดการแบ่งแยกระหว่างมนุษย์และธรรมชาติจึงเป็นทัศนะที่ผิดพลาด  เธอจำต้องเห็นตัวเธอว่าเป็นดั่งธรรมชาติ ว่าเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ด้วยความเข้าใจเช่นนี้เอง ความบรรสานและความสัมพันธ์สำหรับชีวิตก็อาจเป็นไปได้  ดังนั้น จงโยนความคิดที่ว่ามนุษย์เป็นนายที่สามารถกระทำสิ่งใดๆ ก็ได้ต่อธรรมชาติ กุญแจสำคัญก็คือการเพ่งพินิจในความไม่เที่ยงและไร้ตัวตน…”

ซึ่งการเห็นว่าตัวเราเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติดังกล่าวนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงความคิดนึกที่จินตนาการขึ้นเอง แต่เป็นสัจธรรมอันแท้จริง ที่มนุษย์เราหลงลืมกันไป

ดังนั้น ในการท่องเที่ยวสถานที่ทางธรรมชาติต่างๆ เราจึงควรไปด้วยความรับผิดชอบ ดูแลรักษา ไม่ใช่ไปเพื่อกอบโกยเอาแต่ความสนุก ความมันสะใจเสียอย่างเดียว หรือไม่ใช่ไปเพื่อเอาชนะธรรมชาติ

พุทธศาสนาไม่ได้มองว่ามนุษย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล หากแต่เห็นว่ามนุษย์เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ และเราไม่อาจอยู่ได้หากปราศจากธรรมชาติ

ท่าน ดี.ที. ซึสึกิ นักปราชญ์พุทธศาสนาและนักเขียนแห่งญี่ปุ่นได้กล่าวไว้ว่า

“…การพิชิตธรรมชาติ” นั้น มาจากคตินิยมของกรีก ซึ่งเขามีมโนคติว่าโลกได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นผู้รับใช้มนุษย์…แต่ในฝ่ายบูรพทิศ มโนคติที่ว่าจะทำให้ธรรมชาติสยบต่อคำบงการของมนุษย์ และรับใช้มนุษย์ตามความปรารถนาที่เห็นแก่ตัวของมนุษย์นี้ ไม่เคยได้รับการส่งเสริมเลย…”

หากกล่าวกันตามจริงแล้ว มนุษย์เองนั่นแหละ เป็นผู้ที่สร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมาเพื่อตัดขาดตนเองออกจากธรรมชาติ จากนั้นเราก็วิ่งหาธรรมชาติ โดยพกพาเอาความคิดอันคับแคบและความเห็นแก่ตัวของเราไปหาธรรมชาติด้วย  จึงกลับกลายเป็นว่าเราพยายามเอาธรรมชาติมาใช้เป็นประโยชน์แก่เรา โดยไม่ได้คิดเผื่อธรรมชาติเองหรือสรรพสัตว์อื่นๆ เลย  ซึ่งก็ออกมาเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า มนุษย์ได้รับผลอันหนักหนาสาหัสอย่างไรจากภัยธรรมชาติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งหมดก็เนื่องจากความเห็นแก่ตัวของเราแต่ละคนนั่นเอง

แม้จะดูสายเกินไปอย่างมากมายแล้วก็ตาม แต่หากเราช่วยกันใส่ใจอย่างจริงจังในตอนนี้ หากเราบ่มเพาะความเข้าใจและพิจารณาให้เห็นจริงว่าตัวเราเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เราก็จะก่อเกิดความเคารพและความรักในธรรมชาติขึ้นมาเอง โดยไม่มีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ “ต้อง” ปฏิบัติแต่อย่างใดเลย  และในการเดินทางท่องเที่ยวยังสถานที่ธรรมชาติ เราจะตระหนักถึงการงดใช้ข้าวของที่ก่อให้เกิดขยะระยะยาวต่างๆ ตามมา รู้จักใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น ไม่ทำลายธรรมชาติ และใช้ชีวิตอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในสถานที่นั้นๆ  เพียงเท่านี้ก็อาจคาดหวังได้ว่า ธรรมชาติอันงดงามจะอยู่กับเราไปได้อย่างยาวนานและยั่งยืน

ขอให้การเดินทางท่องเที่ยวในวันหยุดยาวนี้ของทุกท่าน เต็มไปด้วยความสุข ความเบิกบาน ความรัก และความใส่ใจต่อธรรมชาติ อันไม่เคยแยกห่างจากเรานะครับ