เมื่อจริยธรรมเสื่อมจากใจเรา

ปรีดา เรืองวิชาธร 23 มกราคม 2011

ในการอบรม “การสร้างภาวะผู้นำที่เน้นพลังกลุ่ม” (จัดโดยเสมสิกขาลัย) ได้ให้ผู้เข้าร่วมอบรมเล่นเกม “อำนาจแห่งดวงดาว” (The Star Power) เริ่มต้นทุกคนจะได้รับเงินคนละถุง (ในถุงมีเหรียญที่มีมูลค่าต่างกันคือ ๑๐ ๕๐ และ ๑๐๐ โดยสีของเหรียญจะเป็นตัวบอกมูลค่าของเหรียญ) ซึ่งแต่ละคนได้รับเงินไม่เท่ากัน และไม่มีใครรู้ว่าคนอื่นได้รับเท่าไร  กติกามีอยู่ว่าให้ทุกคนตกลงทำการแลกเปลี่ยนเงินที่ได้รับ จะด้วยวิธีใดก็ได้ขอเพียงให้ทำกำไรจากการแลกให้มากที่สุด โดยเปิดให้แลกเปลี่ยนอย่างอิสระ ๕ รอบ รอบละ ๓ นาที ในเวลา ๓ นาทีเราสามารถแลกเปลี่ยนกับใครก็ได้ และจะแลกเปลี่ยนกับกี่คนก็ได้จนกว่าจะหมดเวลา

เมื่อแลกเปลี่ยนเสร็จแต่ละรอบจะมีการนับเงินที่แต่ละคนมี และเขียนบันทึกจำนวนเงินของแต่ละคนบนกระดานทุกรอบ  กลุ่มคนที่มีเงินมากที่สุดจะได้นั่งในกลุ่มดวงดาว (ชนชั้นสูง) ซึ่งมีจำนวนประมาณร้อยละ ๑๐ ของคนทั้งหมด กลุ่มที่มีเงินรองจากนี้จะได้นั่งในกลุ่มวงกลม (ชนชั้นกลาง) มีประมาณร้อยละ ๒๐ ของคนทั้งหมด ส่วนกลุ่มคนที่มีเงินรองจากนี้ก็จะได้ไปนั่งในกลุ่มสามเหลี่ยม ซึ่งจนที่สุด (ชนชั้นล่าง) มีประมาณร้อยละ ๗๐ ของคนทั้งหมด (ทุกคนสามารถเลื่อนชนชั้นขึ้นหรือลงได้ตามจำนวนเงินที่มี)  กติกาอีกข้อที่สำคัญก็คือ เมื่อแลกเงินในรอบที่ ๔ เสร็จแล้ว คนที่ขึ้นมานั่งในกลุ่มดวงดาวจะมีสิทธิเปลี่ยนกติกาได้ตามใจชอบเพื่อใช้เล่นในรอบสุดท้าย

บรรยากาศอันน่าสนใจของเกมนี้เท่าที่สังเกตได้ก็คือ คนส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดต่างตั้งหน้าตั้งตาแลกเปลี่ยนเงินกันอย่างเต็มที่ เพื่อหวังให้ตนได้เงินมากที่สุดและจะได้ขึ้นนั่งในกลุ่มดวงดาว ซึ่งจะได้รับการยกย่องชื่นชมทุกๆ รอบจากกรรมการและผู้เล่นอื่นๆ ดังนั้นแต่ละคนจึงงัดกลยุทธ์ทุกรูปแบบออกมาใช้ มีตั้งแต่การเสี่ยงโชคแบบพื้นๆ การโกงแบบจับผิดไม่ได้ ไปจนถึงโกงกันซึ่งๆ หน้า แต่แม้จะมีการใช้กลโกงบ้างคนส่วนใหญ่ก็ยังเล่นกันอย่างสนุก ไม่ค่อยถือสาหาความกัน

ในรอบแรกๆ การใช้กลยุทธ์อันแยบยลจะยังไม่แพร่กระจายไปทั้งกลุ่ม แต่พอบรรยากาศเต็มไปด้วยการเชียร์ให้ทุกคนอยากรวยและอยากอยู่ในกลุ่มดวงดาว ดังนั้นพอขึ้นรอบ ๓ และ ๔ เท่านั้น  การแลกเปลี่ยนยิ่งทวีความเข้มข้นดุเดือด  เกือบทุกคนใช้กลยุทธ์เต็มที่ จะมีบ้างที่บางคนยอมเป็นคนจนเพราะไม่ต้องการโกง  ยิ่งพอเสร็จสิ้นรอบที่ ๔ ด้วยแล้ว กลุ่มดวงดาวได้โอกาสเปลี่ยนแปลงกติกาการแลกเงินที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มตัวเองอย่างเต็มที่  ดังนั้นในการแลกเงินรอบสุดท้าย ก็ยิ่งเต็มไปด้วยกลโกงทุกรูปแบบ และแฝงด้วยความรู้สึกที่แย่ๆ ต่อกัน โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ต่างรู้สึกถูกกลุ่มดวงดาวเอาเปรียบ  แต่ที่น่าสนใจคือแทบไม่เคยมีใครออกมาโวยวายหรือปฏิเสธระบบการเล่นที่ไม่ยุติธรรม  จะมีอยู่บ้างที่กลุ่มคนจนจำนวนไม่มากได้พยายามรวมตัวกันเพื่อต่อรองให้เกิดความยุติธรรมมากขึ้น แต่มักไม่เป็นผล

หลังเสร็จสิ้นเกม เราได้ให้ทุกคนสลัดความรู้สึกที่คั่งค้าง โดยเฉพาะที่รู้สึกแย่ต่อกันเพื่อปรับจิตใจให้สงบนิ่งพร้อมพอที่จะสรุปบทเรียนร่วมกัน ซึ่งมีมุมมองหลายแง่หลายมุมเกิดขึ้นมากมายที่สะท้อนไปถึงความจริงของชีวิตและสังคมไทยในขณะนี้ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า ทำไมจริยธรรมของคนจึงเสื่อมทรามลง  โดยเราเห็นตรงกันดังนี้

ทุกคนล้วนมีเมล็ดพันธุ์ด้านดีและร้ายผสมผสานกันอยู่ภายใน เมล็ดพันธุ์ร้ายที่มีอยู่แล้วเป็นพื้นก็คือ ความทะยานอยากทั้งหลายทั้งปวง (ตัณหา) มีตั้งแต่อยากได้อยากเป็นอย่างพอเหมาะพอดีกับชีวิต ไปจนถึงอยากได้อยากเป็นอย่างบ้าคลั่งไม่รู้จักพอ  นอกจากนี้ยังมีความรู้สึกเปรียบเทียบแข่งขัน (มานะ) ทนไม่ได้เอาเลยที่จะเห็นคนอื่นมีนั่น มีนี่ เป็นนั่น เป็นนี่แซงล้ำหน้าเราไป  ทั้งนี้ความทะยานอยากและการเปรียบเทียบแข่งขันนี้ล้วนมาจากเมล็ดพันธุ์แห่งความไม่รู้ (อวิชชา) คือไม่รู้ชัดภายในว่าทุกสิ่งผันผวนปรวนแปรอยู่ตลอดเวลา  เราไม่สามารถไปบังคับบัญชาให้มันอยู่ในอำนาจตามความอยากของเราอย่างเบ็ดเสร็จถาวร  ดังนั้นเราจึงไม่สามารถครอบครองสิ่งใดอย่างยึดติดตายตัวได้  เมื่อเกิดความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นมาเมื่อใด ความทุกข์ร้อนใจก็จะปรากฏขึ้นทันที

เมล็ดพันธุ์แห่งความทะยานอยาก การเปรียบเทียบแข่งขัน และความไม่รู้ ล้วนเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ฝังรากลึกในตัวเราทุกคน ดังนั้นเมื่อต้องเผชิญกับโลกภายนอกที่คอยยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความโลภ โกรธ หลง  เมล็ดพันธุ์เหล่านี้จึงเติบโตงอกงามภายในตัวเรา  ปัจจัยยั่วยุปลุกปั่นของสังคมสมัยใหม่มักมาในรูปของวัฒนธรรมบริโภคนิยม ที่กระตุ้นให้คนรู้สึกอยากได้ อยากเสพ อยากซื้อ อยากครอบครองทุกอย่างที่สื่อโฆษณาชวนเชื่อ

ค่านิยมที่นิยมยกย่องความร่ำรวย คนเก่ง หรือผู้ชนะ เหนือความเป็นคนดีมีจริยธรรม ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เมล็ดพันธุ์ด้านร้ายภายในของเราเติบโตงอกงาม  ซึ่งหากเข้มข้นรุนแรงก็จะทำให้เราหน้ามืดตามัวจนทำได้ทุกอย่างเพื่อแสวงหาอำนาจ หรือทุจริต คอร์รัปชั่นทุกรูปแบบเพื่อจะได้ครอบครองทุกสิ่งตามที่ต้องการ

ทุกสิ่งผันผวนปรวนแปรอยู่ตลอดเวลา เราไม่สามารถบังคับบัญชาให้มันอยู่ใต้อำนาจของเราอย่างเบ็ดเสร็จถาวร ดังนั้นเราจึงไม่สามารถครอบครองสิ่งใดอย่างยึดติดตายตัวได้

ขณะที่สังคมสมัยใหม่เต็มไปด้วยเครื่องมือของวัฒนธรรมบริโภคนิยม โครงสร้างองค์กรและสังคมที่อยุติธรรม (คนมีเงินและอำนาจเอาเปรียบคนส่วนใหญ่เกือบทุกทาง) เต็มไปด้วยการทุจริตและใช้ความรุนแรงนั้น  อีกด้านหนึ่งสังคมก็กลับขาดกระบวนการหรือเครื่องมือที่ส่งเสริมให้คนในสังคมรู้เท่าทันและขัดเกลาตนเอง  รู้เท่าทันอันตรายวัฒนธรรมบริโภคนิยม  รวมไปถึงรู้เท่าทันโครงสร้างองค์กรและสังคมที่ไม่เป็นธรรม  ดังนั้นเมล็ดพันธุ์ที่ดีงาม หรือจริยธรรมภายในของคนจึงไม่ได้รับการรดน้ำพรวนดิน  แต่กลับไปรดน้ำพรวนดินเมล็ดพันธุ์ด้านร้ายแทน จริยธรรมของคนจึงง่ายที่จะเสื่อมสูญ

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ เวลาที่มีการทำทุจริตหรือเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น  สังคมไทยมักจะเพิกเฉยปล่อยปละละเลยไม่พยายามรวมตัวกันเพื่อเตือนสติหรือเข้าไปมีส่วนร่วมยับยั้งหรือจัดการไม่ให้ความชั่วร้ายต่างๆ ทั้งในจิตใจและในสังคมเติบโตและแพร่กระจายออกไป  เพราะเรามักคิดเสมอว่า กลัวจะยุ่งยากเดือดร้อนหรือเสี่ยงเกินไปถ้าจะเข้าไปยุ่มย่ามกับเรื่องที่คนอื่นกำลังทำผิด  หรือบางทีก็มักจะคิดว่า ถึงเราไม่ทำอะไรก็มีคนอื่นหรือหน่วยงานรับผิดชอบอยู่แล้ว  ความคิดเช่นนี้มักจะตอกย้ำให้คนในสังคมขาดความกล้าหาญทางจริยธรรม ขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้สังคมอ่อนแอ ง่ายต่อการถูกครอบงำทางจิตใจและทางสติปัญญา ที่สุดสังคมก็เลยเสื่อมทรามลงไปเรื่อยๆ  เมื่อใดสังคมเริ่มยอมรับความไม่ถูกต้องชอบธรรมได้อย่างหน้าชื่นตาบาน วันหนึ่งคนดีมีจริยธรรมก็อาจแปรเปลี่ยนไปตามกระแสอย่างน่าเสียดายยิ่ง

ดังนั้นหากสังคมไทยกำลังจะเริ่มต้นปฏิรูปในทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะการปฏิรูปจิตสำนึกด้านจริยธรรม ก็ไม่ควรลืมแก้ที่เหตุปัจจัยแห่งความเสื่อมลงของจริยธรรม


ภาพประกอบ

ปรีดา เรืองวิชาธร

ผู้เขียน: ปรีดา เรืองวิชาธร

สนใจและศึกษาเรื่องการเรียนรู้แนวจิตวิญญาณและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกระบวนกรให้กับเสมสิกขาลัยนับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน