เราทุกข์อย่างไร

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 10 สิงหาคม 2008

หากว่าเรามีดวงตาวิเศษ สามารถมองเห็นสีสันของความทุกข์ที่อยู่ในตัวผู้คนได้ โดยให้ความทุกข์แต่ละอย่างต่างมีสีสันของตัวมันเอง ผู้คนมากมายรวมถึงตัวเราเองคงมีสีสันมากมายนับไม่ถ้วน เจิดจ้า และอ่อนจางไปตามความทุกข์ที่พอกพูน  ความทุกข์จากความผิดหวัง เสียใจ โกรธแค้น สูญเสีย เจ็บป่วย หงุดหงิด ราคะ ฯลฯ สีสันของความทุกข์คงมีสีสันนับไม่ถ้วน ตามสัดส่วนของแม่สีหลักๆ คือ สีเหลือง สีแดง สีน้ำเงิน ด้วยโมหะ โทสะ และโลภะ  บางช่วงของชีวิต สีสันความทุกข์เข้มข้น บางช่วงก็อ่อนจางลง  แต่ทั้งหมดเราก็จะพบว่าเราควบคุมสีสันความทุกข์แทบไม่ได้เลย มันจะเป็นอย่างไร เราก็พบว่าสีสันความทุกข์นี้มันอยู่เหนือการควบคุมของเรา  สิ่งที่เราพอทำได้ คือ เฝ้าดู

สามัญสำนึกมักบอกเราเสมอว่า ภายในชีวิตของเราที่ดำเนินชีวิตและเป็นตัวเราในทุกวันนี้ มันมีตัวตน มีความเป็นเราที่ต้องอยู่รอด ต้องการความสุขและหลีกเลี่ยงทุกข์  ยามที่มีความสุข เราเพลิดเพลินยินดี ปรารถนายึดครองและเก็บเกี่ยวสุขนี้ให้นานที่สุด  แต่ยามที่ทุกข์มาเยือน ถูกแย่งชิงของรักของหวง จิตใจเราเกิดปฏิกิริยาทันที  ความคิดนึกต่างๆ วิ่งวนเข้ามาเพื่อตอกย้ำและหล่อเลี้ยงให้จิตใจเพิ่มพูนและอยู่กับความรู้สึกทุกข์ทรมาน จนเราทนไม่ได้ ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อบรรเทาหรือเยียวยาให้ความทุกข์ทางใจได้จางคลายลง

ตัวตนทำให้เรารู้สึกและเชื่อว่า มันมีตัวเราที่มีความสุข ความทุกข์  บ่อยครั้งที่เราดิ้นรนและแสวงหา เริ่มตั้งแต่ดูแลสุขภาพที่แข็งแรง บำรุงหล่อเลี้ยงร่างกายให้แข็งแรง สวยงาม  ความสำเร็จ ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน  รวมถึงการสร้างสรรค์และพัฒนาความสัมพันธ์ที่พึงปรารถนากับคนพิเศษ คนสำคัญรอบตัว  ทั้งหมดก็เพื่อได้มาซึ่งความสุข ความพอใจ และเพื่อหลีกเลี่ยงความทุกข์ทั้งกายและใจ  เชื่อหรือไม่ว่า เราเดินทางพร้อมกับแบกพาภารกิจบางอย่างติดตัวไปตลอดเวลา เราแบกพาไปเพราะเชื่อว่า สิ่งที่แบกพานั้นมันน่าจะเป็นสิ่งที่ดีให้กับชีวิตของเรา

สิ่งที่เราแบกพาไปก็คือ ความคิด ความเชื่อว่า สิ่งที่เราแบกถือ คือสิ่งดีที่สุด สำคัญที่สุด  เริ่มต้นที่ ๑) โลกส่วนตัว เริ่มต้นที่สุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตใจ  เรามีความอยาก ความปรารถนาให้สุขภาพของเราแข็งแรง ปราศจากโรคภัย  จิตใจมีความสุข สงบ  ๒) โลกของอาชีพการงาน อาชีพการงานเป็นแหล่งที่ทำให้เราสามารถพึ่งพาตนเอง เลี้ยงดูชีวิตและครอบครัว  เรามุ่งความก้าวหน้า ความสำเร็จในหน้าที่การงานเพื่อได้มาซึ่งความภาคภูมิใจ ความรู้สึกมีคุณค่า  และ ๓) โลกของความสัมพันธ์ เราปรารถนาสายสัมพันธ์กับผู้อื่น เชื่อมโยงและผูกพันกับคนพิเศษ เราต้องการการยอมรับ โอบอุ้มดูแลทั้งโดยการให้และการรับ  สายสัมพันธ์ทำให้เรารู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย แต่ก็ทำให้เราไม่เป็นอิสระ  กระนั้น หลายคนก็ทำงานหนัก ทุ่มเทแรงกายและใจเพื่อการนี้ เพื่อได้มาซึ่งสายสัมพันธ์ที่พึงปรารถนา

เราสังเกตหรือไม่ว่า สุข-ทุกข์ของเราสั่นไหวไปตามโลกทั้ง ๓ ใบนี้  ยามเมื่อร่างกายมีสัญญาณผิดปกติ : เหน็ดเหนื่อยง่าย ขับถ่ายผิดปกติ  เราไม่เพียงทุกข์แค่ร่างกาย แต่ยังทุกข์จากความวิตกกังวล ความกลัว “เราจะเป็นมะเร็งมั้ย” “ร่างกายเรามีอะไรผิดปกติ” มันจู่โจมทันที  หรือยามเมื่อการงานเราล้มเหลว ถูกตำหนิ ถูกวิจารณ์ ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเรา เกี่ยวกับผู้คน หรือสิ่งของที่เรามองว่าคือของเรา โทสะรูปแบบต่างๆ มันเข้ามาทันที  หรือยามเมื่อความสัมพันธ์เกิดความเลวร้ายขึ้น ความรู้สึกทุกข์ตรมรุมเร้าจากการสูญเสียสายสัมพันธ์ที่เรารัก ไม่ว่าจะเนื่องด้วยการพลัดพราก ถูกแย่งชิง เลิกรา หรือการไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน

สามัญสำนึกมักบอกเราเสมอว่า ภายในชีวิตและตัวเรานี้ มันมีตัวตน มีความเป็นเราที่ต้องอยู่รอด ต้องการความสุขและหลีกเลี่ยงทุกข์

ยามเมื่อความทุกข์เกิดขึ้น จิตใจของเรากระสับกระส่าย จิตใจบีบเค้นตัวเอง ทุรนทุราย เจ็บปวด ปวดแสบปวดร้อน  ทันทีเมื่อจิตใจเราทุกข์ทรมานเช่นนี้ โดยไม่รู้ตัว เราได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความทุกข์นั้น เพราะต้องการสุขและหลีกเลี่ยงทุกข์  ปฎิกิริยาที่เราตอบโต้ทันที ที่เราพอจำแนกได้ก็คือ  ๑) เฝ้าหมกมุ่นและตำหนิ กล่าวโทษตนเอง ความคิดความรู้สึกภายในเฝ้าบอกตัวเองว่า เราถูกทำร้าย เราถูกเอาเปรียบ ถูกโกง เราแย่ เราโชคร้าย ฯลฯ  เราเศร้าเสียใจ โกรธ ผิดหวัง คละเคล้ากันไป  ๒) เฝ้าเพ่งโทษ กล่าวโทษคนอื่น ว่าเป็นสาเหตุความทุกข์ทรมานในจิตใจเรา  เราปกป้องตนเองด้วยการกล่าวโทษ โยนปัญหาความวุ่นวายว่ามีสาเหตุจากผู้อื่น  พฤติกรรมที่ทำงานออกมาทันที คือ เราบ่นว่า ตำหนิ ตัดพ้อ ด่าทอและโวยวายกับผู้อื่น  ๓) ปฏิกิริยาเปรียบเทียบคุณค่าในตัวเองกับคนอื่น เราตัดสินตนเองโดยเปรียบเทียบกับคนอื่นและตีตราตนเองว่าเราดีกว่า ด้อยกว่า วิเศษกว่า ต่ำต้อยกว่า ฯลฯ

เพราะความคิด ความเชื่อที่ฝังรากลึกในจิตใจส่วนลึกว่า กายและใจ คือตัวเรา คือของเรา  สุข-ทุกข์ของเราจึงล่ามไปกับจิตใจ ผูกล่ามระหว่างจิตใจกับสุขทุกข์ตามการปรุงแต่ง เนื่องจากความเชื่อโดยไม่รู้ตัว ไม่เคยตรวจสอบหรือสำนึกว่าแท้จริง ความสุขเป็นผิวหน้าฉาบทาความทุกข์ จิตใจมีความทุกข์บ้างแต่หลายครั้งจิตใจมีความสุข สมหวัง ปลาบปลื้มจากความสุขสมหวังในโลกทั้ง ๓ ใบ แล้วเราก็อยากได้อีก อยากยึดครองแต่แล้วก็ต้องผิดหวัง ความทุกข์เข้ามาทันที  ความสุขจึงเป็นเพียงกับดักไม่ให้เราหนีห่างความทุกข์ได้จริง เป็นเหมือนคนที่ตบหัวและลูบหลังเราด้วยความสุขเป็นครั้งคราว และก็ตบหัวเราหนักขึ้นๆ

กระนั้นก็ตาม ความรู้-ความเข้าใจว่า จิตใจคือความทุกข์โดยตัวมันเอง มีความสำคัญแต่ไม่เพียงพอ  เราต้องการความประจักษ์แจ้งในจิตใจ ประจักษ์แจ้งอย่างชัดเจนและมากพอที่จะทำให้เราปล่อยวางการแบกหาม การยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เราหลงคิดว่ามันดี มันสำคัญ  เช่น เมื่อเรายังเชื่อว่าความสำเร็จเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อนั้นสิ่งที่ตามมาคือ ไม่ง่ายเลยและอาจทำไม่ได้เลยสำหรับบางคนที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ ในการที่จะให้ตัวเองได้พักผ่อน ได้พอใจกับสิ่งที่ตนเองมีอยู่และเป็นอยู่  สิ่งที่พวกเขาทำได้คือ ทะยานอยากและไปข้างหน้าเพื่อความสำเร็จ เพื่อความสำเร็จ จนกว่าเขาจะพบว่าความสำเร็จนั้นไม่มีความหมาย เขาจึงปล่อยวางได้  หรือเมื่อเรารักใคร เราเชื่อว่าอีกฝ่ายรักและดีต่อเราเช่นกัน แต่หากเมื่อเราเฝ้าดู เฝ้ามองและพบในที่สุดว่า แท้จริงมันคือความหลอกลวง ความรักนั้นก็จะค่อยๆ จืดจางไปในที่สุด เราปล่อยวางความรักนั้นได้ในที่สุด  สิ่งสำคัญคือ เฝ้าดู  คอยและเฝ้าดูเพื่อพบความจริง ที่จะนำพาการปล่อยวางได้ในที่สุด


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน