เราบิดเบือนชีวิตอย่างไร

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 8 กุมภาพันธ์ 2009

เจ้าช้างน้อยจอมซุกซนมักชอบเที่ยวเล่นไปที่ต่างๆ ตามประสาวัยเด็กที่อยากรู้อยากเห็น เจ้าของจึงจับล่ามโซ่เอาไว้  แน่นอนมันพยายามดิ้นรน ออกแรงเต็มที่เพื่อที่จะเป็นอิสระ  ในที่สุดมันก็ยอมรับความจริงว่ามันไม่อาจเป็นอิสระได้เหมือนก่อน สำหรับมันแล้ว สายโซ่คือพันธนาการที่ล่ามมันไว้ และไม่อาจดิ้นรนขัดขืนได้  มันยอมรับความจริงในเรื่องนี้ มันเลิกดิ้นรน และยอมรับสายโซ่ที่พันธนาการมันไว้  กาลเวลาผ่านไป ช้างน้อยเติบโตขึ้นเป็นช้างตัวใหญ่ สายโซ่ยังคงเป็นสายโซ่ เช่นเดียวกับความคิด ความเชื่อในตัวมันที่ยังคงเดิมว่า มันไม่อาจดิ้นรนหนีจากสายโซ่นี้ได้ มันยังคงยึดถือความจริงเมื่อกาลก่อน  มันหลงลืมไปว่าตัวมันเติบโตขึ้นมาก ตัวมันไม่ใช้ช้างน้อยอีกต่อไป

พวกเราทุกคนก็ไม่ต่างจากเจ้าช้างน้อยตัวนี้ เมื่อเราย้อนรำลึกเรื่องราวชีวิตที่ผ่านมา เราสัมผัสได้ถึงความรู้สึกนึกคิดต่างๆ นานาแฝงฝังอยู่ในเรื่องราว โดยมีตัวเราขับเคลื่อนเรื่องราวเป็นตัวเอก “เรากับเรื่องราวของเรา”  สิ่งที่น่าสนใจและพึงใส่ใจคือ ณ ชั่วขณะหนึ่งของประสบการณ์ที่ผ่านไป เอาเข้าจริง เราจับต้องและยึดคว้าอะไรไม่ได้เลย มีแต่เพียงความทรงจำเป็นภาพพิมพ์ในจิตใจ  แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ หากประสบการณ์นั้นเป็นความสุข น่าพอใจ เราก็อยากได้มันอีก อยากได้เอาไว้ในครอบครอง อยากให้มันคงอยู่ ไม่อยากสูญเสียหรือพรากจากมัน แต่หากประสบการณ์นั้นเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ เป็นความทุกข์ อึดอัดและเจ็บปวด เราอยากให้ประสบการณ์นั้นผ่านพ้นไปโดยเร็ว ไม่อยากพบเจอ  ความทุกข์ของเราจึงวนเวียนอยู่กับการต้องประสบกับความทุกข์ และการไม่ได้ในสิ่งที่เราต้องการ

เราทุกคนเติบโตและเรียนรู้มากับประสบการณ์ชีวิตสุขทุกข์ เรากับเรื่องราวชีวิตที่ผ่านมาจนกลายเป็นตัวเราในทุกวันนี้  ตัวเรา ณ ขณะนี้จึงเป็นตัวเราที่สั่งสมประสบการณ์และภาพความทรงจำต่างๆ มาไว้ในตัว  จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อตัวเราปล่อยวางหรือหลงลืมประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา เราจะสูญเสียความเป็นตัวเราหรือไม่อย่างไร  เช่นเดียวกับเจ้าช้างตัวโตซึ่งเติบโตมากับความทรงจำบางอย่างที่มีต่อสายโซ่ มันเชื่อโดยสนิทใจว่า มันคือเจ้าช้างน้อยที่ไม่อาจเอาชนะสายโซ่ได้ แต่สำหรับพวกเราที่เห็นรูปร่างใหญ่โตของมันต่างรู้ดีว่านั่นมิใช่ความจริงอีกต่อไป  กาลเวลาเคลื่อนผ่าน สรรพสิ่งแปรเปลี่ยน ไม่มีสิ่งใดตั้งอยู่ถาวร

ตัวเราก็เช่นกัน ทุกขณะที่เวลาผ่านไป เซลล์อวัยวะของเรามีการผลัดเปลี่ยนตลอดเวลา เซลล์เก่าตายไป เซลล์ใหม่เกิดขึ้นและเติบโตแทนที่  เช่นเดียวกับจิตใจ  จิตที่คิดนึก ใจที่สัมผัสความรู้สึกนึกคิด  จิตใจนั้นทำงานได้เฉพาะกับเรื่องราวของอดีตและอนาคต การงานของจิตใจ คือ การคิดนึกกับเรื่องราวต่างๆ สร้างเรื่องราวจินตนาการปรุงแต่งไปกับสิ่งที่รับรู้ พร้อมกับอารมณ์ความรู้สึกก็เกิดขึ้น อันเป็นปฎิกิริยาจากร่างกายที่มีต่อความนึกคิดนั้นๆ ดังเช่น หัวใจเต้นถี่จากความรู้สึกกลัว กล้ามเนื้อเกร็งจากความเครียด หรือร่างกายที่ผ่อนคลายจากความรู้สึกที่เป็นสุข ฯลฯ

ชั่วขณะที่จิตใจทำงาน เราจึงหลงลืมภาวะปัจจุบัน  ภาวะปัจจุบันเป็นชั่วขณะที่เราไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต เป็นช่วงเวลาของการอยู่กับประสบการณ์ชีวิตตรงๆ ณ ที่ตรงนั้นและขณะนั้น ไม่มีภาวะของการไขว่คว้า ไม่มีการถือครอง ชีวิตมีแต่ชั่วขณะหนึ่งและชั่วขณะหนึ่ง สิ่งที่ผ่านไปเป็นเพียงความทรงจำที่ตกค้างในห้วงความคิดของเราเท่านั้น  เจ้าช้างหลงลืมภาวะปัจจุบันว่าสภาพร่างกายของมัน ณ ขณะนี้มันมีกำลังแรงมหาศาล มันไม่ใช่เจ้าช้างน้อยอีกต่อไป  ขณะเดียวกันมันก็หลงลืมไปว่า ประสบการณ์ที่มันเอาชนะสายโซ่ไม่ได้นั้นมันเป็นอดีต ไม่ใช่ประสบการณ์อันเป็นปัจจุบัน และนี่คือ วิธีการที่เจ้าช้างบิดเบือนชีวิตของมัน

พวกเราหลายคนก็ไม่ต่างจากเจ้าช้าง เราบิดเบือนชีวิตเริ่มต้นที่

๑) เราหลงลืมภาวะปัจจุบันที่มีอยู่กับความรู้สึกตัวต่อร่างกายของเราเอง  หากลองสังเกตก็จะพบว่า ยามที่เรากำลังใจลอย คิดนึกฟุ้งซ่าน หรือยามที่เราตกอยู่ในอารมณ์แรงๆ เช่น โกรธ กลัว เสียใจ ดีใจ มันเหมือนร่างกายหายไป เราไม่รู้สึกถึงร่างกาย เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับเรื่องราวที่คิดนึกนั้นๆ หรือจมหายไปกับอารมณ์ที่เข้มข้นนั้นๆ เราไม่ได้ตระหนักรู้ว่าร่างกายเราเป็นอย่างไร เราหายใจอย่างไรตรงนั้น

๒) แล้วเราก็หลงลืมด้วยว่าประสบการณ์ที่เราเชื่อมันเป็นอดีตแล้ว แต่เราถือแบกติดตัวโดยไม่ตระหนักรู้ว่า สิ่งที่เราถือแบกมาโดยตลอดอาจไม่ใช่ความจริงในปัจจุบัน  ความเชื่อในอดีตกลายเป็นกล่องหรืออคติที่เราพกติดตัวมาเสมอ  กล่องหรืออคติเป็นความคิด ความเชื่อ ที่เรารับเข้ามาทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว เรารับมาโดยที่บ่อยครั้งเราแทบไม่ได้ตรวจสอบอคติ หรือกล่องที่เราถือติดตัวมาเลยว่า เราถือเพราะอะไร มันให้คุณให้โทษกับชีวิตเราอย่างไร และโดยไม่รู้ตัวกล่องหรืออคติเหล่านี้ก็กลายเป็นบุคลิกภาพประจำตัว

ความทรงจำ ประสบการณ์ ช่วยให้เรามีรากที่ยึดโยงกับอดีตว่าเราเป็นใคร เราเติบโตมาอย่างไร และเรากำลังจะไป ณ จุดใด เราเรียนรู้ความเป็นตัวเราผ่านสุข-ทุกข์ต่างๆ  การสูญหายไปของความทรงจำ ดังเช่นผู้ป่วยความจำเสื่อมจากสาเหตุใดก็ตาม นับเป็นโศกนาฏกรรมที่สูญเสียขุมทรัพย์อันมีค่า  แต่การมีความทรงจำ บทเรียนชีวิตที่ผ่านมาโดยไม่ได้ตระหนักรู้ ก็เป็นโศกนาฎกรรมอีกแบบ  ความทุกข์เป็นแรงขับเคลื่อนชีวิตที่ทรงพลัง มีความหมายและความสำคัญโดยเฉพาะความทุกข์ทางจิตใจ บางทีเจ้าช้างคงไม่ต้องการเผชิญความผิดหวัง ความล้มเหลวอีกต่อไป เหมือนพวกเราหลายคนที่ทุกข์ทรมานในจิตใจยามที่ผิดหวัง พ่ายแพ้  แต่นั่นเพราะการเข้าไปติดจมในความรู้สึก จนหลงลืมภาวะปัจจุบัน หลงลืมว่าความผิดหวัง-ความทุกข์มันมาแล้วมันก็ต้องผ่านไป ไม่มีสิ่งใดตั้งอยู่ถาวร

หากสังเกตให้ดีก็จะพบว่า จิตใจมักส่งเสียงเป็นความนึกคิดต่างๆ คอยกำกับให้เราคิด เราเชื่อ และกระทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ “เราต้องเป็นเด็กดี” “เราเป็นคนเก่ง เราแพ้ไม่ได้” หรือ “คนเราเห็นแก่ตัว ไม่มีใครรักใครจริง” ฯลฯ  พวกเราเรียนรู้และเติบโตโดยมีเสียงเหล่านี้คอยกำกับตลอดเวลา  แง่หนึ่งเสียงเหล่านี้ก็ช่วยให้เรานำพาตัวเราให้เป็นตัวเราในทุกวันนี้ มีชีวิตและความสุขตามอัตภาพ แต่เมื่อเราเติบโตขึ้นก็ถึงเวลาสมควรที่จะตรวจสอบเสียงเหล่านี้ว่ามันบิดเบือนชีวิตเราอย่างไร  แง่หนึ่งเสียงเหล่านี้อาจมีส่วนเสี้ยวความจริง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด  โจทย์สำคัญ คือ บ่อยครั้งโดยไม่รู้ตัว เราไม่ได้ตระหนักรู้กับเสียงเหล่านี้ที่มักเข้ามาหลอกลวงเราบ่อยๆ และบิดเบือนชีวิต  สิ่งมหัศจรรย์คือ เสียงของความทุกข์จะเรียกร้องให้เราต้องทบทวนจนกว่า…เราเข้าใจชีวิตและไม่บิดเบือนมันอีกต่อไป


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน