โปรดดูแลชีวิต

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 21 สิงหาคม 2016

สมศรี (นามสมมุติ) เธอเป็นหญิงสาวโสดที่มีการศึกษา พร้อมด้วยหน้าที่การงานและสถานภาพ เธอหลงรักชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งอายุน้อยกว่าเธอ สถานภาพหน้าที่การงานด้อยกว่าเธอ  สังคมแวดล้อมของเธอเปิดกว้างและรับได้ หากว่าทั้งสองจะใช้ชีวิตร่วมกัน เพราะถือว่าเป็นความรับผิดชอบส่วนตัวและเป็นเรื่องที่สองฝ่ายยินดีร่วมกัน แต่สิ่งที่เพื่อนและครอบครัวของสมศรีรู้สึกกังวลและเป็นห่วงเธอมากคือ พฤติกรรมรักข้างเดียว รวมถึงอาการตื๊อไม่เลิก โดยมุ่งมั่นเอาชนะใจอีกฝ่าย ทั้งที่อีกฝ่ายไม่ต้องการเช่นนั้น

สมชาย (นามสมมุติ) เป็นลูกชายคนเดียวในครอบครัวที่มีฐานะ มีการศึกษา ให้ความรักดูแลอย่างดี  ชีวิตของสมชายดำเนินไปเรื่อยๆ มีเกเรบ้างตามวัยและสังคมเพื่อน แต่สิ่งที่พ่อแม่หนักใจคือ แม้สมชายอายุย่างเข้าวัยเบญจเพส แต่เหมือนชีวิตก็ดูไม่เป็นชิ้นเป็นอัน  ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจดี พ่อแม่พร้อมโอบอุ้มสนับสนุน ผลกระทบคือ สมชายมีท่าทีชีวิตที่ไม่ต้องอดทนต่อความยากลำบาก เมื่อมีความยากลำบากหรือปัญหา สมชายก็เลือกเดินออกจากสถานการณ์นั้นได้ สมชายไม่ค่อยได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบ

สมศรีและสมชายเป็นตัวอย่างของบุคคลส่วนใหญ่ ที่ดำเนินชีวิตไปภายใต้สิ่งที่ตนเองรับรู้และเข้าใจ

จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม สมศรีรับรู้และเข้าใจเอาเองว่า หากตนเองใช้ความมุ่งมั่น ความพยายามมากเท่าใด วันหนึ่งความสำเร็จจะตามมา สมศรีเชื่อว่าตนเองสามารถเอาชนะใจอีกฝ่ายได้ หากตนเองพยายามมากพอ  สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สมศรีพยายามผูกมัดความสัมพันธ์ ไม้อ่อนไม้แข็งถูกนำมาใช้จนเพื่อนมองว่า สมศรีกำลังทำร้ายเบียดเบียนตนเองเรื่อยๆ  ในส่วนของสมชายเองก็รับรู้และเชื่อโดยสนิทใจว่า พ่อแม่ของตนมีหน้าที่คอยปกป้องดูแลไม่ให้เขาต้องลำบาก เมื่อใดที่เขามีความทุกข์ พ่อแม่จะช่วยเหลือเขาเสมอ

ผู้คนจำนวนมากตกอยู่ในกับดักของตนเอง กับดักความคิดที่มองและเชื่อว่า สิ่งที่ตนเองรับรู้ มองเห็น และเข้าใจ คือทั้งหมดของความจริงที่ดำรงอยู่ สิ่งนี้เป็นเสมือนเลนส์สายตาที่ทำให้เราเห็น รับรู้เท่าที่เลนส์สายตาจะอนุญาตให้เรารับรู้ มองเห็น

สมศรีและสมชายจึงมองไม่เห็นความจริงใดๆ ที่พ้นไปจากสิ่งที่เลนส์สายตายินยอม  สมศรีไม่รับรู้ และทำให้ไม่เชื่อไปด้วยว่า ในเรื่องของความรัก ความรู้สึก การทุ่มเทความพยายามไม่ใด้เป็นหลักประกันความสำเร็จแต่อย่างใด ความพยายามที่ทุ่มเทไปเป็นเหมือนการเดินชนกำแพงโดยไม่เลิกรา  พร้อมกับสมชายไม่ได้รับรู้และไม่ได้ใส่ใจว่า ชีวิตของสมชายเป็นสิ่งที่สมชายต้องรับผิดชอบและดูแลด้วยตนเอง และชีวิตก็เต็มไปด้วยสีสันของความขัดแย้ง ความทุกข์ ความเจ็บปวด น่าอึดอัด ไม่ได้มีแต่ด้านสนุกสนาน ด้านที่น่าพึงพอใจเท่านั้น

ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ให้ข้อธรรมเรียบง่ายแต่ทรงพลังว่า “หนอนไม่เห็นคูถ ไส้เดือนไม่เห็นดิน ปลาไม่เห็นน้ำ นกไม่เห็นฟ้า คนไม่เห็นโลก” สื่อสารความหมายถึง พวกเราหลายคนมักมองข้ามสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว มองไม่เห็นสิ่งสำคัญใกล้ตัว และใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ โดยไม่เรียนรู้ตัวเอง ไม่เรียนรู้ชีวิต ไม่เรียนรู้ความจริงของชีวิต  เมื่อมองไม่เห็นความจริงของชีวิต การใช้ชีวิตก็เป็นไปตามกระแสโลก ตามความเชื่อเดิมๆ ที่สั่งสมซึ่งไม่เพียงพอกับการใช้ชีวิตที่สอดคล้องความจริงของชีวิต  หลายคนเมื่อใช้ชีวิตโดยไม่รู้จักความจริงของชีวิต ไม่รู้จักตนเอง ผลกระทบที่มักเกิดขึ้นคือ ความทุกข์กายและใจ โดยเฉพาะความทุกข์ทางใจ ผิดหวัง เสียใจ เศร้าเหงา อึดอัด เจ็บปวด รวมไปถึงการมองไม่เห็นในคุณค่าตนเอง และคุณค่าของชีวิต

ในกรอบวัฒนธรรมและศาสนธรรม คำสอนทางศาสนาอาจช่วยผู้คนให้สามารถรับมือกับความทุกข์ที่เข้ามา  เช่นเดียวกับกระบวนการพูดคุยให้คำปรึกษา เยียวยา บำบัดทางจิตใจ ก็มีความมุ่งหมายให้ผู้รับบริการซึ่งก็คือ ผู้มีความทุกข์ในจิตใจ ได้กลับมาเรียนรู้ความจริงของชีวิต มาเรียนรู้เข้าใจและยอมรับตนเอง ยอมรับความเป็นไปที่ผ่านมา ซึ่งนำไปสู่การมองเห็นคุณค่าและการมีความเคารพรักในตนเองได้ พบศักยภาพที่ตนเองมีทางเลือกได้  ไม่ใช่การตกอยู่ในภาวะยอมจำนน แต่เป็นการมีความรับผิดชอบในตนเอง เลือกและกระทำในสิ่งที่ “ใช่” กับตนเอง

หนทางสู่การมีความเคารพในตนเอง เริ่มต้นจากการสร้างความสามารถในตนเอง ผ่านการเรียนรู้ถึงความไม่สมบูรณ์และความผิดพลาดของชีวิต ซึ่งก็คือ การยอมรับในเส้นทางชีวิตของตนเอง การพร้อมแก้ไขในสิ่งผิดพลาดเพื่อการเติบโตในตนเอง  ความมีคุณค่าในตนเองมาจากการกระทำของเราเอง ไม่ได้มาจากการยอมรับของคนอื่น  การกระทำของเรา คือการสื่อแสดงที่สะท้อนถึงความมีคุณค่าที่เราให้กับตนเองและผู้อื่น

ไม่ใช่การตกอยู่ในภาวะยอมจำนน แต่สามารถเลือกและทำสิ่งที่ “ใช่” กับตนเอง

สมศรีรับรู้และเชื่อเองว่า ตนเองจะมีความสุขหากสมหวังในความรัก  สมชายมองและเชื่อว่า ความสุขของตนมาจากการใช้ชีวิตเรื่อยๆ อยู่กับสิ่งที่พึงใจ  ท่าทีเช่นนี้สื่อแสดงถึงการมองชีวิตที่ว่า ชีวิตจะมีความสุข เนื่องมาจากการได้สิ่งเติมเต็ม จากการตอบสนองของปัจจัยภายนอก จากการยอมรับของคนอื่น ซึ่งก็เป็นมุมมองชีวิตที่ไม่เคารพตนเอง

สมศรีจะสามารถมารักและเคารพชีวิตตนเอง ก็ต่อเมื่อสมศรีเรียนรู้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้น สมศรีกำลังทำร้ายตนเอง และชีวิตสมศรีมีคุณค่า ไม่สมควรถูกทำร้ายเช่นนั้น  พร้อมกับสมชายได้กลับมาเรียนรู้ว่า ผลของการกระทำที่ผ่านมาสร้างความทุกข์ให้กับชีวิตสมชาย และสมชายสามารถกระทำสิ่งที่แตกต่างออกไป ชีวิตสมชายมีคุณค่า และสมควรได้สิ่งที่ดีกว่าผลลัพธ์ที่เป็นอยู่จากการกระทำแบบที่ผ่านมา

การมองเห็นคุณค่าและการเคารพรักในตนเอง อาจฟังเป็นศัพท์แสงทางจิตวิทยา และดูไม่คุ้นเคยในกรอบวัฒนธรรมไทย  ซึ่งหากพิจารณาโดยรอบด้านจะพบว่า มุมมองศาสนธรรมในพุทธศาสนาสะท้อนถึงความรักในคุณค่าชีวิต คุณค่าของสัมพันธภาพ รวมถึงต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการไม่เบียดเบียนชีวิตตนเองและผู้อื่น  ดังนั้น คำถามเชิงปฏิบัติที่สมศรี สมชาย รวมถึงหลายๆ คนทำได้ก็คือ พึงถามตนเองว่า “เรารู้สึกเจ็บปวด เสียใจกับสิ่งที่กระทำนั้นหรือไม่”

เพราะนั่นคือสัญญาณว่า เรากำลังเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอยู่


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน