ในเส้นทาง: การสื่อสาร

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 24 กุมภาพันธ์ 2013

“ตัวเรา คือ เรื่องราวที่เราสื่อสารออกไป”

หนุ่มสาวซึ่งเป็นคู่รักนัดหมายพบปะกันที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง  ฝ่ายชายมาผิดเวลามาก ฝ่ายหญิงรอคอยจนรู้สึกหงุดหงิด โมโห ต่อว่าต่อขานรวมถึงตัดพ้อกับความซ้ำซากของเหตุการณ์ที่มักเกิดขึ้นบ่อย  ฝ่ายชายพยายามอธิบายความจำเป็น แต่เพื่อยุติเรื่องราว ฝ่ายชายจึงขอโทษ  แต่ด้วยสายตาที่บ่งบอกความรำคาญ หงุดหงิด ก็ทำให้คำขอโทษนั้นดูไม่น่าเชื่อถือ  ฝ่ายหญิงไม่รู้สึกว่าตนได้รับความเข้าใจ เห็นใจ  อาการของความไม่ชอบใจติดค้าง วันนั้นความสัมพันธ์ของทั้งคู่จึงเป็นไปด้วยความมึนตึง ไม่แช่มชื่นอย่างที่เคย  คู่รักทั้งสองกลับมาครุ่นคิดถึงทางเลือกต่างๆ ที่น่าจะมีกับความสัมพันธ์ระหว่างกัน

อีกครั้งเมื่อเราเปิดดูข่าว เราพบนักการเมืองให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง  คำตอบของนักการเมืองคือ การเรียกร้องให้คนไทยเสียสละ ซื่อสัตย์สุจริต ข้าราชการต้องทำตามหน้าที่ ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม  สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความไม่เชื่อถือ จะด้วยประวัติความเป็นมาเชิงลบ ท่าทางที่ดูคล้ายนักแสดง หรือคำตอบก็ไม่ได้ให้ผลรูปธรรม เป็นคำตอบกว้างๆ จับต้องไม่ได้  คำพูดของนักการเมืองท่านนี้ก็ไม่ต่างจากการผายลม

ในแวดวงการสื่อสาร  ข้อสรุปหนึ่งคือ คนเราเรียนรู้สิ่งต่างๆ ไม่ใช่ด้วยคำพูดที่ได้ยินเพียงอย่างเดียว  ภาษาท่าทางที่แสดงออกมีความหมายและอิทธิพลมากกว่าเนื้อหาสาระ หรือคำพูดที่เราสื่อสารเสียอีก  ข้อสังเกตที่หลายคนมักมองข้ามคือ แท้จริงการที่นาย ก หรือหมู่คณะเชื่อถือ ยอมรับ หรือรู้สึกประทับใจในสิ่งที่นาง ข หรือใครก็ตามสื่อสาร แสดงออกนั้น  ไม่ได้มาจากความพยายามของนาง ข หรือใครคนนั้นที่แสดงออกแต่อย่างใด  แท้จริงมาจากการที่นาย ก หรือหมู่คณะนั้นมองเห็นสิ่งที่ปรากฏในตัวนาง ข หรือใครคนนั้นว่ามันเป็นอะไร อย่างไร  จึงรู้สึกยอมรับ เชื่อถือ หรือประทับใจได้หรือไม่ได้  ดังนั้นการมองเห็นสิ่งที่ปรากฏในตัวอีกฝ่าย จึงขึ้นกับมุมมอง โลกทัศน์ สติปัญญาของนาย ก หรือหมู่คณะนั่นเอง ที่จะเป็นตัวกำหนดการยอมรับ การเชื่อถือ หรือการประทับใจ

ดังนั้นหากเมื่อเราต้องสื่อสาร สิ่งที่ผู้รับสารได้รับจึงไม่ใช่เพียงเนื้อหาสาระที่เราบอกเล่า แต่มาจากปฏิสัมพันธ์สิ่งที่พบเห็น ได้ยิน ได้รับรู้ รวมกับปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในตัวความรู้สึกนึกคิดภายในตัวเราเอง  สิ่งที่แสดงออกจึงมีความสำคัญมากกว่าตัวคำพูด : ท่วงทำนองของเรื่องราว น้ำเสียง อารมณ์ที่ปรากฏ สิ่งที่กระทำและผลลัพธ์  ทั้งหมดต้องประสานชุมนุมเพื่อความเป็นทั้งหมดของ “สาร” ไม่มีสิ่งใดปลอมปนแปลกแยก

เมื่อใดที่การสื่อสารแสดงออกไม่สอดคล้อง เกิดการแหว่งวิ่น การสื่อสารที่เกิดขึ้นย่อมยากต่อการสร้างความเชื่อถือ การยอมรับ  ดังเช่น

ความรู้

หากว่าเรามีความรู้ ข้อมูลมากมายในเรื่องหนึ่งๆ แต่เราไม่เคยมีประสบการณ์ของภาคปฏิบัติ  สิ่งที่เราให้ได้ก็คือ ความเป็นเจ้าทฤษฎี เจ้าความคิด

หรือหากว่าเรามีความรู้ ข้อมูลมากมาย แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกรู้สา ไม่ได้สนใจหรือมีฉันทะกับเรื่องนั้นจริงจัง  สิ่งที่เราให้ได้คือ ความเป็นตู้หนังสือเคลื่อนที่

ความรู้สึก

หากว่าเรามีความรู้สึกกับเรื่องหนึ่งๆ แม้ความรู้สึกจะแรงกล้าเพียงใด แต่เราไม่ได้มีฐานความรู้ที่หนักแน่นมากพอ  สิ่งที่คนอื่นมองเห็นคือ การมีเพียงความอยาก ความต้องการ โดยไม่มีเหตุผล หลักการสนับสนุนความอยากนั้น  สิ่งที่สัมผัสได้คือ ความเลื่อนลอยไม่น่าเชื่อถือ

หรือแม้หากว่าเรามีความรู้สึกสนใจ มีฐานความรู้ ข้อมูลมากพอ แต่ไม่เคยมีประสบการณ์ลงมือทำจริง  สิ่งที่เราให้ได้ก็คือ สมมุติฐานที่รอการพิสูจน์

การกระทำ

หลายคนถนัดกับการลงมือกระทำ แต่หากการลงมือกระทำปราศจากความรู้ ความเข้าใจแท้จริง  สิ่งที่สัมผัสได้ก็เป็นเพียง การใช้กำลัง การทึกทักคิดเอง ทำเอง

หรือเมื่อเรามีความรู้ ความเข้าใจ พร้อมลงมือกระทำในสิ่งนั้นๆ แต่เราไม่ได้รู้สึกรู้สม ไม่มีความรู้สึกเชื่อมประสานกับการกระทำนั้นๆ  สิ่งที่กระทำก็ไม่มีชีวิตชีวาหรือความรื่นรมย์แฝงอยู่

ภาษาท่าทางที่แสดงออก มีอิทธิพลมากกว่าเนื้อหาสาระหรือคำพูดที่เราสื่อสารเสียอีก

ความรู้สึก การกระทำ ความรู้ จึงเป็นเสมือนฐานชีวิตที่แบกรับความเป็นตัวเรา  เมื่อเราแสดงตัวตนดำรงอยู่ เราจึงกำลังแสดงออกซึ่งความรู้ ความรู้สึก และการกระทำให้ปรากฏออกมาในรูปของทัศนคติ พฤติกรรม สีหน้าท่าทาง ฯลฯ  หัว ใจ และกาย จึงเป็นองค์ประกอบในตัวเรา ดังเช่นองค์คุณของพระพุทธเจ้าที่สะท้อนพลังทั้งสามผ่านพระปัญญาธิคุณ พระกรุณาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ  ตลอดเส้นทางชีวิตในพระพุทธประวัติ เราก็จะพบการเดินทางของชีวิตผ่านการประสานขององค์คุณทั้งสาม เพื่อน้อมนำธรรมะสู่สากลโลก เป็นแบบอย่างของการดำเนินชีวิตที่ไม่เบียดเบียน

สำหรับเราแต่ละคน เพียงการดำรงอยู่อย่างมีสติ ตระหนักรู้ และเท่าทันการดำเนินไปของตัวตนที่ประสานสัมพันธ์ผ่านสติปัญญา อารมณ์ ความรู้ และพฤติกรรมที่แสดงออก ก็เป็นสารสำคัญที่เราสื่อสารสู่คนรอบตัวและสังคมโลกของเราแล้ว


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน