ในเส้นทาง: ความอดทน

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 30 กันยายน 2012

เรื่องสมมุติ  ชายคนหนึ่งล้มป่วยและตายลง วิญญาณของเขาได้เดินทางไปยังสัมปรายภพ  ในดินแดนรอยต่อระหว่างความตายกับชีวิตในดินแดนแห่งใหม่ เขาเดินทางมาถึงทางแยกระหว่างเส้นทางที่ไปนรก และเส้นทางที่นำเขาไปสู่สวรรค์  โชคร้ายที่ทางเลือกนี้มีประตูร่วม ๑๐๐ ประตู  และในจำนวนนี้มีเพียงประตูเดียวที่จะนำวิญญาณของชายคนนี้ไปสู่สวรรค์ได้  ประตูที่เหลือ ๙๙ ประตูจะนำวิญญาณของชายคนนี้ไปสู่นรก  สิ่งที่ยากคือ ในประตูทั้งหมดล้วนมีรหัสสัญลักษณ์ประทับอยู่  ถ้าเราเป็นวิญญาณของชายคนนี้  เราจะทำอย่างไรเพื่อช่วยตัวเราให้ออกจากวังวนและภารกิจปริศนาในเรื่องนี้  สิ่งที่จะช่วยวิญญาณของชายคนนี้ได้ คือ ชายคนนี้จะต้องเรียนรู้และจดจำสัญลักษณ์นี้ได้ว่าสัญลักษณ์ใดนำเขาไปสู่สวรรค์ได้ สัญลักษณ์ใดเป็นเครื่องหมายของประตูนรก  ชายคนนี้ต้องมีความรู้ ความสามารถในการแยกแยะรหัสสัญลักษณ์ หากเขาไม่ต้องการเสี่ยงดวงกับโชคช่วยซึ่งมีเพียง ๑ ใน ๑๐๐

เรื่องจริง  เราทุกคนก็เป็นเช่นชายคนนี้  ชายคนนี้จะต้องหาหนทางนำพาตนเองออกจากความทุกข์ที่รายล้อมอยู่ เขามีทางเลือกไม่มากนัก เพียงแค่หนึ่งในร้อย  กระนั้นหากว่าเขาเปิดโอกาสเรียนรู้เส้นทางความสุข ความทุกข์ โอกาสของเขาก็จะไม่ใช่หนึ่งในร้อยอีกต่อไป  การเรียนรู้เพื่อจดจำรหัสสัญลักษณ์ว่าอันใด คือ ประตูที่นำไปสู่สวรรค์ หรือนรก ก็คือการเรียนรู้แนวทางการดำเนินชีวิตที่จักนำไปสู่สวรรค์ หรือความสุขที่แท้ได้  แต่ในชีวิตจริง เหตุการณ์มิได้ง่ายอย่างในเรื่องสมมุติข้างต้น  สิ่งที่ต้องระลึกคือ ประตูที่นำไปสู่นรกทั้งหมดต่างล้วนมีพลังที่ดึงดูดชีวิต ดึงดูดวิถีชีวิต การประพฤติปฎิบัติให้คล้อยตาม  นั่นคือ อุปนิสัยความเคยชิน

ชายคนหนึ่งมีชีวิตที่เพียบพร้อม ภรรยาและลูกที่น่ารัก อาศัยอยู่ในชุมชนที่มีมิตรภาพและเอื้อเฟื้อ  ชายคนนี้มีเพื่อนสนิทที่มีครอบครัว และทั้งสองครอบครัวต่างเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน  แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด วันหนึ่งชายคนนี้กลับบ้านก่อนเวลาและพบว่าภรรยาของตนลักลอบมีชู้กับเพื่อนสนิทของตน  แน่นอนว่าอารมณ์ความรู้สึกเชิงลบ เช่น ความโกรธแค้น ความเจ็บปวด ความอับอาย ฯลฯ รุมเร้าจิตใจของชายคนนี้  ขณะที่ความนึกคิดก็เต็มไปด้วยบทสรุปของความคิดความเชื่อที่ผุดขึ้นเต็มไปหมด “เราถูกทรยศ เราถูกหักหลัง เราต้องฆ่ามัน ฯลฯ”

แน่นอนว่าภาวะรุมเร้านี้ผลักดันให้ชายคนนี้ต้องทำอะไรสักอย่าง ๑) ชายคนนี้เลือกที่จะใช้อารมณ์ชั่ววูบ  ฆ่าชายชู้กับภรรยาเพื่อชดใช้ความผิดที่กระทำ  ๒) ชายคนนี้อาจเลือกที่จะแก้แค้นภายหลังเพื่อให้บทเรียนที่แสนเจ็บปวดกับคนทั้งสอง  และ ๓) ชายคนนี้อาจเลือกที่จะกระทำอีกอย่างภายใต้วิจารณญาณและสติปัญญา เพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย

ทางเลือกที่แจกแจงมาข้างต้น กรณีทางเลือกที่ ๑ และ ๒ ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เพียงเกิดขึ้นกับคู่กรณีทั้งสอง แต่ยังรวมถึงตัวชายคนนี้  คนรอบข้างทั้งหมด โดยเฉพาะตัวเองที่ต้องเป็นเหยื่อการกระทำและเหตุการณ์นี้  ทางเลือกที่ ๓ ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดและยากที่สุด เนื่องเพราะชายคนนี้ต้องอาศัยความเข้มแข็งในจิตใจ ความอดทน ความกล้าหาญ และความตระหนักรู้ถึงความเป็นไปที่จะเกิดขึ้นหากว่าเขาเลือกทางเดินที่ ๑ และ ๒

การเลือกประตูสวรรค์ ความยากง่ายจึงไม่ใช่เพียงการเรียนรู้ความหมายของรหัสสัญลักษณ์ ไม่ใช่เพียงการเรียนรู้เส้นทางสู่ประตูความสุขที่แท้เท่านั้น  แต่ยังรวมถึงการยืนหยัดฝันฝ่ากับพายุอารมณ์ที่โหมกระหน่ำกระตุ้นเร้าให้ชายคนนี้ตอบโต้โดยใช้ความรุนแรง ความรู้สึกเจ็บแค้นที่คอยผุดโผล่กระตุ้นความคิดเชิงแก้แค้น  เพราะแม้ชายคนนี้เลือกทางที่ ๓ กระนั้นในอนาคตกระแสพายุอารมณ์เชิงลบเช่นนี้ก็อาจเข้ามาพัดผ่านจิตใจของชายคนนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า

เรียนรู้แนวทางการดำเนินชีวิตซึ่งนำไปสู่ความสุขที่แท้ ท่ามกลางอุปนิสัยความเคยชินเดิมๆ ที่คอยดึงดูดให้เราคล้อยตาม

ขันธ์ ๕  รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือ องค์ประกอบของมนุษย์  ในที่นี้ความทรงจำ การปรุงแต่งความรู้สึกนึกคิด การรับรู้ ประสานกันเป็นมุมมอง ทัศนคติ ความเชื่อหนึ่ง  การปล่อยวางเรื่องราว ความทรงจำ ประสบการณ์บางอย่าง จึงต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนทัศนคติ มุมมอง ความเชื่อที่มีต่อเรื่องราวนั้นๆ  หรือการตระหนักรู้ในความคิด ความรู้ตัวต่ออาการคิดนึกที่กำลังจมอยู่ในเรื่องราวที่คิดนึกก็เป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อปกป้องตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเรื่องราวที่ผ่านมา

ขันติ ความอดทน อดกลั้น จึงเป็นคุณธรรมสำคัญในการกำหนดเส้นทางชีวิต  อดทนต่อความเย้ายวนที่จะดึงตัวเราให้ไหลไปตามอุปนิสัยความเคยชิน  อดทนต่อแรงกระตุ้นที่คอยผลักดันให้เราใช้ธรรมชาติฝ่ายต่ำเพื่อจัดการเรื่องราวเหตุการณ์ตรงหน้า  พร้อมกันนั้น ความอดทนยังมีบทบาทสำคัญที่ช่วยนำพาไม่ให้เราล้มเลิกความตั้งใจในเส้นทางสู่ประตูแห่งความสุขที่แท้  ภารกิจที่ต้องค้นหาประตูสวรรค์หนึ่งเดียวท่ามกลางประตูนรกที่รายล้อม ต้องอาศัยความตั้งใจและความอดทนอย่างมาก

สิ่งที่ยาก คือ ความอดทนไม่ใช่สิ่งที่หยิบฉวยได้โดยง่ายเหมือนเช่นความรู้ ความเข้าใจ ที่ต้องอาศัยการศึกษาเล่าเรียนท่องจำ  แต่มาจากการฝึกฝนและการฝึกฝน  ความยากลำบากจึงเป็นบทเรียนเบื้องต้นที่เหมือนการฝึกหัดปีนเขา  เริ่มต้นจากแบบฝึกหัดง่ายๆ ภูเขาเล็กๆ สู่บทเรียนที่ยากขึ้น  กระนั้นความอดทนนี้ก็ไม่ได้หมายถึงการอดทน เพิกเฉย ต่อสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้น  แต่คือความอดทนที่มุ่งฝึกฝนจิตใจ ต่อการดำรงไว้ซึ่งคุณธรรมอันดีงาม

ท่ามกลางความรู้มากมาย ภาวะ “ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด” เกิดขึ้นได้เพราะจิตใจที่ไม่เข้มแข็ง ไม่อดทน ไม่เชื่อมโยงสิ่งที่รู้กับวิถีปฏิบัติ  ความอดทนจึงหมายถึงการฟันฝ่า ยืนหยัด ท่ามกลางสิ่งรุมเร้าให้หลงทาง ให้หลงลืม ให้ละเลยกับเส้นทางสู่ความสุขที่แท้  และความอดทน ก็เป็นสิ่งที่เราต้องสร้างให้กับตนเอง คนอื่นทำแทนให้กันไม่ได้


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน