ในเส้นทาง: ชีวิต .. แม่น้ำ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 14 กุมภาพันธ์ 2016

“น้ำมาจากไหน”

“น้ำมาจากก๊อก”

หลายคนคงเคยได้ยินมุขขำขันทำนองนี้จากเด็กนักเรียนที่ตอบคำถามข้างต้นด้วยความมั่นใจ สะท้อนคุณภาพการศึกษา กระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้เด็กเข้าใจเช่นนั้น แม้ผู้ใหญ่หลายคนอาจจะมีคำตอบที่ดีกว่าคำตอบข้างต้น แต่ผู้ใหญ่หลายคนอาจไม่ได้รับรู้ ไม่ได้เข้าใจมากนักในความซับซ้อนของความสัมพันธ์ในระบบนิเวศน์ และยิ่งน้อยมากที่จะเข้าใจได้ว่า แท้จริงสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อม วิกฤติธรรมชาติ ก็เป็นภาพสะท้อนของวิกฤติในจิตใจมนุษย์

ช่วง 20-31 มค. 2559 คนกลุ่มหนึ่งมาจากที่ต่างๆ ของประเทศไทยรวมตัวเป็น “ชาวคณะธรรมยาตรา ศรัทธาจากป่าสู่สายน้ำ” ได้ร่วมเดินจากป่าต้นน้ำแม่ปิงสู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่  ความมุ่งหมายสำคัญคือ เพื่อสื่อสารข่าวสารถึงสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นกับลุ่มน้ำแม่ปิง  สิ่งที่ชาวคณะฯ ได้รับรู้คือ พื้นที่ป่าต้นน้ำจำนวนมากกลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น กระเทียม มันฝรั่ง ข้าวโพด โดยมีเครื่องสูบน้ำจากลำธาร แล้วแจกจ่ายน้ำด้วยระบบสปริงเกอร์ แสดงถึงการลงทุนขนาดใหญ่ ไม่แปลกเลยที่ลำธารมีสายน้ำไหลรินน้อยมาก สอดคล้องกับน้ำในเขื่อนที่มีน้อยมากอย่างน่าตกใจ วิกฤติภัยแล้งกำลังเป็นเรื่องรุนแรง

การเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ต้องการการใช้สารเคมีทั้งปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า  ในช่วงการเดินธรรมยาตรา ภาพของเกษตรกรที่ใช้มือเปล่าโปรยเม็ดปุ๋ยเคมีลงบนแปลงพืชผักจนมือปนเปื้อนสีฟ้าไปด้วย ภาพเหล่านี้กลายเป็นสิ่งพบเห็นได้ทั่วไป ปัญหาเรื่องสุขภาพเป็นปัญหาที่หมักหมมเสมือนระเบิดเวลาที่ค่อยกัดกินชีวิตทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค

คุณนิคม พุทธา แกนนำโครงการอนุรักษ์ลุ่มน้ำปิง ให้ภาพเปรียบเทียบความเป็นสายน้ำแม่ปิง ด้วยการหยิบใบไม้และให้ภาพเปรียบเทียบว่า เส้นใบที่แตกกระจัดกระจายไปทั่ว เปรียบเหมือนลำธารน้อยใหญ่ที่แยกย่อยกระจัดกระจายไหลรินมาบรรจบที่ลำน้ำปิง ซึ่งก็คือ เส้นกลางใบ โดยมีผืนป่าเป็นเสมือนฟองน้ำที่คอยดูดซับ กักเก็บน้ำ  ดังนั้นปริมาณน้ำในสายน้ำแม่ปิง จึงขึ้นกับปริมาณน้ำที่ได้รับจากลำธารแยกย่อยเหล่านี้ รวมถึงคุณภาพของป่าต้นน้ำที่คอยกักเก็บน้ำ  วิกฤติน้ำในแม่ปิง จึงเป็นภาพสะท้อนผลกระทบจากวิกฤติของลำน้ำสายเล็กสายน้อยเหล่านี้

มองจากสายตาของชาวบ้าน เกษตรกร  การเพาะปลูกเศรษฐกิจเป็นช่องทางรายได้ของพวกเขาที่ช่วยพวกเขาเลี้ยงดูครอบครัว  และสำหรับพื้นที่ห่างไกลความเจริญ การหักล้างถางผืนป่าให้เป็นพื้นที่เพาะปลูกคงเป็นช่องทางที่พวกเขานึกออก รวมถึงเป็นสิ่งที่พวกเขาพอมีทักษะฝีมือที่จะช่วยพวกเขามีอาชีพเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้  พวกเขาอาจรับรู้ถึงความสำคัญของป่าต้นน้ำ แต่ความอยู่รอดและการกินดีอยู่ดีของพวกเขาก็สำคัญมากด้วยเช่นกัน

ความเป็นแม่น้ำ ไม่ใช่เพียงแค่การเป็นท่อส่งน้ำหรือเป็นแหล่งน้ำ แต่คือ ความเป็นองค์รวม  สายน้ำที่ไหลผ่าน ลำธารที่ทอดตัวคดเคี้ยว ก้อนหินใหญ่เล็ก ผืนดินสูงต่ำ ต้นไม้ใหญ่เล็กรอบข้าง แสงแดดที่สาดส่อง ต่างล้วนเป็นองค์ประกอบที่ทำให้สายน้ำมีชีวิต

ช่วงจังหวะหนึ่งที่ผู้เขียนได้ข้ามผ่านธารน้ำระหว่างเดินทาง  แสงแดด เสียงแมลง ใบไม้ต้นไม้แกว่งไกวไปตามสายลม เสียงของธารน้ำที่ไหลผ่านก้อนหิน  ป่ามีชีวิตขึ้นมาทันที  และคล้ายกับว่าป่าและลำน้ำต่างทักทายรับรู้การมาเยือนของพวกเรา  ธรรมชาติ ป่าเขา ลำน้ำ ต่างให้ความสุข สงบ พลังชีวิต  สิ่งพึงระลึกที่สำคัญมากๆ คือ พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานในป่ามาโดยตลอด ป่ามีความสำคัญและให้กำเนิดชีวิต ให้การเรียนรู้ถึงธรรมะ  การเดินทางไปกับสายน้ำแม่ปิงในช่วงผ่านป่าเขา ลำน้ำดูมีชีวิต ร่าเริง แจ่มใส  ความเหน็ดเหนื่อยในช่วงเดินทางดูเหมือนถูกปลดเปลื้องเมื่อได้สัมผัสสายน้ำ

อย่างไรก็ดี สิ่งที่รับรู้ได้คือ ในช่วงผ่านย่านชุมชน ผ่านพื้นที่เพาะปลูก สีของสายน้ำดูเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใส หมองคล้ำ  สาหร่ายใต้น้ำที่เกาะตามก้อนหินงอกงามเนื่องจากปุ๋ยที่ละลายในน้ำ แม่น้ำกลายเป็นที่รองรับสารเคมีที่ปนเปื้อนจากการทำเกษตร รวมถึงปริมาณน้ำก็ลดลงจนหลายพื้นที่ปรากฏเนินดิน เนินตลิ่ง จากน้ำที่ลดน้อยลง  ภาพชีวิตของแม่น้ำจึงมีความแตกต่างมากระหว่างช่วงลำน้ำผ่านผืนป่า กับช่วงผ่านเขตชุมชน เขตเพาะปลูก  การใช้สารเคมีเพื่อการเกษตร การดูดน้ำเพื่อเพาะปลูกแม้ในยามหน้าแล้ง การทำลายพื้นที่ป่าเขาเพื่อทำพื้นที่การเกษตร เป็นเสมือนการกัดกินเลือดเนื้อของตนเอง

หลายคนรู้สึกยินดีมีสุขกับลำน้ำในช่วงผ่านป่าเขา และรู้สึกเศร้าเสียใจไปกับลำน้ำในช่วงผ่านพื้นที่เกษตรพืชเศรษฐกิจ  ความยินดี ยินร้ายเข้ามาแวะเวียน  ชะตากรรมของแม่น้ำจากต้นกำเนิด ความเริงร่าสดใสค่อยๆ ตายลงเมื่อเดินทางสู่เขตเมืองและชุมชน ก่อนที่จะไหลรวมกับทะเลและมหาสมุทร แหล่งรวมของแม่น้ำทุกสายในที่สุด

แท้จริงสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อม วิกฤติธรรมชาติ ก็เป็นภาพสะท้อนของวิกฤติในจิตใจมนุษย์

ภัยแล้งและปัญหาขาดแคลนน้ำ กำลังกลายเป็นภัยคุกคามมากขึ้นเรื่อยๆ  ข้อพิพาทการแย่งชิงน้ำจะเป็นประเด็นที่ปรากฏและรุนแรงขึ้น ความเดือดร้อนจากผลกระทบของปัญหาข้างต้นคงทำให้คนในสังคมมีความทุกข์ยาก  อย่างไรก็ดี ความเดือดร้อนนี้ก็ให้สิ่งสำคัญกับเราทุกคน คือ มันกระตุ้นให้เราต้องใส่ใจ กระตุ้นให้เราจำเป็นต้องรู้สึกรู้สมไปกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น  เรื่องราวที่เกิดขึ้นในสายน้ำแม่ปิงเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับเราทุกคน  หากเราไม่รู้สึกรู้สมไปกับสภาพที่เกิดขึ้นในสายน้ำ  ไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างปัญหากับสาเหตุ  ความเดือดร้อน ความทุกข์ทนก็จะให้บทเรียนและบททดสอบที่เราต้องสอบผ่าน หากสอบไม่ผ่าน ปัญหาความทุกข์ยากก็จะยังคงอยู่

ชีวิตคือ ระบบความสัมพันธ์  หากปราศจากความสัมพันธ์ ความโดดเดี่ยวจะทำให้ชีวิตดำรงอยู่ไม่ได้ และเราทุกคนต่างต้องการสายสัมพันธ์ทั้งกับเพื่อนมนุษย์ สรรพสัตว์ รวมถึงธรรมชาติ  ดังนั้นการที่เราให้ความเมตตากรุณา หรือทำร้ายเบียดเบียนต่อใครสักคน หรือต่อสิ่งรอบตัว ความเป็นสายสัมพันธ์นั้นจะส่งผลสั่นสะเทือนและเกิดการเปลี่ยนแปลงได้  หยดน้ำกลายเป็นทะเลได้ การกระทำแม้เล็กน้อยที่พอทำได้ ก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสร้างสรรค์และทำลายได้ ทั้งหมดขึ้นกับการเลือกของพวกเรา


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน