ในเส้นทาง: เสียงวิจารณ์ภายใน

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 15 กุมภาพันธ์ 2015

สมชัย  อายุราว ๔๐ ปี ผ่านชีวิตและความสัมพันธ์แบบลุ่มๆ ดอนๆ  ทุกครั้งที่กำลังเข้าสู่ความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับคนพิเศษ เมื่อมีเรื่องความขัดแย้งเกิดขึ้น สมชัยก็จะเลือกถอนตัวออกมา และสุดท้ายความสัมพันธ์กับคนพิเศษในการสร้างชีวิตและความสัมพันธ์ก็กลายเป็นเรื่องยากเกินเอื้อม  แล้วมาวันหนึ่งสมชัยได้รับหนังสือซึ่งมีคำถามสำคัญ คือ “คุณรู้สึกและมีมุมมองอย่างไรกับหน้าตาและรูปร่างของตนเอง” และ “ความรู้สึกหรือมุมมองเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อตัวเราอย่างไรบ้าง”

ราวกับแม่กุญแจในตัวได้พบกับลูกกุญแจที่ไขปริศนาได้  คำตอบผุดขึ้นราวกับเสียงของผู้พิพากษาที่ประกาศคำตัดสินด้วยเสียงที่ดังกึกก้อง “เราไม่ใช่คนหน้าตาดี ไม่ใช่คนมีรูปร่างดี” เสียงของคำตัดสินนี่เองเป็นเสมือนกรอบที่กำหนดเส้นทางชีวิต โดยที่สมชัยไม่รู้ตัวมาก่อนเลยว่า เสียงของคำตัดสินนี้สร้างผลกระทบต่อชีวิตสมชัยโดยไม่รู้ตัว คือ มันทำให้สมชัยมักเลือกเป็นฝ่ายถอยห่างในความสัมพันธ์  มันทำให้สมชัยมักเลือกเป็นคนยืนมองสังเกตการณ์มากกว่าการเลือกเข้าไปเป็นผู้เล่นในสนามความสัมพันธ์  หรือทุกครั้งที่มีใครก็ตามมาแสดงความสนใจ เขาก็มักเลือกถอยห่างมากกว่า  สมชัยไม่รู้ตัวมาก่อนเลยว่า ชีวิตของเขาที่ผ่านมาถูกควบคุมด้วยคำตัดสินของเสียงวิจารณ์ภายใน

สมศรี  เป็นหญิงสาวที่ประสบความสำเร็จในชีวิตและการงานด้วยดี แต่สิ่งที่เธอต้องเรียนรู้และทำงานกับเรื่องราวภายในมาตลอดหลายปี คือ คำวิจารณ์ภายในที่มักตัดสินเธอ ซึ่งมันเป็นคำพูดที่เธอมักได้ยินจากพ่อในทำนองว่า “เธอยังทำได้ไม่ดีพอ” เธอรู้ดีว่าพ่อมีเจตนาดีที่อยากให้เธอทำได้ดีกว่านี้ แต่คำวิพากษ์นี้ก็ยังคงอยู่  และเธอพบว่าไม่ว่าเธอจะพยายามมากเพียงใด คำวิพากษ์นี้ก็ทำให้เธอไม่เคยรู้สึกภูมิใจหรือพึงพอใจในสิ่งที่เธอทำ แม้ว่าคนอื่นจะชื่นชมมากก็ตาม

ชีวิตของผู้คนมากมายถูกควบคุมด้วยคำตัดสินวิจารณ์จากเสียงภายใน และชีวิตของหลายคนไม่ได้รู้ตัวว่าตนเองถูกควบคุมด้วยเสียงวิจารณ์เหล่านี้  หลายคนทุกข์ทรมานกับเสียงวิจารณ์ภายใน เรื่องราวในอดีตสมัยที่เรายังเป็นเด็กถูกจดจำกลายเป็นพิมพ์เขียวของชีวิต

ยามที่เราเผชิญเรื่องราวหรือเหตุการณ์ใด สิ่งนั้นได้เข้ามาเป็นประสบการณ์เข้ามาในตัวเรา  หากว่าประสบการณ์นั้นสอดคล้องกับความเป็นตัวเราในระบบคุณค่า ความเชื่อที่ยึดถือ ความคาดหวัง ความปรารถนาที่เราสามารถเข้าใจหรือเชื่อมโยงได้  ประสบการณ์เช่นลักษณะนี้เราจะสามารถรับมือ ทำความเข้าใจได้  สิ่งที่ยากและท้าทายคือ หากว่าประสบการณ์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้อง ไม่เชื่อมประสาน แตกต่าง ขัดแย้ง  ประสบการณ์นั้นจะกลายเป็นเรื่องยาก ก่อกวนตัวเรา กลายเป็นอุปสรรค สิ่งขัดขวาง เนื่องจากเราไม่มีความสามารถที่จะรับมือ เพราะประสบการณ์เช่นนี้เกินประสบการณ์ที่เรามีอยู่ในตัว

กรณีเช่น เราให้คุณค่าและยอมรับต่อมุมมองว่า “ชีวิตต้องสู้ เราต้องเข้มแข็ง” ภาพชีวิตที่เราคุ้นเคยก็คือ การต่อสู้ ดิ้นรนเอาชนะ การมีความมุ่งมั่นเพื่อเอาชนะอุปสรรค มุ่งมั่นต่อเป้าหมาย  ขณะที่อีกด้านที่เราไม่ยอมรับ มองข้าม อาจรวมถึงเก็บกดด้วย เช่น การพักผ่อน การให้อภัย การยอมรับ การปล่อยวาง การโอบอุ้ม  ยามเมื่อเราเผชิญชีวิตกับด้านที่ไม่คุ้นเคย (ซึ่งอาจเป็นประสบการณ์จากตัวเรา หรือจากคนอื่นก็ตาม) ปฏิกิริยาภายในตัวเรา คือ อึดอัด ไม่ชอบ รับไม่ได้ ฯลฯ เหมือนมีอะไรบางอย่างก่อกวน ปั่นป่วนในตัวเรา  พร้อมกับการมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตัดสินสิ่งนั้น การกระทำนั้น ประสบการณ์นั้น

เสียงวิจารณ์ภายในทำงานอยู่ในตัวเรา กลายเป็นส่วนเสี้ยวในความคุ้นเคย เป็นอุปนิสัยประจำตัวเรา  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวประสบการณ์ทั้งด้านที่คุ้นเคย ไม่คุ้นเคย สอดคล้องหรือขัดแย้ง เสียงวิจารณ์ภายในก็ทำหน้าที่กำกับตัดสิน  เสียงวิจารณ์อาจจะเป็นกองเชียร์ เป็นคณะลูกขุน ตุลาการ  สิ่งที่แตกต่างในชีวิตของผู้คนคือ หลายคนไม่ตระหนักรู้กับชีวิตถึงเสียงวิจารณ์ตรงนี้ กลายเป็นทาสของเสียงวิจารณ์  และโดยไม่รู้ตัวเราก็จะแสดงพฤติกรรมต่อคนใกล้ชิด ต่อคนรอบตัวภายใต้ความคิด ความเชื่อ ความต้องการของเสียงวิจารณ์ผ่านบทบาทหน้าที่

หลายคนไม่ได้ตระหนักรู้เลย  หลายคนตระหนักรู้ในเสียงวิจารณ์นี้ในบางเรื่องราว บางโอกาส พวกเขาจึงรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง  ขณะที่หลายคนรับรู้ถึงเสียงวิจารณ์และพยายามเท่าทันเพื่อเอาชนะเสียงวิจารณ์ หรือพยายามเป็นมิตรกับเสียงวิจารณ์นั้น

หลายคนทุกข์ทรมานกับเสียงวิจารณ์ภายใน ด้วยเรื่องราวในอดีตที่ถูกจดจำกลายเป็นพิมพ์เขียวของชีวิต

คำถามที่มักเกิดขึ้นกับหลายคนผู้ซึ่งทุกข์ทรมานกับเสียงวิจารณ์ภายในตน ในทำนองว่าจะทำอย่างไรกับเสียงวิจารณ์เหล่านี้ จะหยุดเสียงวิจารณ์เหล่านี้อย่างไรดี จะทำอย่างไรเพื่อไม่ต้องทรมานกับเสียงเช่นนี้  เราอาจมีทางเลือกเพื่อรับมือกับเสียงวิจารณ์ เช่น

๑) การปรับความเข้าใจใหม่ ท่าทีใหม่  คือการยอมรับว่าเราไม่สามารถสั่งการ หรือหยุดการทำงานของเสียงวิจารณ์ แต่ที่เราทำได้คือ การเพิ่มพูนความเข้มแข็งภายในเพื่อหยุดการตอบสนองต่อเสียงวิจารณ์นั้น

๒) เสียงวิจารณ์เป็นสิ่งที่สะสมอยู่ในตัวเราตั้งแต่วัยเด็ก มีความสำคัญในฐานะเบ้าหลอมชีวิต  การเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเป็นปัจจุบัน ลดทอนความกังวลต่ออนาคตและภาวะหมกมุ่นกับอดีต ก็ช่วยให้เรามีสติรู้สึกตัวกับความคิด ความรู้สึก และการกระทำในภาวะปัจจุบันนั้นๆ

๓) การใช้ความตระหนักรู้ รับฟังเสียงวิจารณ์ภายใน  เสียงวิจารณ์นั้นบอกอะไรกับเรา มันมีความต้องการอะไรซ่อนอยู่ แล้วมันแสดงออกด้วยการสื่อสารตัวมันผ่านการสร้างผลกระทบต่อชีวิตและสัมพันธภาพอย่างไรบ้าง

การมองเห็น รับฟังในเสียงวิจารณ์เพื่อดึงสาระหรือความหมายที่แท้ ทำให้เสียงวิจารณ์นั้นอยู่ในการรับรู้ การเข้าใจ และยอมรับในความเป็นเสียงวิจารณ์นั้นๆ  เมื่อนั้นเสียงวิจารณ์ก็จะไม่ใช่สิ่งคุกคามเราได้อีกต่อไป เพราะเสียงนี้ได้ถูกรับรู้ในบทบาทหน้าที่แล้ว ไม่มีความจำเป็นกับเราอีกต่อไป

หากว่าเราเปรียบเทียบตัวเรา ในฐานะกัปตันที่ต้องนำพาเรือชีวิตไปให้ถึงเป้าหมายที่ปรารถนา เรือชีวิตของเรามีผู้โดยสารมากมาย ผู้โดยสารที่เป็นตัวความคิด ความรู้สึก ความต้องการ ความเชื่อ ฯลฯ  และในเรือชีวิตนี้ก็มีผู้โดยสารที่ทำตัวคล้ายต้นหนคอยกำกับ คอยควบคุม ผู้โดยสารนี้ก็เปรียบเหมือนเสียงวิจารณ์ที่กำกับกัปตันจนกัปตันแทบไม่มีอิสระ  สุข ทุกข์ถูกควบคุมด้วยผู้โดยสารนี้แทบจะตลอดเวลา จนเรือชีวิตบางทีก็ไปถึงเป้าหมายด้วยดี แต่บางทีก็ไปถึงเป้าหมายด้วยความยากลำบาก ทุกข์ตรม  หน้าที่สำคัญคือ เราทิ้งหรือเพิกเฉย มองข้ามผู้โดยสารนี้ไม่ได้ แต่จะฟังมากก็ไม่ได้

เสียงวิจารณ์ไม่ใช่ศัตรูชีวิต แต่เป็นเพื่อน เป็นผู้โดยสารในตัวเราที่มีความปรารถนาดี เพียงแต่เพื่อนคนนี้ควบคุมเรามากไป  สิ่งที่เราพอทำได้คือ การรับรู้ การยอมรับ การรับฟัง การทำความรู้จัก การเท่าทัน รวมถึงการอดทน และการผ่อนคลาย

เราไม่ผลักไส แต่ก็ไม่ยอมตาม  ไม่เกลียดชัง แต่ก็ไม่ต้องเอาใจเสียงวิจารณ์มาก


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน