ให้รัก..นำพา

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 23 สิงหาคม 2009

ถ้าให้เลือกระหว่าง “อกหัก” กับ “รักไม่เป็น” คุณจะเลือกอะไร  แต่ก่อนตอบคำถามนี้ เราคงต้องถามตัวเองก่อนว่า เราจำความรักครั้งสุดท้ายได้มั้ย  เราอกรักหรือแอบรักใครครั้งสุดท้ายเมื่อไร และอย่างไร เราจดจำอะไรได้บ้างในประสบการณ์คราวนั้น เพราะการตอบคำถามนี้ เราไม่สามารถตอบจากเหตุผล เราตอบได้ต่อเมื่อเราเลือกภายหลังการผ่านประสบการณ์ ผ่านการรับรู้ความรู้สึกนั้นๆ  หากสังเกตดีๆ เราพบความรักมากมายล้อมรอบอยู่ในตัวเรา เราอาจมองไม่เห็น หรือบางทีเราอาจเห็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความรัก นั่นคือ ความเกลียดชัง  แต่ทั้งความรักและความเกลียดชัง คู่ตรงข้ามของความรู้สึกนี้ให้อะไรกับเรา จิตใจเราดิ้นรน แส่ส่าย ไขว่คว้าเพื่อได้สิ่งที่รัก หรือเพื่อกำจัด ทำลายสิ่งที่เกลียดชังทั้งหมด  และหากพวกเราพิจารณาให้ดีอาจพบว่า เราทำไปเพื่อให้จิตใจเราหยุดดิ้น แส่ส่าย (เราเป็นทาสของจิตใจเกือบตลอดเวลา) เพื่อให้เราจิตใจสุข สงบเสียที

ความสุขสงบในชีวิต แท้จริงคือสิ่งที่ทุกคนปรารถนา หลายคนเลือกที่จะรักไม่เป็น เพราะไม่อยากให้ใจต้องเจ็บปวด หรือเพราะกลัวความผิดหวัง จุดมุ่งหมายลึกๆ ก็เพราะอยากให้ใจสงบ และเป็นสุข (ใจของข้า ใครอย่าแตะ)  แต่บางคนเลือกอกหัก อาจเพราะถือว่าประสบการณ์แบบนี้มันต้องลอง หรือเพราะไม่เข็ดหลาบ หรือเพราะ .. เหตุผลมากมาย

ชีวิตคือการเดินทาง การค้นหา และการดิ้นรนเพื่อไปให้ถึงในสิ่งที่จิตใจปรารถนา  ย้อนคิดตั้งแต่เราเป็นทารกตัวน้อยจนเติบโตมาทุกวันนี้ เบื้องหลังของการดิ้นรนแห่งชีวิต แสวงหา ตอบสนองความต้องการทางกาย : อาหาร น้ำ การโอบกอด สัมผัส  หรือเพื่อความต้องการทางใจ : ความรัก ความอบอุ่น ความใส่ใจ  ก็เพื่อบรรเทา เยียวยา ชดเชย หรือตอบสนองให้ความต้องการทางกายและทางใจหยุดการดิ้นรน  จิตใจจะหยุดดิ้นรนก็ต่อเมื่อมันได้รับการตอบสนองแล้ว หรือมันเหน็ดเหนื่อยแล้ว ทั้งหมดก็เพื่อให้จิตใจคืนสู่ความสุข สงบ  และความรักก็เป็นความปรารถนาที่ขับเคลื่อนชีวิตตลอดเวลา นับแต่เกิดจนถึงวันที่ลาจากโลกนี้ไป เราเติบโตด้วยความรัก และจากไปท่ามกลางความรัก

ชีวิตของเราทุกคนมีความรักซ่อนเร้นอยู่ในเส้นทางการดำเนินชีวิต มากหรือน้อยก็ตาม  ความรักที่พวกเราคุ้นเคยกันดี คือ ความรักฉันชู้สาว ความรักนี้ทำให้เรารู้สึกว่าโลกนี้เป็นสีชมพู ชีวิตช่างแสนสวยงามเมื่อเราสมหวัง ได้อยู่ใกล้ชิดและเคียงข้างกับบุคคลที่เรารัก  และทุกข์ทรมานเหลือเกิน จนอาจแทบไม่อยากทนมีชีวิตอยู่ต่อไป เมื่อผิดหวัง อกหัก หรือมีเหตุต้องพลัดพรากจากคนที่เรารัก  ความรักเช่นนี้ก่อเกิดพลังและขับเคลื่อนให้ชีวิตสร้างสรรค์ชีวิตใหม่ เกิดความสัมพันธ์เชิงครอบครัว หญิงชายยอมทำงานหนัก อดทน ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อรับผิดชอบกับบทบาทหน้าที่ในฐานะพ่อ และแม่ หรือคู่ชีวิต  ความรักเชิงโรแมนติกเช่นนี้อาจจืดจางไปตามกาลเวลา แต่สำนึกในบทบาทหน้าที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้ครอบครัวคงอยู่ต่อไป

แต่เพราะชีวิตมีอะไรที่มากกว่าเรื่องของการแสวงหาความรัก หรือความสุขจากเพศสัมพันธ์ เราพบได้ว่าความรักบางอย่างอยู่เหนือพ้นสิ่งเหล่านี้  เราพบความรักในอีกแบบคือ ความรักในมิตรภาพ อุดมคติ ความรู้ สัจจะ หรือธรรมะ  หลายคนเลือกสละชีวิตครอบครัวเพื่ออุทิศตัวให้กับบางสิ่งที่เขามีความรักและความศรัทธา เช่น ความรักระหว่างเพื่อน ระหว่างศิษย์กับอาจารย์ ความปรารถนาในสัจธรรมของเหล่านักบวช การแสวงหาความจริงของเหล่านักวิทยาศาสตร์ หรือนักสังคมศาสตร์ก็ตาม ฯลฯ  ผลลัพธ์ของความรักประเภทนี้ก่อเกิดความรู้และวิทยาการมากมาย ก่อเกิดความสัมพันธ์ในรูปของสังคม ชุมชน ที่ทุกคนต่างต้องเกี่ยวข้อง พึ่งพา และอาศัยกัน

ความรักแบบแรกทำให้เราพุ่งความใส่ใจ และให้คุณค่ากับคนอื่นจนหลงลืมและละเลยตนเอง ขณะที่ความรักแบบที่ ๒ ทำให้เราค้นหาตนเองและผู้อื่น ค้นหาความเป็นตัวเราและความเชื่อมโยงที่เรามีกับผู้อื่นผ่านสิ่งที่เราสนใจและให้คุณค่าร่วมกัน  กระนั้นหากพิจารณาให้ดี เรายังมีความรักอีกชนิดหนึ่ง คือ ความรักที่อิสระ ปราศจากความเห็นแก่ตัว ข้ามพ้นขอบเขตตัวตน  ความรักชนิดนี้นำพาความสุข สงบ และสันติสุขที่แท้จริงให้กับทุกคนที่ได้รับหรือได้ให้ความรักเช่นนี้  ตลอดชีวิตของเราทุกคน เราสัมผัสกับความรักเช่นนี้ เพียงแต่เราอาจไม่ตระหนักรู้เท่าไรนัก

ทุกเช้าเมื่อเราตื่นขึ้น หลายคนขอบคุณชีวิต ขอบคุณสิ่งรอบตัวที่ทำให้เรายังมีชีวิต ธรรมชาติรอบตัวหยิบยื่นความรักเช่นนี้ให้กับเราตลอดเวลา ดวงอาทิตย์ ต้นไม้ ยังคงทำหน้าที่ตามปกติ  หรือย้อนมาสิ่งใกล้ตัว บ่อยครั้งเมื่อเรากระทำสิ่งที่เป็นคุณความดีโดยปราศจากความเห็นแก่ตัว เราก็ได้สัมผัสกับความรักประเภทนี้  ยามที่เราอยู่ในภาวะสมาธิที่จิตสงบ ตั้งมั่น เราสัมผัสได้ถึงความรักที่อยู่รอบตัว จิตใจมีความสุข สงบ และเย็น  พระพุทธเจ้าอุทิศชีวิตตลอด ๔๕ พรรษาเพื่อเผยแพร่พระธรรมโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย แต่เพื่อชาวโลกได้ประโยชน์จากธรรมะ การอุทิศเพื่อสั่งสอนสรรพสัตว์ก็คือความรักประเภทนี้ และนี่คือองค์คุณสำคัญของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า พระกรุณาธิคุณ

ความสุขสงบในชีวิต แท้จริงคือสิ่งที่ทุกคนปรารถนา

ความรักในแบบแรก แตกต่างจากความรักที่เหลือในประเด็นสำคัญคือ เมื่อเรารักและหวังครอบครอง หวังเป็นส่วนหนึ่งของอีกฝ่าย ผลลัพธ์ก็คือ การสมหวังกับการผิดหวัง  และเมื่อผลคือความผิดหวัง ความรักนั้นก็อาจแปรเปลี่ยนเป็นความโกรธ ความเกลียด และหวังทำลายอีกฝ่าย  ความรักเช่นนี้ให้รสชาติหอมหวาน อ่อนโยน ละมุนละไม พร้อมกับที่มันสามารถให้รสชาติของความร้อนแรง แผดเผา และทำลายอีกฝ่ายได้  ทางเลือกที่เราทำได้คือ ใช้ความรักเช่นนี้เป็นดั่งสะพานเพื่อยกระดับชีวิตและจิตใจ แบ่งปัน มอบหรือเจือจานความรักเช่นนี้ให้กับผู้อื่น แม้กระทั่งกับคนแปลกหน้า

บ่อยครั้งเมื่อเราผิดหวัง โกรธและเกลียด เราตอบโต้ด้วยความก้าวร้าว และรุนแรง : ดุด่า บ่นว่า ลงไม้ลงมือ  เราหวังที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง แต่ดูเหมือนผลลัพธ์ก็ห่างไกลจากความปรารถนาดีที่อยู่ลึกๆ ในใจ  ในอีกทางเรากลับพบว่าเมื่อเราแบ่งปันและมอบความรัก เรายิ่งสัมผัสความรักในแบบที่ ๓ สัมผัสความรักที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว ความรักที่สงบเย็นและสันติสุข  ดังนั้น มันจึงไม่สำคัญเลยว่าเราสมหวังหรือผิดหวัง ประเด็นอยู่ที่การเรียนรู้จากหัวใจของเรา ผ่านความรักที่เข้ามา

ลองมาใช้ความรักที่ผ่านมาเข้ามา เพื่อมอบให้กับคนอื่น เพื่อให้ความรักอยู่รอบตัวเรา..เรามารักกันเถิด


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน