“ไม่เป็นไรหรอก แค่ชามเดียวเอง”

อรศรี งามวิทยาพงศ์ 2 กรกฎาคม 2005

มีเรื่องเล่าเชิงอุทาหรณ์สอนใจว่า หมู่บ้านแห่งหนึ่งประสบปัญหาพืชไร่ไม่สมบูรณ์  ผู้นำชุมชนซึ่งเป็นหมอผี ได้บอกให้ชาวบ้านแต่ละครอบครัวนำเอาเหล้าขาวมาคนละ 1 ชาม เพื่อใช้ในพิธีเซ่นไหว้  ชายคนหนึ่งเอาน้ำเปล่าใส่ชามไปร่วมประกอบพิธี  เมื่อภรรยาถามว่า ทำอย่างนี้ไม่เป็นไรหรือ ผู้สามีซึ่งเอาน้ำเปล่าไปสวมรอยเป็นเหล้าบอกว่า “ไม่เป็นไรหรอก แค่ชามเดียวเอง”  ผลปรากฏในวันต่อมาว่า พิธีกรรมดังกล่าวล้มไม่เป็นท่า ไม่อาจทำได้สำเร็จ เพราะของเหลวที่คนในชุมชนนั้นนำมาใส่ในไหเพื่อประกอบพิธี กลายเป็นน้ำเปล่าไปเสียสิ้น เพราะทุกคนต่างก็คิดว่า “ไม่เป็นไรหรอก  แค่ชามเดียวเอง”

ชุมชนใด สังคมใดที่สมาชิกมีวิธีคิดแบบ “ไม่เป็นไรหรอก แค่ชามเดียวเอง” เกิดขึ้นหรือเพิ่มมากขึ้นเมื่อใด ก็ทำนายได้โดยไม่ต้องอาศัยความรู้ทางโหราศาสตร์อะไรเลยว่า ชุมชนและสังคมแห่งนั้นกำลังเดินทางสู่วิกฤตและหายนะในไม่ช้าอย่างแน่นอน  เพราะสมาชิกขาดความซื่อสัตย์ ไม่เคารพความจริง  ประการที่สองคือขาดสำนึกส่วนรวม เอาแต่ประโยชน์ตัวหรือความสะดวกของตนเอง ความสามัคคีร่วมมือร่วมใจจึงกระพร่องกระแพร่งเต็มที ขาดพลังในการแก้ไขปัญหาหรือสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เพื่อประโยชน์ของทุกคนร่วมกัน  อันที่จริงผลของพิธีกรรมในการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงตั้งต้นตั้งแต่ยังไม่เริ่มเซ่นไหว้ด้วยซ้ำ นั่นคือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะมีจริงและจะช่วยดลบันดาลในสิ่งที่ขอได้หรือหรือไม่  อาจไม่สำคัญเท่าความความพร้อมเพรียงของจิตสำนึกที่บุคคลมีต่อส่วนรวม ซึ่งเป็นหลักประกันสำคัญของการผ่านพ้นวิกฤต  นี่คือความจริงที่ปรากฏมาทุกยุคทุกสมัย คือถึงที่สุดแล้ว มนุษย์พ้นความทุกข์ระดับต่างๆ ทั้งของปัจเจกบุคคลและของกลุ่ม ชุมชน สังคม ประเทศได้ด้วยการอาศัยความศรัทธาและปัญญาของมนุษย์ผู้นั้น และของสมาชิกคนอื่นๆ มาร่วมกัน

การรณรงค์เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์หลายด้านในบ้านเรา โดยเฉพาะด้านการอนุรักษ์พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ จึงไม่บรรลุผล เพราะปัญหารากเหง้าทางวิธีคิดและโลกทัศน์ หรือวิธีการมองโลกที่บุคคลมีต่อสิ่งรอบตัวที่ตนเองเกี่ยวข้อง  ตัวอย่างซึ่งเห็นกันชัดเจนที่สุดคือ การชักชวนให้คนประหยัดพลังงานด้วยวิธีการต่างๆ  เพราะคนส่วนใหญ่ต่างก็มีวิธีคิดแบบ “ไม่เป็นไรหรอก แค่ชามเดียวเอง” คือ เว้นเราสักคนคงไม่เป็นไร เดี๋ยวคนอื่นเขาก็ทำเอง  หรือทำไมฉันจะต้องประหยัดในเมื่อฉันมีเงินและพร้อมจ่ายเพื่อความสะดวกสบายของฉัน  ผลก็คือการรณรงค์มีผลน้อย จนกระทั่งไม่มีพลังที่จะไปแก้ไขวิกฤตการณ์อะไรได้อย่างจริงจัง

วิธีคิดแบบมักง่าย และแบบปัจเจกนิยม ที่ไม่มีมิติของความตระหนักในผลกระทบต่อผู้อื่น สิ่งอื่น และไม่มีมิติของกาลเวลา (อนาคตจะเป็นอย่างไร) ดังที่กล่าวนี้ เกิดขึ้นและก่อตัวมาได้อย่างไร  เพราะหากคนโบราณคิดแบบนี้มาก่อน ชุมชนเป็นอันมากคงไม่สามารถอยู่มาได้นับร้อย-พันปี และคนรุ่นเราคงไม่มีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์เหลือไว้ให้ผลาญใช้จนเกิดวิกฤตในปัจจุบัน

สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คิดว่า น่าจะมาจากการที่เราใช้วิถีชีวิตแบบเมืองที่ปราศจากการเรียนรู้ หรือมีโอกาสและช่องทางเรียนรู้น้อยมากว่า สรรพสิ่งที่เราบริโภคด้วยการจ่ายเงินซื้อหานั้น ล้วนมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น ไม่ว่าจะแปรรูปไปซับซ้อนเพียงใดก็ตาม  เพราะมนุษย์ล้วนเกิดมาตัวเปล่า มาอาศัยทรัพย์แห่งธรรมชาติดำรงชีพ  แต่เดิมนั้นมนุษย์ต้องลงมือทำโดยตรงจึงมีข้าวของให้กินให้ใช้ และต้องลงมือร่วมกันทำด้วยจึงอยู่รอดปลอดภัย  มนุษย์จึงได้เรียนรู้ตลอดเวลาถึงบุญคุณและความสำคัญของระบบธรรมชาติ และความสำคัญของสังคมกับความอยู่รอดของตน จึงใช้อย่างถนอมรักษาธรรมชาติ  พร้อมกับสร้างวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรมที่มุ่งถนอมรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วยความอาทรต่อกัน เพราะตระหนักรู้ว่าความอยู่รอดของตนนั้นเชื่อมโยงกับธรรมชาติและสังคมส่วนรวม

ทุกวันนี้ เราก็ยังคงบริโภคสรรพสิ่งจากธรรมชาติเช่นเดียวกับปู่ย่าตายายของเรา  ต่างกันก็ตรงที่เราใช้เงินซื้อหา และสามารถจะซื้อหาได้มากตราบเท่าที่เรามีเงิน  ทำให้บุคคลเกิดความเข้าใจผิดว่า ตนเองสามารถมีชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่น หากอาศัยเงินที่ตนเองหามาได้ ด้วยความสามารถ น้ำพักน้ำแรงของตนเอง  มนุษย์จึงสามารถบริโภคสิ่งที่ต้องการได้อย่างไร้ขีดจำกัด? โดยปราศจากกระบวนการเรียนรู้ที่มากเพียงพอและต่อเนื่องให้บุคคลตระหนักรู้ว่า เราอาศัยธรรมชาติ รวมทั้งยังอาศัยมนุษย์ผู้อื่นอีกเป็นมากในการดำรงชีวิต (แรงงานการผลิต การก่อสร้าง คนกวาดถนน คนเก็บขยะ ฯลฯ)

สังคมใดมีวิธีคิดแบบ “ไม่เป็นไรหรอก แค่ชามเดียวเอง” เพิ่มมากขึ้นเมื่อใด ก็ทำนายได้เลยว่า สังคมนั้นกำลังเดินทางสู่หายนะในไม่ช้า

คนสมัยใหม่เป็นอันมากเข้าใจเพียงว่า น้ำประปามาจากการประปานครหลวง ไฟฟ้ามาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ซึ่งตนเอง (หรือพ่อแม่) จ่ายเงินซื้อทุกเดือนๆ  ความประหยัดที่จะเกิดขึ้นจึงมักมาจากวิธีคิดเชิงเศรษฐกิจ คือของแพงต้องใช้ประหยัด  ดังนั้น เมื่อของถูกก็ใช้ฟุ่มเฟือยต่อได้ โดยไม่อนาทรร้อนใจว่า พลังงานที่เราใช้ได้ทำให้สรรพชีวิตเป็นอันมาก ทั้งพืช สัตว์ เพื่อนมนุษย์ ฯลฯ ต้องพลัดพรากจากที่อยู่  เมื่อผนวกเข้ากับวิธีคิดแบบ “ไม่เป็นไรหรอก แค่ชามเดียวเอง” จึงทำให้บ้านเราไม่เคยประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และปลูกฝังจิตสำนึกที่มีต่อสังคม หรือความตระหนักในพันธะทางสังคมที่เราพึงกระทำต่อส่วนรวม และธรรมชาติ

สังคมที่ปราศจากกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาวิธีคิดอย่างเชื่อมโยง (บูรณาการ) คือสังคมที่ไร้อนาคต  เป็นสังคม “ตามอำเภอใจ” ซึ่งมีแต่การเบียดเบียน และความรุนแรงในรูปการณ์ต่างๆ  ปัญหาคือเราจะหยุดยั้งชนวนของระเบิดเวลาแห่งความหายนะนี้ได้อย่างไร  นี่คือเป็นโจทย์ใหญ่และยากของการจัดการศึกษาในสมัยใหม่ ยิ่งกว่าปัญหาการแบ่งพื้นที่เขตการศึกษา หรือการพัฒนาเด็กให้ฉลาดระดับอัจฉริยะ


ภาพประกอบ