๕ คำถาม ๓ กิเลส ที่บั่นทอนประเทศชาติ

พระไพศาล วิสาโล 18 พฤศจิกายน 2007

-๑-

เหตุการณ์นักเรียนหญิงตบตีกันในห้องเรียนที่จังหวัดลำพูนเมื่อเร็วๆ นี้ก็ดี  กรณีนักศึกษาสาวสาดน้ำร้อนใส่หน้าหญิงสาวอีกคนหนึ่งในร้านสะดวกซื้อกลางกรุงในเวลาไล่เลี่ยกันก็ดี  แม้จะต่างกรรมต่างวาระ แต่ก็เริ่มต้นด้วยประโยคเดียวกัน นั่นคือ

“มึงมองหน้ากูทำไม?”

นี้เป็นประโยคเดียวกันกับที่นำไปสู่การยกพวกตีกันระหว่างนักเรียนอาชีวะครั้งแล้วครั้งเล่า รวมทั้งการรุมทำร้ายกันในผับและบาร์อีกหลายแห่ง ไม่นับการฆ่ากันบนท้องถนน  ไม่น่าเชื่อว่าประโยคสั้นๆ เท่านี้สามารถบันดาลโทสะจนเป็นเหตุให้มีผู้คนล้มตายมากมาย

ทั้งผู้ทำร้ายและผู้ถูกทำร้ายเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วไม่เคยรู้จักกันมาก่อนด้วยซ้ำ  ในหลายกรณีผู้ที่เป็น “ฆาตกร” ก็มิใช่คนโหดเหี้ยมผิดมนุษย์  แต่อะไรทำให้เขาทำสิ่งที่เลวร้ายเช่นนั้นได้  คำตอบคือ ความรู้สึกว่าถูกลบหลู่ เสียศักดิ์ศรี  สำหรับคนเหล่านั้นเพียงแค่มีใครสักคนมองหน้า ก็ถือว่าเป็นการดูถูกเหยียดหยามอย่างร้ายแรง

คนทั่วไปย่อมไม่รู้สึกอะไรหากถูกจ้องหน้า แต่คนเหล่านั้นกลับเห็นเป็นเรื่องใหญ่  ไม่ใช่เพียงเพราะว่าเอาศักดิ์ศรีไปฝากไว้ที่หน้า (อันแสนบอบบาง) เท่านั้น แต่ยังเพราะคิดว่าตนเองนั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ใครจะจ้องมองหน้าได้ง่ายๆ  สำหรับคนเหล่านั้น การหลบตาคือการแสดงสัมมาคารวะที่คู่ควรกับคนใหญ่คนโตอย่างเขา

คนเหล่านั้นคิดว่าตัวเองเป็นคนใหญ่คนโต  บ้างก็เพราะเป็นบุคคลในเครื่องแบบ บ้างก็เพราะเป็นนักการเมือง บ้างก็เพราะเป็นเจ้าพ่อ  แต่หลายคนไม่ได้เป็นอะไรเลย แค่มีพ่อหรือญาติผู้ใหญ่เป็นทหาร ตำรวจ ส.ส. หรือรัฐมนตรี เท่านี้ก็ใหญ่คับฟ้าแล้ว  ด้วยเหตุนี้เวลาไปไหนมาไหน หากใครทำอะไรไม่ถูกใจ ก็จะโพล่งขึ้นมาทันทีว่า “รู้ไหมว่าอั๊วเป็นใคร?” (หรือไม่ก็ “รู้ไหมว่าพ่อข้าเป็นใคร?” ดังกรณีนักศึกษาสาวที่สาดน้ำร้อนใส่หน้าคู่กรณีกลางร้านสะดวกซื้อ)

การแพร่ระบาดของความรุนแรงอันเนื่องจากการมองหน้ากัน เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าทุกวันนี้เมืองไทยมีคน “อวดเบ่ง” อยู่ทุกหัวระแหง ไม่เว้นแม้แต่ในโรงเรียน  เดี๋ยวนี้แม้ไม่ได้มีพ่อร่ำรวยหรือใหญ่โต เพียงแค่เป็นรุ่นพี่ก็คิดว่าตัวเองใหญ่พอที่จะบังคับให้รุ่นน้องทำอะไรก็ได้ ดังปรากฏเวลารับน้องใหม่ จนมีคนตายเพราะอำนาจบาตรใหญ่ของรุ่นพี่ปีแล้วปีเล่า

-๒-

ในขณะที่หลายคนพร้อมจะทำสิ่งเลวร้ายทันทีที่ถูกมองหน้า  แต่หากถูกชักชวนให้ทำสิ่งที่ดีมีประโยชน์ ส่วนใหญ่กลับอิดเอื้อนบ่ายเบี่ยง “ทำแล้วฉันจะได้อะไร?” คือคำถามที่ผุดขึ้นมาในใจของผู้คน  แม้จะเป็นสิ่งดีมีประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่หากฉันไม่ได้เงินหรือชื่อเสียง ฉันก็ไม่ทำ  ในทางตรงข้ามแม้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ถ้าฉันได้เงินตอบแทน ฉันก็จะทำ

เป็นเพราะคิดแบบนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่เดี๋ยวนี้เวลาจะชักชวนให้คนทำอะไรที่ถูกต้องดีงาม ก็ต้องแจกเงินหรือมีรางวัลให้  มหาวิทยาลัยอยากให้นักศึกษาสาวแต่งตัวสุภาพ ก็ต้องมีสร้อยทองแหวนเพชรเป็นเครื่องล่อ  จะชวนชาวบ้านมาสร้างถนนปลูกป่า ก็ต้องมีค่าจ้าง มิฉะนั้นก็ไม่มีใครมาทำทั้งๆ ที่ประโยชน์ก็ตกแก่ชาวบ้านเอง  อยากให้ลูกทำการบ้าน ก็ต้องมีรางวัลให้  แม้ลูกโตจนเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว พ่อแม่ก็ยังต้องจ้างลูกเรียน จนฝรั่งก็อดงงงวยไม่ได้ เพราะที่ยุโรปหรืออเมริกานักศึกษาต้องหาเงินมาเป็นค่าเล่าเรียนเอง

แต่ฝรั่งจะต้องงมากกว่านั้นหากรู้ว่า เดี๋ยวนี้ทั้งๆ ที่ถูกจ้างให้เรียน แต่คนไทยไม่สนใจเรียนกันแล้ว  การลอกการบ้านหรือลอกรายงานกลายเป็นกิจกรรมที่ทำอย่างเป็นล่ำเป็นสันตั้งแต่ชั้นประถมไปจนถึงปริญญาเอก ไม่จำต้องเอ่ยถึงการโกงข้อสอบ  คำถามที่อยู่ในใจของนักเรียนและนักศึกษาตอนนี้คือ “ทำอย่างไรจึงจะได้เกรดดีๆ โดยไม่ต้องเรียน”

นี้ก็เป็นคำถามเดียวกันกับที่อยู่ในใจของคนส่วนใหญ่ เป็นแต่ยักเยื้องนิดหน่อย คือ “ทำอย่างไรจึงจะรวย โดยไม่ต้องทำงาน?”  การรวยทางลัดกลายเป็นความใฝ่ฝันของคนทั้งประเทศไปแล้ว  ด้วยเหตุนี้หวย การพนัน วัตถุมงคลทั้งหลาย จึงแพร่ระบาดไปทั่วประเทศ  จตุคามรามเทพกลายเป็นที่นิยมก็เพราะสนองกิเลสคนไทยที่อยากเป็นอภิมหาเศรษฐีโดยไม่ต้องเหนื่อย ขอเพียงแต่ซื้อถูกรุ่นก็พอ  แต่นั่นก็ยังเสียหายน้อยกว่าการคอร์รัปชั่นและการปล้นจี้ อันเป็นวิธีรวยทางลัดอย่างหนึ่งที่กำลังมาแรงในทุกแวดวงและทุกระดับ  จะเรียกว่าการปล้นจี้เป็นทางลัดของคนต่ำต้อย ส่วนการคอร์รัปชั่นเป็นทางลัดของคนที่มีสถานภาพก็ได้

ปัจจุบันการรวยทางลัดกลายเป็นความใฝ่ฝันของคนทั้งประเทศ ซึ่งคำถามที่อยู่ในใจของคนส่วนใหญ่ก็คือ “ทำอย่างไรจึงจะรวยโดยไม่ต้องทำงาน?”

-๓-

ความอวดเบ่งถือตัวว่าใหญ่โตและความอยากร่ำรวยโดยไม่ต้องเหนื่อย เป็นสาเหตุแห่งการทะเลาะวิวาทและเบียดเบียนเอาเปรียบกัน  เพราะพื้นฐานของสำนึกทั้ง ๒ ประการคือความเห็นแก่ตัว หมายเอาตัวเองหรือความต้องการของตนเองเป็นใหญ่  แต่ยังมีอีกอย่างที่เราชอบยึดเป็นใหญ่นั่นคือความคิดของตน  เมื่อใดที่ยึดติดถือมั่นในความคิดของตน ก็จะไม่พอใจเมื่อเห็นคนอื่นคิดต่างจากตน  ความไม่พอใจดังกล่าวมักนำไปสู่การกล่าวหาคนที่ต่างจากตน อย่างเบาก็หาว่าเขาคิดผิด อย่างหนักก็หาว่าเขาคิดชั่ว  ถึงจะไม่พูดตรงๆ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะตั้งเป็นคำถามเพื่อหมายประณามเขาอยู่ในที  คำถามยอดนิยมใน พ.ศ.นี้ก็คือ “เป็นคนไทยหรือเปล่า?”

ความเป็นคนไทยทุกวันนี้ดูเหมือนจะมีความหมายคับแคบลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นว่าต้องคิดเหมือนกัน  ถ้าคุณไม่เชื่อว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นผู้ทำศิลาจารึกหลักที่ ๑ หรือไม่เชื่อว่าท้าวสุรนารีทำวีรกรรมอย่างที่สอนในโรงเรียน ความเป็นคนไทยของคุณอาจถูกตั้งคำถามทันที  แต่ถ้าคุณเชื่อเหมือนคนอื่นๆ แม้จะไปคอร์รัปชั่นเงินหลวงนับร้อยล้านหรือปล้นฆ่าใครที่ไหน  มั่นใจได้เลยว่าจะไม่มีใครถามว่าคุณเป็นคนไทยหรือเปล่า

ความเป็นไทยที่ถูกนิยามให้แคบจนเหลือเพียงแค่คิดอะไรเหมือนๆ กัน พูดภาษาเดียวกัน แต่งตัวคล้ายกัน ทำให้เกิดปัญหากับคนไทยที่คิดต่างกัน หรือคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่พูดต่างภาษา แต่งตัวไม่เหมือนคนในจังหวัดอื่นๆ  เพียงแค่เขามองประวัติศาสตร์ปัตตานีต่างจากที่สอนในตำราเรียนของราชการ ก็อาจทำให้เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อประเทศชาติได้ง่ายๆ  ถ้าประเทศไทยไม่มีพื้นที่ให้แก่คนนับล้านที่คิดต่าง บ้านเมืองจะสงบสุขได้อย่างไร  ที่น่าเป็นห่วงก็คือแม้แต่ในบ้าน ในที่ทำงาน เดี๋ยวนี้เราก็ตั้งคำถามกันง่ายๆ เสียแล้วว่า “เป็นคนไทยหรือเปล่า?” หรือไม่ก็ถามใส่หน้าว่า “เป็นพุทธหรือเปล่า?” เพียงเพราะคิดต่างในเรื่องศาสนาประจำชาติ หรือเรื่อง “ภิกษุสันดานกา”

๕ คำถามที่กำลังติดปากผู้คนเวลานี้ บ่งบอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยได้มาก  “มองหน้ากูทำไม ?” และ “รู้ไหมว่าอั๊ว (พ่ออั๊ว) เป็นใคร ?” บ่งบอกถึงความอวดเบ่งถือตัวว่ายิ่งใหญ่เหนือคนอื่น ซึ่งพุทธศาสนาเรียกว่า “มานะ”  ส่วน “ทำแล้วฉันจะได้อะไร?” และ “ทำอย่างไรจึงจะรวยโดยไม่ต้องทำงาน?” ส่อแสดงถึง “ตัณหา” หรือความอยากได้ใฝ่เสพ  ขณะที่คำถามว่า “เป็นคนไทยหรือเปล่า?” สะท้อนถึงความคับแคบและติดยึดในความคิด ที่เรียกว่า “ทิฏฐิ”  ทั้ง มานะ ตัณหา ทิฏฐิ พุทธศาสนาถือว่าเป็นกิเลสตัวสำคัญที่สุด

มานะ ตัณหา ทิฏฐิ เป็นกิเลสที่ปุถุชนหนีไม่พ้น  แต่การที่มันครอบงำผู้คนทั้งประเทศอย่างแน่นหนา เป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง  ความรุนแรงที่แพร่หลายดาษดื่น  อาชญากรรม คอร์รัปชั่นที่ระบาดทุกหย่อมหญ้า  ความลุ่มหลงในอบายมุขและหวังลาภลอยคอยโชค  การแบ่งฝักแบ่งขั้วจนต้องเรียกร้องสามัคคีและสมานฉันท์กันทุกเช้าค่ำนั้น  ล้วนมาจากกิเลสทั้งสาม อันเป็นรากเหง้าของอำนาจนิยม วัตถุนิยม และความหลงชาติ (รวมทั้งศาสนา) ที่กำลังเป็นปัญหาในปัจจุบัน

ความเจริญก้าวหน้าและความผาสุกของประเทศไทย อาจไม่ได้อยู่ที่การหาคำตอบที่ดีที่สุดที่ทุกฝ่ายเห็นพ้อง  แต่อยู่ที่การตั้งคำถามในใจของผู้คนมากกว่า  หากพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ผู้ปกครอง รวมทั้งพระสงฆ์องคเจ้า ส่งเสริมให้ผู้คน (รวมทั้งตนเอง) ตั้งคำถามอย่างถูกต้อง (เช่น “ผมทำอย่างนี้ถูกไหม?” หรือ “ทำแล้วสังคมจะได้อะไร?” หรือ “มีเหตุผลอะไรคุณถึงคิดแบบนี้?”) ประเทศไทยจะน่าอยู่กว่านี้มาก  ความอ่อนน้อมถ่อมตน การคิดถึงประโยชน์ส่วนรวม และการรับฟังเหตุผลของกันและกัน คือคุณธรรมสำคัญสำหรับสังคมไทยเวลานี้

อย่างไรก็ตาม ควรย้ำว่าคุณธรรมเหล่านี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยการยัดเยียดหรือเทศนาสั่งสอน  แต่เกิดขึ้นได้จากการทำตัวให้เห็นเป็นแบบอย่าง รวมทั้งการฝึกให้ตั้งคำถามอย่างถูกต้อง  หากตั้งคำถามกับตัวเองไม่เป็นเสียแล้ว ชีวิตที่ดีงามก็ยากจะเป็นไปได้  จะกล่าวไปไยถึงสังคมที่เจริญงอกงามและผาสุก


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา