มันคือยุคสมัย
ที่คนเราเขินอายเมื่อทำความดี
มันคือวันที่ 25 ธันวาคม 2547
หนึ่งวันก่อนเกิดเหตุการณ์ "สึนามิ" ในเมืองไทย
เป็นวันเดียวกับที่ เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนหนึ่ง
ได้จัดประชุมหารือ เรื่องแนวทางขับเคลื่อนงานอาสาในสังคม
ยุคนั้น
กระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ไม่ได้อยู่ในความสนใจของคนทั่วไป
ไล่เรียงตั้งแต่กิจกรรมนักศึกษา ตลอดจนงานอาสาเพื่อส่วนรวม
แม้แต่การทำดีในที่สาธารณะ ก็คล้ายเป็นสิ่งไม่คุ้นชิน
ดังเช่นเรื่องจริง ที่เคยมีการเล่าในที่ประชุม
เพื่อสื่อความรู้สึกในช่วงเวลาดังกล่าว
“ชายคนหนึ่งนั่งอยู่บนรถไฟฟ้า
เก้าอี้ในตู้โดยสารมีคนนั่งอยู่เต็ม
"เมื่อขบวนรถเข้าจอดที่สถานีแห่งหนึ่ง
ก็มีผู้หญิงท้องเดินเข้ามา
ชายคนดังกล่าว จึงลุกขึ้นให้ผู้หญิงท้องนั่ง
"จากนั้น เขาก็เดินไปยังตู้โดยสารอีกตู้หนึ่งที่ห่างออกไป
ไม่ได้เตรียมตัวลง... แต่ไปยืนอยู่เฉยๆ
"สรุปคือ เขาต้องการลุกให้คนอื่นนั่ง
ขณะเดียวกัน ก็รู้สึกขัดเขินที่จะทำความดี
จึงต้องทำท่าว่ากำลังจะลง
แต่จริงๆ แล้วไปยืนหลบอยู่อีกมุมหนึ่ง”
ประเด็นพูดคุยคือ
ทำอย่างไรให้คนกลับมาเห็นความสำคัญ ของการมีสำนึกทางสังคม
และจะกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนได้อย่างไร (*)
...
ต่อมาวันที่ 26 ธันวาคม 2547
ได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดฝัน
คลื่นยักษ์สึนามิ เข้าซัดถล่มพื้นที่ทางภาคใต้
สร้างความสูญเสียแก่ผู้คนจำนวนมาก
จากนั้นไม่นาน ได้เกิดปรากฏการณ์อีกอย่างหนึ่งตามมา
นั่นคือการรวมตัวของกลุ่มคน ซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือ
"ให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย
เท่าที่จะทำได้ ในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน"
ระหว่างนั้น คณะทำงานฯ บางส่วน ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ขณะที่อีกส่วนก็นัดหารือต่อเนื่อง
...
ถึงต้นปี 2548
เมื่อกระแสอาสาสมัครก่อตัว แม้จะมาจากเหตุไม่คาดคิด
ภารกิจต่อมาของคณะทำงานฯ คือ
ต้องการส่งเสริมให้ผู้คนเข้ามาทำงานอาสาสมัคร
เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง
จนนำไปสู่การยกระดับจิตใจ และพัฒนาจิตวิญญาณ
โจทย์ข้อหนึ่งคือ การเฟ้นหาคำที่จะสื่อแนวคิดดังกล่าว
(บางคำที่ผุดขึ้นในความคิดช่วงนั้น เช่น "จิตสาธารณะ" เป็นต้น)
กระทั่งวันหนึ่ง ผู้ที่เป็นแกนหลักสามคนคือ
สมบัติ บุญงามอนงค์ (หนูหริ่ง) แห่งมูลนิธิกระจกเงา
ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ (เอเชีย) และ ธีระพล เต็มอุดม (หนุ่ม)
จากแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ โดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.)
ก็ได้นัดพบพูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยนกัน
จนเกิดความคิด และได้ข้อสรุปที่คำว่า “จิตอาสา”
พร้อมการรวมกลุ่มองค์กรที่ทำงานด้านอาสาสมัครในนาม “เครือข่ายจิตอาสา”
โดย “จิตอาสา” นั้นเป็นคำที่หมายถึง
“อาสาสมัคร" และ "คุณค่า" ที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานอาสาสมัคร
อันมุ่งเน้นที่การ "ยกระดับจิตสำนึก" และ "พัฒนาจิตวิญญาณ" ของทุกคน
ทั้งอาสาสมัคร และองค์กรที่สร้างงานหรือประสานงานอาสาสมัครด้วย
...
หมายเหตุ :
(*)
ส่วนหนึ่งของการเข้ามาขับเคลื่อนงานด้านจิตอาสา
มาจากแนวคิด “ธรรมจักรแห่งจิตวิวัฒน์”
ในหนังสือ “การพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ สู่สุขภาวะจากการมีจิตใจสูงทั้งประเทศ”
ของอาจารย์ประเวศ วะสี
ซึ่งกล่าวถึงช่องทางพัฒนาจิตใจหลายรูปแบบ
เช่น การศึกษา, ศิลปะ, สิ่งแวดล้อม, สื่อสร้างสรรค์, วิปัสสนากรรมฐาน
รวมถึงการทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคม เป็นต้น
--
เรื่อง : อลงกรณ์