Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

รู้จักเรา

-A +A

โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ

          ความตายถูกรับรู้แต่ด้านความสูญเสีย เจ็บปวดทรมาน เป็นอัปมงคล น่าหวาดกลัว จึงทำให้คนพากันแกล้งลืมความตาย ไม่ตระหนักถึงความจริงว่า ความตายต้องมาเยี่ยมเยือนเราอย่างแน่แท้ในวันหนึ่ง

          ความกลัวที่ตามมาด้วยการหลีกเลี่ยง และความประมาทที่ตามมาด้วยการละเลย ไม่สนใจการเรียนรู้การรับมือกับความตาย ทำให้เมื่อตนเองหรือคนใกล้ชิดต้องประสบกับความเจ็บป่วยหรือการตายเข้าจริงๆ ก็ไม่สามารถจัดการได้อย่างมีสติ ผู้ประสบปัญหามากที่สุดคือผู้ป่วยที่ได้รับความทรมานจากการยืดความตาย ด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ และอาจตายท่ามกลางบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตรต่อการตายอย่างสงบ สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

          ขณะเดียวกัน ญาติ ผู้ดูแล และครอบครัวก็ตกอยู่ในความเศร้าหมอง สิ้นหวัง ไร้ทางออก จากการแบกรับภาระการดูแลอย่างมหาศาล จากการยื้อชีวิตด้วยเทคโนโลยีเกินความจำเป็น

          โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ จึงพัฒนาเครื่องมือการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนพัฒนากลไกทางสังคมและวัฒนธรรม ให้เอื้อต่อการเผชิญความตายอย่างสงบ ในขณะเดียวกันก็เกื้อกูลชีวิตและสังคมที่ดีงาม

 

กิจกรรมหลักของโครงการ

  1. อบรมเผชิญความตายอย่างสงบ
  2. อาสาข้างเตียง
  3. กิจกรรมและเวทีสาธารณะ
  4. สังฆะกับการดูแลผู้ป่วย
  5. สายด่วนให้คำปรึกษาทางใจ ผู้ป่วยระยะสุดท้าย 086-0022-302
  6. จดหมายข่าวอาทิตย์อัสดง
  7. หนังสือและสื่อเผยแพร่
  8. Peaceful Death Facebook Fanpage

 

จุดเริ่มต้นของโครงการฯ

พ.ศ. 2543 พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต แปลหนังสือเหนือห้วงมหรรณพ และประตูสู่สภาวะใหม่ จากหนังสือคัมภีร์มรณศาสตร์แห่งธิเบต โดยท่านโซเกียล รินโปเช

หลังจากการตีพิมพ์หนังสือทั้งสองเล่ม ผู้อ่านในแวดวงสุขภาพได้ให้ความสนใจต่อความรู้เรื่องการเผชิญความตายอย่างมาก ทั้งในมิติสุขภาพและจิตวิญญาณ อีกทั้งมีความต้องการฝึกฝนเรียนรู้ในเชิงปฏิบัติในหลักสูตรอบรมอีกทางหนึ่ง 

พ.ศ. 2546 เครือข่ายพุทธิกา ร่วมกับเสมสิกขาลัย จึงได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติ “เผชิญความตายอย่างสงบ” 

พ.ศ. 2547 เครือข่ายพุทธิกา พร้อมทั้งภาคีในระบบบริการสุขภาพ ดำเนินโครงการเผชิญความตายอย่างสงบ เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ กรณีศึกษาในสังคมไทย ควบคู่ไปกับการผลิตสื่อเรียนรู้ การจัดเวทีสาธารณะ พร้อมกับพัฒนาเครือข่ายแพทย์และพยาบาลดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายไปพร้อมกัน

พ.ศ. 2549 หลังจากพัฒนาและอบรมเผชิญความตายอย่างสงบหลายรุ่น ก็เกิดโครงการ “อาสาข้างเตียง” เพื่อพัฒนาระบบอาสาสมัครดูแลจิตใจผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรงพยาบาล ตลอดจนเกิดจดหมายข่าวรายสามเดือน “อาทิตย์อัสดง” เพื่อสื่อสารแนวคิดและรวบรวมความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ในเวลาต่อมา

พ.ศ. 2554 พัฒนาครงการส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ โรงพยาบาล และชุมชน ในการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้ายอย่างมีส่วนร่วม ด้วยเห็นว่าพระสงฆ์ เป็นสถาบันทางสังคมที่มีต้นทุนสำคัญ และมีศักยภาพในการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยด้วยหลักพุทธธรรม อีกทั้งการดูแลผู้ป่วยเองก็เกื้อกูลความก้าวหน้าต่อการปฏิบัติพุทธธรรมด้วยเช่นกัน

พ.ศ. 2555 ให้บริการสายด่วนให้คำปรึกษาทางจิตใจ ผู้ป่วยระยะสุดท้าย โทร. 086-0022-302 ให้บริการในเวลาทำการ จันทร์ – ศุกร์ 10.00 – 16.00 น. โดยจิตอาสาเครือข่ายพุทธิกา โดยได้รับการสนับสนุนคำปรึกษาจากพระสงฆ์ แพทย์และพยาบาลดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรงพยาบาลภาคี

พ.ศ. 2556 ดำเนินโครงการสื่อสารสร้างความตระหนัก วิถีสู่ความตายอย่างสงบ หรือ “ความตาย พูดได้” เพื่อสื่อสารให้สาธารณะได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมตัวสนทนาพูดคุย ฝึกฝนการวางใจ รับมือกับความตายที่จะมาเยี่ยมเยือนอย่างแน่นอน ผ่านเนื้อหา เครื่องมือ และรูปแบบการสื่อสารที่หลากหลาย

โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ เครือข่ายพุทธิกา ยังคงดำเนินกิจกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง มุ่งสร้างระบบสังคมและวัฒนธรรมที่ตื่นรู้ เกื้อกูลความไม่ประมาทในชีวิต และเป็นมิตรกับความตาย

 

องค์กรภาคี

  • เสมสิกขาลัย
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
  • สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
  • สมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย (THAPs – Thai Palliative Care Society)
  • มูลนิธิโกมลคีมทอง 
  • หน่วยดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care) ในโรงพยาบาลต่างๆ เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ / โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จ.สงขลา / คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล / โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นต้น

 

เครือข่ายพุทธิกา

          นอกจากโครงการเผชิญความตายอย่างสงบแล้ว เครือข่ายพุทธิกาดำเนินงานเพื่อฟื้นฟูพุทธธรรมให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและมีความหมายต่อสังคม ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ ได้แก่

          “ฉลาดทำบุญด้วยจิตอาสา” ขับเคลื่อนการทำบุญในสังคมสมัยใหม่ผ่านกิจกรรมจิตอาสา และวิธีการอื่นๆ นอกเหนือไปจากการทำบุญติดยึดในรูปแบบ

          "โครงการสุขแท้ ด้วยปัญญา" เพื่อสร้างแนวทางการเข้าถึงความสุขด้วยทัศนคติ 4 ประการ คือ 1) คิดถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง 2) ไม่พึ่งพิงความสุขจากวัตถุแต่อย่างเดียว 3) เชื่อมั่นในความเพียรของตน และ 4) รู้จักคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นประโยชน์เกื้อกูล 

          "โครงการป่วน: ศิลปะเพื่อชีวิตและอิสรภาพของคนรุ่นใหม่" สร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อการจัดการอารมณ์ป่วนในกลุ่มเด็กและเยาวชน  

          นอกจากนี้เครือข่ายพุทธิกายังเผยแพร่จัดพิมพ์หนังสือและสื่อธรรมะ สนใจอ่านรายละเอียดได้ที่ www.budnet.org