พระเอทีเอ็ม
ในระยะท้ายของโรค ผู้ป่วยมักได้รับการดูแลมิติทางกายจากสถานพยาบาลหรือครอบครัว การกินอาหาร ได้รับยาที่เหมาะสม พักผ่อนในบรรยากาศแวดล้อมที่เกื้อกูล อาจช่วยบรรเทาความทุกข์กายได้บ้าง แต่ผู้ป่วยยังต้องการการดูแลทางใจด้วย ในมิตินี้พระสงฆ์นับว่าเป็นหนึ่งในสังฆะที่น่าจะช่วยเหลือมิติทางใจได้มาก
พระสงฆ์โปรดญาติโยมให้ความทุกข์ผ่อนคลายเบาบางเป็นภาพที่งดงาม แต่ปัจจุบันพระสงฆ์กับผู้ป่วยในชุมชนหรือในโรงพยาบาลดูจะมีความสัมพันธ์ที่ห่างเหิน ญาติโยมอาจกังวลว่าตนจะวางตัวกับพระไม่ถูก ไม่รู้จะพูดกับพระอย่างไร บางคนพรั่นพรึงต่อการปรากฏตัวของพระเพราะเข้าใจว่าพระเป็นสัญลักษณ์ของความตายเนื่องจากเชื่อมโยงแต่พระกับพิธีศพ ในขณะที่พระสงฆ์ก็อาจไม่คุ้นชินกับการเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาลหรือในชุมชน
โครงการสังฆะกับการดูแลผู้ป่วยมีความพยายามส่งเสริมให้พระสงฆ์กลับมามีบทบาทในการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่กำลังเผชิญความตาย เอื้ออำนวยให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงการดูแลทางจิตวิญญาณมากขึ้น "เราต้องมีพระเอทีเอ็มกดใช้ โทรหาเวลาที่ผู้ป่วยอยู่ช่วงวิกฤตของชีวิต" คุณเกื้อจิต แขรัมย์ พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลบุรีรัมย์ กล่าวถึงความสำคัญและจำเป็นที่จะต้องมีพระเข้าร่วมในทีมดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรงพยาบาลและชุมชน เนื่องจากในช่วงเวลาที่ผู้ป่วยรู้ตัวว่ากำลังจะเสียชีวิตมักต้องการบำเพ็ญกุศลเป็นครั้งสุดท้ายให้มีจิตใจที่เบิกบาน มีเครื่องหมายของความดีไว้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
การดำเนินงานของโครงการที่ผ่านมาจึงได้จัดให้มีการอบรมพระสงฆ์ พยาบาล และจิตอาสาเพื่อพัฒนาทีมงานให้ดูแลผู้ป่วยอย่างมีส่วนร่วม เนื่องจากการดูแลจิตใจผู้ป่วยนั้น พระสงฆ์จำเป็นต้องมีทัศนคติที่ถูกต้องในการนำทางผู้ป่วย เช่น ความตายไม่ใช่เรื่องน่ากลัว มีทักษะที่จำเป็น เช่น ทักษะการฟัง การนำทางผู้ป่วยให้เผชิญความตายอย่างสงบ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือพระต้องมีจิตใจที่เมตตา ต้องการช่วยเหลือผู้ป่วยให้พ้นทุกข์ การมีสติอยู่กับปัจจุบันขณะ ให้ความสำคัญกับสภาวะของผู้ป่วยที่อยู่ตรงหน้า อย่างไรก็ตาม นอกจากการอบรมแล้ว จำเป็นที่พระสงฆ์จะต้องลงมือเยี่ยมเยียวยาผู้ป่วยเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์
สิ่งที่ผู้ป่วยต้องการการช่วยเหลือจากพระสงฆ์ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต เพียงพระปรากฏตัวด้วยท่าทีและจิตใจที่เมตตา สัมผัสผู้ป่วยอย่างอ่อนโยน ใส่ใจรับฟังผู้ป่วยหรือญาติที่กำลังอยู่ในความทุกข์ ให้กำลังใจ ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ ก็ช่วยผ่อนคลายความทุกข์ได้มาก นอกจากนี้ พระสงฆ์อาจใช้พิธีกรรมทางศาสนาช่วยเยียวยาจิตใจได้มากขึ้นไปอีก เช่น การให้ศีลให้พร รับสังฆทาน พรมน้ำมนต์ เตือนสติให้ผู้ป่วยนึกถึงคุณงามความดีที่ตนเคยทำ ให้ความมั่นใจว่าความตายไม่ใช่เรื่องน่ากลัว พระอาจเชิญชวนครอบครัวให้ร่วมสวดมนต์ง่ายๆ ทำสมาธิสั้นๆ นำพิธีขออโหสิกรรม สำหรับช่วงเวลาสุดท้ายของผู้ป่วย ช่วงเวลาแห่งความทุกข์ของญาติ การช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ของพระสงฆ์เป็นสิ่งที่มีความหมายอย่างมากต่อผู้ป่วยในช่วงเวลาแห่งความทุกข์
"ถ้าแม่ฉันตาย แม่ฉันจะได้ตายแบบนี้ไหมหมอ?" เพื่อนบ้านคนหนึ่งถามทีมดูแลผู้ป่วยในชุมชนพร้อมทั้งขอเบอร์โทรของพระ หลังจากเห็นพระสงฆ์ที่ผ่านการอบรมจากโครงการเข้ามาช่วยหลือด้วยการน้อมจิตนำทางผู้ป่วยระยะสุดท้ายในชุมชน กระบวนการดังกล่าว พระสงฆ์ พยาบาล จิตอาสา ครอบครัว ตลอดจนเพื่อนบ้านในชุมชนได้ร่วมกันให้กำลังใจผู้ป่วยผ่านการสวดมนต์ นั่งสมาธิ ร่วมกันขอขมาอโหสิกรรม บรรยากาศที่หม่นหมองก็ดูจะสดชื่นแจ่มใสอย่างเห็นได้ชัด
พระสงฆ์ที่ผ่านการอบรมและปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยสะท้อนการเรียนรู้ว่า เมื่อท่านได้ช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายต่างก็รู้สึกภาคภูมิใจ รู้สึกว่าตนมีคุณค่าที่ตนได้ดำรงอยู่ในสมณเพศ ได้ชื่อว่ากตัญญูรู้คุณชาวบ้านที่ให้บิณฑบาตไม่เสียทีที่เกิดเป็นพระ
"อาตมาสังเกตว่าการเยี่ยมผู้ป่วยคือการฝึกฝนการเจริญสติขั้นสูง เพราะท่านจะต้องเผชิญกับปัจจุบันธรรมของทั้งของตนเองและของผู้ป่วยในเวลาเดียวกัน อาตมาพบว่าพระที่ทำงานเยี่ยมผู้ป่วยจะมั่นคงในสมณเพศ มีความก้าวหน้าในธรรม ที่สำคัญคือเชื่อมั่นว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจะสามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้พ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง" พระอธิการครรชิต อกิญฺจโน พระวิทยากรในการอบรมในโครงการฯ กล่าวถึงอานิสงส์ที่พระสงฆ์จะได้รับเมื่อได้เข้าร่วมเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาลและชุมชน
การพบกันระหว่างพระกับผู้ป่วยในโมงยามแห่งความทุกข์เป็นช่วงเวลาอันสำคัญที่ผู้ป่วยมีโอกาสพัฒนาจิตใจเผชิญกับความจริงของชีวิต ในห้วงเวลานี้ หน่วยงานสาธารณสุขมีโอกาสอันดียิ่งที่จะประสานให้พระมีโอกาสพบเจอและเยียวยาผู้ป่วยซึ่งจะมีอานิสงส์กับทุกฝ่าย ทั้งผู้ป่วย หน่วยงานสาธารณสุขและกับองค์กรสงฆ์เองที่จะกลับมาเป็นสถาบันที่เป็นคำตอบของชีวิตและสังคมปัจจุบันโดยแท้จริง