Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

มรณานุสติ

-A +A

 

สัมภาษณ์ วรรณา จารุสมบูรณ์ 
โดย กานต์ดา บุญเถื่อน 
วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2550

          มนุษย์เลือกไม่ได้ว่าจะตายวันไหน เวลาไหน ด้วยเหตุการณ์หรือโรคร้ายชนิดใด แต่เลือกได้ว่าจะตายอย่างสงบ ไม่เจ็บปวด ไม่ทุรนทุราย ด้วยความทุกข์ทรมาน หากรู้จักการปล่อยวางจากสิ่งยึดติดภายนอกทั้งหลาย พร้อมกับน้อมจิตให้ระลึกถึงสิ่งดีงามที่เคยทำ พร้อมกับการระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก่อนสิ้นลมเท่านั้นเอง

          วรรณา จารุสมบูรณ์ ผู้จัดการโครงการเผชิญความตายอย่างสงบ เครือข่ายพุทธิกา เป็นคนหนึ่งที่เชื่ออย่างนั้นมาโดยตลอด เธอบอกว่า ท้ายที่สุดแล้วไม่มีใครสามารถปฏิเสธหรือหลีกหนีไปจากความตาย เปรียบเสมือนสัจธรรมที่ทุกคนต้องประสบครั้งหนึ่งในชีวิตทั้งนั้น

          ถ้าไม่ปลงสังขารกันจริง คงไม่มีใครอยากนั่งสนทนาพาทีถึงเรื่องความตายนักหรอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นความตายของตัวผู้สนทนาเอง แต่วรรณามีความเห็นว่า บางครั้งการได้สนทนาถึงความตายก็เป็นเรื่องจำเป็น เพราะไม่ใช่เรื่องของกายเท่านั้นที่ต้องดูแล จิตก็มีความสำคัญไม่น้อย

          “แท้จริงแล้วผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายหรือโรคอื่นที่กำลังรอวินาทีลาโลก มีความรู้สึกที่ไม่ต่างกันคือ ล้วนมีความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น แต่เป็นทุกข์ที่มาจากความหวาดกลัวความตาย กลัวความเจ็บปวด ห่วงสารพัดห่วงไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่ดินบ้าน หรือญาติพี่น้อง ทำให้เกิดอารมณ์ที่แปรปรวน ฉุนเฉียวง่าย สุดท้ายตายอย่างไม่สงบ” ผู้จัดการโครงการเผชิญความตายอย่างสงบ กล่าวอย่างสงบ

          เธอบอกว่า ญาติสามารถช่วยผ่อนคลายความเครียด ความกังวลหรือความกลัวที่มีอยู่ในจิตใจได้ ด้วยการใช้สัมผัสร่างกายเข้าช่วย หรืออาจช่วยพลิกตัว ช่วยบีบนวด ควรสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วยมีความสุขกับชีวิตที่เหลืออยู่แม้จะน้อยนิดก็ตาม เช่น ทำให้ผู้ป่วยเห็นว่าเขาเป็นบุคคลสำคัญต่อญาติพี่น้อง เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึก และตระหนักว่าถึงแม้จะเจ็บป่วยก็ยังเป็นคนที่มีคุณค่าสำหรับคนอื่น และไม่รู้สึกอ่อนแอ

          “สิ่งสำคัญคือ ญาติพี่น้องต้องมีความอดทน อดกลั้นต่อภาวะอารมณ์ของผู้ป่วยที่มักมีขึ้นๆ ลงๆ ต้องแสดงความรักออกมาอย่างใจจริงไม่ว่าจะด้วยการกระทำหรือสีหน้าท่าทาง และเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้พูด ให้เขาระบายความในใจหรือความทุกข์ที่มีอยู่ในขณะนั้น เราต้องฝึกเป็นผู้ฟังที่ดี โดยตอนท้ายต้องเตือนสติให้เขาไม่ยึดมั่นถือมั่น เพื่อการจากไปอย่างหมดห่วงและเป็นสุขนั่นเอง”

          นอกจากนี้ ญาติไม่ควรพูดหรือยัดเยียดให้ผู้ป่วยต้องปลงเพียงฝ่ายเดียว แต่ควรรับฟังความคิดเห็น และเข้าใจความต้องการของผู้ป่วยด้วย และหากสามารถช่วยเหลือได้ ก็ควรรับอาสา

          วรรณาย้ำว่า การช่วยเหลือในสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการต้องไม่เกินความสามารถจนถึงกับต้องโกหก หรือให้ผู้ป่วยมีความหวัง เช่น การรับปากว่าจะตามลูกมาให้ทั้งที่ลูกอยู่ไกลถึงต่างประเทศ ไม่สามารถตามกลับมาได้ทัน เพราะจะทำให้ผู้ป่วยมีหวัง รอคอย หรือห่วงไปต่างๆ นานา เกี่ยวกับการเดินทางกลับมาของลูก และผิดหวังก่อนที่จะสิ้นลมได้

          อโนทัย เจียรสถาวงศ์ นักเขียนอิสระ ผู้บรรยายธรรมประจำยุวพุทธิกา สมาคมแห่งประเทศไทย ยกคำของท่านพุทธทาสว่าไว้ “มนุษย์ต้องฝึกตายก่อนที่จะตายจริง” หมายความว่า ฝึกทำใจให้ปล่อยวางจากทุกสิ่ง ดำรงชีวิตอยู่ได้ท่ามกลางความทุกข์อย่างเป็นสุข เมื่อความตายของจริงมาเยือนก็จะไม่สามารถมาทำร้ายให้เราเจ็บปวด ทุรนทุราย หรือทุกข์ทรมานได้ เพราะเราได้ปล่อยวางแล้วนั่นเอง

          "มนุษย์มักคิดถึงความสุขที่ยึดติด การเตรียมตัวตาย เพื่อให้การตายมีประสิทธิภาพ หมดทุกข์ หมดห่วง ต้องเตรียมตั้งแต่ ยังมีกำลังวังชาไม่ใช่เตรียมต่อเมื่อกำลังจะสิ้นลมแล้ว เพราะอาจไม่ทันกาล ด้วยการฝึกฝนทำจิตให้มีสมาธิ สติ ปล่อยวางกับสิ่งรอบตัว ไม่ยึดมั่นถือมั่นกับทรัพย์สิน เงินทอง ตำแหน่งหน้าที่ทางการงาน "

          เธอขยายความต่อว่า การตายอย่างมีสติหมายถึง เมื่อวาระของความตายคืบคลานเข้ามา ผู้ป่วยต้องมีจิตพร้อมที่จะน้อมนำจิตใจตัวเองให้ระลึกถึงคุณความดีที่เคยทำ มีจิตพร้อมที่จะระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือพระผู้เป็นเจ้า ถึงการจะไปอยู่ในสรวงสวรรค์ของพระองค์

          “ความตายอย่างมีสติตามทัศนคติทางศาสนาพุทธคือ การเผชิญความตายอย่างสามารถน้อมจิตให้เกิดความว่างเปล่า หมายถึงการปล่อยวางสังขาร หรือร่างกาย การกระทำดังกล่าวเป็นไปได้ยากมาก ต้องฝึกเป็นคนปล่อยวางมาตั้งแต่ต้นจึงจะทำได้ง่ายขึ้น” อโนทัย กล่าว

          นอกจากผู้ป่วยระยะสุดท้ายต้องรู้จักเตรียมตัวตายแล้ว คนที่มีสุขภาพปกติก็ควรรู้จักใช้ชีวิตอย่างมีสติ รู้จักปล่อยวางไม่ยึดติดกับสิ่งใดในชีวิต ผู้บรรยายธรรมประจำยุวพุทธิกา สมาคมแห่งประเทศไทย บอกว่า ตัวเธอเองได้ฝึกให้สติแนบอยู่ที่ใจอยู่เสมอ และระลึกมรณานุสติทุกวัน แต่ยังนับว่าน้อย ถ้าจะให้ดีควรระลึกถึงมรณานุสติทุกนาที เพื่อมีชีวิตที่ไม่ยึดติดกับความสุขสบายในโลกนี้

          อโนทัยยังบอกด้วยว่า มนุษย์แต่ละคนมีจินตนาการถึงโลกหลังความตายแตกต่างกันไปทั้งในความเชื่อส่วน ตัว ความเชื่อ และคติทางศาสนา บางศาสนากล่าวถึงเรื่องนรก และสวรรค์ แต่สำหรับเธอแล้วมองว่า ความตายที่เป็นสุขอย่างแท้จริงคือ การทำจิตใจให้หลุดพ้นจากโลภ รัก โกรธ หลง ด้วยการปล่อยวางก่อนที่จะสิ้นลม

          “การสนทนาถึงความตายไม่ได้ต้องการให้คนกลัว แต่ต้องการเตือนสติให้มนุษย์ให้เตรียมตัวไว้ เพราะท้ายที่สุดเมื่อความตายมาถึง การฝึกฝนนั้นจะช่วยให้ความเจ็บป่วยไม่สามารถทำอะไรเราได้ กายอาจจะป่วยแต่ใจไม่ได้ป่วยไปด้วย ดังคำที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่าหากกายป่วยแล้วใจยังป่วยก็ถือว่าขาดทุน เนื่องจากไม่รู้จักนำความดีที่เคยทำมาใช้ประโยชน์ในเสี้ยวชีวิตเลย” ผู้บรรยายธรรมประจำยุวพุทธิกา สมาคมแห่งประเทศไทย ยกพุทธวจนะมาเตือนสติ

 

ที่มา: