มีชีวิตใกล้ชิดกับความตาย
วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550
"ขอพระผู้เป็นเจ้าจงประทานพรให้ข้า ได้มีความเยือกเย็นหนักแน่น ในอันที่จะรับไว้ซึ่งสถานการณ์ ที่ข้าไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ขอให้ข้าได้มีกำลังใจ ที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ข้าสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ อีกทั้งขอให้พระองค์ได้ประทานปัญญาให้ข้า ได้มองเห็นความแตกต่างระหว่างสองสภาวะนี้"
Archbishop Robert Alexander Kennedy, Runcie's Collection of Prayers, แปลโดย กรุณา กุศลาสัย
........................
เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วเครือข่ายแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ที่บริหารจัดการโดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ และสนับสนุนโดยสำนักงาน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้พากันไปทำกิจกรรมจัดการความรู้ เพื่อถอดบทเรียนและรู้จักซึ่งกัน และกันระหว่างคนทำงานส่งเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณ
แม้ว่าพวกเราจะต้องฟังเรื่องเล่าต่อเนื่องแบบมาราธอนเก้าโครงการ สิบกว่าชั่วโมง (คล้ายๆ ได้ไปทัวร์ยุโรปเจ็ดวัน แปดประเทศอะไรทำนองนั้น) แต่ก็ได้รับรู้และเรียนรู้เรื่องราวดีๆ ไม่น้อย
หนึ่งในโครงการที่นำเสนอในวันนั้น คือ โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ โดยเครือข่ายพุทธิกา พี่ธวัชชัย โตสิตระกูล กระบวนการของโครงการ เล่าให้ฟังว่าเขาเข้ามาเกี่ยวข้องทำงานด้านนี้ เพราะภรรยาเคยเข้าร่วมอบรมเรื่องการเผชิญความตาย ระหว่างอบรมเธอก็มีเอสเอ็มเอส (SMS) หวานแหววมาหา กลับมาก็ตรงเข้ามากอดพร้อมกับบอกว่า "รักพี่จัง" และหลังจากนั้นความสัมพันธ์ของครอบครัวที่ดีอยู่แล้ว ก็ยิ่งดีขึ้นอีก เธอแนะนำให้เขาได้ลองไปอบรมดู นัยว่าอาจจะอยากได้รับ SMS จากเขาบ้าง (ฮา)
กิจกรรมในการอบรมนั้นมีอยู่หลายอย่าง แต่ละกิจกรรมถูกจัดเรียงเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้เข้าไปใกล้ชิด ทำความคุ้นเคย จนกระทั่งเห็นว่าการตายไม่เพียงเป็นส่วนหนึ่งของการมีชีวิต แต่ยังเป็น 'นาทีทอง' (ดังที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเรียก) อีกด้วย เพราะเป็นโอกาสอันเยี่ยม ให้ผู้ที่กำลังจะจากไปได้เกิดการยกระดับทางจิตวิญญาณอย่างมาก และหากจัดการได้ดี ผู้ที่อยู่รายรอบก็สามารถเรียนรู้ได้เช่นกัน ดังเช่นที่มีผู้กล่าวไว้ว่า "หากรู้ว่าอยากจะตายอย่างไร เราก็จะรู้ว่าต้องใช้ชีวิตอย่างไร"
ระหว่างการอบรมหลวงพี่ไพศาล วิสาโล ท่านเล่าสู่กันฟังว่าความตายที่ดี หรือที่เรียกว่า 'ตายดี' นั้น ทางโลกกับทางพุทธเขาอธิบายว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร มีการเขียนพินัยกรรม การได้คลี่คลายปมที่ตนเองเคยติดค้าง (เช่น คุณแม่บางคนลูกตายไปสิบกว่าปีแล้ว ยังไปปูผ้าปูที่นอนให้ลูกทุกคืน) กิจกรรมทดลองตาย กิจกรรมทดลองแจ้งข่าว (Break the news) ที่เรามักจะกระอักกระอ่วนใจว่าต้องพูดอย่างไร กิจกรรมทดลองเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพื่อที่จะได้ทราบว่าคนป่วยนั้นเขารู้สึกอย่างไร เราจะได้มีความสามารถในการดูแลเขาเหล่านั้นอย่างเป็นองค์รวมในทุกมิติ รวมถึงกิจกรรมไปเยี่ยมผู้ป่วยระยะสุดท้ายจริงๆ ในโรงพยาบาล ซึ่งก็ได้รับประโยชน์กันอย่างเต็มที่ทั้งผู้ให้และผู้รับ เพราะแท้จริงแล้วต่างก็ได้ให้สิ่งสำคัญอย่างยิ่งแก่กันและกัน
ปัจจุบันพี่ธวัชชัย ลาออกจากงานครึ่งเวลา เพื่อจะมาทำงานนี้ โดยขอรับเงินเดือนเพียงครึ่งเดียว แต่หน่วยงานก็เห็นความสำคัญ ยินดีให้มาทำตามต้องการ พร้อมจ่ายเงินเดือนเต็มอีกด้วย
ผมกลับบ้านพร้อมความประทับใจ นำเรื่องมาเล่าและชวนคุณแม่กับพี่สาวที่เป็นหมอให้ไปร่วมการอบรมของโครงการ เผชิญความตายอย่างสงบด้วย ปรากฏว่าทั้งคู่สนใจมากครับ ไปกลับมาก็ประทับใจมาก (แต่ไม่เห็นได้ส่ง SMS มา (ฮา)) แถมมีเรื่องราวมาเล่าให้ฟังเพิ่มเติมอีกไม่น้อย
สิ่งหนึ่งที่การอบรมช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นคือ ความแตกต่างระหว่างสองสิ่งที่สำคัญมาก ดังเช่น ที่อาร์กบิชอบเคนเนดี เขียนไว้ในบทสวดข้างต้น หรือที่เอพิกตีตัส (Epictetus) นักปรัชญาสายสโตอิก ชาวกรีก เขียนไว้ในหนังสือ Manual of Living ว่า "ความสุขและอิสรภาพเริ่มจากความเข้าใจอันแจ่มแจ้งถึงหลักการข้อหนึ่งที่ว่า บางสิ่งอยู่ภายในการควบคุมของเรา และบางสิ่งนั้นไม่ ต่อเมื่อคุณกล้าเผชิญกับบทบาทพื้นฐานและเรียนรู้ที่จะแยกแยะระหว่างสิ่งที่ คุณสามารถและไม่สามารถควบคุมได้ ความสงบภายในและความมีประสิทธิภาพภายนอกจึงจะเป็นไปได้"
ชวนให้ผมนึกนิตยสาร Tzu Chi, Buddhism In Action ฉบับ Fall 2002 ที่ลงข้อความอันแสนจะเรียบง่ายแต่งดงามของลี เว่ย ฮวง (เรียบเรียงเป็นภาษาอังกฤษโดย เทเรซ่า จาง, แปลโดย อธิธัช สาทรกิจ) ชื่อ 'ตัดสายป่าน' (Set the Kite Free)
"อย่าเสียใจหากมิได้อยู่เคียงข้างตอนฉันจากไป บางครั้งอบอุ่นใจที่มีเธอไม่เคยห่าง แต่บางครั้งต้องทุกข์ใจ ต้องพรากไป ใจสลาย มีสิ่งใดที่เธอยังค้างคาใจ หรือสิ่งใดที่อยากทำ จงทำเถิด เพื่อว่าหากวันใดฉันเกิดต้องจากไปกะทันหัน หากไม่บอก ทำไม่ทัน ตัวเธอนั้นอาจตรอมใจ ต้องทุกข์ใจที่สายเกิน หากวันใดรู้ว่าฉันหมดลมหายใจ จงปล่อยวาง และปล่อยฉันไป ในยามนี้ขอให้เธอรับรู้ไว้ สิ่งดีใดที่ได้ทำให้แก่ฉัน สิ่งดีนั้นล้วนแต่นำความปลื้มและสุขใจ ไม่เคยลืม ทั้งยามหลับและยามตื่นตลอดมา สุดท้ายนี้ขอให้เธอจดจำไว้ เมตตาธรรม คำสวดวอนขอพรที่ต้องการ สวดให้ฉันไปดีมีสุขเทอญ"
เพราะเมื่อเรารู้ว่าชีวิตที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นมีค่าและเปราะบางเพียงใด เราก็จะใช้ทุกวินาทีของมันอย่างไม่ประมาทนั่นเอง :-)