Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

เตรียมใจในยามป่วยหนัก

-A +A

           ในยามเจ็บป่วย ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ได้ทุกข์ที่กายเท่านั้น หากใจก็พลอยทุกข์ด้วย เช่น มีความวิตกกังวล เครียด หงุดหงิด หดหู่ หวาดกลัว ฯลฯ ใจที่เป็นทุกข์ย่อมทำให้ร่างกายเสื่อมทรุดลง หายยาก หรือฟื้นตัวได้ช้าลง ตรงกันข้ามใจที่สงบหรือเบิกบานจะช่วยให้ร่างกายหายเร็วขึ้น และเจ็บปวดน้อยลง

           อย่างไรก็ตามโรคภัยไข้เจ็บในบางกรณีก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้ และทำให้ร่างกายเสื่อมทรุดลงจนไม่สามารถฟื้นเป็นปกติได้ เช่น เป็นอัมพฤกษ์ หรือพิการ แม้กระนั้นใจก็ยังมีความสำคัญ ถ้าหากรักษาใจไว้ให้ดี เช่น มีความสงบ จดจ่อในสิ่งที่ดีงาม ความทุกข์ก็จะลดลง ไม่ทุรนทุรายหรือกระสับกระส่าย

           แม้ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือป่วยหนักจนมาถึงระยะสุดท้ายของชีวิต หมอ พยาบาล และเทคโนโลยีทั้งหลายอาจช่วยอะไรไม่ได้มากนัก แต่จิตใจของเราเองก็ยังสามารถเป็นที่พึ่งได้ ช่วยให้เป็นทุกข์น้อยลง และมีความสงบได้ในช่วงสุดท้ายของชีวิต

           ด้วยเหตุนี้ในยามเจ็บป่วย การดูแลรักษาจิตใจจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่าการดูแลรักษาร่างกาย บางครั้งอาจสำคัญกว่าด้วยซ้ำโดยเฉพาะเมื่อร่างกายไม่สามารถเยียวยาได้อีกต่อไป เมื่อมาถึงจุดหนึ่งของชีวิต ร่างกายมีแต่จะทรุดลงและทุกข์หนักขึ้นจนคุมไว้ไม่อยู่ แต่จิตใจของเราไม่ใช่เช่นนั้น สามารถเป็นสุขและสงบได้จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

           เมื่อป่วยหนักหรือเมื่อรู้ตัวว่าวาระสุดท้ายของชีวิตใกล้จะมาถึง จึงไม่ควรปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์ แต่ควรใช้เวลาที่เหลืออยู่เพื่อรักษาจิตและตระเตรียมใจให้พร้อมสำหรับช่วง สำคัญที่สุดของชีวิต

           ความตายนั้นเราไม่สามารถรู้ได้ว่าจะมาเมื่อไร และเลือกไม่ได้ว่าจะตายอย่างไร แต่เราสามารถเลือกได้ว่าจะเผชิญกับความตายอย่างไร ด้วยความสงบหรือตื่นตระหนก ด้วยความปล่อยวางหรือยื้อยุดสุดกำลัง

           หากเราต้องการเผชิญกับความตายด้วยความสงบและด้วยความรู้สึกปล่อยวาง เราต้องเตรียมใจเสียแต่วันนี้ ด้วยวิธีต่อไปนี้

 

๑.ยอมรับความจริง

           ความจริงอย่างหนึ่งของชีวิตก็คือเราทุกคนต้องตาย ไม่มีใครที่จะหลีกหนีความตายได้

           เมื่อคนเราต้องตายไม่ช้าก็เร็ว จึงควรเตรียมใจพร้อมรับความตายอยู่ทุกเวลา และจะมีเวลาใดเล่าที่การทำใจพร้อมรับความตายจะเป็นเรื่องเร่งด่วนเท่ากับตอนที่กำลังป่วยหนัก เมื่อเราพร้อมรับความตาย ความตายก็มิใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป

           ตรงกันข้ามการไม่ยอมรับความตายทั้ง ๆ ที่วาระสุดท้ายใกล้เข้ามาทุกขณะมีแต่จะซ้ำเติมตัวเองให้เป็นทุกข์มากขึ้น ยิ่งไม่ยอมรับความตาย ก็ยิ่งกลัวความตาย และยิ่งกลัวความตายมากเท่าไร ใจก็ยิ่งเป็นทุกข์มากเท่านั้น พึงระลึกว่า ไม่มีอะไรน่ากลัวเท่ากับความกลัว แม้แต่ความตายก็ไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวตาย

           อย่างน้อยทุกคืนก่อนนอนควรทำใจให้สงบและนึกถึงความตายของตนว่าสักวันหนึ่งจะต้องมาถึง คืนนี้อาจเป็นคืนสุดท้ายของตนก็ได้ หรือไม่ก็พิจารณาดังนี้ว่า

           “ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง
           ความตายเป็นของเที่ยง
           อีกไม่นานร่างกายนี้
           จักปราศจากวิญญาณ
           ถูกทอดทิ้งทับถมแผ่นดิน
           เหมือนท่อนไม้อันหาประโยชน์มิได้”

 

๒.จิตใจจดจ่อกับสิ่งดีงาม

           ในภาวะที่ร่างกายของเรากำลังเจ็บปวดแปรปรวนอยู่นั้น ความทุกข์ทรมานสามารถบรรเทาลงได้หากมีการเหนี่ยวนำจิตใจให้เป็นสมาธิหรือจด จ่ออยู่กับสิ่งดีงาม

           มีหลายวิธีที่ช่วยให้จิตใจจดจ่อกับสิ่งดีงาม

           ก.ระลึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์

           สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราเคารพนับถือ อาจได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระโพธิสัตว์ หรือครูบาอาจารย์ผู้เป็นปูชนียบุคคล การระลึกนึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวจะช่วยให้จิตใจสงบขึ้น หากมีพระพุทธรูปหรือรูปของพระโพธิสัตว์และครูบาอาจารย์ที่เคารพนับถือมาตั้งอยู่ในห้อง จะช่วยให้จิตใจมีสมาธิจดจ่อได้ดีขึ้น

           ข.สวดมนต์

           การสวดมนต์อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยเฉพาะบทที่ชวนให้รำลึกถึงองค์คุณหรืออานุภาพแห่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว ช่วยให้ศรัทธาในใจเพิ่มพูน ยิ่งมีศรัทธามากเท่าไร จิตก็ยิ่งเป็นสมาธิและสงบนิ่งได้เร็วมากเท่านั้น อีกทั้งยังช่วยให้เกิดกำลังใจในการเอาชนะความกลัวต่าง ๆ ที่รุมเร้า

           ค.ฟังธรรม

           การฟังธรรม ไม่ว่าจากเทป รายการวิทยุโทรทัศน์ หรือจากผู้ที่เราเคารพนับถือโดยตรง (ซึ่งเป็นพระภิกษุหรือฆราวาสก็ได้) เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยน้อมจิตให้เป็นกุศล ได้ทั้งความสงบ กำลังใจ และเกิดปัญญา

           พึงระลึกว่าในยามเจ็บป่วย ไม่ใช่แต่ร่างกายของเราเท่านั้นที่ต้องการยา ใจก็ต้องการยาที่เรียกว่าธรรมโอสถด้วย ธรรมหรือความรู้ความเข้าใจในความเป็นจริงของชีวิตเป็นเสมือนโอสถที่ไม่เพียงแต่เยียวยาจิตใจไม่ให้ทุกข์เท่านั้น หากยังเสริมสร้างจิตใจให้มีความเข้มแข็งสามารถเผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะความผันผวนปรวนแปรต่าง ๆ ในเวลาใกล้ตาย

           สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับการอ่านหรือฟังธรรม การได้สนทนากับกัลยาณมิตรผู้มีประสบการณ์หรือความเข้าใจในชีวิต เป็นบันไดไปสู่การมีใจใฝ่สดับธรรมะ

           ง.ทำสมาธิ

           อย่างไรก็ตามเราไม่ควรลืมว่า วิธีการสร้างความสงบในจิตใจที่ดีที่สุดคือการทำสมาธิภาวนา มีสมาธิภาวนาหลายแบบที่เราสามารถทำได้แม้ในขณะที่นอนอยู่บนเตียง เช่น การกำหนดหรือจดจ่อกับลมหายใจเข้าและออก การจดจ่อกับท้องที่พองและยุบทุกครั้งที่หายใจเข้าและออก การกำหนดจิตอยู่กับอิริยาบถหรือการเคลื่อนไหวของร่างกาย (เช่น การคลึงนิ้ว ขยับมือไปมา)

           มีสมาธิภาวนาอย่างหนึ่งที่ช่วยในการผ่อนคลายทั้งกายและใจ ได้แก่การกำหนดใจไปตามอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ตั้งแต่ปลายศีรษะจนถึงปลายเท้า โดยนอนและวางแขนไว้ข้างตัว เมื่อกำหนดใจที่ศีรษะก็ให้บริกรรมหรือนึกในใจไปด้วยว่า “ผ่อนคลาย” แล้วค่อย ๆ เคลื่อนลงไปที่หน้าผาก คิ้ว คาง ใบหน้า ท้ายทอย ไหล่ แขน ศอก นิ้ว หน้าอก หน้าท้อง หลัง สะโพก ต้นขา เข่า น่อง ไปจนถึงฝ่าเท้าและนิ้วเท้า

           ขณะที่บริกรรมนั้นก็ให้กล้ามเนื้อในแต่ละจุดผ่อนคลายไปด้วยอย่างเต็มที่ ไร้ซึ่งการเกร็งหรือหดงอ ส่วนไหนที่เจ็บปวดชัดเจน ก็ให้เวลานานหน่อย โดยอาจแผ่เมตตาหรือ “พูด” กับอวัยวะส่วนนั้นว่าขอให้หายเจ็บ กลับมาเป็นปกติไว ๆ อาจเสริมด้วยจินตนาการในทางบวก เช่น หากเป็นโรคหัวใจ ก็นึกภาพหัวใจว่ากำลังมีความเข้มแข็งกระชุ่มกระชวย หรือนึกภาพว่ามีเลือดและภูมิคุ้มกันต่าง ๆ หลั่งไหลเข้าไปคุ้มครองป้องกันอย่างเต็มที่ จะนึกภาพให้เป็นเหมือนเทพนิยาย เช่น มีเทวดา นางฟ้า หรืออัศวินม้าขาวกำลังขับไล่โรคร้ายออกไปจากหัวใจก็ได้

           วิธีนี้สำหรับผู้ยังไม่คุ้นเคย อาจต้องมีคนช่วยกล่าวนำเพื่อให้จิตกำหนดตาม แต่หากทำคุ้นเคยแล้ว ก็สามารถทำเองได้ หากจิตสงบและกายผ่อนคลาย ความเจ็บปวดจะทุเลาไปได้มาก มีผู้ป่วยหลายคนที่หายใจเหนื่อยหอบ กระสับกระส่าย เมื่อพยาบาลได้นำสมาธิด้วยวิธีนี้ ปรากฏว่าหายใจช้าลง จิตใจสงบขึ้น

           จ.ระลึกถึงความดีที่ได้ทำ

           คุณงามความดีที่เราได้บำเพ็ญก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราควรระลึกถึงด้วยความภาคภูมิใจ ในชีวิตของเราย่อมมีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว แต่ไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับความดีที่ทำด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ไม่ว่าความดีที่ทำกับลูก กับหลาน กับพ่อแม่ กับคนรัก กับเพื่อนร่วมงาน ตลอดจนความดีที่ทำให้แก่ศาสนาและประเทศชาติ ความดีอาทิ ความเสียสละ ความซื่อสัตย์สุจริต ความเอื้อเฟื้อ มีเมตตา เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ

           ความดีเหล่านี้คือ “บุญ” ที่ไม่เพียงมีอานิสงส์ในภพหน้าเท่านั้น หากยังช่วยเราได้เมื่อวาระสุดท้ายใกล้มาถึง นั่นคือทำให้ใจเป็นกุศล ไม่หวั่นต่อภพใหม่ที่จะมาถึง

           อย่างไรก็ตามพึงระลึกว่าความดีนั้นเราสามารถทำได้ตลอดเวลา แม้ในขณะที่นอนป่วย ก็ยังสามารถทำความดีได้ ทั้งทางกาย วาจา และใจ นอกจากการทำใจให้เป็นกุศล รักษาวาจามิให้ไปเบียดเบียนใครแล้ว เรายังสามารถทำความดีทางกายได้ อาทิ การทำบุญแก่พระศาสนาสละทรัพย์เพื่อส่วนรวม หรือมอบเงินให้แก่คนที่ทุกข์ยาก

           อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยที่เราไม่ได้ทำความดีเพิ่มเติม ความดีที่เราทำจะไม่ไปไหน แต่จะกลับมาจัดสรรใจเราให้เป็นสุขและสงบในที่สุด

 

๓.ปลดเปลื้องสิ่งค้างคาใจ

           อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้จิตใจไม่เป็นสุขและทำให้อาการเจ็บป่วยทางกายกำเริบขึ้นก็คือ ความรู้สึกห่วงกังวลและความรู้สึกที่ยังค้างคาใจ ความรู้สึกดังกล่าวเมื่อเกิดขึ้นแล้วยังทำให้เรายอมรับความตายได้ยาก

           ไม่มีใครยินดีที่จะจากบ้านไป ตราบใดที่ยังห่วงกังวลผู้คนในบ้านฉันใด การจะจากโลกนี้ไปในขณะที่ยังมีสิ่งติดค้างใจอยู่ ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่น่ายินดี ฉันนั้น แต่ในเมื่อเวลาจากพรากใกล้จะมาถึงแล้ว ไม่มีอะไรดีกว่าการละวางความห่วงใยและสะสางเรื่องค้างคาใจให้หมดสิ้น

           สิ่งที่เราควรปลดเปลื้องไม่ให้ค้างคาใจได้แก่

           ก.ภารกิจที่ยังไม่แล้วเสร็จ

           ภารกิจดังกล่าวอาจได้แก่งานการที่รับผิดชอบอยู่ หนี้สินที่ยังไม่ได้ชำระ รวมถึงทรัพย์สมบัติที่ยังไม่ได้แบ่งสรร ประการหลังนี้เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับผู้ที่เป็นพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในครอบครัว ในขณะที่ยังมีความรู้สึกตัวอยู่ ควรจัดการให้แล้วเสร็จ ข้อนี้อาจรวมถึงการกำหนดพิธีศพหรือวิธีการจัดการกับศพของตน เนื่องจากบางคนไม่ต้องการให้ลูกหลานจัดงานศพอย่างสิ้นเปลือง ขณะที่บางคนต้องการอุทิศร่างของตนให้แก่โรงเรียนแพทย์

           ข.ความรู้สึกผิด ความขุ่นเคืองโกรธแค้น ความน้อยเนื้อต่ำใจ

           ความรู้สึกดังกล่าวแม้จะเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่อาจฝังลึกและนอนเนื่อง ในยามใกล้ตายอาจผุดขึ้นมารบกวนจิตใจและเป็นอุปสรรคต่อการไปสู่สุคติ ดังนั้นจึงควรปลดเปลื้องออกไปให้หมดสิ้นไปจากใจ

           เมื่อรู้สึกผิดกับผู้ใดควรหาโอกาสขอโทษ หากขุ่นเคืองโกรธแค้นใคร ควรให้อภัยหรือให้อโหสิ จะได้ไม่ต้องมีเวรกรรมสืบต่อไปในปรภพ หากน้อยเนื้อต่ำใจผู้ใด ควรหาทางปรับความเข้าใจกับผู้นั้น หรือเผยความในใจกับเขาพร้อมกับให้อภัยไปด้วย

           สำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้สึกดังกล่าวต่อใครคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ เพื่อให้แน่ใจ ก็ควรกล่าวคำขอขมาหรือขออโหสิกรรมจากเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายที่เราอาจล่วงเกินหรือเบียดเบียนไปโดยไม่รู้ตัวหรือระลึกไม่ได้ ขอให้อย่าได้มีเวรมีกรรมต่อกันอีกเลย ให้อยู่เป็นสุขด้วยกันทั้งสิ้น

 

๔.ปล่อยวางทุกสิ่ง

           ความรู้สึกค้างคาใจนั้นอาจไม่ได้มีกับทุกคนเมื่อใกล้ตาย แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมีความห่วงกังวลคอยรบกวนจิตใจอยู่ ได้แก่ความห่วงกังวลลูกหลาน พ่อแม่ คนรัก ไปจนถึงความห่วงกังวลในทรัพย์สิน และชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นต้น ความห่วงกังวลดังกล่าวย่อมทำให้อยู่และตายอย่างเป็นทุกข์

           ผู้ที่ไม่ต้องการตายอย่างเป็นทุกข์จึงควรละความห่วงใยในสิ่งทั้งปวงให้ได้ สำหรับผู้ที่ระลึกนึกถึงอนิจจังหรือความไม่เที่ยงอยู่เสมอ การละวางย่อมได้ง่าย แต่ถึงแม้ไม่เคยนึกถึงเลย นี้เป็นโอกาสสุดท้ายที่จะต้องเข้าใจและยอมรับความจริงของชีวิตว่า ไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้ ไม่มีอะไรที่จีรัง ความพลัดพรากเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต ไม่ว่าจะรักและผูกพันแค่ไหน ในที่สุดก็ต้องมีวันพลัดพรากจากกัน

           ผู้ที่ห่วงกังวลลูกหลาน ควรพิจารณาว่า เราได้เลี้ยงดูเอาใจใส่เขามาตลอดชีวิตแล้ว ควรวางใจได้ว่าเราได้ทำหน้าที่ของเราอย่างดีที่สุดแล้ว ขอให้มีความเชื่อมั่นว่าความรัก ความเอาใจใส่ และการศึกษาที่เราได้มอบให้แก่เขา จะช่วยให้เขาอยู่ในโลกนี้ได้อย่างมีความสุขและมั่นคงปลอดภัย

           ผู้ที่ห่วงกังวลพ่อแม่ ควรพิจารณาว่า เราได้บำเพ็ญตนเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เคารพและเชื่อฟังพ่อแม่ ทำความดีตามที่พ่อแม่สั่งสอน และเลี้ยงดูพ่อแม่เมื่อมีโอกาส ขอให้ภูมิใจในความดีที่เราได้ทำกับพ่อแม่ ขอให้มีความมั่นใจว่าท่านจะยังอยู่ต่อไปได้โดยไม่มีเรา เพียงแค่เราจากไปอย่างสงบ ก็ช่วยให้ท่านเป็นสุขอย่างยิ่งแล้ว

           กับคนรักและมิตรสหาย ก็ควรพิจารณาปล่อยวางในลักษณะเดียวกัน ให้ระลึกว่าเราได้มีบุญวาสนาอยู่กับเขานานพอสมควรแล้ว หน้าที่ที่สมควรทำเราก็ได้ทงมามากพอแล้ว บัดนี้ถึงเวลาที่เราจะต้องลาจากไป ที่จริงเราก็เคยลาเขาเหล่านี้มาก่อนแล้ว ครั้งนี้เพียงแต่ลาจากไปนานกว่าครั้งก่อน ๆ เท่านั้น หากชาติหน้ามีจริง ก็คงได้พบกันใหม่

           กับทรัพย์สมบัติและชื่อเสียงเกียรติยศ ก็ควรพิจารณาว่า สิ่งเหล่านี้มันเป็นของเราจริงหรือ ? เราเอามันไปด้วยได้หรือไม่ ? แท้จริงมันมาอยู่กับเราเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ก่อนมาอยู่กับเรา มันก็เคยเป็นของคนอื่นมาแล้ว บัดนี้ถึงเวลาที่เราจะมอบให้คนอื่นดูแลและใช้ประโยชน์ต่อไป

           ละความห่วงกังวลแม้กระทั่งในร่างกาย ขอให้พิจารณาว่าร่างกายนี้มิใช่ของเรา เราได้มาเปล่า ๆ จากธรรมชาติผ่านมาทางพ่อแม่ บัดนี้ถึงเวลาที่จะคืนให้แก่ธรรมชาติไป ร่างกายนี้รับใช้เรามานานโดยไม่รู้จักหยุดหย่อน ถึงเวลาที่เขาจะได้พักผ่อนเสียที ปล่อยให้เขาได้กลับคืนสู่ดิน น้ำ ลม ไฟ ในธรรมชาติ

           การปลดเปลื้องความกังวลและสิ่งค้างคาใจ มีความสำคัญอย่างมากในภาวะใกล้ตาย เพราะหากไม่ปลดเปลื้องให้หมดสิ้น มันจะผุดขึ้นมารบกวนจิตใจและยากที่จะจัดการกับมันได้ เนื่องจากผู้ใกล้ตายนั้นสติจะอ่อนมาก ความรู้สึกตัวจะเลือนราง ไม่มีแรงต้านทานความรู้สึกนึกคิดใด ๆ ที่เกิดขึ้น จึงอ่อนไหวและกระเพื่อมได้ง่าย เมื่อจิตใจไม่เป็นสุข ถูกรบกวนด้วยความรู้สึกที่เป็นอกุศล หากสิ้นลมในตอนนั้น ก็จะไปสู่ทุคติหรืออบายภูมิ

 

๕. สร้างบรรยากาศที่สงบ

           ในทางพุทธศาสนาถือว่า สภาพของจิตก่อนตายนั้น เป็นตัวกำหนดว่าผู้ตายจะไปสู่สุคติหรือทุคติ อาการหรือพฤติกรรมของจิตก่อนตายนั้นจัดว่าเป็น “อาสันนกรรม” หรือกรรมใกล้ตายนั้น โดยทั่วไปแล้วอาสันนกรรมย่อมให้ผลก่อนกรรมใด ๆ ท่านเปรียบเหมือนโคที่ยัดเยียดอยู่ในคอก หากประตูคอกเปิดออก ตัวที่อยู่ใกล้ประตู ย่อมออกมาก่อน นั่นหมายความว่าหากต้องการไปสู่สุคติ กรรมสุดท้ายก่อนตายนั้นจะต้องเป็นกุศลกรรม กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก่อนสิ้นลม เราควรระลึกถึงสิ่งที่เป็นกุศล หรือมีจิตที่เป็นกุศล

           ด้วยเหตุนี้บรรยากาศรอบตัวผู้ใกล้ตายจึงเป็นสิ่งสำคัญ จิตที่เป็นกุศลจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยบรรยากาศที่มีความสงบเงียบ ไม่อึกทึกครึกโครม โดยที่ลูกหลานญาติมิตรนอกจากจะไม่ร้องไห้ฟูมฟายหรือทะเลาะเบาะแว้งกันแล้ว ยังช่วยเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยและเหนี่ยวนำใจเขาให้จดจ่อกับสิ่งดีงาม โดยเฉพาะในยามใกล้สิ้นลมมีผู้มาเตือนสติให้ปล่อยวางความห่วงกังวลทั้งปวง ดังนั้นสมัยก่อนจึงมักนิมนต์พระมาบอก “อะระหัง” ให้แก่ผู้ใกล้ตาย เพื่อให้ใจน้อมสู่ความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง

           บรรยากาศดังกล่าวหากผู้ใกล้ตายต้องการให้เกิดขึ้น ควรเตรียมการเสียแต่เนิ่น ๆ เช่น ขอร้องให้ผู้มาเยี่ยมอดกลั้นต่อความเศร้าโศก ไม่ทำลายบรรยากาศที่สงบ มาร่วมกันทำสมาธิหรือสวดมนต์ข้างเตียงตามโอกาส

           เราไม่อาจเลือกเวลา สถานที่ และลักษณะการตายได้ แต่อย่างน้อยเราก็สามารถเลือกได้ว่าจะเผชิญกับความตายด้วยจิตใจอย่างไร ด้วยอาการนิ่งสงบหรือตื่นตระหนก ด้วยการปล่อยวางหรือดิ้นรนขัดขืน นี้คือสิทธิที่มนุษย์ทุกคนสามารถเลือกได้ไม่ว่าชะตากรรมในวาระสุดท้ายจะเป็นเช่นไร ไม่ว่าจะประสบกับสถานการณ์เช่นใด มันก็ไม่สามารถยัดเยียดความทุกข์ให้แก่เราได้

           เราทุกคนสามารถนำพาจิตใจให้เป็นอิสระจากความทุกข์ได้ แม้กายจะทุกข์ก็ตาม นี้คืออิสรภาพที่เราทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แม้ในวาระสุดท้ายของชีวิต

 

           พุทธภาษิต

           แม้ผู้ใดพึงมีชีวิตอยู่ถึง ๑๐๐ ปี
           ผู้นั้นก็มีความตายอยู่เบื้องหน้า
           ความตายไม่ละเว้นใคร ๆ ย่อมย่ำยีสัตว์ทั้งหมดทีเดียว
           ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนพาล ทั้งบัณฑิต ทั้งคนมี ทั้งคนจน
           ล้วนเดินหน้าไปหาความตายทั้งหมด
           มฤตยูย่อมพาชีวิตของคนที่ยึดติดมัวเมาในบุตรและทรัพย์สินไป
           ดุจเดียวกับกระแสน้ำหลากมาพัดพาเอาชีวิตของผู้นอนหลับไป ฉะนั้นแล
           เธออย่าเศร้าโศกเลย อย่าคร่ำครวญเลย
           เราบอกไว้ก่อนแล้วมิใช่หรือว่า
           ความพลัดพราก ความทอดทิ้ง
           ความแปรเปลี่ยนจากของรักของชอบใจทุกอย่าง จะต้องมี
           ฉะนั้นจะพึงหาได้อะไรจากที่ไหนในสังขารนี้
           สิ่งที่เกิดขึ้นมีขึ้น ถูกปัจจัยปรุงแต่งล้วนสลายเป็นธรรมดา
           เป็นไปไม่ได้ที่จะปรารถนาว่า
           ของสิ่งนั้น อย่าเสื่อมคลายไปเลย
           จะตายก็ไปคนเดียว จะเกิดก็มาคนเดียว
           ความสัมพันธ์ของสัตว์ทั้งหลาย
           ก็เพียงแค่ได้มาพบปะเกี่ยวข้องกันเท่านั้น
           จะมีชีวิตอยู่ ก็ไม่เดือดร้อน
           ถึงจะตาย ก็ไม่เศร้าสร้อย
           ถ้าเป็นปราชญ์ มองเห็นที่หมายแล้ว
           ถึงอยู่ท่ามกลางความเศร้าโศก
           ก็หาโศกเศร้าไม่
           ข้าพเจ้าไม่มีความชั่ว ซึ่งทำไว้ ณ ที่ไหน ๆ เลย
           ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่หวั่นเกรงความตายที่จะมาถึง
           กาลล่วงเลยไป คืนผ่านพ้นไป
           ช่วงแห่งวัยละไปตามลำดับ
           บุคคลพิจารณาเห็นภัยนี้ในมรณะ
           ควรละโลกามิส มุ่งสู่สันติเถิด
           สังขารทั้งหลายล้วนไม่เที่ยง
           มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
           เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป
           ความสงบระงับสังขารเหล่านั้นเป็นความสุข
           วัยของเราแก่หง่อม
           ชีวิตของเราเหลือน้อย
           เราจะจากพวกเธอไป
           เราทำที่พึ่งแก่ตนแล้ว
           พวกเธอจงอย่าประมาท มีสติ มีศีลบริสุทธิ์
           มีความดำริมั่นคงดี รักษาจิตของตนไว้
           ผู้ที่ไม่ประมาทอยู่ในธรรมวินัยนี้
           ละการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว
           จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

 

ที่มา: