มอบสิ่งดีที่สุดเพื่อผู้ป่วยระยะสุดท้าย
เมื่อคนรักหรือคนใกล้ชิดป่วยหนักจนหมดสติและอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต คนส่วนใหญ่เลือกที่จะยื้อชีวิตหรือยืดลมหายใจของเขาให้นานที่สุด ด้วยการขอร้องให้หมอทำทุกอย่างกับ
ร่างกายของผู้ป่วย แม้นั่นจะหมายถึงการก่อความทุกข์ทรมานแก่เขาอย่างมากก็ตาม เหตุผลนั้นมีหลายประการ เช่น ญาติยังทำใจไม่ได้กับการจากไปของคนรัก หรือเป็นเพราะยังมีความหวังว่าปาฏิหาริย์อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนั้นยังมีเหตุผลที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ญาติมีความเข้าใจว่าการทำเช่นนั้นเป็นสิ่งดีที่สุดที่จะสามารถทำให้แก่ผู้ป่วยได้ ยิ่งผู้ป่วยเป็นพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ด้วยแล้ว ก็ถือว่านี้เป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่ผู้มีความกตัญญูจะพึงกระทำในสถานการณ์ดังกล่าว
แต่จริงหรือที่การยื้อชีวิตผู้ป่วยอย่างสุดความสามารถเป็นสิ่งดีที่สุดสำหรับเขา การมีลมหายใจยืนยาวอีกไม่กี่วัน ไม่กี่สัปดาห์ หรือไม่กี่เดือนด้วยความทุกข์ทรมาน ย่อมไม่ใช่สิ่งที่พึงประสงค์เป็นแน่ หากความตายจะต้องมาถึงตัวอย่างแน่แท้แล้ว จะไม่ดีกว่าหรือถ้าเขาจะมีชีวิตในช่วงสุดท้ายอย่างไม่ทุกข์ทรมานและจากไปอย่างสงบ
บ่อยครั้งที่เราพบว่าสาเหตุที่ญาติขอร้องให้หมอยื้อชีวิตผู้ป่วยให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะไม่รู้ว่ามีวิธีอื่นที่ดีกว่านั้น หลายคนเมื่อรู้ว่ามีวิธีที่ดีกว่าก็เปลี่ยนใจไม่ขอร้องให้หมอทำทุกอย่างกับร่างกายของผู้ป่วย คุณหมอสุมาลี นิมมานนิตย์ แพทย์อาวุโสและปูชนียบุคคลผู้หนึ่งของโรงพยาบาลศิริราช (ปัจจุบันได้เสียชีวิตแล้ว)เล่าว่า เคยดูแลคนไข้ผู้หนึ่งซึ่งป่วยเป็นโรคไตวายฉับพลัน อีกทั้งระบบต่าง ๆ ในร่างกายไม่ทำงานแล้ว วันหนึ่งได้รับแจ้งจากพยาบาลว่า ลูกสาวทั้งสี่คนฝากบอกมาว่า ถ้าแม่หัวใจหยุดเต้น ขอให้ปั๊มหัวใจเต็มที่ ท่านจึงขอพบลูกสาวทั้งสี่คน และชี้แจงว่า ภาวะไตวายนั้นเป็นเพียงหนึ่งในหลายปัญหาที่เกิดกับคนไข้ แม้จะฟอกเลือดให้ คนไข้ก็ไม่ดีขึ้น และอาจเกิดอันตรายขึ้นด้วยซ้ำ
เมื่ออธิบายในทางการแพทย์จบ คุณหมอสุมาลีก็ให้คำแนะนำต่อไปว่า แม้จะไม่ฟอกเลือด ลูกก็ยังสามารถทำอะไรให้แม่ได้อีกมาก ที่สำคัญก็คือ การทำให้แม่มีใจสงบ เช่น คุยกับแม่ในเรื่องบุญกุศล หรือเรื่องที่ท่านฟังแล้วสบายใจ หากท่านจะต้องจากไป ก็จะไปด้วยดี คุณหมอสุมาลียังย้ำว่า แม้แม่จะไม่รู้สึกตัว ก็สามารถได้ยินคำพูดของลูกได้ พอพูดมาถึงตรงนี้ ประกายตาของลูกสาวทั้งสี่ก็วาววับขึ้นมา เพราะไม่เคยรู้มาก่อนว่านี้เป็นสิ่งที่ลูกสามารถทำให้แม่ได้ ทั้งหมดขอตัวไปเยี่ยมแม่ทันที หลังจากพูดคุยกับแม่พักใหญ่ ก็กลับมาบอกพยาบาลว่า ถ้าแม่หัวใจหยุดเต้น ก็ไม่ต้องปั๊มหัวใจแล้ว เขาเข้าใจแล้ว
ทุกวันนี้ผู้คนให้ความสนใจแต่เรื่องของร่างกาย จนมองข้ามความสำคัญของจิตใจไป ดังนั้นเมื่อจะช่วยเหลือผู้ป่วย จึงคิดถึงแต่การดูแลเยียวยาทางกาย และถ้าหมดหนทางที่จะเยียวยากายได้ ก็จะมุ่งแทรกแซงร่างกายสถานเดียว หรือไม่ก็วางมือไม่ทำอะไรเลย ทั้ง ๆ ที่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำได้และควรทำเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือ การให้ความช่วยเหลือทางจิตใจ เช่น ช่วยน้อมใจให้สงบ มีที่พึ่งทางใจหรือพร้อมรับกับทุกอย่างที่จะเกิดขึ้น
การช่วยเหลือด้านจิตใจนั้นเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ ไม่ว่าหมอ พยาบาล และที่สำคัญก็คือ ญาติมิตร โดยไม่ต้องรอผู้เชี่ยวชาญจากไหน ในอดีตการนำจิตใจผู้ป่วยให้ไปอย่างสงบนั้น เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของพระภิกษุ แต่ก็มิได้หมายความว่ามีแต่พระภิกษุเท่านั้นที่จะทำเช่นนี้ได้
แท้จริงแล้วหมอ พยาบาล และญาติมิตรก็สามารถทำได้ และในบางกรณีก็ทำได้ดีกว่าพระด้วย เนื่องจากมีความคุ้นเคยใกล้ชิดและเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้ป่วยได้ดีกว่า
หลักการสำคัญในการช่วยให้ผู้ป่วยพบกับความสงบในวาระสุดท้ายของชีวิตนั้น มีไม่กี่ข้อ และสามารถทำได้ไม่ยาก ได้แก่
๑) ให้ความรักความเมตตาแก่ผู้ป่วย คือมีใจอยากช่วยเหลือเขา พร้อมที่จะแบ่งเบาความทุกข์ของเขาด้วยความเต็มใจ ยินดีรับฟังความทุกข์ของเขา รวมถึงพร้อมที่จะเข้าใจเขา โดยไม่คิดแต่จะสอนเขาหรือแนะนำด้วยความเคยชินติดปากว่าให้ "อดทน" "ทำใจ"หรือปลอบใจว่า "ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็หาย" (ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ผู้ป่วยได้ยินซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนไม่มีความหมาย)
๒) ชวนให้นึกถึงสิ่งดีงาม เช่น นึกถึงพระรัตนตรัยหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เขานับถือ รวมทั้งบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญ สำหรับคนที่ไกลวัดไกลศาสนา ก็ชวนให้เขานึกถึงความดีที่ได้ทำ หรือสิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจของเขา ที่ช่วยให้รู้สึกว่าชีวิตของตนนั้นมีคุณค่า นอกจากนั้นยังอาจชวนเขาทำสังฆทาน หรือแจ้งให้เขาทราบว่าได้ไถ่โคกระบือในนามของเขาเพื่ออุทิศบุญกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวร
๓) ช่วยให้เขาปล่อยวางความกังวลหรือปลดเปลื้องสิ่งค้างคาใจ ไม่ว่าจะเป็น ทรัพย์สมบัติ ลูกหลาน คู่ครอง งานการ เช่น สามีให้คำมั่นแก่ภรรยาว่าจะดูแลลูก ๆ ให้ดี น้อง ๆ ให้คำมั่นแก่พี่ว่าจะช่วยดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่า หรือสร้างความมั่นใจแก่เขาว่าลูกหลานจะอยู่ได้ด้วยดีแม้ไม่มีเขา รวมทั้งมีการขอขมาขออโหสิต่อกันและกัน เพื่อจะได้ไม่มีสิ่งติดค้างใจกัน
๔) สร้างบรรยากาศแห่งความสงบ เช่น สวดมนต์หรือนั่งสมาธิรอบเตียงเขา หรือเปิดเพลงเบา ๆ ที่เขาชอบ ไม่ควรมีการร้องไห้ฟูมฟายหรือทะเลาะเบาะแว้งกันในห้อง พึงตระหนักว่าแม้เขาจะอยู่ในภาวะโคม่า ก็ยังสามารถรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวได้
ผู้ป่วยแต่ละคนนั้นมีภูมิหลังเฉพาะตัว อีกทั้งนิสัยใจคอและการให้คุณค่ากับสิ่งต่าง ๆ ก็ต่างกัน (รวมทั้งความยึดติดถือมั่น) คนที่น่าจะรู้ดีที่สุดก็คือญาติมิตรที่คุ้นเคย ดังนั้นเมื่อพบว่าคนรักและคนใกล้ชิดเจ็บป่วยใกล้เสียชีวิต ญาติมิตรที่คุ้นเคยจึงเป็นผู้หนึ่งที่สามารถช่วยให้เขาจากไปอย่างสงบได้ แม้จะไม่มีประสบการณ์ในการช่วยเหลือทางจิตใจแก่ผู้ใกล้ตายมาก่อน ก็สามารถเรียนรู้หรือหาประสบการณ์ได้ ทั้งจากหนังสือหรือจากผู้รู้
ว่าจำเพาะหนังสือด้านนี้ก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ (ล่าสุดก็คือ เพื่อรอยยิ้มเมื่อสิ้นลม ซึ่งสง่า ลือชาพัฒนาพร กลั่นกลองจากประสบการณ์ยาวนานกว่า ๒๐ ปีของกานดาวศรี ตุลาธรรมกิจ พยาบาลผู้เปี่ยมด้วยเมตตาแห่งโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หาดใหญ่)
ที่น่ายินดีก็คือ เร็ว ๆ นี้เครือข่ายพุทธิกาจะเปิดโครงการ "สายด่วนให้คำปรึกษาผู้ป่วยระยะสุดท้าย" ผู้ที่มีปัญหาในการให้ความช่วยเหลือทางจิตใจแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย สามารถติดต่อได้ที่ โทร. 086-0022302 ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 10.00 - 16.00 น.
ตีพิมพ์ใน นสพ.มติชน คอลัมน์ จิตวิวัฒน์ เดือนมีนาคม ๒๕๕๕