การสร้างสังฆะแห่งการเยียวยาจิตใจผู้ป่วย
สังคมไทยในอดีต พระสงฆ์และชุมชนมีความใกล้ชิดและพึ่งพาอาศัยกันมาโดยตลอด โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางชุมชน ทำหน้าที่ไม่เฉพาะในการเผยแผ่หลักธรรมะเท่านั้น หากยังเป็นแหล่งศึกษาศิลปวิทยาการต่างๆ อีกด้วย แต่บทบาทดังกล่าวค่อยๆ ถูกดึงออกไปจากวัดโดยสถาบันสมัยใหม่เมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ และมีส่วนทำให้พระสงฆ์กับชุมชนเหินห่างกันออกไปจนส่วนใหญ่วัดและพระสงฆ์มีบทบาทเพียงเป็นผู้ทำพิธีกรรมในปัจจุบัน
โครงการ "ส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ โรงพยาบาล และชุมชนในการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้ายอย่างมีส่วนร่วม" เป็นความพยายามของเครือข่ายพุทธิกาที่จะพาพระสงฆ์ออกมานอกวัด ไปสัมผัสและทำงานร่วมกับชุมชน นำศักยภาพที่มีอยู่มาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชาวบ้านอย่างเหมาะสม ซึ่งตลอดระยะเวลาการทำงาน ๒ ปีที่ผ่านมา คณะทำงานได้รับความประทับใจและความร่วมมือจากการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาล พระสงฆ์ และจิตอาสาอย่างมากมายแล้ว
ผลพลอยได้อีกประการหนึ่งจากการดำเนินโครงการคือ บทเรียนเกี่ยวกับ "การเอื้ออำนวยให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน" ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้การทำงานมีคุณภาพ เป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวผู้ป่วย และทีมงานทุกฝ่าย จึงขอนำมาเผยแพร่ไว้ในจดหมายข่าวอาทิตย์อัสดงด้วย
ภาพก่อนเริ่มโครงการ
จากการที่สังคมไทยมีผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้ายมากขึ้น และมาตรการรองรับคุณภาพชีวิตขณะเจ็บป่วยระยะสุดท้ายมีอยู่อย่างจำกัด กล่าวคือ งานดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองระยะท้าย (palliative care) ยังเป็นที่รู้จักน้อยในวงการสาธารณสุข แม้ในโรงพยาบาลหลายแห่งจะมีนโยบายให้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย แต่ก็ยังมีคนที่เข้าใจแนวคิดในวงแคบ อีกทั้งภาระงานที่มากล้นของบุคลากรโรงพยาบาลยังทำให้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มีอยู่ทำได้อย่างจำกัด โดยเฉพาะการดูแลจิตใจที่ต้องอาศัยเวลาและกระบวนการทำความเข้าใจผู้ป่วยอย่างมาก
การแก้ไขปัญหาดังกล่าวแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เมื่อพิจารณาต้นทุนเท่าที่โรงพยาบาลมีอยู่ในขณะนั้น จึงเกิดแนวคิดว่า การสร้างจิตอาสามาร่วมดูแลผู้ป่วยน่าจะเป็นทางออกสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นจิตอาสาฆราวาสในชุมชนและพระสงฆ์ เพราะจิตอาสามีความเข้าใจวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของผู้ป่วยและให้การดูแลได้ถึงในชุมชน ในขณะที่พระสงฆ์มีต้นทุนทางวัฒนธรรมเพราะมีภาพลักษณ์ว่า มีความเชี่ยวชาญในการช่วยเหลือด้านจิตใจผู้ป่วยที่กำลังประสบความทุกข์ ทว่าความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาล จิตอาสา และพระสงฆ์ในการดูแลจิตใจผู้ป่วยดูเหมือนจะเกิดขึ้นได้น้อยกว่าสถานการณ์ปัญหาที่มีมากขึ้นและเร่งเร้าขึ้นทุกขณะ
การสร้างความร่วมมือให้ทั้งฝ่ายโรงพยาบาล พระสงฆ์ และจิตอาสา ได้ทำงานดูแลจิตใจผู้ป่วยร่วมกัน จึงเป็นโจทย์สำคัญของการทำงานในสองปีที่ผ่านมา ว่า "ทำอย่างไรให้โรงพยาบาล พระสงฆ์ และชุมชน ซึ่งเป็นคนละหน่วยงาน ได้ร่วมมือกันเป็นชุมชนที่มีความพร้อมจะดูแลจิตใจผู้ป่วย กลายเป็น สังฆะแห่งการดูแลผู้ป่วย"
วิธีทำงาน สร้างความร่วมมือ
การสร้างความร่วมมือดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยตัวเอง แต่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยเกื้อกูลมากมาย คณะทำงานโครงการวางบทบาทตัวเองในฐานะผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) โดยมองว่าทั้งฝ่ายโรงพยาบาล พระสงฆ์ และชุมชน ต่างก็มีจิตเมตตาที่พร้อมจะช่วยเหลือผู้ป่วยอยู่แล้ว หาก "มีระบบสนับสนุน" เป็นตัวช่วยในระยะแรก จึงได้ทดลองสร้างระบบสนับสนุนเพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือขึ้นมาหลายประการ ได้แก่
หนึ่ง ศึกษาความเป็นไปได้ในการทำงานในพื้นที่ที่มีทุนในการสร้างความร่วมมือ เช่น มีบุคลากรรับผิดชอบงานดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ผู้บริหารสนใจพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เป็นต้น
สอง ประชุมทำความเข้าใจระหว่างคณะทำงานโครงการ ผู้บริหาร แกนนำแพทย์หรือพยาบาลที่จะร่วมดำเนินโครงการ พร้อมทั้งเป็นผู้สรรหาทีมดูแลจิตใจผู้ป่วยซึ่งประกอบไปด้วย พยาบาล พระสงฆ์ และจิตอาสา ทีมละ ๖ คน
สาม จัดการอบรมสร้างเสริมทักษะการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้ายแก่ทีมดูแล (พยาบาล พระสงฆ์ จิตอาสา ทีมละ ๖ คน) ประกอบด้วย ความเข้าใจพื้นฐานในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ทักษะการฟังและการให้การดูแลผู้ป่วย ก่อนจะให้แต่ละทีมลงเยี่ยมผู้ป่วยในพื้นที่ทำงานจริงหลังจบการอบรม โดยสนับสนุนการจัดเวทีแลกเปลี่ยนก่อนหรือหลังการเยี่ยมผู้ป่วย เพื่อเสริมสร้างทักษะและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทีมงาน
สี่ จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างทีมงานดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลแต่ละภูมิภาค
ห้า เยี่ยมติดตามเสริมพลังทีมดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลต้นแบบการจัดระบบเยียวยาจิตใจผู้ป่วยอย่างมีส่วนร่วม
หก สนับสนุนเอกสาร คู่มือที่เป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างทักษะการเยียวยาจิตใจผู้ป่วย แก่ทีมงานดูแลผู้ป่วยในแต่ละโรงพยาบาล
หลังจากการจัดสรรระบบสนับสนุนแก่ทีมดูแลผู้ป่วยต่างๆ แล้ว คณะทำงานพบว่า บางพื้นที่สามารถสร้างทีมงานดูแลผู้ป่วยได้อย่างเข้มแข็ง บางทีมสามารถสร้างภาคีเครือข่ายสนับสนุนการเยี่ยมได้อย่างกว้างขวางเป็นระบบ หรือพระสงฆ์หลายรูปเห็นคุณค่าของการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยระยะสุดท้าย ในขณะที่บางพื้นที่กลับเติบโตและพัฒนาได้อย่างจำกัด ทำให้คณะทำงานสามารถสรุปบทเรียนถึงปัจจัยสำคัญที่มีส่วนกำหนดความสำเร็จของทีมงาน ว่าประกอบไปด้วย
เสาหลักยังคงเป็นโรงพยาบาล
หากพิจารณาหน่วยงานที่มีศักยภาพในการประสานงาน สร้างความร่วมมือมากที่สุดระหว่างคณะสงฆ์ โรงพยาบาล และหน่วยงานท้องถิ่นในชุมชน คณะทำงานพบว่า โรงพยาบาลควรเป็นหน่วยปฏิบัติการหลักในการประสานความร่วมมือให้บุคลากรสาธารณสุข พระสงฆ์ และจิตอาสาในชุมชน เพราะหากโรงพยาบาลมีความเข้มแข็ง มีโอกาสที่ผู้ป่วยในพื้นที่นั้นจะได้รับการเยียวยาจิตใจจากทีมดูแลผู้ป่วยมาก รวมถึงเมื่อพิจารณาในระดับโรงพยาบาล พบว่าโรงพยาบาลระดับอำเภอหรือโรงพยาบาลชุมชนมีศักยภาพในการประสานความร่วมมือมากที่สุด เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับชุมชนมากกว่าโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลจังหวัด (ซึ่งมักเน้นการรักษาให้หายขาดมากกว่าการเยียวยาจิตใจ) มีแพทย์หรือพยาบาลวิชาชีพที่มีทักษะและสามารถเป็นแกนหลักในการประสานงานและดูแลสุขภาพได้ รวมถึงยังเป็นจุดกลางในการประสานการส่งต่อและส่งกลับผู้ป่วยในชุมชนอีกด้วย
จุดประกายด้วยการอบรมอย่างมีส่วนร่วม
คณะทำงานพบว่า ในการอบรมทีมดูแลจิตใจผู้ป่วยนั้น ทำหน้าที่เป็น "เวทีจุดประกาย" ให้เห็นความสำคัญของการดูแลจิตใจผู้ป่วยเรื้อรังระยะสุดท้ายมากกว่าการเสริมทักษะอย่างผู้ชำนาญการ วิทยากรมักจะเสนอผู้เข้าร่วมอบรมว่า "การดูแลจิตใจผู้ป่วยเป็นภูมิปัญญาที่เราเองมีอยู่แล้ว" "ผู้ป่วยทุกคนเปรียบเสมือนครูที่จะช่วยให้เราได้เรียนรู้วิธีการดูแลจิตใจอย่างถูกต้อง" "เพียงแค่เราคิดจะช่วย ทุกอย่างถูกหมด" ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมมั่นใจในตัวเองว่าสามารถเป็นผู้ดูแลจิตใจได้ และการดูแลไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป นอกจากนี้ การอบรมทีมดูแลผู้ป่วยด้วยกันระหว่างพระสงฆ์ เจ้าหน้าที่ และจิตอาสา ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ ความคุ้นเคย ความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งเป็นทุนสำคัญในการทำงานร่วมกันต่อไป
ลงเยี่ยมคือเคี่ยวกรำ
การอบรมไม่ใช่พื้นที่ที่ดีที่สุดในการสร้างความชำนาญและความมั่นใจในการเยียวยาจิตใจผู้ป่วย แต่คือการหมั่นเยี่ยมให้การดูแลผู้ป่วย ทักษะขั้นสูงนั้นเป็นสิ่งที่ผู้ดูแลเรียนรู้ได้ด้วยตนเองผ่านการปฏิบัติ ทั้งนี้ผู้เยี่ยมต้องคอยหมั่นสังเกต ปรับปรุงการให้การดูแลอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งให้การดูแลก็ยิ่งเรียนรู้ในรายละเอียด เทคนิควิธีการมากขึ้น
หลังเยี่ยมอย่าลืมคุยกัน
วิธีหนึ่งในการพัฒนาทักษะการให้การดูแลจิตใจคือการแลกเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิด ถอดบทเรียนหลังการเยี่ยม เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้หลังการเยี่ยม เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทีมงานได้มีโอกาสพัฒนาทักษะการเยี่ยมจากการปรับแนวคิด ตักเตือน ชื่นชม โดยมีเหตุการณ์สดๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นบทเรียนสำหรับการเรียนรู้ เวทีดังกล่าวยังทำหน้าที่ในการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เห็นคุณค่าของการทำงานเยียวยาจิตใจผู้ป่วย ทำให้รู้สึกอบอุ่น มีความกระตือรือร้นที่จะเยี่ยมให้การดูแลในครั้งต่อไป
ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มักมีบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เบิกบาน มีความสุข ทีมงานอาจใช้โอกาสดังกล่าวเชิญชวนให้เพื่อนร่วมงาน ผู้บริหาร ได้เข้ามารับรู้ผลการดำเนินงาน เพื่อเชิญชวนมาเป็นเพื่อนร่วมทีม หรือเป็นผู้ให้การสนับสนุนในระยะยาวได้อีกด้วย
จาก "รักษา" สู่ "ประสาน"
คณะทำงานพบว่า การเยียวยาจิตใจผู้ป่วยเป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเป็นสำคัญ เช่น ติดต่อให้ผู้ป่วยที่ต้องการพระสงฆ์ได้เจอพระที่มีทักษะการดูแลจิตใจ ประสานให้พระสงฆ์ที่สนใจงานดูแลผู้ป่วยได้เข้าร่วมทีม ประสานให้จิตอาสาที่มีทักษะการนวดได้เจอผู้ป่วยที่ต้องการการบีบนวด เป็นต้น พยาบาลมักอยู่ตำแหน่งที่เหมาะเจาะกับบทบาทดังกล่าว แต่จะต้องปรับบทบาทจากผู้ให้การรักษาเป็นผู้ประสานทีมงานให้เกิดการดูแล คณะทำงานพบว่า พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะการประสานงาน มักเป็นทีมที่เข้มแข็ง มีสหสาขาวิชาชีพสนใจเข้าร่วมให้การดูแลจิตใจมากขึ้น ตลอดจนสามารถสรรหาทรัพยากรเพื่อการดูแลผู้ป่วยได้
โดยผู้ที่ทำหน้าที่ประสานงานในทีมดูแล อาจเป็นพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่วิชาการ หรือธุรการก็ได้ แต่ควรมีความสนใจที่จะพัฒนาระบบการดูแลจิตใจผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย มีมนุษย์สัมพันธ์ดี ชอบช่วยเหลือหรือบริการ หากผู้ประสานงานของทีมดูแลผู้ป่วยอยู่ในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการประสานส่งต่อ ส่งกลับ หรืองานเยี่ยมบ้าน ก็จะยิ่งเกิดผลดีในการประสานกับหน่วยงานภายนอก ทำให้การดูแลจิตใจผู้ป่วยได้กว้างขวางครอบคลุมมากขึ้น
คนและเวลา ปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาระบบ
พื้นที่ที่ทำให้เกิดระบบการดูแลจิตใจผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ มักมีผู้ทำหน้าที่ประสานงานทีมดูแลผู้ป่วยอย่างชัดเจน และจัดสรร "เวลา" ในการประสานให้เกิดการดูแลจิตใจผู้ป่วยอย่างชัดเจน เช่น กำหนดให้เวรเช้าของทุกวันศุกร์เป็นกิจกรรมสำหรับกิจกรรมการดูแลจิตใจผู้ป่วยและญาติ กำหนดให้มีศูนย์ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองเพื่อให้การดูแลจิตใจผู้ป่วยเป็นการเฉพาะ กำหนดให้เจ้าหน้าที่งานงานเยี่ยมบ้านได้เข้าเยี่ยมผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลจิตใจเวลา ๑๐.๐๐-๑๑.๐๐ น. ของทุกวัน เป็นต้น
การมีผู้รับผิดชอบการประสานงานหรือให้การดูแลอย่างเป็นกิจจะลักษณะ จะทำให้เกิดการดูแลจิตใจร่วมกันอย่างเป็นระบบและผ่อนคลาย และเนื่องจากการดูแลจิตใจเป็นกิจกรรมที่ใช้เวลามากกว่าการดูแลทางกาย การพูดคุยกับผู้ป่วยคนหนึ่งอาจใช้เวลานานครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง จึงจำเป็นที่เจ้าหน้าที่จะต้องได้รับการจัดสรรเวลาในการดูแลที่เพียงพอ การทำความเข้าใจกับบุคลากรในโรงพยาบาลถึงบทบาทและภารกิจของผู้ประสานงานจึงเป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน มิฉะนั้นอาจทำให้เพื่อนร่วมงานเข้าใจผิดคิดว่า "อู้งาน" หรือ "กินแรงเพื่อน" ได้
เนื่องจากคณะทำงานพบว่า ในบางพื้นที่แม้จะมีเจ้าหน้าที่ที่มีใจรักการดูแลจิตใจผู้ป่วยอย่างมาก แต่เนื่องจากไม่ได้ถูกจัดสรรเวลาจากผู้บริหาร ทำให้การดูแลจิตใจผู้ป่วยในเวลางานเป็นไปได้ยาก ต้องใช้นอกเวลางานประจำมาพูดคุยกับผู้ป่วย การดูแลจิตใจผู้ป่วยจึงทำได้อย่างจำกัด
แลไปข้างหน้า
หลังจากดำเนินโครงการได้สองปี คณะทำงานได้พบกับผลการดำเนินงานที่น่ายินดี หลายพื้นที่เกิดพระสงฆ์ที่เข้ามาทำงานกับโรงพยาบาลมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โรงพยาบาลหลายแห่งเกิดทีมสหสาขาวิชาชีพให้ความสนใจการเยียวยาผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้ายมากขึ้น หลายพื้นที่เกิดตัวอย่างการดูแลจิตใจผู้ป่วยและสามารถเผชิญความตายอย่างสงบจากการประสานร่วมมืออย่างเป็นระบบของหน่วยงานต่างๆ แต่ภาพดังกล่าวยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการงานแห่งชีวิตนี้ เพราะสังคมไทยยังคงต้องสร้างระบบสนับสนุนให้เกิดการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยอย่างมีส่วนร่วมให้มากกว่า ด้วยการ
หนึ่ง การสร้างความร่วมมือในการพัฒนาระบบการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยในระดับภูมิภาค เช่น การสร้างทีมงานอบรมขยายขนาดทีมดูแลผู้ป่วย การพัฒนาพื้นที่ศึกษาดูงานในภูมิภาค การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับภูมิภาคเพื่อรักษาและพัฒนาทีมดูแลจิตใจผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย เป็นต้น
สอง การผลักดันให้งานเยียวยาจิตใจผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้ายเป็นนโยบายของคณะสงฆ์ในระดับต่างๆ เช่น การผลักดันให้เกิดหลักสูตรการศึกษาและการฝึกฝนดูแลผู้ป่วยในสถานศึกษาของสงฆ์ การผลักดันให้คณะสงฆ์ในระดับท้องถิ่นและส่วนกลางสนับสนุนให้พระสงฆ์ร่วมกิจกรรมเยี่ยมดูแลจิตใจผู้ป่วยในโรงพยาบาลและในชุมชน
สาม การพัฒนาระบบติดตามประเมินผลจากกิจกรรมดูแลจิตใจผู้ป่วยโดยทีมดูแล ที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล พระสงฆ์ และจิตอาสา ว่ามีผลอย่างไรต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เพื่อพัฒนาคุณภาพระบบการดูแลจิตใจผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
* โครงการ "ส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ โรงพยาบาล และชุมชนในการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้ายอย่างมีส่วนร่วม" ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)