ตายดีมีสุข
คนเรามักไม่ค่อยนึกถึงความตายของตนเท่าใดนัก แต่เมื่อใดที่นึกถึง ก็อยากให้ตัวเอง “ตายดี” ซึ่งส่วนใหญ่หมายถึง ตายโดยไม่เจ็บปวด ไม่ทุรนทุราย ไม่น่าเกลียด ไม่มีใครมาทำให้ตาย หรือตายเพราะอุบัติเหตุ ความตายที่พึงปรารถนายังรวมถึง ความตายท่ามกลางคนรัก ญาติมิตรอยู่พร้อมหน้า ไม่จากไปอย่างโดดเดี่ยวอ้างว้างในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย และไม่สร้างความเดือดร้อนแก่คนที่ยังอยู่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือตายในสภาวะทางกายและทางสังคมที่เกื้อกูล
อย่างไรก็ตามยังมีองค์ประกอบอีกประการหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือองค์ประกอบหรือสภาวะทางจิตวิญญาณ ได้แก่ สภาวะจิตที่สงบโปร่งเบาเพราะได้ปล่อยวางทุกสิ่ง ไม่มีอะไรเป็นภาระให้ต้องห่วงกังวล น้อมรับทุกอย่างในวาระสุดท้ายโดยไม่ปฏิเสธผลักไส ไม่หวาดกลัวต่อความตาย นอกจากเห็นความตายเป็นเรื่องธรรมดาแล้ว ยังรู้จักใช้ความตายให้เกิดประโยชน์ในทางจิตวิญญาณด้วย
องค์ประกอบหรือเงื่อนไขประการหลังนี้ถือว่าสำคัญที่สุด การตายแบบไม่รู้ตัว เช่น ตายในขณะหลับ หรือหมดสติและตายไปอย่างกะทันหัน แม้จะเป็นการตายที่ไม่เจ็บปวดหรือทรมาน แต่จะเรียกว่าตายดีไม่ได้หากวาระสุดท้ายของผู้ตายอยู่ในอารมณ์ที่หม่นหมอง เนื่องจากกำลังฝันร้ายหรือครุ่นคิดในเรื่องที่เป็นอกุศล เช่น โทสะ พยาบาท หรือเศร้าโศก ในทำนองเดียวกัน แม้จะอยู่ท่ามกลางญาติมิตร แต่หากตายไปในขณะที่ยังห่วงกังวลลูกหลาน วิตกกับภาระที่ยังไม่แล้วเสร็จ หรือมีเรื่องค้างคาใจกับใครบางคนอยู่ ก็ยังไม่เรียกว่าผู้นั้นตายดี เพราะเป็นการตายที่ยังมีความทุกข์อยู่ และหากเชื่อในเรื่องภพภูมิหลังตาย การตายในสภาวะจิตเช่นนั้นย่อมมีทุคติเป็นเบื้องหน้า จะนานเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับความดีหรือความชั่วที่ได้กระทำไว้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
ในทางตรงข้าม แม้จะเผชิญกับความเจ็บปวดที่แผดเผาทิ่มแทงกาย ห่างไกลจากคนรัก โดดเดี่ยวไร้ญาติมิตร แต่หากสามารถประคองจิตให้เป็นปกติ มีสติรู้ตัว หรืออยู่ในภาวะที่เป็นกุศล จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ไม่มีอะไรเป็นภาระในจิตใจเพราะปล่อยวางไปหมดทุกสิ่ง การตายเช่นนั้นย่อมจัดว่าเป็นการตายดี เพราะนอกจากจะจากไปโดยไม่ทุกข์ใจแล้ว ยังจะนำไปสู่สุคติอีกด้วย
มีคนจำนวนไม่น้อยที่แม้จะถูกโรคร้ายกัดกินร่างกาย เช่น มะเร็ง หรือเอดส์ แต่ก็สามารถรักษาใจให้เป็นปกติได้ ความเจ็บปวดทำร้ายได้แค่ร่างกาย แต่ไม่สามารถย่ำยีจิตใจได้ บางคนใช้สมาธิภาวนาระงับความเจ็บปวด โดยไม่ต้องใช้ยาแก้ปวดแต่อย่างใด และในที่สุดก็จากไปอย่างสงบ
ในสมัยพุทธกาล มีกรณีที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้น แต่ก็เป็นตัวอย่างที่ชี้ว่าตายดีนั้นไม่จำเป็นต้องหมายถึงการตายที่ไร้ความเจ็บปวด พระนางสามาวดีเป็นพระมเหสีของพระเจ้าอุเทน พระนางเป็นผู้ที่ศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้า และประพฤติตนอยู่ในกุศลธรรมมาโดยตลอด แต่เป็นที่อิจฉาของพระนางมาคันทิยา ซึ่งเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าอุเทน ฝ่ายหลังนั้นได้หาทางกลั่นแกล้งพระนางสามาวดีมาหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ ครั้งสุดท้ายได้ลวงให้พระนางสามาวดีและหญิงบริวารเข้าไปในเรือนคลังแล้วขังไว้ จากนั้นได้จุดไฟเผาทั้งปราสาท พระนางสามาวดีเมื่อรู้ว่าวาระสุดท้ายมาถึงแล้ว แทนที่จะตื่นตกใจ กลับแนะให้บริวารกำหนดจิตทำสมาธิภาวนา โดยถือเวทนาเป็นอารมณ์ บริวารทั้งหมดได้ทำตามคำแนะนำจนตายคากองไฟ ต่อมาเมื่อมีภิกษุนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ตรัสว่า อุบาสิกาเหล่านั้นได้บรรลุธรรม เป็นโสดาบันก็มี เป็นสกทาคามีก็มี เป็นอนาคามีก็มี จากนั้นพระองค์ได้สรุปว่า “อุบาสิกาเหล่านั้น ทำกาละ(ตาย)อย่างไม่ไร้ผล”
น่าแปลกที่ว่าในยุคปัจจุบันซึ่งเต็มไปด้วยเทคโนโลยียืดชีวิตอายุนั้น การตายอย่างสงบกลับกลายเป็นเรื่องยาก แม้แต่อาจารย์กรรมฐานหรือเกจิอาจารย์ชื่อดังก็เลี่ยงปัญหานี้ได้ยาก ส่วนใหญ่ต้องสิ้นลมในห้องไอซียูโดยมีสายระโยงระยางทั่วร่างกาย ทั้งนี้เพราะลูกศิษย์ลูกหาพยายามหาทางหน่วงเหนี่ยวชีวิตของท่านให้อยู่นาน ที่สุด โดยหารู้ไม่ว่านั่นเป็นการหน่วงเหนี่ยวการตายให้เป็นไปอย่างยืดเยื้อ ซึ่งไม่เป็นคุณแก่ใครเลย ผลก็คือความตายของครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่สามารถสอนผู้คนให้ รู้จักพร้อมรับความตายด้วยใจสงบ ดุจเดียวกับใบไม้ที่พร้อมจะหลุดจากขั้วเมื่อถึงเวลา
การตายอย่างสงบนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนควรมีโอกาสเข้าถึง ไม่เว้นแม้กระทั่งฆราวาสหรือคนธรรมดาสามัญ สภาพแวดล้อมมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เราตายอย่างสงบได้ แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือการฝึกฝนพัฒนาตน ไม่ใช่แต่เฉพาะเวลาใกล้ตายเท่านั้น หากต้องทำไปทั้งชีวิต การดำเนินชีวิตอย่างถูกทำนองคลองธรรมและหมั่นสร้างความดีอยู่เสมอเป็นปัจจัย สำคัญที่ช่วยให้เราเผชิญความตายได้อย่างสงบ อานิสงส์ประการหนึ่งของกายวาจาและใจที่สุจริตก็คือ ช่วยให้ไม่หลงตาย หรือลืมสติเวลาตาย ปัจจัยสำคัญประการต่อมาก็คือการฝึกฝนอบรมจิตด้วยสมาธิภาวนา เพื่อประคองจิตให้มีสติอย่างต่อเนื่อง พร้อมเผชิญกับทุกขเวทนาและอาการต่าง ๆ ที่มากระทบอย่างรู้เท่าทัน แม้ทุกขเวทนาทางกาย ตลอดจนความพลัดพรากจากของรัก เป็นสิ่งที่ยากจะหลีกพ้น แต่เราสามารถรักษาจิตมิให้ทุกขเวทนาและความเศร้าโศกมาครอบงำได้
จะว่าไปแล้วชีวิตทั้งชีวิตมีขึ้นก็เพื่อเปิดโอกาสให้เราฝึกฝนตนเองจนพร้อม ที่จะเผชิญกับความตายในวาระสุดท้ายนั่นเอง หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เป็นศิษย์รุ่นแรก ๆ ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต มีคราวหนึ่งท่านไปเยี่ยมพระรูปหนึ่งซึ่งอาพาธหนักใกล้จะมรณภาพ เมื่อท่านมาถึง พระรูปนั้นก็ลุกกราบท่านแล้วก็ล้มตัวนอนตามเดิม ไม่ได้พูดอะไร ส่วนหลวงปู่ดูลย์ยิ้มรับ จากนั้นท่านก็พูดว่า “การปฏิบัติทั้งหลายที่เราพยายามปฏิบัติมา ก็เพื่อจะใช้ในเวลานี้เท่านั้น เมื่อถึงเวลาที่จะตาย ให้ทำจิตเป็นหนึ่ง แล้วหยุดเพ่ง ปล่อยวางทั้งหมด” นี้มิใช่คำแนะนำสำหรับภิกษุเท่านั้น หากยังเหมาะสำหรับคนทั่วไปด้วย
ผู้เขียน:
คำสำคัญ:
บุคคลสำคัญ:
frontpage:
- show