My Belief : Good Death - พระไพศาล วิสาโล
บทความนี้ตีพิมพ์ลงในหนังสือกระเป๋าความเชื่อ สนพ.GMBOOKS
“ทำไมความตายจึงเป็นเรื่องที่ควรเรียนรู้ ?
คำตอบคือ มันคือความจริงแท้ของชีวิต
ต้องเกิดขึ้นกับทุกคนแน่นอน
แต่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร
วันนี้หรือพรุ่งนี้ก็อาจเป็นได้
แต่คนเรากลับพยายามทำเป็นหลงลืม
หรือไม่อยากนึกถึงความตายเพราะกลัว
จนทำให้เราไม่กล้าเผชิญหน้ากับความตาย”
เมื่อพูดถึงความตาย หลายคนนึกถึงนามของพระไพศาล วิสาโล ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะท่านเป็นวิทยากรให้กับการฝึกอบรม ‘เผชิญความตายอย่างสงบ’ มามากมายหลายต่อหลายครั้ง และหนังสือธรรมะของท่านหลายเล่ม ก็ชวนให้เราพิจารณาความตาย ซึ่งในที่สุดแล้ว ได้ทำให้เราเข้าใจว่า เราควรมีชีวิตอยู่ด้วยท่าทีอย่างไร
เผชิญความตายอย่างสงบ
โดย พระไพศาล วิสาโล
ความตายอย่างสงบเป็นความสนใจโดยส่วนตัวของอาตมาเอง เริ่มตั้งแต่เมื่อปีพ.ศ.๒๕๔๐ ตอนแปลหนังสือ ‘ประตูสู่สภาวะใหม่’ หรือ ‘The Book of Living and Dying’ ของโชเกียว รินโปเช มีผู้อ่านหลายคนสนใจ และได้มานิมนต์ให้อาตมาไปช่วยนำทางให้ผู้ใกล้ตาย อาตมาเลยคิดว่านี่เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนในปัจจุบัน หลังจากนั้นไม่นานก็เริ่มจัดเวิร์กช็อป ‘เผชิญความตายอย่างสงบ’ ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ เราจัดโดยยังไม่รู้อะไรมากนัก เพียงนำหลักจากศาสนาพุทธและจากหนังสือเล่มนั้นมาถ่ายทอดและทดลองใช้กับผู้สนใจ
การจัดเวิร์กช็อปนี้ก็ได้พัฒนาและปรับปรุงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เราใช้เวลา ๓ วัน เพื่อการเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความเห็นกัน มีการเดินทางไปเยี่ยมไข้ผู้ป่วยอาการหนักในโรงพยาบาล คนเข้าร่วมก็พอใจ เพราะเขารู้หลักและมีทักษะเบื้องต้นที่สามารถเอาไปใช้กับพ่อแม่ของเขา รวมไปถึงใช้กับตัวเองในชีวิตประจำวันด้วย
คนในสังคมปัจจุบัน อย่างน้อยๆ จะต้องมีคนใกล้ตัวสักคนที่กำลังป่วยหนักด้วยโรคยอดฮิต อย่างเช่น มะเร็ง โรคหัวใจ เบาหวาน ไตวาย ความตายจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวเรา ถ้าสังเกตดีๆ มันอยู่ใกล้ตัวมาก เพียงแต่เราไม่ทันนึกถึง นี่ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องอุบัติเหตุที่เป็นสาเหตุของการตายจำนวนมากกว่า และปัจจุบันทันด่วนกว่า ผู้คนที่สนใจเรื่องความตายเหตุผลแรกสุดก็เพราะเขามีพ่อแม่กำลังป่วยหนัก และอีกกลุ่มคือคนที่พบว่าชีวิตเขามีปัญหา และหันมาปฏิบัติธรรม การศึกษาเรื่องความตายจะช่วยให้เรารู้วิธีใช้ชีวิตที่ดีงามในปัจจุบันด้วย
หลงลืมความตาย
มนุษย์อยากจะลืมเรื่องความตาย เพราะความปรารถนาส่วนลึกของเราคือต้องการความเป็นอมตะ นี่คือธรรมชาติของอัตตาที่เราทุกคนหวงแหนยึดมั่น ในสังคมวัฒนธรรมโบราณ มีสิ่งเตือนใจให้เราระลึกถึงความตายอยู่เสมอ และยังคงเหลือร่องรอยให้เห็นในสังคมชนบท อย่างเช่น คนสมัยก่อนเขาเกิดที่บ้าน นอนป่วยที่บ้าน ตั้งศพที่บ้าน เวลาจะเผาค่อยยกไปที่วัด ลองนึกถึงเด็กสมัยก่อนที่เขาเห็นปู่ย่าตายายนอนป่วยในบ้าน และตายในบ้าน จัดงานศพที่บ้าน หรือแม้แต่คนในหมู่บ้านเดียวกัน ที่เคยไปมาหาสู่กัน ประเดี๋ยวคนแก่บ้านนั้นไม่สบาย ประเดี๋ยวคนแก่บ้านนี้ตาย เด็กได้เห็นคนป่วยคนตายในชีวิตเขาเป็นประจำ เขาจึงตระหนักว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดา มันเป็นสิ่งเตือนตาเตือนใจว่าสักวันฉันก็ต้องตายเหมือนกัน
คนสมัยนี้มีจำนวนมากที่อายุ ๔๐ ปีแล้ว แต่ยังไม่เคยเห็นศพคนจริงๆ เลย เพราะเวลาพ่อแม่ป่วยก็เอาไปรักษาที่โรงพยาบาล ป่วยหนักก็เข้าห้องไอซียู และก็สิ้นใจอยู่ในนั้น ไม่ทันได้ดูใจกันเลยด้วยซ้ำ แล้วก็รีบนำเข้าห้องดับจิตซึ่งอยู่ในมุมในซอกของโรงพยาบาล จากนั้นก็ย้ายศพไปตั้งที่วัด และตกแต่งโลงศพอย่างสวยงาม ทุกอย่างสะอาดเรียบร้อย มีคนทำให้ทุกอย่าง โดยที่ลูกหลานญาติพี่น้องไม่ได้ทำอะไรเลย เวลาตายก็ไม่ได้เห็นศพ เวลาเผาก็ไม่ได้เห็นศพ
ความตายถูกซ่อนจากสายตาของเรา แถมคนสมัยนี้มีคนใกล้ชิดน้อยมาก มีแค่พ่อแม่พี่น้องก็เต็มที่แล้ว ส่วนปู่ย่าตายายหรือลุงป้าน้าอาก็อยู่ไกล เพื่อนบ้านก็ไม่รู้จัก เราจึงมีโอกาสเห็นความตายของคนใกล้ชิดน้อยมาก
สังคมปัจจุบันเราได้แยกความตายออกไปจากชีวิต แถมยังพยายามอำพราง พยายามซ่อนความตายเอาไว้ในหลืบ ในทางตรงกันข้าม ความตายที่เห็นเป็นประจำ คือความตายที่ถูกทำให้เป็นสินค้า ทำให้ดูน่าสนใจ ชวนให้อยากรู้อยากเห็น ผ่านข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือข่าวในทีวี หรือทำให้ความตายกลายเป็นมหรสพ น่าตื่นตาตื่นใจ เราอ่านไทยรัฐ เดลินิวส์ ได้เห็นศพเป็นภาพสี แต่ไม่สามารถโยงความตายของคนเหล่านั้นกับตัวเราได้เลย เราเพียงแค่อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ใครตาย ตายอย่างไร แย่จังนะ แต่ไม่เคยนึกว่าสักวันหนึ่งอาจเป็นเราก็ได้ ในหนังบู๊แต่ละเรื่องต้องมีคนตายเป็นสิบเป็นร้อยเพื่อให้มีรสชาติ นี่คือสินค้าเพื่อการบริโภค เพื่อความสนุกสนาน แต่ไม่ได้เตือนใจให้เราตระหนักเลยว่าสักวันหนึ่งเราก็ต้องตายเหมือนกัน
นอกจากนี้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งความรู้วิทยาศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นมากมาย ทำให้เราคิดว่าเราจะชนะความตายได้ เราไม่ใช่แค่จัดการกับฝนฟ้า อากาศ แม่น้ำ แต่เรายังสามารถจัดการร่างกายของตนเองได้มากมาย ทำหน้าให้ตึง ปรับแต่งทรวดทรงให้สวยได้ดังใจ รักแร้ดำก็ทำให้ขาว ผิวเป็นกระฝ้าก็ทาครีมแก้ได้ ถ้าไม่สบายก็ผ่าตัดอวัยวะเทียมหรืออุปกรณ์มากมายเพื่อต่อชีวิต
คนเรากำลังคิดว่าเราสามารถจัดการธรรมชาติทุกอย่างได้ ขอแค่มีเงินซื้อและซื้อของมาใช้ให้ถูกยี่ห้อเท่านั้น ก็เลยพลอยคิดว่าความเจ็บป่วยกับความตายก็จัดการได้ ไม่เหลือวิสัยของมนุษย์ ทั้งหมดนี้เป็นความหลงของสังคมบริโภคนิยม
สังคมบริโภคนิยมดำเนินไปบนฐานความเชื่อว่าชีวิตนี้คือการเสพสุขมี ๔ ประการที่บริโภคนิยมเชิดชูคือ เซ็กซ์ ความสนุกสนาน ความเป็นหนุ่มสาว และความสำเร็จ (sex, joy, youth, success) ลองสังเกตโฆษณาในทีวีจะเห็นว่าเขาเน้น ๔ ประการนี้อยู่เสมอ ทำให้ผู้คนเกิดความเข้าใจว่าทั้ง ๔ อย่างนี้คือจุดหมายของชีวิตนี้ คนในสังคมบริโภคนิยม จึงตั้งหน้าตั้งตาแสวงหา ๔ อย่างนี้ จนลืมไปหมดเลยว่าเราต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย
ถ้าเราคิดขึ้นมาได้ว่าสักวันหนึ่งเราต้องตายนะ เราจะคลั่งไคล้กับการเสพน้อยลง เราจะตระหนักว่าทั้ง ๔ ประการนี้เป็นของชั่วคราว ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ เราจะหันมาอยู่อย่างเรียบง่ายมากขึ้น หันมาสร้างบุญกุศลทำความดี ช่วยเหลือคนอื่น และเตรียมตัวเตรียมใจเพื่อพร้อมรับความตายที่จะมาถึง
เป็นเพราะมัวแต่เสพสุข จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมคนสมัยนี้เมื่อพูดถึงความตายก็จะกลัว ถ้าได้ไปเห็นใครเจ็บป่วย หรือเห็นคนตาย เขาจะตกใจ ตื่นตระหนก หรือหดหู่ไปเลย เพราะเขาจะรู้ทันทีว่าสักวันมันต้องเกิดกับตัวเอง ก็เลยเสียศูนย์ นั่นเป็นเพราะเราลุ่มหลงกับของชั่วคราวมาตลอดชีวิต
ความตายของคนใกล้ชิด
น้องชายอาตมาตายในปี พ.ศ. ๒๕๒๑
ในวันตายของเขา อาตมากำลังเดินทางไปประชุมสัมมนาองค์กรที่ต่างจังหวัด สมัยนั้นอาตมายังไม่บวชเป็นพระ และทำงานเป็นแอ็คทีวิสต์ที่เข้มข้นมาก น้องชายป่วยเป็นมะเร็งมานาน แต่ไม่มีใครรู้เลย ตัวเขาเองก็ไม่รู้ตัว จนกระทั่งเมื่อตายไปหมอจึงวินิจฉัยว่าเป็นเพราะโรคมะเร็งชนิดหนึ่งซึ่งเกิดน้อยมาก ตอนที่เขาป่วยหนัก อาตมาก็ไม่มีเวลาไปเยี่ยมเลย และในวันที่เขาเสียชีวิต คือวันสงกรานต์ ๑๓ เมษายน ๒๕๒๑ อาตมาก็ไปประชุมประจำปี ยังคิดว่าประชุมเสร็จแล้วกลับมาเยี่ยมเขาก็ทัน
เมื่อนึกย้อนกลับไป ก็นึกเสียดายว่าทำไมจึงทิ้งน้องเพื่อไปทำงาน ทำไมคนเราต้องเห็นงานสำคัญกว่าคนรัก ก็เพราะเราคิดว่ายังมีเวลาอีกนาน เขาคงไม่รีบตาย จำได้ว่าพวกนักศึกษาในยุคนั้นตื่นตัวเรื่องการเมืองกันมาก และเห็นว่าเรื่องบ้านเมืองสำคัญเหลือเกิน
เรายอมสละได้ทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อสังคม แต่จริงๆ แล้วนั่นก็ถูกต้องเพียงครึ่งเดียว คือมันไม่จำเป็นเลยที่อาตมาจะต้องไปประชุมในวันนั้น ในวันนั้นถึงอาตมาไม่ไป เขาก็ประชุมกันได้ งานก็ดำเนินไปได้ สังคมก็ดำเนินไปได้ ทุกอย่างไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราคนเดียวเสียหน่อย เพียงแต่คนเรามักจะสำคัญตนเองผิดไป คิดว่าโลกต้องหมุนรอบตัวเรา ทุกอย่างต้องจัดการโดยมือของเรา เราจัดสำดับความสำคัญในชีวิตไม่เป็น
การตายของโยมแม่เป็นอุบัติเหตุที่แปลกประหลาด
วันนั้นโยมแม่กำลังเดินข้ามถนนอยู่ตรงทางม้าลาย ท่านไปหยุดยืนรออยู่ตรงเส้นกลางถนน เผอิญมีรถสามล้อคันหนึ่งแล่นผ่าน คนนั่งอยู่ด้านหลังเป็นคนเมา เขาเมามากและคลื่นไส้อยากจะอ้วก ก็เลยยื่นหัวออกมานอกรถสามล้อ แล้วก็ไปชนกับโยมแม่พอดิบพอดี โยมแม่ล้มหัวฟาดพื้นกะโหลกร้าว แล้วก็เสียชีวิตหลังจากนั้น ๔ วัน
ตอนนั้นอาตมาบวชพระเกือบ ๑๐ พรรษาแล้ว อาตมารู้ดีว่าโยมแม่จะอยู่กับเราไม่นาน จึงควรให้เวลากับโยมแม่ แต่พอกลับบ้านก็ไม่ค่อยมีเวลาคุยกับโยมแม่ ตอนนั้นก็เหมือนกับตอนนี้คืออาตมามีงานหลายอย่างทั้งงานหนังสือ งานบรรยาย งานอบรม งานประชุม ดังนั้นเวลากลับมาเยี่ยมบ้านที่กรุงเทพฯ ทีมีโอกาสใช้โทรศัพท์ก็ต้องใช้เต็มที่ สมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ พอมาถึงบ้านก็เลยโทรศัพท์ตามงานหรือคุยธุระกับเพื่อน เป็นแบบนี้แทบทุกครั้ง เลยมีเวลาคุยกับโยมแม่ไม่มาก จนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุกับโยมแม่อย่างกะทันหัน
อาตมานึกเสียดาย ทั้งที่รู้อยู่ว่าโยมแม่มีอายุมาก อาตมารู้เรื่องความตาย รู้เรื่องธรรมะ แต่ทำไมกลับมัวแต่คุยโทรศัพท์เรื่องงาน ตอนนั้นอาตมาเสียศูนย์ไปพักใหญ่ด้วยความรู้สึกผิดที่ปล่อยให้เวลามีค่าผ่านไป
สิ่งที่อาตมาได้เรียนรู้จากความตายของคนใกล้ชิด คือคนเราแท้จริงแล้วมีหลายมิติ ด้านหนึ่งเราเป็นสมาชิกของสังคม ที่จะต้องประกอบการงานให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม อีกด้านหนึ่งเราก็เป็นสมาชิกของครอบครัวเราก็ต้องดูแลครอบครัวเราให้ดีด้วย และอีกด้านหนึ่ง เราเกิดมาเป็นมนุษย์ที่ปัญญาและมีโอกาสได้ศึกษาธรรมะ เราก็ต้องไม่ละทิ้งโอกาสดังกล่าวไปเช่นกัน
ถ้าเราทำแต่งาน ลืมครอบครัวไปก็ไม่ได้ ถ้าเราทำแต่งานและดูแลครอบครัว แต่ลืมดูแลตัวเองก็ไม่ได้อีก พักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ดูแลสุขภาพ ไม่สนใจธรรมะเลยก็ไม่ได้ เรามีหลายมิติ ต้องรับผิดชอบตัวเอง ครอบครัว สังคม และโลกของเรา เราต้องจัดวางให้พอดีๆ
เผชิญความตายอย่างสงบ
เนื่องจากคนที่ตายไปแล้ว เขาไม่ได้กลับมาบอกว่าเขาไปไหนต่อ ส่วนใหญ่ที่เรารู้คือแค่เรื่องเล่า ก่อนอื่นอาตมาต้องอธิบายก่อนว่าในทางพุทธศาสนานั้นเชื่ออย่างไร เราเชื่อว่าตราบใดที่คนยังมีกิเลสอยู่ เราก็ต้องเวียนว่ายตายเกิด
สิ่งที่จะนำพาเราไปสู่สุคติก็คือความดีหรือบุญกุศล สิ่งที่จะนำพาเราไปสู่ทุคติคือความชั่วหรือบาปกรรม ถ้าเราใช้ชีวิตด้วยการทำความดีมาตลอดก็เป็นหลักประกันได้ว่าเราจะได้ไปดี แต่ยังมีปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งนั่นคือคุณภาพจิตในวินาทีสุดท้ายก่อนตาย
อาสันนกรรม คือ กรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย หรือที่บางคนเรียกว่าจิตสุดท้ายจะมีผลก่อนกรรมอื่นใด ถ้าเราระลึกถึงสิ่งที่ดีงาม ความสงบสุข เราก็จะไปสู่สุคติได้ พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนกับวัวในคอก วัวตัวที่อยู่ชิดประตูคอก ทันทีที่เปิดประตูคอก วัวตัวนั้นจะได้ออกไปก่อนวัวตัวอื่นๆ หมายความกรรมจวนเจียนก่อนตายเป็นกรรมที่จะส่งผลก่อนกรรมอื่น
อาจารย์พุทธทาสเรียกนาทีสุดท้ายของชีวิตว่า ‘นาทีทอง’ เพราะว่าเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะวางใจให้เป็นกุศลและนำไปสู่สุคติ กรรมในนาทีนั้นมีอานุภาพมาก เป็นตัวกำหนดภพภูมิที่จะไปเป็นสิ่งแรก
พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่ากรรมอื่นจะไม่ตามไปส่งผล เพียงแต่จะตามไปภายหลัง เปรียบเหมือนกับมีรถติดไฟแดง เมื่อเปลี่ยนเป็นไฟเขียวรถคันหน้าสุดก็จะได้ออกก่อน แต่สักพัก รถคันที่ตามมาข้างหลังก็อาจจะแซงหน้าไปได้ ดังนั้น คนที่ทำความชั่วมามากมายในชีวิต ถ้าในวินาทีสุดท้ายมีใครช่วยนำพาจิตเขาให้น้อมนึกในทางที่ดีได้ เขาก็จะไปสู่สุคติ แต่ถึงอย่างไรวิบากหรือผลจากกรรมชั่วก็จะตามทันในภายหลังอยู่ดี
ทั้งหมดนี้เราไม่มีหลักฐานยืนยันว่าจริงไหม แต่ชาวพุทธเราเชื่อกันอย่างนี้ เพราะมีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก ครูบาอาจารย์ก็สอนมาอย่างนั้น บางท่านสามารถหยั่งเห็นจิตของคนที่ตายไปแล้วด้วย เหล่านี้คือเรื่องความเชื่อ แต่ในความเห็นของอาตมา เชื่ออะไรไม่สำคัญเท่าเชื่ออย่างไร หมายความว่าถ้าเชื่อแล้วเราเป็นคนดี ทำดี คิดดี มีความสุข ก็เชื่อไปเถิดแม้จะหาข้อพิสูจน์แบบวิทยาศาสตร์ไม่ได้
ถ้าเชื่อเรื่องกรรมแล้วทำให้กลัวบาป อยากทำดี ก็ควรเชื่อ แต่ถ้าไม่เชื่อเรื่องกรรม ไม่เชื่อเรื่องบุญบาป เชื่อแต่สิ่งที่พิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ แต่มีน้ำใจเสียสละ ช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ เชื่อแบบนี้ไม่เสียหายเชื่อไปเถิด แต่ถ้าเชื่อวิทยาศาสตร์แล้ว มัวแต่เสพสุข เห็นแก่ตัว เอาเปรียบผู้อื่น อาตมาว่าสู้คนที่เชื่อแบบงมงายแต่ชอบทำดีไม่ได้
อาตมาถามว่าความเชื่อเรื่องความตายที่ดี ถ้าเชื่อแล้วดีหรือไม่
อาตมาเชื่อว่าการทำให้คนใกล้ตาย พยายามนึกถึงบุญกุศลหรือสิ่งที่ดีๆ น้อมใจให้เขาปล่อยวาง เป็นสิ่งที่ดีต่อเขา แม้เราไม่รู้ว่าจะมีสวรรค์รอเขาอยู่หรือไม่ แต่อย่างน้อยเขาก็มีความสุขสงบใจในขณะนั้น ไม่ทุรนทุราย ส่วนพวกลูกหลาน แทนที่จะมาร้องห่มร้องไห้ ก็มานั่งร่วมกันนึกถึงสิ่งดีๆ ที่คนใกล้ตายเคยทำ หรือพูดถึงความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อเขา
การทำอย่างนั้นก็ย่อมดีต่อพวกเขาด้วย และหากคนที่เขารักตายอย่างสงบ ไม่ทุรนทุราย ญาติพี่น้องจะรู้สึกดีมาก อาตมาเห็นหลายรายที่ยิ้มทั้งน้ำตา แม้คนที่ตายไปนั้นจะเป็นคนที่เขารักอย่างยิ่ง แต่เขาก็ดีใจที่คนรักตายอย่างสงบ
เราไม่รู้หรอกว่าตายแล้วไปไหน ปุถุชนย่อมไม่รู้ เราได้แต่เชื่อเอาเท่านั้น แต่สิ่งที่เห็นชัด คือเมื่อเราฟังสิ่งดี ทำสิ่งดี คิดสิ่งดี เรามีความสุข คนอื่นที่ได้ฟังหรือได้รับรู้ความดีของเราก็มีความสุขเช่นกัน
อาตมาอยากจะยกตัวอย่างประสบการณ์ที่เคยพบเห็น ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งมีป้าแก่ๆ ใกล้ตายแล้ว แกทุรนทุรายมาก เพราะความเจ็บปวดจากมะเร็ง พยาบาลก็เลยไปช่วยพูดคุย
“คุณป้าคะ ในชีวิตนี้ป้าทำอะไรแล้วมีความสุขที่สุด”
ป้านึกอยู่นาน แล้วตอบว่าตอนที่ไปหล่อองค์พระมีความสุขมาก
พยาบาลก็บอกว่า “ถ้างั้นเราไปหล่อพระกันนะ เราใส่ชุดอะไรกันดีคะ?”
ป้าก็เล่าย้อนไปถึงวันที่แกไปหล่อพระ แต่งตัวอย่างไร ไปทำอะไรบ้าง พบเห็นอะไร พยาบาลก็หยิบเรื่องนี้มาคุยต่อจนแกเห็นภาพในอดีตนั้นอีกครั้ง ในที่สุดความทุรนทุรายก็หายไป แล้วหลังจากนั้นไม่นาน แกก็ไปอย่างสงบ
อีกกรณีหนึ่ง เป็นคนไข้เข้าขั้นโคม่าอยู่ในไอซียู ญาติก็นิมนต์พระให้ไปรับสังฆทาน ท่านสังเกตว่าคนไข้ไม่รู้สึกตัวแล้ว แต่กระตุกเป็นระยะๆ จึงอยากช่วยให้แกไปอย่างสงบ ท่านรู้มาว่าคนป่วยชอบใส่บาตรวันพระ จึงพูดกับคนป่วย “โยม วันนี้เป็นวันพระ ไปใส่บาตรกันนะ คดข้าวใส่ขัน เตรียมอาหารหวานคาวให้พร้อม แล้วไปหน้าบ้านกัน”
พระถามว่า “ซ้ายมือเห็นพระไหม” แกส่ายหน้า “แล้วขวามือล่ะ เห็นพระไหม?”
คราวนี้คนไข้พยักหน้า แล้วก็ยกมือขึ้นพนม
แล้วท่านก็พูดนำให้คนไข้ใส่บาตรทีละรูปๆ จนครบ ๙ รูป ปรากฏว่า พอคนไข้ใส่บาตรจบก็หายกระตุก สงบนิ่ง หลังจากนั้นไม่นานก็จากไปอย่างสงบ
การตายไปอย่างสงบโดยที่ตาปิดสนิท ญาติพี่น้องเห็นแล้วก็สบายใจ มีความสุข ยิ้มทั้งน้ำตา ย่อมดีกว่าการที่ลูกหลานมาร้องให้ฟูมฟายแถมตะโกนว่าอย่างเพิ่งไป อย่างเพิ่งตาย หรือไม่ลูกหลานก็มาเถียงกันเรื่องพินัยกรรมบ้าง เรื่องค่ารักษาพยาบาลบ้าง คนใกล้ตายได้ยินแล้วก็ต้องหน้านิ่วคิ้วขมวด บางคนตายโดยที่ตาไม่ยอมปิด แบบนี้เป็นสิ่งที่อาตมาไม่อยากเห็นเลย
ประโยชน์ของความตาย
ทำไมความตายจึงเป็นเรื่องที่ควรเรียนรู้? คำตอบคือ มันคือความจริงแท้ของชีวิต ต้องเกิดขึ้นกับทุกคนแน่นอน แต่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร วันนี้หรือพรุ่งนี้ก็อาจเป็นได้ แต่คนเรากลับพยายามทำเป็นหลงลืมหรือไม่อยากนึกถึงความตายเพราะกลัว จนทำให้เราไม่กล้าเผชิญหน้ากับความตาย
มีภาษิตทิเบตพูดไว้น่าฟังว่า “ไม่มีใครรู้หรอกว่าพรุ่งนี้กับชาติหน้าอะไรจะมาถึงก่อน” เราอย่าไปคิดว่าจะมีพรุ่งนี้นะ บางทีอาจจะไม่มีพรุ่งนี้ก็ได้ เพราะชาติหน้าอาจจะมาถึงก่อน ใครจะไปรู้ว่าวันนี้อาจเป็นวันสุดท้ายของเรา
เมื่อเราฉุกคิดขึ้นมาได้แล้วเกี่ยวกับความตาย มันจะดีอย่างไร? คำตอบคือ
๑. ทำให้เราลงมือขวนขวายในเรื่องที่เคยผัดผ่อน
เราส่วนใหญ่ก็เป็นคนดี มีความคิดอ่าน เรารู้ว่าอะไรควรทำ แต่เรามักจะผัดผ่อน เช่น การดูแลคุณพ่อคุณแม่ การอบรมลูก และการปฏิบัติธรรมะ เราผัดผ่อนเพราะหลงคิดว่ายังมีเวลาเหลือเฟือ บางทีคุณพ่อคุณแม่แก่มากแล้ว เราก็คิดว่าไม่เป็นไร เอาไว้ก่อน เดี๋ยวค่อยไปเยี่ยมท่าน วันนี้ขอทำงานก่อน ทำไมถึงต้องขอทำงานก่อน ก็เพราะใกล้ถึงเส้นตายแล้ว คนในยุคสมัยปัจจุบันก็เป็นเช่นนี้ เรามีเส้นตายเยอะเหลือเกิน มีเส้นตายไปเสียทุกเรื่องเลย เราต้องรีบทำทุกอย่างให้ทันเส้นตาย โดยลืมคิดไปว่าบางเส้นตายสำคัญ บางเส้นตายไม่สำคัญ และเส้นตายที่แท้จริงที่สุดนั้นคืออะไร
คุณอาจจะคิดว่าคืนนี้ห้างดังมีมิดไนท์เซลส์เป็นคืนสุดท้าย ต้องรีบไปเสียก่อน เอาไว้พรุ่งนี้ค่อยไปเยี่ยมพ่อแม่ บางคนอยากจะปฏิบัติธรรม กำลังจะเริ่มนั่งสมาธิแล้ว แต่พอดูนาฬิกาก็นึกขึ้นได้ ละครเรื่องโปรดมาพอดี ขอดูละครอ่อน นั่งสมาธิเอาไว้ทีหลัง เพราะเราคิดว่าเรายังมีเวลาเหลือเฟือ พรุ่งนี้ทำก็ได้ เช่นเดียวกัน เราอยากคุยกับลูก แต่ก็มีเรื่องรีบด่วนให้ทำ ก็เลยผัดเรื่องลูกเอาไว้ก่อน แล้วก็ผัดไปเรื่อยๆ จนไม่มีเวลาคุยกับลูกเลย
ถ้าคิดเรื่องความตายให้ดีๆ เราจะรู้ว่าไม่แน่นะ วันนี้อาจจะเป็นวันสุดท้ายของเราก็ได้ หรือวันนี้อาจจะเป็นวันสุดท้ายของพ่อแม่ก็ได้ เรามีเวลาเล่นอินเตอร์เน็ต มีเวลาเล่นเฟซบุ๊ค แต่เรามักไม่มีเวลาทำสิ่งสำคัญจริงๆ ในชีวิตก็เพราะชอบผัดผ่อนนี่แหละ แต่ถ้าเราคิดถึงความตายที่อาจจะมาวันนี้วันพรุ่งนี้ เราจะหันมาทำสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต ไม่ผัดผ่อนอีกต่อไป
๒. ทำให้เราปล่อยวางสิ่งที่ชอบยึดติด
เคยเป็นไหม เวลาของหาย เสียใจเป็นวรรคเป็นเวร ลืมโทรศัพท์ไว้บนรถแท็กซี่ หรือทำกระเป๋าสตางค์หล่นหาย กุมขมับเลยว่าแย่แล้ว ถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้ ลองคิดถึงความตายดู แล้วจะรู้ว่า อย่าว่าแต่โทรศัพท์มือถือหายเลย อย่าว่าแต่เงินหายเลย หนักกว่านี้ก็ยังเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความตาย เพราะเมื่อเราตายเราจะต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างไปหมด การคิดเรื่องความตายทำให้เราปล่อยวางเรื่องเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น
หรือในกรณีที่เราทะเลาะกับใครสักคน เพียงเพราะเขาไม่เป็นอย่างที่เราคิด ไม่ทำอย่างที่เราต้องการ เห็นแล้วโกรธเกลียดทนไม่ได้ ถ้าเรานึกถึงความตาย นึกว่าพรุ่งนี้เขาอาจจะไม่อยู่กับเราแล้วนะ ความโกรธ ความเกลียดชังจะหายไปมากเลย เราจะปล่อยวางได้มากขึ้น การทะเลาะเบาะแว้งกันจะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก
ถ้าคนเราอยู่ยั้งยืนยง เราจะหลงยึดติดกับอะไรมากมาย ยึดติดตัวตน ยึดติดทรัพย์สิน เงินทอง ลาภยศสรรเสริญ แต่ถ้าเรารู้ว่าอย่างไรเสีย สักวันเราก็ต้องตาย ทุกอย่างก็จะดูเล็กน้อยไปเลย ในเมื่อสักวันเราต้องพรากจากสิ่งเหล่านี้ จะยึดมั่นไปทำไม ในเมื่อสักวันเราก็ต้องจากกันจะโกรธกันไปทำไม
๓. ทำให้เห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามีมากขึ้น
คนเรามักจะเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ เมื่อสูญเสียมันไป ตอนที่ยังอยู่กับเราก็ไม่เห็นคุณค่า ยกตัวอย่างสามีภรรยา ตอนที่อยู่ด้วยกันก็เอาแต่ทะเลาะกัน แต่พอฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายไป อีกคนก็มานั่งเสียใจว่าทำไมเราไม่รักเขาให้มากกว่านี้ หรือไม่ก็นึกชมว่าเขาเป็นคนดีเหลือเกิน ไม่น่าจากไปเลย
สุขภาพก็เป็นอีกเรื่องที่เราไม่เคยเห็นค่า เวลาปกติก็ไม่สนใจดูแลรักษาสุขภาพ แต่พอเริ่มแก่ตัวลง เริ่มมีอาการเจ็บป่วยขึ้นมา ถึงได้ตระหนักว่าสุขภาพนี่สำคัญที่สุด เราจะเห็นคุณค่าของสุขภาพก็ต่อเมื่อล้มป่วย ตอนที่เรามีมือมีแขนครบ เราไม่ค่อยเห็นคุณค่าเท่าไร มัวแต่อยากได้โน่นอยากได้นี่ แต่พอต้องเสียมือเสียแขนไป ถึงจะมารู้สึกว่าแค่มีแขนมีขาครบก็ดีที่สุดแล้ว
ถ้าเราไม่ต้องตาย วันแต่ละวัน เวลาแต่ละวินาที ก็จะดูไม่มีค่า เหมือนกับเด็กวัยรุ่นที่ไม่เห็นค่าของเวลา ตรงกันข้ามกับคนป่วยหนักหรือเป็นมะเร็ง ส่วนใหญ่จะเห็นค่าของวันเวลาที่เหลืออยู่ เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วเห็นเช้าวันใหม่ แค่นี้เขาก็มีความสุขแล้วที่วันนี้ยังไม่ตาย ยังมีเวลาที่จะได้ทำสิ่งที่อยากทำ ความรู้สึกแบบนี้จะไม่มีกับวัยรุ่นหรือแม้แต่คนทั่วไป เพราะเขาคิดว่ายังมีเวลาเหลือเฟือให้โลกนี้
ความสุขจะหาได้ง่ายขึ้นมาก ถ้าเราตระหนักว่าเราต้องตายไม่ช้าก็เร็ว มีบางคนที่ทุกเย็นเมื่อได้เห็นหน้าลูก หน้าสามีภรรยา แค่นี้เขาก็มีความสุขและขอบคุณชีวิต ในขณะที่หลายคนกลับมีความสุขยากเหลือเกินต้องการโน่น ต้องการนี่ ตัวเองมีอยู่แล้วก็ไม่พอ ก็เพราะเขาลืมว่าสักวันหนึ่งเขาต้องตาย ไม่ว่าจะได้อะไรมา สักวันหนึ่งก็ต้องสูญเสียมันไป
ความตายถึงแม้อยู่ไกลไปอีกหลายวัน แต่การตระหนักรู้ถึงความตายอยู่เสมอ ทำให้เราอ่อนโยน ปล่อยวาง และสงบลง เราจะอ่อนโยนกับผู้คนรอบตัวมากขึ้น ถ้าคิดว่าพรุ่งนี้เราอาจจะไม่ได้เจอเขาอีกแล้วก็ได้นะ ที่เราด่ากัน ทะเลาะกัน ไม่ถนอมน้ำใจกันก็เพราะเราหลงคิดว่าเราจะยังต้องเจอกันอีกนาน
ระลึกถึงความตายแม้ยังมีชีวิตอยู่ จึงเป็นสิ่งที่ดีงาม มันทำให้เราทบทวนพิจารณาตนเอง ว่าเราทำความดีมาพอหรือยัง เราได้ใช้ชีวิตคุ้มค่าที่ได้เกิดมาไหม ทำประโยชน์สูงสุดหรือยัง
เราได้ทำหน้าที่ทุกอย่างเสร็จสิ้นหรือยัง ไม่ว่าหน้าที่ต่อพ่อแม่ ต่อลูกและต่อตัวเอง ประโยชน์สูงสุดของการได้เกิดมาในชาตินี้ คือการได้เข้าถึงความสงบ เข้าถึงธรรมะ สรุปอย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสสอนไว้ คือมีชีวิตที่สงบเย็น และเป็นประโยชน์
Q&A
ในทางพุทธศาสนา มีคำสอนเกี่ยวกับความเชื่อไว้อย่างไรบ้าง สิ่งใดควรเชื่อ และเราตรวจสอบความเชื่อนั้นได้อย่างไร
แรกสุดต้องผ่านการไตร่ตรองด้วย ตนเองให้ดีเสียก่อน ตามหลักกาลามสูตร ๑๐ ประการ ที่แบ่งออกเป็น ๓ หมวดหลักๆ คือ ๑. ไม่ควรเชื่อเพียงเพราะคนส่วนใหญ่เชื่อเช่นนั้น ๒. ไม่ควรเชื่อเพียงเพราะแหล่งที่มาน่าเชื่อถือ และ ๓. ไม่ควรเชื่อเพียงเพราะมันเข้ากับความคิดของเรา
ความเชื่อต้องสอดคล้องเหตุผล แต่บางครั้งเหตุผลก็ไม่สามารถใช้อธิบายความจริงแท้ได้ อย่างเช่นเรื่องนิพพาน เราใช้เหตุผลคิดเท่าไรก็เข้าใจไม่ได้ แต่เหตุผลก็เป็นเครื่องมือพื้นฐานที่สุด ในการคิดไตร่ตรองเพื่อเข้าถึงความจริง ความเชื่อ จึงต้องสอดคล้องกับเหตุผลก่อนเป็นอันดับแรก ต่อมาก็ต้องพิจารณาว่า ความเชื่อนั้นส่งเสริมให้เราทำความดีหรือไม่
ความดีในที่นี้คือ ช่วยทำให้เราอยู่ง่าย กินง่าย ขยันหมั่นเพียร เอื้ออาทร ลดละกิเลส ในขั้นนี้ อาจจะมีความเชื่อบางอย่างที่ไม่มีเหตุผล และอาจจะไม่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ถ้ามันส่งเสริมให้เราทำความดี ความเชื่อนี้ก็ดี ความเชื่อที่เป็นเหตุผลมาก พิสูจน์ด้วยวิทยาศาสตร์ได้ชัดแจ้งมาก แต่ถ้าเชื่อแล้วทำให้เราเหิมเกริม ลืมตน ลืมบาปกรรม เชื่ออย่างนั้นย่อมไม่ดี
ในทางพุทธศาสนานั้นถือว่า เชื่ออะไรไม่สำคัญเท่าเชื่ออย่างไร แม้แต่บางคนเชื่อในศาสนา แล้วถือว่าศาสนาของตนนั้นเป็นเลิศที่สุดแล้ว ก็หลงตนได้เหมือนกัน เชื่อแบบนั้นย่อมไม่ดี เพราะทำให้คิดว่าตนเองเป็นผู้ผูกขาดสัจธรรมความจริง คนอื่นโง่เขลาหมดก็อันตราย ถ้าเชื่อวิทยาศาสตร์มากเกินไปก็อาจจะทำให้เห็นแก่ตัว ไม่กลัวบาปกรรม มองว่าจิตใจไม่มีจริง จิตเป็นเพียงปฏิกิริยาทางเคมีและฟิสิกส์ในสมองเท่านั้น เชื่อแบบนี้ก็อันตรายเช่นกัน
การใช้เหตุผลและตรรกะใน การพิจารณาความเชื่อ มันไม่ดีอย่างไร
บางคนเชื่อตรรกะ คิดว่าการคิดด้วยตรรกะจะทำให้เรารู้ความจริง เขาไม่รู้เลยว่าบางครั้งตรรกะก็คับแคบ เคยมีเพื่อนคนหนึ่งเล่าเรื่องให้อาตมาฟัง วันหนึ่งเธอกับเพื่อนเดินขึ้นสะพานลอยที่วงเวียนใหญ่ จู่ๆ เห็นแบงค์พันบาท ๓ ใบ หล่นอยู่บนพื้นข้างหน้า เธอเลยชี้ให้เพื่อนดู “เฮ้! แบงก์หล่น” แล้วเธอก็บอกว่า “ไม่ใช่แบงก์จริงหรอก ถ้าเป็นแบงค์จริงต้องมีคนหยิบไปนานแล้ว” แต่เพื่อนเธอไม่สนใจ เดินเข้าไปหยิบขึ้นมาดู ปรากฏว่าเป็นแบงก์จริง เลยได้ไป ๓,๐๐๐ บาทฟรีๆ ส่วนคนชี้ให้เห็นคนแรกกลับอดเพราะคิดว่าเป็นแบงก์ปลอม
นี่แสดงให้เห็นความคับแคบของตรรกะ ฟังดูก็มีเหตุผลดีนะ “ถ้าเป็นแบงก์จริง คนอื่นก็ย่อมต้องหยิบไปแล้ว” แต่มันเป็นเหตุผลที่ปิดตาเขาไม่ให้เห็นแบงก์จริงที่อยู่ข้างหน้า ดังนั้นเหตุผลจึงมีข้อจำกัด ไม่สามารถทำให้เราเห็นความจริงได้ทุกอย่าง เราจึงไม่ควรเชื่อเหตุผลทุกเรื่องได้ ความจริงบางอย่างเราต้องพิสูจน์ด้วยการประจักษ์ คือเห็นด้วยตาหรือสัมผัสด้วยตัวเอง
ความเชื่อเกี่ยวกับความตายที่ท่านสอน ยังไม่เคยมีใครพิสูจน์ได้ด้วยวิธีใดๆ มาก่อนไม่ใช่หรือ
นักวิทยาศาสตร์ก็พยายามที่จะ พิสูจน์ให้ได้เรื่องความตาย ชีวิตหลังความตายอาตมาเคยเห็นเขาใช้วิธีการเชิงประจักษ์ ใช้การทดลองมากมาย แต่ก็ยังไม่พบคำตอบที่น่าพอใจว่ามีหรือไม่มี นี่เป็นปัญหาโลกแตก คนขบคิดกันมานับพันๆ ปีแล้ว แต่ยังไม่เคยมีคนตายกลับมาบอกเรา หรือบางคนที่อ้างว่าตายไปแล้วกลับมาได้ พวกเขาก็เล่าไม่ตรงกันอีก บางคนบอกว่าเมื่อตายแล้วจะเหมือนลอยขึ้นไปแล้วเห็นตัวเองนอนอยู่บนเตียง บางคนเล่าว่าได้กลับชาติมาเกิด เมื่อไปสัมภาษณ์ก็มีบางคนที่ให้ข้อมูลน่าเชื่อถือมาก แต่บางเรื่องก็เหมือนหลอกลวง เรื่องตายแล้วเกิดยังไม่เคยมีใครพิสูจน์ได้จริงๆ
ดังนั้นเราควรเชื่อไว้ก่อน ก็เพราะเรากลัวใช่ไหม
อาตมาบอกแล้วว่าเชื่ออะไรก็ไม่สำคัญเท่าเชื่ออย่างไร ถ้าเชื่อแล้วดูเหมือนงมงาย เหมือนกลัวสิ่งที่เราไม่รู้ แต่ถ้าเชื่อแล้วคุณอยากทำความดี ใฝ่บุญกลัวบาป อาตมาว่าเชื่ออย่างนี้ดี
ท่านคิดอย่างไรกับคำว่า ‘ไม่เชื่ออย่าลบหลู่’
ข้อความนี้ค่อนข้างคลุมเครือ ถ้าเป็นสมัยก่อน ประโยคนี้หมายความว่า เราอย่าไปลบหลู่คนอื่นที่เชื่อต่างจากเรา เช่น เราไม่ควรไปลบหลู่ชาวบ้านที่นับถือผี ถ้าเป็นในความหมายนี้ อาตมาว่าดี เพราะจะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้ในสังคมอย่างสงบสุข คนนับถืออิสลาม คนนับถือคริสต์ คนนับถือพุทธ ต่างคนต่างไม่ลบหลู่กัน การจะอยู่ร่วมกันได้ก็ต้องไม่ลบหลู่กัน
แต่สมัยนี้ประโยคนี้น่าจะหมายความว่าเราไม่ควรลบหลู่สิ่งที่เขาเคารพเช่น เขานับถือพระเจ้า ถึงแม้เราไม่เชื่อพระเจ้า เราก็ไม่ควรลบหลู่พระเจ้าของเขา อาตมาคิดว่านี่ก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำเช่นกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าวิจารณ์ไม่ได้ ถ้าวิจารณ์หรือแตะต้องไม่ได้จะกลายเป็นการปิดกั้นความคิดซึ่งไม่น่าจะถูก ต้อง แต่เราควรวิจารณ์ด้วยความเคารพ
Suggestions
เพื่อความเข้าใจในความตาย พระไพศาลแนะนำภาพยนตร์ ๒ เรื่องดังต่อไปนี้
In America – จิม เชอร์ริแดน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวหนึ่งซึ่งเพิ่งสูญเสียลูกไป และก็ย้ายมาอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา ความสูญเสียติดค้างในใจของทุกคนในครอบครัว แต่ที่รบกวนจิตใจมากที่สุดก็คือความรู้สึกผิดในใจของทุกคน จนทำให้แต่ละคนในครอบครัวมีความรู้สึกห่างเหินกัน หนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าความตายของคนหนึ่งได้ทิ้งปมปัญหาไว้ในใจของคน ที่ยังอยู่อีกมากมาย โดยเฉพาะความรู้สึกผิด คนเรามักจะโทษตัวเองไม่หยุดหย่อนทั้งที่ความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นความจริงที่ไม่มีใครหนีพ้น แต่คนอยู่กลับปล่อยวางไม่ได้เสียเอง อย่างไรก็ตามหนังเรื่องนี้จบลงที่การปล่อยวางและคลายความรู้สึกผิด ทำให้ทุกคนเป็นอิสระและกลับมาเป็นครอบครัวที่อบอุ่นเหมือนเดิม
Departures(Okuribito) – โยจิโร ทาคิตะ
เป็นหนังที่มีหลายประเด็นซ้อนกันได้อย่างกลมกลืน ทั้งเรื่องคุณค่าของการงาน เรื่องความผูกพันกับชุมชน เรื่องความเสียสละ แต่ที่โดดเด่นที่สุดก็คือเรื่องชีวิตกับความตาย พระเอกทำงานเป็นผู้ตกแต่งศพ เดิมเขาเป็นนักเล่นเชลโล่ซึ่งเป็น Hi-Art แต่ตกงาน แล้วต้องทำงานแต่งศพซึ่งเป็นงานที่ต่ำต้อยในสายตาของผู้คน เพื่อนไม่เข้าใจ เมียก็ทิ้ง ทั้งที่จริงๆ แล้วงานของเขาเป็นงานที่มีคุณค่ามาก เพราะช่วยเยียวยาจิตใจของญาติผู้ตาย และต้องอาศัยศิลปะไม่น้อย เป็นงานที่ต้องอาศัยความรักอย่างมาก นับเป็นหนังที่ดูแล้วอบอุ่น เข้าใจชีวิต ครอบครัว การงาน ความตาย และช่วยเยียวยาจิตใจของผู้สูญเสียได้เป็นอย่างดี
I Don’t Believe
เดี๋ยวนี้เราเชื่อเรื่องเวรกรรม เรื่องเจ้ากรรมนายเวรกันไปแบบเตลิดเปิดเปิง จนกลายเป็นการส่งเสริมความเห็นแก่ตัว อาตมาเคยเห็นหมอและพยาบาลบางคนไม่กล้ารักษาคนป่วยหนักใกล้ตาย ไม่อยากไปช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดให้เขา เพราะคิดว่านี่คือผลจากเจ้ากรรมนายเวร และผู้ป่วยใกล้ตายกำลังชดใช้กรรมอยู่ กลัวว่าถ้าเราไปช่วยเขา เจ้ากรรมนายเวรจะไม่พอใจ จะมาเล่นงานเราแทน เรารู้ได้อย่างไรว่าเขากำลังใช้กรรม
พระพุทธเจ้าตรัสว่ามีความเชื่อนอกหลักพุทธศาสนา ๓ อย่าง ๑ ใน ๓ ก็คือความเชื่อว่าสุขทุกข์ในปัจจุบันเป็นผลจากชาติก่อน ความคิดแบบนี้ไม่ใช่ศาสนาพุทธ สุขทุกข์ในปัจจุบันอาจเป็นผลจากการกระทำในชาตินี้ก็ได้ อย่างไปเหมาให้เป็นเรื่องชาติที่แล้วหมด เพราะมันจะทำให้เกิดความงมงายจนไม่ยอมพึ่งตนเองทำให้ตกเป็นทาสของพิธีกรรม อะไรอีกมากมายที่อยู่นอกเหนือคำสอนของพุทธศาสนา และกลายเป็นเหยื่อของคนที่ต้องการหาผลประโยชน์ ยิ่งเชื่อแบบนี้ยิ่งหลงทาง ยิ่งเชื่อยิ่งประมาท เพราะทำให้คิดว่าทำอะไรก็ได้ ถ้าทำแล้วมีปัญหา เดี๋ยวเราค่อยแก้กรรมกัน ไปตัดกรรมกันทีหลัง
------
ประวัติพระไพศาล วิสาโล เดิมชื่อ ไพศาล วงศ์วรวิสิทธิ์ ท่านเป็นชาวกรุงเทพฯ เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปะศาสตร์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ระหว่างเรียนที่ธรรมศาสตร์ เคยเป็นสาราณียกรปาจารยสาร เป็นเจ้าหน้าที่กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม และเป็นแอ็คทิวิสต์ที่มีบทบาทร่วมในเหตุการณ์เดือนตุลาคม ๒๕๑๙ อย่างมาก ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ได้บวชเรียนมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต แต่ส่วนใหญ่ท่านพำนักอยู่ที่วัดป่ามหาวัน อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ
ในปัจจุบัน ท่านทำงานอบรมและเป็นกรรมการให้กับเครือข่ายพุทธิกา มูลนิธิโกมลคีมทอง มูลนิธิสุขภาพไทย มูลนิธิสันติวิธี สถาบันสันติศึกษาและสถาบันวิจัยและพัฒนา แห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น และสภาสถาบันอาศรมศิลป์ นอกจากนี้ ท่านยังเขียนหนังสือ แปล เขียนบทความอยู่เป็นประจำ
เวลามีชีวิตอยู่ สิ่งหนึ่งที่เรามักเป็น ไม่ว่าจะมีทุกข์หรือสุข ก็คือการที่เรา ‘ลืม’ ไปว่าเราจะต้องตาย เมื่อลืมเช่นนั้นก็ทำให้เราลืมที่จะเตรียมตัวตาย และลืมไปว่าเราควรมีชีวิตอยู่อย่างไรด้วย
ที่จริง คงไม่มีเรื่องใดที่จะกระทบใจเราได้มากเท่ากับเรื่อง ‘ความตาย’ อีกแล้ว ยกเว้นเรื่องราวการเผชิญหน้ากับความตาย และเป็นการเผชิญหน้าอย่างสงบ