Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

เรื่องเล่าสีขาว บันทึกจิตอาสาข้างเตียง ฉบับที่ ๑

-A +A

        และแล้วก็ถึงวันเริ่มภารกิจ “จิตอาสาข้างเตียง”   เรานัดกันที่ตึกว่องวาณิช ชั้น ๕ รพ.จุฬาเพื่อรับคนไข้ที่เราจะต้องดูแล   วันนัดฉันไปถึงสายเช่นเคย  (แต่มีคนสายกว่าฉัน ฮา)   เหมือนเขาจะเริ่มพูดคุยกันได้เล็กน้อย  ในการประชุมเพื่อรับเคสครั้งนี้ ฉันต้องพบกับคำถาม “ทำไมถึงอยากมาเป็นจิตอาสา”  เหตุผลเพื่อให้เราทบทวน ถามตัวเองอีกครั้งว่าเราทำเพื่ออะไร  บ้างก็ตอบว่า ต้องการทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์  บ้างก็อยากทำเพราะสงสารคนไข้ แล้วก็ว่างๆ อยู่  มีบ้างที่ตอบว่าทำเพื่อตัวเอง หมายถึงทำเพื่อ “เติมเต็มให้ตัวเอง”  วันนั้นฉันตอบคำถามวิทยากรไปว่า  ฉันทำเพื่อชดเชย ชดใช้ให้กับคนไข้รายหนึ่ง

        ........................

        ความจริงฉันนึกว่าฉันลืมคนไข้รายนี้ไปแล้ว  แต่ในวันอบรมจิตอาสาเมื่อตอนที่วิทยากรให้เล่น “บทบาทสมมุติ” โดยจับคู่กัน คนหนึ่งเป็นคนไข้  อีกคนเล่นเป็นจิตอาสา   บทบาทของคนไข้ถูกกำหนดให้เป็นคนไข้มะเร็งระยะสุดท้าย สิ้นหวัง และคิดถึงบ้าน เป็นห่วงลูกที่ยังเล็ก  ต้องการให้ถ่ายทอดอารมณ์ออกมาโดยให้ฝ่ายที่เป็นจิตอาสาได้ทดลองการช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของคนไข้   ฉันเลือกที่จะเล่นเป็นคนไข้โดยคิดขำๆ ในใจว่า ให้แสดงเป็นคนไข้เนี่ยนะ  ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเล่นละครเลยด้วยซ้ำ  แล้วจะทำยังไงเนี่ย  แต่เมื่อวิทยากรบอกว่า “เริ่มได้”  เมื่อน้องจ๋าจิตอาสาที่จับคู่กับฉันเดินเข้ามา  ฉันก็เริ่มสวมบทบาทคนไข้  คนแรกที่ฉันนึกถึงคือ พ่อฉันเอง  เมื่อปลายปี ๒๕๕๓ ท่านมีแผลที่เท้าจากการเตะฟุตบาธ  แผลเล็กๆ ที่นิ้วหัวแม่เท้าเท่านั้น แต่เพราะพลาดในการดูแล  วันแรกหลังกลับจากทำแผลที่รพ.พ่อก็ชะล่าใจว่าแผลเล็กๆ  ก็เลยคว้าสายยางไปรดน้ำต้นไม้  ผลคือแผลเปียกน้ำและติดเชื้อเรียบร้อย  คงด้วยอากาศเย็น  หลอดเลือดที่เท้าของพ่อฉันมีปัญหาอยู่เดิมแล้วไม่รู้ (พ่อออกกำลังกายด้วยการเดิน/วิ่งรอบสนามและมักเป็นตะคริวบ่อย) ทำให้แผลที่ดูว่าเล็กกลับไม่มีทีท่าว่าจะหาย  ตรวจเบาหวานก็ไม่พบอะไร   หลังจากเพียรทำแผล ฉีดยาฆ่าเชื้ออยู่ร่วม ๓ อาทิตย์ แผลก็ไม่ดีขึ้น มีรอยดำคล้ำรอบแผลคล้ายเนื้อตาย  ในที่สุดคุณหมอต้องเรียกฉันไปคุยเพื่อพิจารณาร่วมกันที่จะตัดเนื้อตายบางส่วนที่ปลายนิ้วออก  ก็คือตัดนิ้วบางส่วนน่ะแหละเพื่อให้แผลหายเสียที  ผลก็โดนตัดนิ้วหัวแม่เท้าส่วนปลายจนถึงขอบล่างของเล็บ  และทำแผลต่ออีกราว ๑ สัปดาห์ถึงได้กลับบ้าน   จำได้ว่าวันแรกที่พวกเราพาพ่อกลับถึงบ้านเมื่อรถแล่นผ่านสนามฟุตบอลหน้าโรงเรียนที่พ่อไปวิ่งประจำทุกวัน  พ่อถึงกับรำพึงว่า “สนามดูเปลี่ยนไปนะ”  แววตา น้ำเสียงของพ่อราวกับว่าไม่ได้กลับบ้านมาเป็นปี

        ฉันนึกถึงความรู้สึกของพ่อที่อยากกลับบ้าน คิดถึงบ้านแล้วบรรยายออกมา     น้องจ๋าก็พยายามปลอบใจ  แล้วภาพในใจฉันก็เปลี่ยนเป็นคนไข้อีกรายหนึ่ง

        แม่เพิ่ม  เป็นคนไข้ที่คนรู้จักกันฝากฉันให้เยี่ยม ดูแล  แม่เพิ่มป่วยเป็นมะเร็งมดลูกระยะที่ ๓  มารักษาด้วยการผ่าตัด  แล้วต่อด้วยการฝังแร่   โดยคนไข้จะถูกนำไปอยู่ เพียงลำพัง ในห้องที่มีกำแพงหนาเพื่อกันรังสีแผ่กระจายออกนอกห้อง อย่างน้อย ๗๒ ชม.  โดยจะมีเจ้าหน้าที่รวมถึงญาติที่จะเข้าไปดูแลเฉพาะเวลารับประทานอาหารและยาเท่านั้น  เมื่อเข้าไปอยู่ในห้องจะรู้สึกได้ถึงความเย็นชื้นๆ คงเพราะผนังห้องเป็นโลหะเพื่อกันรังสี  และมีกลิ่นฉุนอับๆ ของแร่กัมมันตรังสีอบอวลในนั้น  เมื่อพูดคุยกันจะรู้สึกเสียงก้องๆ    บรรยากาศภายในห้องทำให้แม้แต่ฉันซึ่งเข้าไปอยู่เพียงครู่เดียวยังรู้สึกอึดอัด   แม่ฝังแร่จนครบ ทว่าโรคไม่ตอบสนองต่อการรักษา  มะเร็งยังคงลุกลามไปต่อยังกระดูก  ทำให้แม่มีอาการปวดทั่วตัวเกือบตลอดเวลาต้องอาศัยยาแก้ปวดที่แรงมาก เริ่มจากให้กินมอร์ฟีนเม็ด  มอร์ฟีนน้ำ  ในที่สุดก็ต้องให้น้ำเกลือผสมยามอร์ฟีนหยดต่อเนื่องจึงจะบรรเทาปวดลงได้  นั่นเป็นเหตุผลทำให้แม่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลตลอด  ไม่ได้กลับไปบ้านเลย  แม้แม่จะได้รับมอร์ฟีนตลอดเวลาแต่แม่ก็ยังรู้สึกตัวดีเพียงแต่จะเบลอๆ บ้าง  ทว่าผลของมอร์ฟีนรวมถึงผลของมะเร็งก็ทำให้แม่กินอาหารได้น้อย เรี่ยวแรงเริ่มลดลง  ฉันได้แต่เศร้าใจแต่ไม่รู้จะช่วยยังไง   จนกระทั่งวันหนึ่ง ..

        ฉันแวะไปเยี่ยมแม่เพิ่มตามปกติ พูดคุยเล่าเรื่องจิปาถะเพื่อเรียกรอยยิ้มของแม่เป็นระยะ  วันนั้นสามีของแม่อยู่ด้วย  เมื่อฉันจะลากลับพร้อมกับบอกว่าฉันคงจะไม่อยู่อีก ๓ วันเพราะต้องไป “งานดนตรีไทยอุดมศึกษาที่เชียงใหม่”  แม่เพิ่มดูลุกลี้ลุกลน เร่งเร้าให้สามีของแม่คุยกับฉัน  ท่าทางสามีของแม่ดูเกรงใจแต่ก็ขัดแม่เพิ่มไม่ได้  แม่เพิ่มต้องการขอกลับไปบ้าน  ตอนนั้นฉันคิดเพียงว่าอยากให้แม่ไม่ปวด ไม่ทรมาน   ถ้ากลับไปอยู่ที่บ้านแล้วยาแก้ปวดที่ฉีดทางสายน้ำเกลือจะทำยังไง  คงต้องเตรียมการกันก่อน   แต่ด้วยความรีบเพราะพรุ่งนี้ต้องไปเชียงใหม่  ยังต้องจัดเตรียมอีกหลายเรื่องก็เลยตัดบทว่า ไว้ฉันกลับจากเชียงใหม่ก่อนแล้วกัน  แล้วก็จากมา  ภาพสุดท้ายที่ฉันเห็นคือ ท่าทางหงุดหงิดเสียใจของแม่เอียด   สีหน้าที่เศร้าหมอง แววตาที่สิ้นหวังจับจ้องมองตามฉันจนลับตา

        ในที่สุดเมื่อภารกิจที่เชียงใหม่สิ้นสุด  ฉันก็เดินทางกลับ  เมื่อฉันกลับถึงหอพักหลังจากเก็บข้าวของเสร็จก็ลงนอนพักเพื่อให้หายเพลียตั้งใจว่าเมื่อตื่นแล้วจะไปเยี่ยมแม่เพิ่ม  แต่คงเป็นเพราะฉันเพลียจากการเดินทางทำให้ฉันเผลอหลับไปนานเมื่องัวเงียลุกขึ้นจากเตียง ฟ้าก็มืดแล้ว  จึงเปลี่ยนใจว่าจะไปเยี่ยมแม่เพิ่มวันรุ่งขึ้น  ทว่าเมื่อถึงวันรุ่งขึ้น ขณะฉันกำลังเดินทำงานดูแลคนไข้อยู่ที่ตึก  ฉันก็ได้รับโทรศัพท์แจ้งข่าวร้ายว่า แม่เพิ่มเสียชีวิตแล้วตั้งแต่เมื่อวานแทบจะเป็นเวลาเดียวกับที่ฉันลุกขึ้นมาจากเตียงที่หอพักนั่นเอง  วันนั้นฉันรีบร้อนลงเวร เปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อไปให้ทันรดน้ำศพ  เมื่อถึงศาลา ทันทีที่เห็นหน้าสามีของแม่เพิ่ม น้ำตาก็ไหลพรากอาบหน้า  ฉันร้องไห้สะอึกสะอื้นเสียงดังจนแขกเหรื่อในงานพากันตกใจ แปลกใจ    ร้องด้วยความอัดอั้นตันใจ เสียใจที่ฉันไม่ยอมฟัง ไม่ยอมช่วยให้แม่เพิ่มได้กลับบ้าน เพียงเพราะฉันห่วงแต่ธุระของตัวเอง  ไม่เคยฟังสิ่งที่แม่เพิ่มต้องการจริงจังเลยสักครั้ง  ฉันคิดเองเออเองว่าถ้าแม่เพิ่มไปอยู่บ้านแล้วคงลำบากเรื่องยาแก้ปวด  ไม่เคยที่จะหารือกับทางบ้านของแม่เพิ่ม หารือกับทางแม่เพิ่มว่าเขาลำบาก ยุ่งยากอย่างที่ฉันคิด ฉันเข้าใจหรือเปล่า   บางทีด้วยฐานะทางสังคมของเขา ด้วยฐานะทางครอบครัว การให้ยาแก้ปวดทางสายน้ำเกลือโดยที่ต้องจ้างพยาบาล จ้างแพทย์ไปช่วยดูแลอาจไม่ยากอย่างที่ฉันคิด ...

        ...........................

        ฉันสมัครมาเป็นจิตอาสาข้างเตียงครั้งนี้เพื่อหวังที่จะแก้ตัว  แม้ว่ามันจะไม่สามารถเรียกวัน/เวลาที่ผ่านไปแล้วให้หวนคืนได้  ไม่สามารถชดใช้คืนให้กับแม่เพิ่มได้  แต่อย่างน้อย ...

ฉันอาจช่วยเป็นคนกลาง รับฟังทั้งคนไข้และญาติ
ช่วยประสานให้เขาได้พูดคุยกันอย่างเปิดใจ
ได้มีโอกาสที่จะปรึกษาหารือกันเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดที่คนไข้ต้องการ 
ที่เหมาะสมกับเขาจริงๆ

ที่มา: