Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

อาสาสมัครข้างเตียง

-A +A

 หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน วันที่ 28 มีนาคม 2551


       ในวันสุดท้ายของชีวิตของท่านทาจิ ปรมาจารย์เซนคนหนึ่งของญี่ปุ่น ศิษย์ผู้หนึ่งของท่านทราบว่ามีขนมเค้กชนิดหนึ่งที่อาจารย์ชอบมาก จึงเที่ยวไปเสาะหาตามร้านขนมเค้กในกรุงโตเกียวเป็นเวลาครึ่งวัน ซึ่งท่านทาจิก็รับไปรับประทานอย่างเหนื่อยอ่อนเต็มที ระหว่างนั้นบรรดาศิษย์จึงถามขึ้นว่าท่านอาจารย์ต้องการสั่งเสียอะไรหรือไม่
       “มีสิ”       
       เหล่าศิษย์จึงยื่นหน้าเข้าไปฟังด้วยความอยากรู้      
       “โปรดบอกเราด้วยเถิด”      
       “คือ...เค้กนี้อร่อยมาก” แล้วท่านปรมาจารย์ทาจิก็จากไป       

       (จากหนังสือ ‘มรณกรรมที่งดงาม วาระสุดท้ายของเหล่าบรมครูแห่งจิตวิญญาณ’ แปลโดยธารา รินศานต์ สำนักพิมพ์โกมลคีมทอง)

 

          ในคำนำของหนังสือเล่มดังกล่าว พระไพศาล วิศาโล ได้อธิบายถึงพฤติกรรมของปรมาจารย์ทาจิว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็น ปกติของความตายที่ไม่แตกต่างจากการกิน นอน หรือเดิน ดังนั้น สำหรับผู้ที่พร้อมแล้วความตายก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์

          คำถามมีอยู่ว่าแล้วมนุษย์ยุคนี้หลงลืมไปหรือเปล่าว่า สักวันจะต้องจากโลกนี้ไป ที่ว่าหลงลืมก็เพราะเรามักเห็นการกอบโกยอำนาจ เงิน และลาภยศกันอย่างดุเดือด (โดยเฉพาะนักการเมือง ที่เราสงสัยยิ่งว่าพวกท่านคิดว่าตัวเองเป็นอมตะหรือไร) บ้างก็ถึงขั้นฆ่าแกง

          เครือข่ายพุทธิกา ซึ่งมีวัตถุประสงค์ต้องการดึงพุทธศาสนากลับมาสู่ชีวิตประจำวันของผู้คนที่ สามารถนำไปใช้เพื่อชีวิตที่สงบสุข (ไม่ใช่เอาวางไว้บนหิ้งแล้วจุดธูปบูชา หรือเอาไว้ป่าวร้องว่าฉันเป็นคนดี หรือบอกใครต่อใครว่าฉันนับถือศาสนาพุทธ) จึงได้จัดกิจกรรมดีๆ และน่าสนใจขึ้น

          เป็นกิจกรรมที่จะ พาเราไปใกล้ชิดความตาย เป็นการใกล้ชิดที่อาจไม่ใช่การใกล้บรรลุ หากเป็นการใกล้ชิดที่ทำให้ใครบางคนเข้าใจชีวิต เติมเต็มผู้อื่น สะท้อนวิถีของการแพทย์สมัยใหม่ ที่สำคัญที่สุดคือการได้เรียนรู้และเข้าใจตนเองมากขึ้น

          นี่คือประสบการณ์บางส่วนเสี้ยวของอาสาสมัครผู้ใกล้ชิดความตาย...

 

รู้จักความตาย

          ไม่แน่ใจว่าด้วยลักษณะบางประการของสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองไทยหรือไม่ จึงทำให้ทัศนคติเกี่ยวกับความตายค่อนข้างเบี่ยงไปในทางลบ แม้ว่าในปัจฉิมโอวาทของพระสัมมาพุทธเจ้าได้กล่าวว่า ‘จงมีชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท’ แต่เอาเข้าจริงๆ มันกลับถูกจำกัดความในทำนองเหมือนกับว่าอย่าประมาทเวลาขับรถ หรือไม่...ก็ไม่ทราบได้ ทั้งที่คำกล่าวสุดท้ายนั้นเกี่ยวข้องกับความตายอย่างชัดเจน

          แต่ความตายกลับเป็นเรื่องต้องห้าม เป็นเรื่องอัปมงคลของบ้านเรา ขณะที่พุทธศาสนาสายมหายาน เช่น สายวัชรญาณ ตันตระ เซน มีการกล่าวถึงความตายมากกว่า มากกว่าในที่นี่ไม่ได้หมายความพุทธเถรวาทแบบไทยไม่ให้ความสำคัญ แต่น่าจะเป็นเพราะสังคมไทยไม่ให้ความสำคัญหรือไม่อยากให้ความสำคัญ

          วรรณา จารุสมบูรณ์ จากเครือข่ายพุทธิกา ผู้จัดการโครงการเผชิญความตายอย่างสงบ เล่าว่าโครงการนี้มีจุดตั้งต้นจากโครงการฉลาดทำบุญที่ต้องการแสดงให้เห็น ว่ามีวิธีทำบุญหลายรูปแบบมากกว่าการให้ทานหรือใส่บาตร บวกกับความคิดที่ว่าควรจะขยายพื้นที่การทำบุญให้กว้างขวาง จึงเกิดเป็น โครงการอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า อาสาสมัครข้างเตียง เป็นการนำเรื่องจิตอาสาและศาสนธรรมมาผนวกรวมเข้าด้วยกัน โดยไม่มีการแบ่งแยกศาสนา ศาสนิกชนไม่ว่าจะศาสนาใดสามารถเข้าร่วมได้ วรรณาบอกว่าชาวมุสลิมหรือชาวคริสต์ที่เข้าร่วมต่างก็บอกว่าเรื่องนี้เป็น เรื่องสากล ทุกศาสนาต่างกล่าวถึงความตายเช่นเดียวกัน

          “จะมีอะไรที่ทำให้คนหันมาสนใจศาสนา ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิต และการอยู่โดยไม่ประมาทได้ แต่พอเราพูดถึงเรื่องความตายมันสร้างการมีส่วนร่วมของคนในระดับหนึ่งเพราะ ทุกคนต้องตาย และทุกคนเคยสูญเสียคนที่ตนเองรัก ทุกคนต่างเผชิญสถานการณ์ตรงนี้เหมือนกันหมด และเหมือนกับว่าความตายในความหมายของคนปัจจุบันมันคือวิกฤต ทุกครั้งที่เผชิญวิกฤตทุกคนจะหาที่พึ่ง สิ่งหนึ่งก็คือศาสนา ความเชื่อ หรือคนที่ไว้วางใจ”

          โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ ประกอบด้วยตัวกิจกรรมหลายกิจกรรม แต่หนึ่งในนั้นคือ การอบรมเชิงปฏิบัติการการเผชิญความตายอย่างสงบ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสสำรวจทัศนคติและขยายมุมมองของ ตนเองเกี่ยวกับความตาย รวมถึงการให้ผู้เข้าร่วมได้ทดลองตาย ซึ่งวรรณาบอกว่าบางคนก็ไม่สามารถทนสภาวะตรงจุดนั้นได้ บางคนบอกว่าตอนนี้ยังตายไม่ได้เพราะภาระที่ตนเองแบกหามอยู่ หรือบางคนร้องไห้ออกมาก็มี

 

ฟังอย่างตั้งใจ

          ไม่ใช่ครั้งแรกของ สุรชัย ใจสูงเนิน เจ้าหน้าที่ประกันคุณภาพ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับการเข้าร่วมกิจกรรมของเครือข่ายพุทธิกา ก่อนหน้านี้เขาเป็นอาสาสมัครนวดเด็กอ่อนบ้านปากเกร็ด เขาบอกว่าระหว่างที่นวดเด็กน้อย ความเหมือนรู้สึกได้ถูกถ่ายทอดระหว่างกัน เด็กยิ้ม หัวเราะ เขาก็ยิ้มและหัวเรา “รู้สึกว่าความรักที่อยู่ข้างในมันเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา” การกลับมาเป็นอาสาสมัครข้างเตียง เขาคิดว่าเป็นการทดลองใช้ชีวิตอีกครั้งหนึ่ง

          ผู้ป่วยที่เขารับหน้าที่ดูแลเป็นชายหนุ่มวัยไล่เลี่ยกันที่พยายาม ฆ่าตัวตายด้วยการกินน้ำยาล้างห้องน้ำ เราถามสุรชัยว่าต้องทำอะไรบ้าง?

          “ไปฟังอย่างเดียว เพราะผู้ป่วยคนที่ผมดูแลเป็นคนคุยเก่ง อายุก็ไล่เลี่ยกัน เลยเข้าใจกันดี เขาจะเล่าในเรื่องที่เขาไม่ได้เล่าให้พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ให้ผมฟัง พอเรารู้จักเขาไปสักระยะหนึ่งเขาก็จะเริ่มเล่าออกมา ซึ่งหลายเรื่องเป็นเรื่องสะเทือนใจที่เขาเก็บเอาไว้ เขาก็ดูจะสบายใจขึ้นและเริ่มสนิทสนมกันมากขึ้น ความไว้เนื้อเชื่อใจตรงนี้ ผมคิดว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะทำให้เรารู้ว่าเราจะดูแลเขายังไงต่อไป”

          เหมือนกับจะง่ายที่จะทำให้ใครสักคนเปิดใจกับเราด้วยการฟังคนคนนั้น อย่างตั้งใจ แต่ยากตรงที่เราจะสามารถฟังใครสักคนได้อย่างตั้งใจหรือไม่ต่างหาก ในกระบวนการสุนทรียสนทนา แม้ชื่อจะมีคำว่าสนทนา แต่แท้จริงแล้วหัวใจของสุนทรียสนทนาอยู่ที่การฟังผู้อื่นอย่างตั้งใจ และสุรชัยก็นำสิ่งที่ผู้ป่วยซึ่งต่อมากลายเป็นเพื่อนของเขามาคิดใคร่ครวญ เพื่อเข้าใจตนเอง เพ็รชลดา ซึ้งจิตสิริโรจน์ ผู้ประสานงานโครงการอาสาสมัครฯ เสริมว่า

          “ส่วนใหญ่คนจะเข้าใจว่าการเป็นอาสาสมัครคือเป็นคนให้ แต่อาสาสมัครของเราจะต้องเป็นคนรับฟัง และพยายามทำความเข้าใจว่าผู้ป่วยคิดและรู้สึกยังไง แล้วเราจะเข้าใจว่าผู้ป่วยต้องการอะไร แต่ถ้าคิดว่าเรามีสิ่งนั้น สิ่งนี้ มีคำแนะนำที่ดี แล้วเอามาให้ มันก็จะกลายเป็นการยัดเยียดให้ผู้ป่วย บางคนก็สงสัยว่ามานั่งฟังผู้ป่วยจะช่วยเขาได้เหรอ? แต่สักพักก็จะรู้ว่าแค่ฟังก็พอแล้ว”

       

การเข้าไปใกล้ชิดกับความตายให้อะไรมากกว่าที่คิด

          “พอเราสนิทสนมกันไปสักพักหนึ่ง ผมก็รู้ว่าเขาเรียนจบด้านศิลปะ ผมเลยลองให้เขาวาดรูปซึ่งก่อนหน้านั้นญาติพี่น้องเขาก็พยายามให้เขาวาดรูป แต่เขาปฏิเสธ ส่วนผมแค่เอาสมุดวาดเขียนกับปากกาไปวางไว้ ก็เริ่มเห็นเขาสเก็ชต์ ผมเลยบอกกับเขาว่าลองใช้สีมั้ย ผมว่านี่เป็นจุดสำคัญ มันทำให้กำลังใจหรือความเชื่อมั่นของเขากลับคืนมา และเมื่อสิ่งเหล่านี้กลับมา ฝีมือที่เขามีอยู่ก็สร้างประโยชน์ให้กับตึกที่เขาพักอยู่ได้ เขาไปจัดบอร์ด จัดป้าย แล้วก็เกิดความภาคภูมิใจ เวลาผมไปเยี่ยม เขาก็พาไปชี้ให้ดูว่าเป็นฝีมือเขา

          “มีคนกระแนะกระแหนผมว่าดูแลพ่อแม่ดีหรือยัง ถึงจะมาดูแลผู้ป่วย แต่พอมาทำตรงนี้ ผมก็คิดได้ว่าเมื่อเรามาดูแลผู้ป่วย แล้วเราจะกลับไปดูแลพ่อแม่ได้ดีขึ้น เพราะเรากับผู้ป่วยมีระยะห่างกัน เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงและเรียนรู้ที่จะยอมรับ เพราะเรารักพ่อแม่เราอยู่แล้ว แต่บางทีเราอาจจะจมอยู่กับความรักนั้น เมื่อเรากลับไปที่บ้าน เราจะเห็นว่าเราควรมีระยะห่างแบบนี้เพื่อจะได้ดูแลพ่อแม่ได้ดีขึ้น”

          อยากรู้มั้ยว่าทำไมหนุ่มศิลปินคนนี้จึงอยากตาย เชื่อว่าคงอยากรู้ สุรชัยก็อยากรู้ แต่เมื่อเวลาของการดูแลกันผ่านไปชั่วระยะหนึ่ง ความสงสัยของสุรชัยก็หมดไป เขารู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องรู้และควรปล่อยเป็นหน้าที่ของผู้ป่วยที่จะคลี่ คลายภาวะภายในของตนเอง รักษาคน

          ภาพยนตร์เรื่อง PATCH ADAMS ที่สร้างจากเรื่องจริง มี Robin William เป็นนักแสดงนำ มีฉากหนึ่งที่อาจารย์พานักศึกษาแพทย์เข้าไปเรียนรู้ในโรงพยาบาล เมื่อผ่านเตียงผู้ป่วยคนหนึ่งที่วางแหมะอยู่ริมทางเดิน อาจารย์ก็อธิบายเกี่ยวกับโรคภัยของผู้ป่วยคนนี้เป็นคุ้งเป็นแคว ส่วนนักศึกษาแพทย์เกือบ 10 คนก็ซักอาการเจ็บไข้อย่างเอาเป็นเอาตาย ผู้ป่วยก็หน้าหงิกขึ้นทุกที คงเกิดอารมณ์หงุดหงิดเต็มประดาว่า ‘นี่พวกแกจะถามอะไรฉันนักหนา นี่ฉันกำลังป่วยนะ (โว้ย)’ แต่นักศึกษาแพทย์ที่ชื่อแพทช์ อดัม เป็นนักศึกษาแพทย์คนเดียวที่ถามว่า ‘คุณชื่ออะไรครับ?’ ผู้ป่วยหญิงคนนั้นบอกชื่อและส่งรอยยิ้มให้เขา ขณะที่คนอื่นๆ เดินจากไปแล้ว

          ผู้ป่วยกลายเป็นอุปกรณ์ การศึกษา แพทย์คือผู้รักษาโรคแต่ไม่ได้รักษาคน แพทย์ถอยห่างออกจากคนไข้ แต่มีความสัมพันธ์ในฐานะมนุษย์ต่อมนุษย์น้อยลงทุกที

          ที่เกริ่นมายืดยาวขนาดนั้น เพราะมีนักศึกษาแพทย์ 2 คนจะมาเล่าประสบการณ์การเป็นอาสาสมัครข้างเตียงให้เราฟัง

          2 สาวนักศึกษาแพทย์-ผการัตน์ รัตน์ประโคน และ นิภาภรณ์ อินทรธิกูด นิสิตแพทย์ปี 2 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับมอบหมายให้ดูแลผู้ป่วยลูคีเมียระยะสุดท้าย พวกเธอก้าวเข้าห้องผู้ป่วยด้วยอาการกล้าๆ กลัวๆ ในครั้งแรก

          “เราเข้าไปในห้องพร้อมกัน เริ่มแนะนำตัว คุยกัน” ผการัตน์เริ่มเล่า “เราไม่ได้ตั้งใจไปเอาความรู้หรือรักษา หรือทำอะไรแบบหมอๆ แต่เราเข้าไปในฐานะลูกหลาน ทีแรกพี่เขาก็นอนฟังอยู่เฉยๆ ฟังพวกหนูคุยกับป้าๆ ผู้ป่วยคนอื่นในห้องซึ่งเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายทุกคน สักพัก พี่เขาก็ลุกขึ้นมาคุยด้วย จนลืมไปว่าเขาเจ็บอยู่ แล้วพอพวกหนูจะกลับ พี่เขาก็บอกว่าจะกลับแล้วเหรอ ที่นี่อยู่ได้ถึง 3 ทุ่มนะ แต่เราบอกว่าเดี๋ยววันหลังจะกลับมาใหม่ นี่คือวันแรก”

          ทั้งสองได้เรียนรู้วิธีที่จะสัมพันธ์กับผู้ป่วยในฐานะญาติ และเข้าใจสิ่งที่อาจารย์บอกกล่าวมากขึ้นว่าจงรักษาคน ไม่ใช่รักษาโรค

          ผการัตน์และนิภาภรณ์ยังได้ตระหนักว่าการเป็นอาสาสมัครดูแลผู้ป่วย ประหนึ่งว่าเธอวางตัวเองในตำแหน่งของการเป็นผู้ให้ แต่ไม่ใช่ ป้าๆ พี่ๆ ในห้องผู้ป่วยลูคีเมียระยะสุดท้ายก็ได้ให้พวกเธอไม่น้อยไปกว่ากัน ไม่ใช่การให้สิ แต่คือการแบ่งปันกันและกัน

          “ตอนแรกที่มาทำโครงการเหมือนกับเราจะไปให้ แต่สุดท้าย พอจบโครงการกลับเป็นว่าเราได้รับอะไรมากมาย เราได้รู้จักคิด รู้จักตัวเอง อย่างป้าๆ เขาก็คงรู้ว่าจะมีเวลาในชีวิตอีกไม่มาก เขาก็เลยทำให้ทุกวันของชีวิตมีความสุข แต่เราไม่ได้เป็นอะไรเลย ไปเที่ยวได้ ทำไมถึงชอบบ่นว่าตัวเองไม่มีความสุข เหมือนเขามาช่วยเติมกำลังใจให้เรามากกว่า พวกเขาสนิทกันมากๆ การพูดคุยทุกอย่างเป็นความสุขไปหมดเลย ตอนแรกเราคิดว่าถ้าเราต้องป่วยแบบนี้ เราจะรู้สึกดีได้ขนาดนี้หรือเปล่า” ผการัตน์เล่า

          มันยังทำให้ทั้งสองรู้อีกว่าจริงๆ แล้วความตายอยู่ใกล้ตัวเรามาก ความตายไม่ใช่สิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับชีวิต หากแต่มันคือสิ่งเดียวกัน

          “จริงๆ แล้วความตายก็ไม่ใช่สิ่งน่ากลัว” นิภาภรณ์ตอบคำถามนี้ด้วยรอยยิ้มแบบไม่มั่นใจนัก แต่เธอก็พูดต่อ “เพราะถ้าจะตายจริงๆ ก็คงทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว ถึงจุดนั้นเราคงต้องยอมรับ ทุกวันเราจึงต้องเตรียมพร้อมกับมัน และสักวันหนึ่ง ยังไงๆ มันก็ต้องเกิดกับคนใกล้ตัวเราอยู่ดี อย่างน้อยเราก็กลับมามองตัวเราเองด้วยว่าเราจะทำอะไรบ้าง”

          เราถามนิภาภรณ์เล่นๆ ว่าถ้าให้เลือกเป็นอมตะได้ เอาหรือเปล่า?

          “อมตะเป็นอะไรที่ไม่สิ้นสุด แต่ชีวิตเป็นอะไรที่สิ้นสุด มันก็ดีอย่างหนึ่ง เราจะได้รู้ว่าเราควรจะรีบทำสิ่งที่เราอยากทำเดี๋ยวนี้”

 

เรียนรู้จากความตาย

          ใช่ว่าอาสาสมัครทุกคนจะผ่านหน้าที่ไปได้อย่างราบรื่น มีเหมือนกันที่ต้องเผชิญกับผู้ป่วยที่ปิดล้อมตัวเองไว้ในกำแพงแห่งตนอย่าง แน่นหนา อาสาสมัครบางคนถึงกับท้อ โทรมาปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของทางเครือข่าย

          “บางกรณีคนไข้อยู่ในภาวะปิดตัวเอง ไม่อยากให้คนรู้สึกว่าเขาอ่อนแอ หรือต้องได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่น เพราะมันก็ยากสำหรับคนที่ประสบความสำเร็จมาทั้งชีวิต หมอกับพยาบาลอาจมองว่าเป็นคนไข้ที่เรื่องมาก แต่คนไข้พวกนี้จะมีพื้นที่ส่วนตัวสูง จึงไม่ยอมรับคนที่เดินเข้ามาง่ายๆ มีหลายกรณีที่หันหลังให้ ไม่พูดด้วย

          “เราก็พยายามบอกอาสาสมัครว่าให้คิดว่าคนข้างหน้าเป็นคนที่มีความทุกข์ ดังนั้น สิ่งที่เขาแสดงออกอาจจะเป็นกำแพงที่เขาใช้ป้องกันความเปราะบางของตัวเอง เขายังไม่พร้อม ถ้าเราเชื่อมั่นว่าเขาเป็นคนที่กำลังมีความทุกข์ ความเมตตาของเราก็จะทำให้เขาอ่อนโยนและเข้ามาหาเราเอง มาเจอกัน คุยกันเป็นระยะ คุยสิ่งที่เจอ ปัญหา ช่วยเยียวยากันและกัน เพราะไม่ใช่ว่าเป็นอาสาสมัครจะเจอแต่เรื่องสวยงาม อาสาสมัครจึงต้องเข้าใจและจะยอมรับผู้ป่วยในแบบที่เขาเป็นได้ยังไง”

          ยามที่ผู้ป่วยปฏิเสธอาสาสมัครคือช่วงเวลาที่อาสาสมัครใช้ตรวจสอบจิตใจตัวเองว่า เมื่อถูกปฏิเสธแล้วความรู้สึของตนเป็นเช่นไร เรียนรู้ที่จะเข้าใจคนที่อยู่ตรงหน้า เรียนรู้ความตายที่กดดันมนุษย์ให้อ่อนแอหรือแข็งกระด้าง เรียนรู้คุณค่าของชีวิต ฯลฯ

       

       ..........

       จากหนังสือเล่มเดียวกัน

       ขณะที่อาจารย์เท็นโนกำลังจะมรณภาพ ท่านได้เรียกพระที่มีหน้าที่ดูแลด้านอาหารและจีวรภายในวัดเข้ามาที่ห้อง เมื่อพระรูปนั้นนั่งลงข้างเตียง ท่านก็เอ่ยถามว่า    
       “เจ้าเข้าใจไหม?” 
       “ไม่เข้าใจครับ” พระรูปนั้นตอบ   
       ท่านเท็นโนหยิบหมอนเขวี้ยงออกไปทางหน้าต่าง แล้วสิ้นใจ   
       เรื่องจบลงเท่านี้และไม่มีคำอธิบายใดๆ เขียนไว้...

 

ที่มา: