สนทนากับญาติผู้ป่วย - รักษาใจยามใกล้ตาย
ถึงแม้ว่าโยมจะไม่ได้เป็นหมอหรือเป็นพยาบาล แต่ก็อยากจะให้ระลึกว่าเราสามารถที่จะช่วยผู้ป่วยได้ เพราะว่าสิ่งผู้ป่วยต้องการไม่ใช่แค่ยาบำบัดความเจ็บป่วยทางกายเท่านั้น แต่ยังต้องการกำลังใจ และต้องการสิ่งที่จะช่วยเสริมสร้างจิตใจให้สงบมั่นคงด้วย เรียกว่าต้องการทั้งยาทางกายและยาทางใจ เพราะว่าคนป่วยจริงๆ แล้วเขาไม่ได้เจ็บป่วยทางกายอย่างเดียว บ่อยครั้งเขาก็เจ็บป่วยทางใจด้วย เช่น มีความทุกข์ มีความกังวลและความกลัวสารพัด นี้เป็นสิ่งที่ลูกหลานหรือภรรยาจะช่วยได้แม้จะไม่ได้เป็นหมอ นั่นคือการช่วยเหลือทางจิตใจ อย่างเช่นการที่มีลูกหลานมาอยู่กันพร้อมหน้า อันนี้ก็ทำให้ผู้ป่วยก็มีความอบอุ่นใจ บางทีคนป่วยเขาอาจจะกังวลว่าตนเองอาจจะถูกทอดทิ้งหรือว่าอาจจะอยู่คนเดียวใน วาระสุดท้าย เขาไม่อยากจะไปคนเดียว แต่ถ้าเขารู้สึกว่ามีคนอยู่กับเขาตลอดเวลา 24 ชั่วโมง เขาก็จะมีความอบอุ่นใจไม่กลัว คนเราไม่ว่าจะมีความเข้มแข็งแค่ไหนก็ตาม แต่ว่าในยามนี้จิตใจมีโอกาสแปรปรวนได้ง่ายเพราะว่าทุกขเวทนาทางกายมันแรง การที่ลูกหลานมาอยู่กันพร้อมหน้า บางทีไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ให้เขาเห็นหน้า บางทีไม่ต้องพูดอะไร เพียงแค่ทักเขาหรือว่าสัมผัสตัวเขาเบา ๆ เพียงแค่สัมผัสตัวก็ให้ความรู้สึกที่ดีนะ มันช่วยได้ ภาษากายบางทีก็มีก็มีพลังมากกว่าคำพูด
ให้ระลึกด้วยว่าผู้ป่วยเขาต้องการสิ่งนี้ตลอดเวลาไม่ว่าเขาจะรู้สึกตัวหรือไม่ อย่าไปนึกว่า ถ้าเขาโคม่าแล้ว จะไม่สามารถรับรู้การกระทำหรือความรู้สึกของเราได้ มีคนจำนวนไม่น้อยถึงแม้เขาโคม่าไม่รู้สึกตัวแต่เขาสามารถรับรู้ได้ มีผู้ป่วยคนหนึ่งโคม่าเพราะเกิดอุบัติเหตุกระทบกระเทือนทางสมอง แถมไตวายฉับพลัน หมดสติไม่รู้ตัว หมอบอกว่าโอกาสรอดมีน้อย แต่ว่าในที่สุดเขาก็รอดมาได้ เขาได้มาเล่าว่าเกิดอะไรกับเขาตอนที่เขานอนหมดสติอยู่ในห้องไอซียู ตอนนั้นในใจรู้สึกเคว้งคว้างเหมือนจะหลุดจากร่าง แต่บางช่วงจะรู้สึกว่ามีมือมาแตะที่ตัวเขา พร้อมกับมีพลังส่งเข้ามา ทำให้ใจที่เหมือนจะขาดหลุดไปนั้น กลับมารวมตัวกัน เกิดความรู้ตัวขึ้นมา แล้วความรู้สึกตัวนั้นก็เลือนรางไปอีก เป็นอย่างนี้ทุกวัน ตอนหลังเขาพบว่ามีพยาบาลคนหนึ่งทุกครั้งที่เข้าเวรเธอจะเดินเยี่ยมคนไข้ทุก คน แต่ถ้าคนไหนยังโคม่าอยู่ เธอจะจับมือแล้วแผ่เมตตาไปให้ นี่เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าพลังแห่งเมตตาจิตนี้ผู้ป่วยที่หมดสติสามารถ รู้สึกได้
มีบางคนเกิดหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ถูกพาไปส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการกระตุ้นหัวใจ ตอนที่จะใส่ท่อช่วยหายใจนั้น พยาบาลได้ถอดฟันปลอมของผู้ป่วยออก ตอนนั้นผู้ป่วยหมดสติ แต่หลังจากนั้นหนึ่งอาทิตย์เมื่อเขาฟื้นกลับมาเป็นปกติ พอเขาเห็นพยาบาลคนนั้นเขาก็ทักว่าคุณใช่มั้ยที่ถอดฟันปลอม พยาบาลก็ตกใจถามว่าคุณรู้ได้ยังไง ในเมื่อตอนนั้นคุณหมดสติอยู่ จะเรียกว่าตายก็ได้เพราะหัวใจไม่ทำงาน เรื่องแบบนี้มีอยู่บ่อยๆ ผู้ป่วยหลายคนที่เมื่อฟื้นจากโคม่าบอกว่าได้ฟังเสียงบทสวดมนต์หรือเสียงพระ เทศน์จากเท้ปที่พยาบาลหรือญาติเปิดให้ฟังขณะหมดสติ บางคนบอกว่าได้ยินกระทั่งว่าหมอกับพยาบาลพูดอะไรกัน
ดังนั้นขอให้ตระหนักว่าถึงแม้ผู้ป่วยจะหมดสติ อยู่ในภาวะโคม่า ไม่ตอบสนองอะไรเลย แต่เขาอาจจะรับรู้คำพูดคำจาของเราได้ ถ้าเราพูดในสิ่งที่ดี มีเมตตาไม่มีการทะเลาะวิวาทกัน เขาก็จะรู้สึกดี แต่ถ้าญาติพี่น้องทะเลาะกันเรื่องมรดก เรื่องค่ารักษาพยาบาล อะไรทำนองนี้ นี้คือการทำร้ายผู้ป่วยโดยไม่รู้ตัวเพราะคิดว่าเขาหมดสติ ขอให้ระลึกว่าไม่ว่าเขาจะหมดสติหรือไม่ก็ตาม ขอให้ปฏิบัติกับเขาอย่างปกติเหมือนตอนที่เขารู้ตัว ถ้าจะให้ดียิ่งกว่านั้นก็ควรทำบรรยากาศให้เกิดความสงบ หรือจะมีการสวดมนต์ เช่น สวดคาถาชินบัญชร พร้อมๆ กันก็ดี แต่ไม่ต้องดังนัก จะสวดในใจก็ได้ หรือทำสมาธิร่วมกันเป็นครั้งคราว จะเกิดคลื่นแห่งความสงบที่เขาสามารถสัมผัสได้
หากว่าผู้ป่วยมีเรื่องอะไรค้างคาใจที่เราสามารถช่วยเหลือได้ ก็ควรเป็นธุระช่วยเหลือจัดการให้แล้วเสร็จ แต่กรณีของผู้ป่วยไม่มีอะไรที่รู้สึกเป็นห่วงกังวลหรือไม่สบายใจ แต่ว่ามีบางอย่างที่ลูกหลานอาจจะช่วยได้ นอกจากที่อาตมาได้พูดไปแล้ว ก็คือถ้าเกิดว่าลูกหลานคนใดระลึกได้ว่าเคยล่วงเกินโยมเขาไว้ หรือมีอะไรไม่สบายใจอยู่ข้างใน ควรถือโอกาสนี้ขอขมาลาโทษ บางทีผู้ป่วยเขาอาจรู้สึกติดค้างในบางเรื่อง เช่น เขาอาจจะรู้สึกผิดกับใครบางคน หรือรู้สึกไม่พอใจใครบางคน ติดใจใครบางคนที่ทำอะไรไม่ถูกต้องกับเขา ตรงนี้ถ้ามีอะไรค้างคามันก็ทำให้ไม่สามารถไปอย่างสงบ หรืออยู่อย่างสงบได้ มีบางคนป่วยหนัก เป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย พยาบาลก็มาแนะให้ลูกมาขอขมา ลูกขอขมาเสร็จ แม่ก็ยังรู้สึกไม่ดีขึ้น พยาบาลผิดสังเกตจึงไปถามลูกว่ามีบางเรื่องที่ยังไม่ได้พูดกับแม่ใช่ไหม ลูกก็ตกใจยอมรับว่ามีเรื่องหนึ่งที่ยังไม่ได้บอก คือเขาไปอยู่กินกับผู้หญิงจนมีลูกด้วยกัน แต่ไม่ได้บอกแม่ พอลูกไปสารภาพกับแม่เรื่องนี้และขอโทษที่ปิดเอาไว้ แม่ก็รู้สึกดีขึ้น เรื่องนี้เป็นตัวอย่างว่าอย่าไปนึกว่าคนป่วยเขาไม่รู้ หรืออย่าไปนึกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย สำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่เขาอาจถือเป็นเรื่องใหญ่ และรู้สึกน้อยใจว่าทำไมลูกไม่พูดความจริง ถ้าหากความรู้สึกแบบนี้ยังค้างคาใจเขา เขาก็อยู่อย่างเป็นทุกข์และอาจตายด้วยอาการไม่สงบก็ได้
เพราะฉะนั้นถ้าพวกเรามีความรู้สึกว่ามีอะไรที่ค้างคาใจหรือระลึกว่าได้ล่วงเกินอะไรกับผู้ป่วย ก็ควรถือโอกาสนี้ขอขมา ความจริงแล้วเราก็ไม่รู้ว่าโยมเขายังติดใจอะไรบ้างหรือเปล่า แต่เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน อย่าไปนึกว่าบางเรื่องเขาคงไม่รู้หรือไม่ติดใจอะไรหรอก คนป่วยนั้นจิตใจเขาเปราะบาง เปราะบางหมายความว่ามีอะไรกระทบได้ง่าย บางอย่างคนปกติไม่รู้สึก แต่คนป่วยเขาจะรู้สึกได้ไว เพราะฉะนั้นความรู้สึกอะไรที่ไม่ดี เช่น ความรู้สึกหมางเมินค้างคาใจ ตอนนี้ยังมีโอกาสควรไปเปิดใจหรือขอขมาเสีย เพราะหากผัดผ่อนอาจไม่มีโอกาสได้พูด ถึงตอนนั้นก็จะมาเสียใจว่าทำไมตอนเขายังอยู่เราไม่ไปขอขมา
ทีนี้บางคนอาจเกิดคำถามขึ้นมาว่าถ้าเขาจำไม่ได้จะทำอย่างไร จำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่ว่าเราก็ขอขมาไว้ก่อนเป็นดี อีกเรื่องหนึ่งที่อาตมาคิดว่าลูกหลานน่าจะได้ทำกับผู้ป่วยก็คือ เมื่อเรารู้ว่าเขาจะอยู่กับเราได้อีกไม่นาน ก็ควรมีการกล่าวคำอำลา อาจจะอำลาในลักษณะที่เป็นกิจจะลักษณะสักหน่อยหน่อย เช่น มีตัวแทนของลูกหลานมาพูดถึงคุณความดีของเขาให้เขาฟัง ว่าเขาได้ทำความดีอะไรบ้างที่เรารู้สึกซาบซึ้งในบุญคุณของเขา เช่น เขาเป็นพ่อที่ดี เป็นสามีที่ดี เป็นปู่ที่ดี ซึ่งเราภูมิใจ การที่เราพูดความดีของเขาเป็นการช่วยเตือนให้เขาระลึกถึงความดีที่ตนได้ทำ การระลึกถึงความดีในยามนี้มีความสำคัญเพราะช่วยให้จิตมีความอิ่มเอิบปลาบ ปลื้มและเป็นกุศล ไม่จมอยู่กับความทุกข์ บางคนพอเจ็บป่วยมาก ๆ จิตตก คิดไปคิดมาก็นึกถึงความผิดพลาดในอดีต ลงโทษตัวเองว่าฉันไม่น่าทำอย่างโน้นอย่างนี้เลย ยิ่งคิดก็ยิ่งทุกข์ แต่ถ้าลูกหลานช่วยให้เขาระลึกถึงความดีที่เคยทำไว้ เขาก็จะไม่ไปนึกถึงสิ่งไม่ดีในอดีต คนเราเมื่อมาถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ถ้านึกคิดในสิ่งที่ไม่ดี หรือมีอะไรค้างคาใจ จิตจะเป็นอกุศล ถ้าตายไปก็จะไปสู่ทุคติได้ แต่ถ้านึกถึงสิ่งที่ดีหรือเรื่องบุญกุศล ตายไปก็จะไปสู่สุคติ
เมื่อจะกล่าวคำอำลา ประการแรกเราพูดถึงความดีของเขา สำนึกในบุญคุณของเขา ขอบคุณเขาที่ได้เอื้อเฟื้อเกื้อกูลเรามา ขอให้พูดออกมาจากใจ ประการที่สองก็คือขอขมาลาโทษ ถ้าเราได้ทำอะไรล่วงเกินไม่ว่าด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ก็ขอขมา ประการที่สามก็คือพูดย้ำเตือนให้เขานึกถึงสิ่งที่ดีงาม นึกถึงบุญกุศล รวมทั้งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมทั้งให้ทำใจปล่อยวาง อันนี้ขึ้นอยู่กับว่าเขามีความสนใจธรรมะแค่ไหน ถ้าเขาสนใจธรรมะ ศึกษาเรื่องนี้พอสมควร ก็ให้เขาปล่อยวางสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่เฉพาะทรัพย์สมบัติ หรือคนรัก แต่รวมถึงปล่อยวางในร่างกายและในตัวตน ให้จิตใจนึกถึงแต่พระนิพพาน หรือภาวะที่ดับไม่เหลือ แต่ถ้าเขาเข้าใจพุทธศาสนาเล็กน้อย ก็ให้นึกถึงสุคติ โดยพูดเตือนใจให้นึกถึงสิ่งที่ดีงามมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เพื่อให้จิตเกิดความสงบและเป็นกุศล
อันนี้จะช่วยได้มาก ถ้าทำตอนที่เขารู้ตัวก็ดี แต่ถึงแม้ไม่รู้ตัวแล้วก็ไม่เป็นไร พูดกระซิบข้างหูเบาๆ คนที่เป็นพ่อเป็นปู่เป็นตาเขาก็จะรู้สึกภูมิใจ ยิ่งถ้าหากมีลูกหลานมาอยู่กันพร้อมหน้าก็ยิ่งดี เขาจะได้ดีใจที่ลูกหลานรู้สึกสำนึกในบุญคุณของเขา เขาจะได้จากไปด้วยความสงบ
อาตมาก็ขอฝากเอาไว้ ทั้งหมดนี้เป็นการแนะนำวิธีที่จะช่วยเขาในทางจิตใจ แต่ถ้าจะให้ดีนอกจากจะช่วยเขาแล้ว เราเองก็ควรได้ประโยชน์จากเขาด้วย คือได้มาเรียนรู้จากเขาในเรื่องสัจธรรมของชีวิต ตอนนี้ผู้ป่วยกำลังเป็นครูสอนเรา สอนสัจธรรมให้แก่เราว่าสักวันหนึ่งเราต้องล้มป่วยอย่างนี้หรืออาจจะเป็นยิ่งกว่านี้ เพราะฉะนั้นจึงอย่าประมาท บางทีเรานึกว่าฉันยังหนุ่มยังแน่นยังเด็กอยู่ ไม่ล้มป่วยง่าย ๆ จึงมัวแต่สนุกสนาน ไม่ได้เตรียมใจไว้เลยที่จะเผชิญกับความไม่แน่นอนของชีวิต แถมไม่นึกถึงบุญกุศล อันนี้เรียกว่าความประมาท ความเจ็บป่วยเป็นธรรมดาของชีวิตที่ไม่มีใครหนีพ้น และเกิดขึ้นได้ทุกเวลากับทุกคน อย่าไปนึกว่าฉันยังเด็ก ยังอีกนานกว่าจะป่วย คนเราจะเจ็บจะป่วยเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ แต่ในที่สุดไม่ว่าเราจะอายุแค่ไหนเราก็ต้องเจ็บป่วย ความตายก็เหมือนกัน จะมาถึงเราเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ และเกิดขึ้นได้กับทุกคนเช่นกัน เพราะฉะนั้นให้เราระลึกไว้เสมอว่าชีวิตนี้ไม่เที่ยง จึงควรเตรียมตัวเตรียมใจไว้เสมอ รวมทั้งหมั่นทำความดีไว้เสมอ
เมื่อมาเยี่ยมผู้ป่วย ก็ขอให้ถือว่าผู้ป่วยเป็นครูที่กำลังสอนเราเกี่ยวกับสัจธรรมของชีวิตที่หนี ไม่พ้นความเจ็บความป่วย ให้ระลึกว่าสักวันหนึ่งเราอาจเป็นอย่างผู้ป่วยก็ได้ ทีนี้เมื่อระลึกเช่นนี้แล้วก็ต้องคิดต่อไปว่าเราจะทำอย่างไรถ้าเราต้องล้ม ป่วยอย่างนี้ในวันข้างหน้า เราได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้บ้างหรือเปล่า และเราจะเรียนจากผู้ป่วยได้อย่างไรในเรื่องการเตรียมตัวเตรียมใจ อย่างเช่นผู้ป่วยบอกว่าไม่มีอะไรกังวล ไม่มีอะไรเป็นภาระแล้ว ถ้าเป็นเราเราจะปล่อยวางแบบนี้ได้ไหม และถ้าเราเกิดเจ็บป่วยอย่างผู้ป่วย จะประคองใจอย่างไรถึงไม่ทุกข์กระสับกระส่าย
ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับเราด้วยว่าเราจะรู้จักมองหรือไม่ ข้อสำคัญคือต้องระลึกว่าที่เรามาอยู่นี้เราไม่ได้มาช่วยผู้ป่วยเท่านั้น แต่ผู้ป่วยก็มาช่วยเราด้วย ถ้ามองให้เป็นก็จะเห็นประโยชน์จากการล้มป่วยของผู้ป่วย นอกจากจะเกิดปัญญาและความไม่ประมาทแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่จะได้ก็คือได้มีโอกาสทำบุญ ผู้ป่วยกำลังเปิดโอกาสให้เราทำบุญ เพราะการที่เรามาช่วยคนป่วย โดยเฉพาะผู้มีพระคุณ ถือว่าเป็นบุญอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ว่าต้องมาถวายสังฆทานให้พระถึงจะได้บุญ ตอนนี้โยมเขาก็เปิดโอกาสให้เราได้ทำบุญ รวมทั้งเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้สัจธรรมของชีวิต เช่น ความไม่แน่นอน หรือความผันผวนปรวนแปรของชีวิต สัจธรรมหรือคำสอนเกี่ยวกับความเป็นจริงของชีวิตไม่ได้มาจากพระอย่างเดียว แต่ยังมาจากผู้ที่เราเคารพนี้แหละ ถ้าเรามองเห็นจนเกิดปัญญาก็ถือว่าได้บุญเช่นกัน บุญอย่างนี้แหละที่จะช่วยให้เราผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ ไปได้ด้วยดี