วิธีปฏิบัติเพื่อประคองจิตในช่วงวิกฤติของชีวิตจะทำอย่างไร
คำถาม : วิธีปฏิบัติเพื่อประคองจิตในช่วงวิกฤติของชีวิตจะทำอย่างไร
พระไพศาล วิสาโล : มีหลายวิธีในการรักษาใจให้เผชิญกับความเจ็บปวดได้ เช่น เด็ก ๕ ขวบเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เจ็บปวดมาก พยาบาลซึ่งเคยได้รับการฝึกนำจินตนาการมาแล้ว รู้ว่าเด็กชอบอุลตร้าแมน เลยชวนว่าจะพาไปซื้อ โดยให้เด็กหลับตาจินตนาการ แรกๆ พูดนำจินตนาการก่อนว่าระหว่างทางเดินผ่านสวนสัตว์ สนามเด็กเล่น สักพักเมื่อเด็กเห็นภาพแล้วบอกได้ว่าเห็นอะไรบ้าง แล้วซื้ออุลตร้าแมนที่ห้าง ทำไป ๑๕ นาทีเด็กสงบ หายทุรนทุราย หลังจากนั้น ๓ ชั่วโมง เด็กก็ตายอย่างสงบ นี่คือตัวอย่างการใช้จิตที่สงบยับยั้งอาการเจ็บปวด โดยใช้วิธีการที่ไม่ยุ่งยาก ซึ่งอาจเหมาะสำหรับเด็ก
ผู้ใหญ่สามารถฝึกโดยอาศัยสมาธิได้ เช่น กำหนดจิตอยู่ที่พระพุทธรูป ตามลมหายใจ เปิดเพลง เทปทำวัตร สวดมนต์ มีบรรยากาศที่สงบ ทำให้ไม่ทุกข์ไปกับการเจ็บปวดได้ อาการเจ็บปวดมีอยู่แต่จิตไม่รับรู้ และเมื่อสงบอาจมีสารเอนโดฟีนทำให้เจ็บน้อยลงได้
สำหรับคนไข้ที่ไม่ได้เตรียมตัวมา หรือเตรียมตัวมาแต่ไม่พร้อม จะมีอาการทุรนทุราย กระสับกระส่าย ไม่รู้ว่าข้างหน้าเป็นอย่างไร ห่วงคนข้างหลัง
คนไข้โคม่า แต่การรับรู้ของเขามี เราควร
- ปฏิบัติกับเขาด้วยความเคารพ
- บอกทุกครั้งที่จะทำอะไรกับร่างกายเขา
- ไม่พูดเรื่องอื่นต่อหน้าเรา
- บอกเหตุผลและอาการให้ญาติรับรู้ เพราะบางกรณีญาติกลุ้มใจที่ผู้ป่วยกินข้าวไม่ได้
- ช่วยเยียวยาให้ญาติ / ผู้ดูแลระบายความรู้สึก
- ให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตัว
สิ่งที่ไม่ควรทำขณะผู้ป่วยใกล้ตาย
- เศร้าโศก ร้องไห้ฟูมฟาย ทำให้เขาไม่สบายใจ
- พูดเรื่องไม่ดีใกล้ผู้ป่วย (เพราะผู้ป่วยสามารถรับรู้ได้)