การดูแลหลังการสูญเสีย เปลี่ยนความเศร้าเป็นเข้าใจ
“ครอบครัวนักธุรกิจครอบครัวหนึ่งประสบภาวะล้มละลายจากวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ พ่อแม่ต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งกับอาชีพดั้งเดิมคือ ขายเย็นตาโฟที่บ้านเกิดในภาคใต้ ส่วนลูกชายและลูกสาววัยสามสิบต้องผันตัวเองมาทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนในกรุงเทพฯ กิจการใหม่ไปได้สวย ลูกชายเห็นพ่อแม่ต้องลำบากจึงลาออกจากมาช่วยงานที่บ้าน ชีวิตกำลังดำเนินไปได้ด้วยดี แต่แล้วลูกชายพบความผิดปกติจากอาการไอเรื้อรัง เมื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดจึงพบว่าเป็นมะเร็งที่ปอดที่ลุกลากจนไม่สามารถผ่าตัด ได้แต่ฉายแสงและเคมีบำบัด พ่อแม่ทุ่มเทเงินทองรักษาอย่างไม่ยั้ง ปิดร้าน ขายบ้าน เพื่อจะได้มาดูแลมารักษาลูกชาย แม้ว่าลูกชายจะยอมรับความจริง และไม่ต้องการให้พ่อแม่ต้องสิ้นเปลืองเงินทองที่มีอยู่จำกัดเพราะตนเอง แต่ความต้องการของเขาไม่ได้รับการตอบสนอง โดยเฉพาะจากผู้เป็นแม่ที่ทำใจยอมรับไม่ได้ และแสดงออกโดยอาการร้องไห้อย่างฟูมฟาย เคราะห์ดีแต่ว่ายังมีพยาบาลคนหนึ่งที่ยินดีรับฟังให้เธอได้ระบายออก
แต่เมื่อความพลัดพรากมาถึงในที่สุด ผู้เป็นแม่ที่พยายามปฏิเสธความจริงมาตลอดถึงกับช็อก เธอรับความจริงได้เพียงครึ่งเดียว ยังคงทำความสะอาดห้องนอนของลูก ยังพูดคุยราวกับลูกมีชีวิตอยู่ เวลาผ่านไปหนึ่งเดือน เธอได้ขาดการติดต่อกับแผนกรังสีรักษาที่เคยมาระบายความทุกข์ให้กับพยาบาลคนเดิมรับฟัง จนผ่านไปครึ่งปี ผู้เป็นแม่กระเซอะกระเซิงเข้าในแผนกรังสีรักษาในสภาพย่ำแย่กว่าเดิม เพราะไม่กินอาหารมาสองวันแล้ว เธอเล่าว่าไม่สามารถอยู่ในบ้านได้อีกต่อไป เนื่องจากทั้งสามีและลูกสาวตราหน้าว่าเธอบ้า เพราะเธอยังไม่อาจสลัดความครุ่นคิดเดิม ยังพูดคุยกับลูกชายเหมือนเดิม บรรยากาศในบ้านมีแต่เลวร้ายลง...”
– เรียบเรียงใหม่จาก เพื่อรอยยิ้มเมื่อสิ้นลม
- - -
เรื่องราวดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าการสูญเสียพ่อแม่ญาติพี่น้องลูกหลานย่อมนำความโศกเศร้าเสียมาให้กับผู้คนในครอบครัวเป็นธรรมดา แต่การปรับจิตใจหลังการสูญเสียของแต่ละคนมีความแตกต่างกันไป บางคนสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติในระยะเวลาไม่นาน แต่มีอีกหลายคนที่ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติและอาจถึงขั้นทำร้ายตัวเองอีกด้วย หากไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
การดูแลความเศร้าโศกหลังการสูญเสียจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีหลักฐานจากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า ผู้คนจำนวนมากที่มีภาวะเศร้าเสียใจภายหลังการสูญเสีย หากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม จะมีอายุสั้นลงอย่างมีนัยสำคัญ และประมาณ ๑ ใน ๓ จะเกิดปัญหาสภาวะเศร้าซึมที่กระทบกระเทือนต่อการดำรงชีวิตได้
การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบเป็นองค์รวม จึงมิได้สิ้นสุดเพียงเมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตแล้วเท่านั้น หากยังรวมไปถึงการติดตามดูแลความเศร้าโศกของญาติหรือผู้ดูแลหลังการสูญเสียเพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกด้วย
ดูแลหลังการสูญเสีย
นายแพทย์เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี หนึ่งในผู้บุกเบิกงานด้านการดูแลแบบประคับประคองในเมืองไทยมานานกว่าสิบปี กล่าวถึงหลักในการดูแลหลังการสูญเสียว่า ต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนผู้ป่วยจะเสียชีวิต โดยการประเมินสภาวะของญาติผู้ดูแลว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดความโศกเศร้าเกินกว่าปกติหรือไม่ เช่น ดูประวัติสุขภาพจิตของญาติผู้ดูแล ดูลักษณะหรือรูปแบบการเสียชีวิตว่าเป็นอย่างไร เช่น หากผู้ป่วยที่เสียชีวิตเป็นลูกย่อมมีโอกาสส่งผลกระทบต่อพ่อแม่มากกว่าปกติได้ หรือดูลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับญาติผู้ดูแล ว่าอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่ยังอยู่ต่อไปในลักษณะไหน
การดูแลหลังการสูญเสียจึงต้องดูแลคาบเกี่ยวไปถึงก่อนผู้ป่วยจะเสียชีวิตด้วย ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของคุณสุรีย์ ลี้มงคล พยาบาลหน่วยบริรักษ์ โรงพยาบาลศิริราช ว่า งานดังกล่าวจะต้องเริ่มไปพร้อมๆ กับการดูแลแบบประคับประคอง โดยเฉพาะหากผู้ป่วยและญาติมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อกัน การคลี่คลายปมปัญหาในใจของผู้ป่วยหลายๆ คน จึงต้องดำเนินการเสียแต่ในขณะที่ผู้ป่วยยังมีชีวิตอยู่ เพื่อไม่ให้ทั้งสองฝ่ายเกิดความรู้สึกติดค้างในใจต่อกัน ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจากไปอย่างสงบแล้ว ยังจะช่วยป้องกันผลกระทบในด้านลบที่จะมีต่อญาติผู้ดูแลต่อไปในอนาคตอีกด้วย
** "Bereavement care ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่ทำให้คนไม่เศร้าโศกเสียใจจากการสูญเสีย
แต่เราจะพยายามทำอะไรเพื่อให้คนที่โศกเศร้า อยู่ต่อไปได้อย่างมีสมดุลใหม่ โดยปราศจากผู้จากไป"
– นพ.สกล สิงหะ
ในต่างประเทศที่มีระบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองเข้มแข็ง การดูแลหลังการสูญเสียนับเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักในทีมดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่จะขาดเสียมิได้
แต่ในเมืองไทยที่ระบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองยังเป็นเรื่องใหม่ บุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวมีไม่มากนัก งานดังกล่าวจึงเป็นภาระของฝ่ายพยาบาลที่จะต้องคอยดูแลเป็นหลัก แต่โดยรวมแล้ว ระบบบริการสุขภาพของไทยยังมีบทบาทในเรื่องดังกล่าวน้อยมาก เมื่อเทียบกับบทบาทของวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อต่างๆ เช่น ประเพณีงานศพ และการทำบุญอุทิศส่วนกุศล ฯลฯ ตลอดจนความเป็นชุมชนที่ยังช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่ในสังคมไทย แม้ว่าในอนาคตวิถีชีวิตดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเสื่อมคลายลงไป
การเรียนรู้ภูมิปัญญาที่แฝงมาในประเพณีพิธีกรรมวัฒนธรรมแต่โบราณ โดยเฉพาะศาสนา จึงยังมีคุณค่าและความจำเป็นต่อการสถาปนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่เข้มแข็งให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และที่จะกล่าวเป็นพิเศษคือ หลังจากผู้ป่วยเสียชีวิตไปแล้วอีกด้วย
แม้ในทางปฏิบัติ หน่วยงานที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายจะมีการประยุกต์พิธีกรรมทางศาสนาอย่างง่ายๆ เช่น การทำบุญใส่บาตร การสวดมนต์ นิมนต์พระมาเทศน์ หรือใช้สื่อธรรมะต่างๆ มาช่วยในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอยู่แล้ว แต่การศึกษาตลอดจนประเมินผลการนำกิจกรรมหรือกระบวนการไปใช้ในบริบทต่างๆ ของเรื่องดังกล่าวยังนับว่ามีน้อยอยู่มาก
ในปัจจุบัน มีงานศึกษาอย่างเป็นระบบเพียงไม่กี่ชิ้นในเมืองไทยที่ศึกษาเรื่องการนำคำสอนในพุทธศาสนามาใช้ในการดูแลจิตใจหลังการสูญเสีย งานศึกษาชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจคือวิทยานิพนธ์ของพระปณต คุณวัฑโฒ วัดญาณเวศกวัน เรื่อง “ผลของกิจกรรมเชิงพุทธที่เน้นธรรมะเรื่องหลักกรรมและชีวิตหลังความตาย ต่อความเศร้าโศกของผู้เคยสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก”
ความที่ผู้ศึกษาเคยผ่านประสบการณ์สูญเสียมารดาไป จึงเข้าใจความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นกับญาติมิตร และประจักษ์กับตนเองว่า ความเชื่อ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักกรรมในพุทธศาสนาแม้ในระดับเบื้องต้น มีความผลดีต่อการเยียวยาจิตใจเพียงใด จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะศึกษาวิจัยและนำหลักธรรมของพระพุทธศาสนามาประยุกต์เป็นกิจกรรม ที่ไม่เฉพาะเพื่อใช้บรรเทาความเศร้าโศกทางจิตใจเท่านั้น หากยังมุ่งสร้างโอกาสในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัญญา เกิดความเข้าใจและเติบโตทางจิตวิญญาณอีกด้วย
ความเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาของผู้ศึกษา ทำให้ผู้ศึกษาเชื่อว่า ในปัจจุบันการเยียวยาผู้ดูแลเฉพาะด้านจิตใจยังมีข้อจำกัด เพราะไม่สามารถตอบสนองความสงสัยบางเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตหลังความตายได้ การสร้างความเข้าใจที่ถูกตรงในเรื่องชีวิตหลังความตาย และกฎแห่งกรรม แม้ในขั้นพื้นฐาน จะช่วยคลายความสงสัยและทำให้ผู้ประสบความทุกข์ผ่อนคลายและยอมรับความเป็นจริงได้มากขึ้น
โดยหวังให้ผลการศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นในการให้ความสำคัญกับเยียวยาหลังการสูญเสียมากขึ้น นำไปสู่กระบวนการพัฒนาศักยภาพทางจิตวิญญาณสำหรับญาติมิตรของผู้จากไป รวมถึงต่อยอดพัฒนาให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวก่อนการสูญเสีย เพื่อช่วยให้กระบวนการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบองค์รวมมีคุณภาพที่ดีขึ้นทั้งต่อตัวผู้ป่วยและญาติมิตร
กระบวนการดังกล่าว จึงนับว่ากรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับบุคลากรสุขภาพตลอดจนผู้สนใจเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (เนื้อหาด้านล่างสรุปจากการศึกษาของพระปณต)
หลักพุทธธรรม แนวคิดจิตวิทยา และปัจจัยความโศกเศร้า
ตามคำสอนทางพุทธศาสนา ความเศร้าโศกอันเนื่องมาจากการพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ซึ่งกล่าวถึงที่สุดมาจากความไม่รู้ (อวิชชา) หรือตัณหา โดยมีความใฝ่ใจในสิ่งสนองความอยากทางประสาททั้งห้าเป็นเหตุ
ในขณะที่แนวคิดทางจิตวิทยาจะมุ่งศึกษาในสองเรื่องใหญ่ๆ คือ หนึ่ง การนิยามความเศร้าโศก ว่าหมายถึง กระบวนการตอบสนองทางอารมณ์ต่อประสบการณ์พลัดพราก หรือสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ซึ่งเป็นความทุกข์ทาง อันนำมาซึ่งผลในด้านความรู้สึก หรือพฤติกรรม
และสอง การหาสาเหตุและกระบวนการเกิดขึ้นของความเศร้าโศก ซึ่งมีหลากหลายทฤษฎีที่พัฒนาการมาตามลำดับเวลานับจากยุคสมัยของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ที่มองความเศร้าโศกในเชิงลบ และกระบวนการเยียวยาคือการปลดเปลื้องความคิดและความรู้สึกผูกพันจากผู้ตาย เพื่อไปสู่อิสระ มาจนถึงปัจจุบันที่มองความโศกเศร้าในเชิงบวก และเห็นว่าการดำรงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ตายกับผู้สูญเสียในรูปแบบที่เหมาะสม อาจนำมาซึ่งความพึงพอใจในการดำเนินชีวิตต่อไปได้
ยกตัวอย่างบางแนวคิด เช่น “ทฤษฎีลำดับขั้นความโศกเศร้า” ของอลิซาเบธ คืบเลอร์-รอสส์ (Elisabeth Kubler - Ross) ที่หลายคนรู้จักกันดีอยู่แล้ว ด้วยมีผลงานของเธอที่ถูกแปลเป็นภาษาไทยหลายเล่ม เล่มสำคัญคือ On Death and Dying (ความตายกับภาวะใกล้ตาย) ที่เสนอลำดับขั้นความรู้สึกของผู้ใกล้ชิดเป็น ๕ ขั้นตอน คือ ปฏิเสธ โกรธ ต่อรอง ซึมเศร้า และยอมรับ ซึ่งแม้จะถูกวิจารณ์ว่าทฤษฎีดังกล่าวเป็นเพียงข้อสังเกต ไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ แต่เป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย
ส่วนการศึกษาปัจจัยต่อความเศร้าโศก พบว่า มีทั้งปัจจัยเกี่ยวกับตัวบุคคล เช่น เรื่องอายุ เพศ ศาสนา ชาติพันธุ์ ลักษณะหรือรูปแบบการตาย ความอ่อนไหวทางจิตใจ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ฯลฯ ที่น่าสนใจคือ ปัจจัยด้านศาสนาและความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย ซึ่งจากการศึกษาวิจัยแทบทั้งหมด (ส่วนใหญ่รวบรวมในประชากรที่นับถือศาสนาคริสต์) มีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันว่า “ความใกล้ชิดกับกิจกรรมและความเชื่อทางศาสนา รวมทั้งความเชื่อต่อการมีอยู่ของชีวิตหลังความตาย มีผลดีต่อการลดความเศร้าโศก”
แม้ในทางทฤษฎีจะยังมีข้อโต้แย้งกันถึงแนวทางการเยียวยาว่า ควรใช้แนวคิดแบบตัดความผูกพันหรือรักษาความผูกพันกับผู้ตาย แต่พระปณตเสนอว่า ความเชื่อในเรื่องชีวิตหลังความตาย การรักษาความผูกพันที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง โดยใช้กระบวนการปรึกษาเชิงพุทธจิตวิทยามาใช้ในการเยียวยาความเศร้าโศกเนื่องจากการสูญเสียผู้เป็นที่รัก จะเป็นผลดีไม่เฉพาะในการเยียวยาความเศร้าเท่านั้น หากยังช่วยให้ผู้สูญเสียเกิดความเข้าใจและเติบทางจิตวิญญาณได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
เปลี่ยนความเศร้าเป็นเข้าใจ
พระปณตได้ทำการทดลองนำหลักคำสอนในพุทธศาสนามาประยุกต์เป็นกิจกรรมเพื่อเยียวยาความโศกเศร้า โดยหัวใจหลักของกิจกรรมเชิงพุทธที่นำมาใช้ เป็นการผสมผสานระหว่างการเยียวยาอารมณ์ความโศกเศร้า ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาปัญญาตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา โดยการนำพิธีกรรมทางพุทธศาสนา เช่น การรักษาศีล การสวดมนต์แปล นั่งสมาธิเจริญเมตตาภาวนา เดินจงกรมในบรรยากาศธรรมชาติ การสนทนาธรรม และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล ฯลฯ การนำหลักคำสอนเรื่องกรรม ซึ่งอธิบายความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งปวง และเรื่องชีวิตหลังความตาย ซึ่งอธิบายการเวียนว่ายตายเกิดของสรรพชีวิตรูปแบบต่างๆ รวมถึงเรื่องอริยสัจ ๔ ซึ่งมีเป้าหมายในการดับทุกข์ตามหลักพุทธศาสนา มาผนวกเข้ากับกระบวนการพุทธจิตวิทยาแบบกลุ่ม มีการจำลองสถานการณ์เพื่อให้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ตลอดจนการทบทวนเหตุการณ์หรือความรู้สึกต่อผู้ที่จากไป ทั้งความสุข ความเศร้า ความรู้สึกผิด สิ่งที่ยังคงติดค้างและส่งผลต่อชีวิตจิตใจของผู้สูญเสีย เพื่อเรียนรู้และค้นหาทางออก ท่าทีที่เหมาะสมต่อความสูญเสียที่ผ่านไป จนนำมาสู่แนวทางการปฏิบัติเพื่อพัฒนาชีวิตให้ดีงาม
ตัวอย่างเช่น ผู้เข้าร่วมในกิจกรรมคนหนึ่งกล่าวว่า “ตอนเขาเสียไปเราก็เป็นห่วงตลอด ว่าเขาจะไปสุคติหรือเปล่า เราก็เป็นห่วงเขา แต่พอได้คุย ฟังพระท่านก็คิดว่า ไม่น่าห่วงหรอก ถึงแม้ว่าตอนเสียไป สมมติว่าอาจจะตายแบบหลงๆ แต่ก็เป็นช่วงเฉพาะจุดนั้นที่เป็นอย่างนั้น แต่ว่าโดยรวมแล้วที่เรียก เออ อาจิณณกรรมที่เขาทำไว้ เขาก็เป็นคนดี ก็เลยคิดว่า เขาก็คงไปดีละ ไม่ต้องห่วง.. แต่สมมติว่าคนที่เรารักนี่เขาไม่ค่อยดี เราก็คิดว่าเออเราก็คงช่วยอะไรไม่ได้ ก็ต้องแล้วแต่กรรมของเขาด้วย ในกลุ่มของเราบอกว่า อตฺตาหิ อตฺตโนนาโถ ก็พึ่งตนเอง ต้องฝึกฝนตนเองด้วย อะไร่นี่ละค่ะ เราต้องฝึกฝนตนให้พึ่งตนเองได้”
หลังจากผ่านกิจกรรมตลอด ๔ วัน ๓ คืน กับกลุ่มตัวอย่างจำนวน ๑๙ คน อายุ ๒๔-๗๗ ปี ซึ่งเป็นผู้ที่เพิ่งสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ทั้งพ่อ แม่ ญาติผู้ใหญ่ และคู่สมรส มีทำการวัดผลโดยใช้แบบสำรวจคะแนนความเศร้าโศกแบบองค์รวม ๕ ด้าน คือ อารมณ์ การรู้คิด กายภาพ สังคม และจิตวิญญาณ ซึ่งพัฒนาแบบวัดผลจากต่างประเทศที่เป็นมาตรฐานและเชื่อถือได้ทางสถิติร้อยละ ๙๙.๙ พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีคะแนนความเศร้าโศกต่ำกว่าคะแนนก่อนเข้าร่วมกิจกรรม หมายความว่าการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนามีส่วนช่วยเยียวยาความเศร้าเสียใจผู้สูญเสียญาติมิตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"หลังสิ้นสุดการทดลองกลุ่มตัวอย่างที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักพบว่า กระบวนการปรึกษาเชิงพุทธจิตวิทยาแบบกลุ่มร่วมกับการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา สามารถลดความเศร้าโศกผู้สูญเสียได้ร้อยละ ๔๘.๖ และติดตามผลอีกครั้งเมื่อครบ ๒ สัปดาห์ พบว่า ลดความเศร้าได้ร้อยละ ๕๔.๓ รวมถึงยังสามารถทำให้ผู้สูญเสียมีการพัฒนาทางจิตใจและปัญญา การตระหนักรู้ถึงความงอกงามหลังจากการสูญเสีย โดยเฉพาะความเมตตา ความไม่ประมาท และการเห็นคุณค่าในการพัฒนาตนเองและความสัมพันธ์กับผู้อื่น"
พระปณตกล่าวว่า กิจกรรมเชิงพุทธดังกล่าวสามารถจัดให้แก่ผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ไม่ว่าการสูญเสียจะเกิดขึ้นนานเพียงใด เพื่อลดความเศร้าโศก เกิดความงอกงามหลังจากการสูญเสีย และเห็นคุณค่าของปัจจุบัน จนสนใจในการพัฒนาชีวิต นอกจากนี้ ยังสามารถประยุกต์ใช้สำหรับญาติผู้ป่วยก่อนการสูญเสีย ซึ่งจะช่วยให้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบองค์รวมมีคุณภาพดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งต่อผู้ป่วยและญาติมิตร
อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนาเป็นเพียงหนึ่งในภูมิปัญญาอันหลากหลายที่ฝังรากหยั่งลึกในสังคมไทยไม่ควรมองข้าม เช่นเดียวกับภูมิปัญญาโบราณต่างๆ เช่น ภูมิปัญญาชนเผ่าต่างๆ คริสต์ศาสนา อิสลาม ฯลฯ ซึ่งควรนำมาศึกษา ทดลองใช้ สรุปบทเรียน และนำไปผสมผสานหรือต่อยอดร่วมกับภูมิปัญญาสมัยใหม่ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายทั้งระบบมีความรุ่มรวย ลุ่มลึก และยืดหยุ่น อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับความแตกต่างหลากหลายของผู้คนในสังคมไทยจริงๆ
คอลัมน์:
ผู้เขียน:
คำสำคัญ:
บุคคลสำคัญ:
frontpage:
- show