การจัดพิธีกรรมที่เป็นประโยขน์กับผู้ตายหรือช่วยให้ผู้ตายไปสู่สุขคติทำอย่างไร
คำถาม: ต้องการทราบการจัดพิธีกรรมหลังจากที่ญาติเสียชีวิตแล้วในทางพุทธศาสนา ตั้งแต่สิ้นลมจนถึงการทำบุญอุทิศให้ เนื่องจากไม่มั่นว่าพิธีกรรมที่กระทำกันอยู่ในสังคมส่วนใหญ่ จะเป็นประโยขน์กับผู้ตายหรือช่วยให้ผู้ตายไปสู่สุขคติได้หรือไม่
พระไพศาล วิสาโล: พิธีกรรมทางพุทธศาสนาหลังจากที่ญาติเสียชีวิต มี ๒ ส่วนคือ การปลงศพกับการทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย งานศพนั้นจะเริ่มต้นด้วยการทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย เช่น นิมนต์พระมาสวดและรับสังฆทาน จากนั้นจึงมีการปลงศพ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้วิธีเผา เมื่อเผาและจัดการกับอัฐิหรือกระดูกแล้ว (เช่น เก็บไว้ในโกศหรือโปรยลงในแม่น้ำ) ก็จะมีการทำบุญอุทิศ ซึ่งส่วนใหญ่ทำในรูปสังฆทาน
ขั้นตอนมีเท่านี้ จะทำเล็กหรือใหญ่ก็ได้ทั้งนั้น แต่ระยะหลังจะทำกันอย่างสิ้นเปลืองมาก โดยมุ่งประโยชน์ของผู้ที่ยังอยู่มากกว่า (เช่น เพื่อหน้าตาของเจ้าภาพ) หากจับหลักได้ และทำอย่างเรียบง่าย ไม่สิ้นเปลือง โดยมุ่งให้เกิดประโยชน์ทางธรรมทั้งแก่ผู้ตาย (ทำบุญอุทิศให้) และผู้ที่ยังอยู่ (ได้ฟังธรรม ได้ทำบุญ) และเกิดประโยชน์แก่พระศาสนา (เกื้อกูลพระสงฆ์ และเผยแพร่ธรรม เช่น พิมพ์หนังสือธรรมะแจกในงาน) ก็จะเป็นสิ่งที่ตรงกับคำสอนในพุทธศาสนา หากมีกำลัง ก็เผื่อแผ่ประโยชน์ไปยังส่วนรวมด้วย (เช่น นำเงินที่ได้ไปทำสาธารณประโยชน์) หรืออย่างน้อยก็ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ส่วนรวม (เช่น พวงหรีดแทนที่จะเป็นโฟม ก็เป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติหรือเป็นต้นไม้เอาไปปลูกต่อได้)
พิธีกรรมในพุทธศาสนานั้น จะมุ่งประโยชน์หลายด้านเพื่อส่งเสริมชีวิตที่ดีงามและการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข หากทำพิธีศพให้เกิดประโยชน์ตามแนวทางที่ว่า จะไดู้บุญอย่างมากทั้งแก่ผู้ที่ยังอยู่และจากไป (ผู้ที่จากไปได้รับบุญนั้นด้วยการอุทิศส่วนกุศลไปให้เขา)