บทเรียนบางประการของโครงการสังฆะดูแลผู้ป่วย
ผ่านไปแล้ว 15 เดือน สำหรับโครงการส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ โรงพยาบาล และชุมชน ในการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย เรียกสั้นๆ ว่า "สังฆะดูแลผู้ป่วย" โครงการนี้ดำเนินงานโดยโครงการเผชิญความตายอย่างสงบ เครือข่ายพุทธิกา ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานส่งเสริมสุขภาพจิต สสส. โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างแพทย์พยาบาล พระ และจิตอาสา มาช่วยกันดูแลสุขภาพใจและจิตวิญญาณแก่ผู้ป่วยที่ซึ่งเป็นมิติที่ขาดหายไปในปัจจุบัน
หลังจากอบรมทีมสังฆะดูแลผู้ป่วยจังหวัดนครราชสีมาซึ่งประกอบด้วยบุคลากรโรงพยาบาล พระสงฆ์ และจิตอาสา จำนวน 2 รุ่น เมื่อปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งอบรมหลักสูตรเฉพาะพระสงฆ์จำนวน 60 รูป ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเครือข่ายพุทธิกาก็ได้มีโอกาสมาติดตามถามไถ่บทเรียนและประสบการณ์ของเครือข่ายสังฆะดูแลผู้ป่วยโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา รพ.วังน้ำเขียว รพ.ชุมพวง รพสต.ดอนชมพู รพสต.มะค่า รพสต.กระฉอด แล้วก็ได้เก็บเอาบทเรียนบางประการมาฝากท่านผู้อ่านทุกท่าน
สถานพยาบาลที่ทีมติดตามได้ไปเยี่ยมนั้นดูเหมือนจะเต็มไปด้วยผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งและโรคเรื้อรังอื่นๆที่นับวันจะมีแต่เพิ่มจำนวน สะท้อนว่าวัยผู้สูงอายุที่แข็งแรงและตายอย่างสงบแบบไร้โรคนั้นหาได้ยากเต็มที ในชุมชนชนบทมักมีผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และเด็กซึ่งเป็นวัยพึ่งพิง ในขณะที่หนุ่มสาววัยแรงงานมักเข้าไปทำงานในเมืองหรือในกรุงเทพฯ ผู้ให้การดูแลในบ้านมีจำนวนน้อยลง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมารับการรักษาที่โรงพยาบาล บุคลากรในโรงพยาบาลจึงมีภาระงานที่ต้องสะสางในแต่ละวันมากมาย บางคนต้องเข้าทำงานมากกว่า 1 กะ การการให้บริการมิติอื่นนอกเหนือจากจิตใจจึงเป็นไปได้ยาก
อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มความสำคัญด้านการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองและระยะสุดท้าย (palliative care , end of life care) เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย แทบทุกโรงพยาบาลจึงเริ่มจัดตั้งคณะกรรมการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองและระยะสุดท้ายขึ้น ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ก็อาจมีสำนักงานประสานงาน ส่วนในโรงพยาบาลชุมชนและรพสต. จะมีผู้ได้รับมอบหมายให้ประสานงานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นการเฉพาะ
ในเวทีติดตามเสริมพลัง จะมีการเปิดโอกาสให้ผู้ดูแลผู้ป่วยได้แบ่งปันประสบการณ์ที่แต่ละคนเคยได้ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่ประทับใจ วงสนทนาพบว่าการดูแลที่ดีที่สุดคือการดูแลผู้ป่วยประหนึ่งว่าเขาเป็นพ่อแม่พี่น้องที่เรารัก ท่าทีของการดูแลที่ถูกต้องก็จะเกิดขึ้นเอง การดูแลด้วยความเมตตาเช่นนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้ดูแลเข้าใจการดูแลอย่างเป็นองค์รวม จุดเริ่มต้นของงานดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองส่วนใหญ่เริ่มที่พยาบาลในหอผู้ป่วยใน และฝ่ายติดตามเยี่ยมบ้าน เพราะเป็นฝ่ายที่ได้รับรู้และอยู่กับความทุกข์ของผู้ป่วยมากเป็นพิเศษ
การประสานงานให้บุคลากรโรงพยาบาล พระสงฆ์ จิตอาสา เข้ามามีส่วนร่วมเป็นสังฆะดูแลผู้ป่วยคือปัจจัยสำคัญที่ในการพัฒนางานดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ทั้งนี้จำเป็นยิ่งที่ต้องได้รับ "ไฟเขียว" จากผู้บริหารสถานพยาบาลที่เห็นความสำคัญของงานดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ให้เวลา ทรัพยากร ให้กำลังใจผู้ให้การดูแลและผู้ประสานงานกับเครือข่ายสังฆะ นอกจากนี้ยังสังเกตว่าโรงพยาบาลใดที่พยาบาลทำงานเป็นทีมหลายคน และมีเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์สนับสนุนให้กำลังใจซึ่งกันและกันก็ยิ่งทำงานได้สนุก ไม่เหนื่อย เห็นคุณค่าที่ลึกซึ้งของวิชาชีพการแพทย์และการพยาบาล
บุคลากรโรงพยาบาลผู้รับผิดชอบประสานงานหลักที่เห็นคุณค่าของการดูแลด้านจิตใจในผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี จะได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากพระและจิตอาสา พระและจิตอาสาเมื่อได้ทำงานดูแลจิตใจผู้ป่วยแล้วก็พบว่าตนมีคุณค่าต่อเพื่อนมนุษย์และปวารณาตัวว่าจะขอดูแลรับใช้ผู้ป่วยในชุมชน ทั้งนี้เพราะ "ยิ่งให้ยิ่งได้รับ" มีความสุข ความภูมิใจ อีกทั้งยังเป็นการเตรียมตัวจิตอาสาที่วันใดวันหนึ่งก็ต้องประสบความเจ็บป่วยและความตายเช่นเดียวกัน
พระสงฆ์เองก็เช่นกันที่กระตือรือร้นที่จะมีบทบาทในการออกเยี่ยมผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย ก่อนอบรมพระสงฆ์บางรูปเป็นกังวลว่าการดูแลผู้ป่วยไม่ใช่กิจของสงฆ์ แต่เมื่อได้รับการอบรมและเห็นจริยาวัตรของพระพุทธเจ้าที่ออกเยี่ยมผู้ป่วยและรักษาเยียวยา "โรคทางใจ" ของทั้งญาติ พระสงฆ์ และฆราวาสในชุมชน พระสงฆ์ที่ผ่านการอบรมจึงมีความเข้าใจว่าการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าได้มอบหมายให้คณะสงฆ์ทำงานสานต่อ เมื่อจบการอบรมท่านก็แสดงเจตนาที่จะร่วมงานกับโรงพยาบาล รอการประสานงานจากโรงพยาบาลให้ทำความรู้จักและนิมนต์ท่านเข้าเยี่ยมตามความสะดวกและความพร้อม
อย่างไรก็ตามพระและจิตอาสาจำเป็นต้องมีทักษะที่สำคัญบางประการ เช่น ทักษะการฟัง ทักษะการดูแลอย่างเป็นปัจจุบันขณะ มีทัศนคติที่ไม่คาดหวังผลสำเร็จจากการเยี่ยมจนเกินไป การรู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดของตน ความรู้เกี่ยวกับผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้ายเบื้องต้น ทั้งนี้พระสงฆ์มีทุนทางสังคมที่สำคัญคือภาพลักษณ์ของการเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ในขณะที่จิตอาสาก็จะมีทุนด้านความรู้จักคุ้นเคยกับผู้ป่วยเพราะอยู่ในบริบทสังคมวัฒนธรรมเดียวกัน ทำให้ดูแลได้อย่างใกล้ชิดและเป็นกันเอง
สถานพยาบาลแต่ละระดับมีความพร้อมและโอกาสในการพัฒนางานดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองไม่เหมือนกัน โรงพยาบาลขนาดใหญ่แม้ว่าจะมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก แต่ด้วยมีผู้ป่วยที่ต้องให้การดูแลจำนวนมากจึงทำให้จัดสรรเวลาดูแลจิตใจผู้ป่วยได้ไม่มากนัก นอกจากนี้ระบบงานที่ซับซ้อนก็ทำให้ยากต่อการประสานงานให้มีประสิทธิภาพ อีกทั้งฝ่ายผู้ป่วยและญาติก็คาดหวังการรักษาโรคต่อชีวิต มิใช่การเตรียมตัวตาย จึงยิ่งทำให้การดูแลแบบประคับประคองยากมากขึ้นไปอีก ในขณะที่โรงพยาบาลชุมชน แพทย์พยาบาลสามารถให้การดูแลได้ใกล้ชิดมากกว่า มีบรรยากาศที่สงบกว่า สามารถให้บริการต่อเนื่องที่บ้านได้ง่ายกว่า และก็จะยิ่งดูแลได้ใกล้ชิดมากขึ้นไปอีกหากเป็นการดูแลในระดับ รพสต. เพราะผู้ป่วยมีโอกาสใกล้ชิดกับจิตอาสาและพระสงฆ์ในชุมชน อยู่ในบรรยากาศที่คุ้นเคยเอื้ออำนวยต่อการฟื้นฟูสุขภาพ
รพสต.ดอนชมพู มะค่า และศูนย์การแพทย์วัดป่าสาละวัน ได้ให้การดูแลผู้ป่วยได้หลายกรณี มีการใช้พิธีกรรมสงฆ์เพื่อช่วยการเตรียมผู้ป่วยให้มีโอกาสเสียชีวิตอย่างสงบได้มากยิ่งขึ้น ในชุมชนแห่งหนึ่งเป็นที่รู้กันว่าหากเครือข่ายสังฆะดูแลผู้ป่วยได้เข้าไปให้การดูแลจิตใจแล้ว ชาวบ้านบริเวณโดยรอบก็จะถือดอกไม้เข้าไป "เอาบุญ" ร่วมสวดมนต์ให้ผู้ป่วย เพื่อส่งผู้ป่วยให้ถึงฝั่งอย่างนุ่มนวลอ่อนโยน
การดูแลด้วยจิตเมตตาของเครือข่ายสังฆะอาจมีพลังสร้างสิ่งที่เหลือเชื่อน่าชื่นใจ ตัวอย่างเช่น ยายมี (นามสมมติ) ป่วยเป็นโรคติดเชื้อในกระแสเลือดจนกระทั่งต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเคลื่อนไหวไม่ได้เป็นเวลาแรมเดือน แต่ด้วยการสนับสนุนเครื่องมือ ความรู้ และกำลังใจแก่ญาติผู้ดูแลของของทีมแพทย์และพยาบาลรพ.ชุมพวงทำให้ยายสามารถกลับไปดูแลตัวเองที่บ้านได้ เดินได้ กินได้ หายใจได้เองภายในระยะเวลาไม่ถึงเดือน การฟื้นตัวที่รวดเร็วเช่นนี้คงเป็นไปยากหากผู้ป่วยยังอยู่ในโรงพยาบาลที่แออัด และไม่ได้รับการดูแลด้วยความใส่ใจจากทีมสังฆะ ทีมเยี่ยมติดตามยังได้เห็นยายจุก (นามสมมติ) ผู้ฟื้นจากอาการโคม่าหลังจากทีมพยาบาลชุมชน จิตอาสา พระสงฆ์ และญาติมิตรในชุมชนร่วมให้กำลังใจผ่านพิธีสืบชะตา-ตัดเวรตัดกรรม บัดนี้ยายจุกเดินเหิรสะดวกเป็นที่อัศจรรย์ต่อผู้พบเห็น อย่างไรก็ตามยังมีผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ส่วนใหญ่จะเสียชีวิต แต่ก็เป็นมรณกรรมที่สงบและงดงาม
การมาเยี่ยมติดตามครั้งนี้ทีมงานของโครงการฯได้เห็นพลังของความเมตตาจากสังฆะกลุ่มเล็กๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ของไทย ทำหน้าที่เยียวยาความเจ็บกายป่วยใจอย่างเข้มแข็งไม่ย่อท้อ ทีมเยี่ยมติดตามขอขอบคุณและขออนุโมทนาบุญแก่สังฆะดูแลผู้ป่วย รพ.มหาราช วังน้ำเขียว ชุมพวง รพสต.ดอนชมพู มะค่า ตลอดจนสังฆะในพื้นที่อื่นๆ ที่กำลังทำหน้าที่เยียวยาจิตใจอย่างแข็งขัน
ตีพิมพ์ครั้งแรก: วารสารธรรม(ะ)ชาติบำบัด