Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ทางเลือกในการดูแลความเจ็บปวดทรมาน

-A +A

         คนเรามักไม่ค่อยนึกถึงความตายเท่าไรนัก แต่เมื่อถามว่ากลัวความตายไหม นอกจากคำตอบว่าใครบ้างไม่กลัวแล้ว เราคงได้ยินคำพูดในทำนองว่า ตายไม่กลัวหรอก แต่กลัวความเจ็บปวดทรมาน สำหรับคนเป็นอันมากความตายที่ปราศจากความเจ็บปวดทรมาน ดูจะกลายเป็นความปรารถนาแรงกล้า กระทั่งมีการขอร้องให้แพทย์ฉีดยาให้ตัวเองตายไปเพื่อให้พ้นจากความเจ็บปวดทรมาน จนกลายเป็นข้อถกเถียงทั้งในทางจริยธรรมและกฎหมายมาเป็นเวลานานนับสิบปี

         กล่าวคือ เรามักให้ความสำคัญกับสภาวะทางกายที่เกื้อกูลต่อการตายอย่างสงบ อันรวมไปถึงการตายท่ามกลางคนรักและญาติมิตรด้วย แต่เรามักจะละเลยองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด คือองค์ประกอบทางจิตวิญญาณ ได้แก่สภาวะจิตที่สงบโปร่งเบาเพราะได้ปล่อยวางทุกสิ่ง ไม่ปฏิเสธ ผลักไส หรือหวาดกลัวต่อความตาย หากน้อมรับว่าเป็นเรื่องธรรมดา และเป็นโอกาสในการพัฒนาจิตวิญญาณอีกด้วย การตายในขณะหลับหรือหมดสติ ท่ามกลางญาติมิตร แม้จะไม่เจ็บปวดหรือทรมาน แต่หากวาระสุดท้ายของผู้ตายมีจิตใจที่หม่นหมอง โกรธ เกลียด ห่วงกังวล ค้างคาใจ ย่อมไม่อาจเรียกว่าการตายที่ดีได้

         การตายอย่างสงบจึงย่อมหมายถึงความสงบในทางจิตใจเป็นสำคัญ

         แต่ใช่ว่าเรื่องความสงบทางกายจะปราศจากความสำคัญ เพราะกายและใจย่อมมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ใจที่กระสับกระส่าย หวาดกลัว หรือเศร้าหมอง ส่งผลให้ความเจ็บปวดทางกายเพิ่มมากขึ้น และในทางกลับกันความเจ็บปวดทางกายย่อมบั่นทอน รบกวนใจให้สงบได้ยาก จึงนอกจากการดูแลทางจิตใจแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย เช่น โดยการให้ความรักความเห็นอกเห็นใจ ช่วยให้ผู้ป่วยยอมรับความตายที่จะมาถึง ช่วยให้จิตใจจดจ่อกับสิ่งดีงาม ช่วยปลดเปลื้องสิ่งค้างคาใจ ช่วยให้ผู้ป่วยปล่อยวางสิ่งต่างๆ สร้างบรรยากาศแห่งความสงบ และกล่าวคำอำลาแล้ว การดูแลความเจ็บปวดทางกายอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในผู้ป่วยบางโรค เช่น มะเร็ง ซึ่งเป็นความเจ็บปวดที่รุนแรงและเรื้อรัง ไม่สามารถขจัดให้หายได้อย่างเด็ดขาด จึงมีความสำคัญในการช่วยให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสฝึกฝนและปล่อยวางจิตใจง่ายขึ้น

 

ทางเลือกในการดูแลความเจ็บปวด

         ในปัจจุบัน นอกเหนือจากการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์และยาสมัยใหม่เพื่อดูแลความเจ็บปวดโดยทั่วไปแล้ว ยังมีการใช้ทางเลือกอื่นๆ ในการดูแลความเจ็บปวดในระดับต่างๆ ด้วยตัวเองอย่างได้ผลที่มากกว่าการผ่อนคลาย โดยมีงานวิจัยและประสบการณ์ตรงของผู้คนจำนวนไม่น้อยรองรับ บางวิธีการสามารถจะนำไปใช้ได้โดยตรงเมื่อผู้ป่วยเกิดความเจ็บปวดแล้วไม่ว่ามากหรือน้อย เพื่อเป็นทางเลือกควบคู่หรือนอกเหนือไปจากการใช้ยาโดยทั่วไป โดยวิธีการต่างๆ ที่จะนำเสนอ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีราคาแพงหรือความรู้ซับซ้อน แต่สามารถเรียนรู้และนำไปใช้อย่างได้ผลในเวลาไม่นาน เพราะเป็นการนำศักยภาพภายในที่มีในตัวของเราแต่ละคนอยู่แล้วออกมาใช้ หากแต่ระดับของผลที่ได้ย่อมขึ้นอยู่กับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องเป็นสำคัญ

         อย่างไรก็ตาม การเลือกวิธีลดทอนความปวดนอกเหนือจากยา ย่อมขึ้นอยู่กับความพร้อมและความพอใจของผู้ป่วยเป็นหลัก เช่น คุณป้าคนหนึ่งป่วยรู้สึกปวดข้อ และต้องกินยาเพื่อบำบัดความปวด ลูกสาวของคุณป้าเล่าให้ฟังว่า ท่านเป็นคนฟุ้งซ่าน คิดว่าตัวเองไม่สบาย และเจ็บปวดเสมอ คุณป้าค่อนข้างเก็บตัว ไม่สนใจการนั่งสมาธิหรือปฏิบัติธรรม ความที่เป็นคนช่างคิด ช่างรู้สึก การให้คุณป้าทำอะไรเล็กๆน้อยๆ น่าจะช่วยให้ท่านไม่คิดฟุ้งซ่านได้ แต่ท่านมีอายุแล้ว ตาไม่ค่อยดี การทำงานเช่นปลูกผัก อาจไม่สะดวก จึงลงเอยที่การร้อยลูกปัด คุณป้าต้องมีสมาธิเพื่อจะร้อยลูกปัดทีละเม็ดในเส้นเอ็น ลูกสาวยังคิดอุบายที่จะให้ท่านตั้งมั่นมากขึ้นโดยการบอกว่า สร้อยแต่ละเส้นจะมีลูกปัด ๑๐๘ เม็ด แม่ต้องนับลูกปัดให้ได้พอดีด้วย คุณป้าจึงต้องนั่งร้อยลูกปัดพร้อมกับนับเลข ๑ ถึง ๑๐๘ 

         สิ่งสำคัญคือ ต้องไม่ยัดเยียดวิธีการ ความเชื่อของเราให้ผู้ป่วย สิ่งที่ทำได้คือ นำเสนอทางเลือกและมอบอำนาจการตัดสินใจให้กับผู้ป่วย ดังนี้ 

 

ดนตรีบำบัด 

         ดนตรีเป็นเครื่องมืออันวิเศษที่ช่วยให้เราผ่อนคลาย ให้ใจจดจ่อกับสิ่งงดงาม มีจินตนาการอันบรรเจิด ช่วยให้เราบรรเทาความเจ็บปวดทางกาย ความทุกข์กระวนกระวายใจได้ 

         งานวิจัยในต่างประเทศชิ้นหนึ่งบอกว่า ผู้ป่วยหลังผ่าตัดใหญ่ เมื่อได้ฟังดนตรีที่ผ่อนคลายและที่โปรดปราน พบว่าใช้ยาแก้ปวดในปริมาณน้อยลงและนอนหลับได้ดีขึ้น ในประเทศไทยเองมีงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้ดนตรีร่วมกับยาแก้ปวดอย่างอ่อนๆ เพื่อบรรเทาความปวดรุนแรงในระยะคลอดลูก แม้ว่าความปวดในระยะคลอดเป็นความปวดอย่างรุนแรง แต่แทนที่จะให้ยาลดปวดขนาดสูง กลับเปลี่ยนมาให้ยาลดปวดขนาดต่ำ และใช้การเปิดดนตรีเพลงคลาสสิกร่วมกับการดูแล ปรากฎว่าสามารถช่วยให้ผู้ที่อยู่ในระยะคลอด บรรเทาความปวดและเครียดจากการคลอดได้ 

         ดนตรีที่เหมาะสมเพื่อบรรเทาความปวด มักเป็นดนตรีที่มีท่วงทำนองช้า ช่วยให้ผ่อนคลายและสงบกว่าการฟังเพลงเร็ว เพลงที่ไม่มีเสียงร้องดีกว่าเพลงที่มีเสียงร้อง ถ้ามีเสียงร้อง ควรเลือกเนื้อหาที่ช่วยให้ใจสบาย และถ้าหากผู้ป่วยมีดนตรีหรือเพลงที่ชอบเป็นพิเศษ ให้ใช้เพลงนั้นได้ 

         เพลงที่นิยมใช้ในการบรรเทาความปวดจึงเป็นประเภทดนตรีบรรเลง ดนตรีคลาสสิก ดนตรีเสียงจากธรรมชาติ เช่น เสียงน้ำไหล เสียงนก เพลงสวดก็ช่วยได้มากเหมือนกัน ซึ่งปัจจุบัน มีการนำบทสวดมนต์มาใส่ดนตรีประกอบเข้าไป ทำให้น่าฟังไม่ใช่เป็นเรื่องของการสวดมนต์เคร่งขรึมเหมือนในอดีต 

         เราอาจฟังเพลงและเอาใจให้เลื่อนไหลไปตามเสียงโน้ตดนตรีแต่ละตัว สูง ต่ำ เรื่อยๆ ทั้งเพลง หรืออาจชักชวนเพื่อนๆ และญาติมาร้องรำฮัมเพลงกัน เป็นการสร้างบรรยากาศที่อบอุ่น สนุกสนานได้ไม่น้อยอีกด้วย 

 

การหัวเราะและอารมณ์ขัน 

         มีการวิจัยว่าการหัวเราะอย่างต่อเนื่องในเวลา ๑๐ นาทีที่หน้าท้องขยับ ทำให้ผู้ป่วยหลับได้โดยไม่เจ็บปวดประมาณ ๒ ชั่วโมง การยิ้มและหัวเราะช่วยให้เอ็นดอร์ฟินหลั่ง ร่างกายผ่อนคลาย เม็ดเลือดขาวทำหน้าที่คุ้มกันร่างกายได้ดีขึ้น ลดฮอร์โมนคอร์ทีซอลซึ่งทำให้เจ็บปวด 

         อารมณ์ขันคือการคิดต่อเรื่องต่างๆ ในแง่มุมอื่นๆ แง่มุมที่เบาๆ สบายๆ และไม่จริงจังเกินไป อารมณ์ขันในยามป่วยเจ็บ หมายถึงการที่เราสามารถหัวเราะขำกับตัวเองได้ 

         หากเราไม่รู้ว่าจะสร้างอารมณ์ขันได้อย่างไร อาจหาละคร หนังตลก หรือ อ่านหนังสือที่ตลกๆ นึกถึงหรือคุยเรื่องขำๆ กัน หรือไม่ลองนั่งหัวเราะเอาโทนเสียง จังหวะ ได้ทุกรูปแบบ นั่งหัวเราะไป ๕ นาที ๑๐ นาที ติดต่อกัน ร่างกายจะได้ขยับเป็นการบริหารอวัยวะภายในและกล้ามเนื้อใบหน้า และเมื่อเราหัวเราะ ใจของเราจะเบา คลี่คลายจากสิ่งที่เราตึงเครียดอยู่ 

 

การนวดและสัมผัส

         การสัมผัสเป็นการเยียวยาที่วิเศษ เป็นการสื่อสารความรู้สึกอันไร้คำพูด หากเราสัมผัสมือและลูบแขนผู้ป่วยอย่างอ่อนโยนจะช่วยทำให้เขารับรู้ และรู้สึกดีขึ้นได้ การกอด อุ้ม นวด ลูบสัมผัสด้วยความรักและอ่อนโยน ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบาย ผ่อนคลายด้วย 

         การนวดช่วยให้กล้ามเนื้อที่ยึดเกร็งจากความปวดคลายออก เมื่อกล้ามเนื้อผ่อนคลาย ความเจ็บปวดจะบรรเทา ทำให้สัญญาณความเจ็บปวดที่จะส่งไปยังสมองเกิดสับสน ช่วยลดความปวดได้ การนวดมือทำให้ลดอาการปวดหัว ปวดฟันได้ และยังมีการศึกษาด้วยว่า การกดจุดที่หู สามารถกระตุ้นให้มีการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟีน 

         การนวดเป็นสัมผัสใกล้ชิด หากคนใกล้ชิดทำจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นอย่างมาก ช่วยสร้างกำลังใจและแสดงความรักความห่วงใยต่อกัน นอกจากนั้นผู้ป่วยเองสามารถนวดตัวเองได้

การนวดที่เน้นการผ่อนคลาย ไม่จำเป็นต้องกดจุดหรือเรียนรู้ศาสตร์การนวดมากมาย มีข้อควรระวังอยู่ที่ เราไม่ควรนวดในบริเวณที่ปวด เช่น หากปวดหัวอย่านวดหัว เพราะจะทำให้ปวดมากขึ้น แต่ให้เปลี่ยนไปนวดจุดอื่นแทน เช่น นวดมือ นิ้ว หรือ เท้า หากปวดแขน ก็นวดเท้า นวดหน้า นวดหู อวัยวะต่างๆในร่างกายเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทั้งหมด มีผลกระทบต่อกันทางใดทางหนึ่ง

 

สมาธิคลายปวด 

         คุณอุษาเข้าโรงพยาบาลเพื่อเตรียมคลอด เมื่อรับประทานอาหารกลางวันแล้ว เธอโทรศัพท์ไปบอกคนทางบ้านว่า หมอคาดว่าจะคลอดในวันพรุ่งนี้ ระหว่างยืนคุยโทรศัพท์อยู่ ปรากฏว่าน้ำคร่ำเริ่มเดิน เธอจึงต้องเข้าห้องผ่าตัดด่วน แต่เนื่องจากเธอเพิ่งรับประทานอาหารกลางวันไป จึงไม่สามารถบล็อกหลังที่ทำให้หมดความรู้สึกในช่วงล่างทั้งหมดได้ เพราะจะทำให้ระบบย่อยอาหารของเธอปั่นป่วนและอาจนำไปสู่การสำลักตายได้ คุณหมอจึงจำเป็นต้องให้ยาชาแบบอ่อนๆ 

         เธอเล่าให้ฟังว่า “เจ็บปวดมาก รับรู้ได้ถึงมีดที่กรีดลงผิวหนัง เรารู้เลยว่าเขากำลังกรีดเป็นชั้นๆ ลงไป รู้สึกถึงเลือดที่ไหลออกมา น้ำตาร่วง แต่เราไม่ร้อง”

         “ในเวลานั้น เราทำสมาธิอย่างเดียว ท่องพุทโธๆ ตามลมหายใจ ทำไปเรื่อยๆ ยังรับรู้ความเจ็บปวดอยู่ แต่ยิ่งเจ็บเรายิ่งจดจ่อกับคำภาวนามากขึ้น สักพักจึงไม่ค่อยรู้สึกเจ็บแล้ว ใจอยู่กับการทำสมาธิ” 

         เธอผ่านพ้น “การผ่าตัดทำคลอดสด” มาได้ด้วยสมาธิที่ฝึกฝนมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน โดยการท่องคำภาวนาและตามลมหายใจ

         เหตุใดสมาธิจึงทำให้ความเจ็บปวดน้อยลง หรือดูเหมือนน้อยลงไปได้ เพราะการทำสมาธิช่วยรวมใจให้เป็นหนึ่งจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทำให้ใจไม่รับรู้เรื่องอื่นๆ อารมณ์อื่นๆ รวมถึงความเจ็บปวดด้วย แต่การที่จิตจะเป็นสมาธิได้นั้น ต้องอาศัยความคุ้นเคยจากการฝึกฝนปฏิบัติ ใจที่ฝึกคุ้นกับสมาธิระดับไหนย่อมสามารถรองรับความเจ็บปวดได้ในระดับนั้น 

         เราสามารถบ่มเพาะสมาธิภาวนาได้หลายวิธี เช่น การสวดมนต์ การสวดภาวนาอ้อนวอนต่อพระเจ้า ร้องเพลงสวด แผ่เมตตา การตามลมหายใจ เป็นต้น การภาวนาร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปจะมีพลังมากขึ้น หากเราสนับสนุนให้ผู้ป่วยทำภาวนา เราควรทำร่วมกับเขาด้วย 

 

สวดมนต์ สวดอ้อนวอนถึงพระเจ้า หรือร้องเพลงสวด 

         มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งในต่างประเทศ ทดลองให้มีการสวดมนต์ให้ผู้ป่วยจำนวน ๓๙๓ คนที่นอนในหน่วยหัวใจขาดเลือด ในกลุ่มผู้ป่วย ๑๙๒ คนมีคนมาสวดภาวนาให้ ส่วนอีก ๒๐๑ คนไม่มีใครมาสวดภาวนาให้ ผลการวิจัยพบว่า ในกลุ่มผู้ที่ได้ฟังการสวดภาวนา มีการใช้ยาปฏิชีวนะน้อยกว่า กลุ่มที่ไม่ฟังการสวดมนต์ ๒ ถึง ๕ เท่า เกิดภาวะแทรกซ้อนเช่นน้ำท่วมปอดน้อยกว่า ๓ เท่า และ มีปริมาณใช้ท่อช่วยหายใจน้อยกว่า ๑๒ เท่า 

         เราอาจจะเปิดเทปสวดมนต์ พระคัมภีร์ ให้ผู้ป่วยระลึกตามในใจ หรืออาจจะชวนให้ผู้ป่วยสวดมนต์ร่วมกันหากยังสามารถทำได้และปรารถนาจะทำ วิธีการดังกล่าวเหมาะจะทำในภาวะที่ความเจ็บปวดยังอยู่ในระดับต่ำและพอทนได้ 

         ควรเลือกบทสวดมนต์ที่เราหรือผู้ป่วยชอบหรือคุ้นเคย บทสวดที่ยาวจะช่วยสร้างสมาธิได้มากขึ้น สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับการสวดมนต์ แต่มีความเชื่อศรัทธาอยู่บ้าง เราอาจแนะนำบทสวดมนต์สั้นๆ หรือเป็นคำๆ ที่โน้มน้าวใจให้เข้าหาสิ่งที่ดีงาม เช่น พุทโธ สัมมาอะระหัง หรือ นะโมตัสสะ เป็นต้น โดยผู้ป่วยที่เคยปฏิบัติภาวนามาอาจทำเอง หรือญาติช่วยสนับสนุนโดยการเตือนสติเขาให้ระลึกถึงการภาวนา 

 

 

เมตตาภาวนากับความเจ็บป่วย

         ผู้ป่วยมะเร็งหลายคนเล่าว่า สามารถทำใจผูกมิตรกับก้อนมะเร็งได้ พูดคุยด้วยดีๆ เหมือนเขาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการความรักความเมตตา หลายคนเรียกมะเร็งว่า “คุณก้อนมะเร็ง” เมื่อสามารถคิด รู้สึกและพูดออกไปอย่างนั้นได้บ่อยๆ ดูเหมือนก้อนมะเร็งจะทำตัวดี ไม่ลุกลาม และสำหรับบางราย คุณก้อนมะเร็งกลับหดตัวเล็กลงด้วย 

         พระอาจารย์พุทธ นิกายเซ็น อย่างท่านติช นัท ฮันห์ แนะนำให้เรา สัมผัสภาวนาความปวดด้วยรัก เช่นเดียวกับที่เราอาจจะสัมผัสตาของเรา หายใจเข้าแล้วกล่าวว่า “ฉันตระหนักรู้ในดวงตาของฉัน” หายใจออกแล้วกล่าวว่า “ฉันยิ้มให้กับดวงตาของฉัน” แม้กับความเจ็บปวดที่รุนแรง เราอาจสามารถทำเช่นเดียวกันได้ สิ่งนี้ทำให้เราไม่รู้สึกเป็นศัตรูกับความเจ็บปวดในร่างกายตนเอง แต่เราสามารถรักความทุกข์อย่างไม่มีเงื่อนไข มันจึงเป็นความมหัศจรรย์

 

ปาฏิหารย์แห่งลมหายใจ 

         ท่านพุทธทาสกล่าวถึงประโยชน์ของอานาปานสติต่อสุขภาพร่างกายในหนังสือ วิธีรักษาสุขภาพอนามัยทางจิตที่ดี ว่าการรู้ลมหายใจเข้าออกของตนอยู่เนืองๆ ช่วยบรรเทาอาการทางกายได้หลายอย่าง เช่น ขับไล่ความร้อนเมื่อเราเป็นไข้ เวลาเลือดออกมาก การตามลมหายใจช่วยให้เลือดออกช้าลงและน้อยลง 

         ลมหายใจเป็นสะพานเชื่อมกายและใจ จึงสัมพันธ์กับอารมณ์ เมื่อรู้สึกสงบ ลมหายใจจะละเอียด และยังช่วยขับไล่ความรู้สึกเลวร้ายต่างๆ เช่นโกรธ เศร้า เหนื่อย วิตกกังวล กลัว เวลาเด็กร้องไห้ มีอาการสะอึกสะอื้น เป็นการที่ร่างกายช่วยเอาอ๊อกซิเจนเข้าร่างกายเป็นการปลอบอารมณ์ให้คลายลง

         หายใจอย่างไรจึงจะเรียกว่าหายใจดี? หายใจยาว ลึก ช้า และละเอียดลงไปถึงหน้าท้อง 

         สถาบันมะเร็งแนะนำให้ผู้ป่วยหายใจลึกๆ ช้าๆ เพื่อผ่อนคลายความเครียด มีหญิงวัย ๕๐ เศษคนหนึ่งป่วยเป็นมะเร็งสมอง เธอปวดหัวมากเหมือนจะระเบิดเป็นเสี่ยงๆ นอกจากดูแลร่างกายด้วยยาและการรักษาอย่างที่หมอบอกแล้ว เธอยังทำสมาธิตามรู้ลมหายใจเข้า-ออกอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวันเพื่อประคองใจ เธอบอกว่า “ไม่ค่อยรู้สึกปวดหัวมากเหมือนก่อน รู้สึกทั้งหัวและใจโปร่งโล่งสบายขึ้น” แม้เธอจะจากไปแล้ว แต่เธอเจ็บปวดทรมานน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ป่วยมะเร็งสมองโดยทั่วไป 

         เมื่อเจ็บป่วย ตั้งใจหายใจให้ดี การตกใจ วิตก และเครียด จะทำให้ลมหายใจถี่กระชั้น ซึ่งทำให้ทั้งกายและใจปวดมากขึ้น เราอาจน้อมคำบริกรรมบางอย่างตามลมหายใจด้วย เช่น 

         เมื่อหายใจเข้า --- ฉันรับรู้ความปวด ความเครียดในตัว

         เมื่อหายใจออก --- ฉันปลดปล่อยความปวด ความเครียดออกไป 

         สำหรับผู้มีปัญหาของระบบการหายใจ หรือยากที่จะตามลมหายใจ อาจให้เขาตามรู้อาการการเคลื่อนไหวของกาย เช่น กำและเหยียดมือ ยกเท้าขึ้นลง รับรู้การกระพริบตา ขยับตัวไปมา หรือจดจ่อกับเสียงสวดมนต์หรือเสียงระฆังแทน

 

การผ่อนพักอย่างลึก
         เพื่อสัมผัสร่างกายและความเจ็บปวด โดยการนั่งหรือนอนลงในท่าที่สบาย สำรวจกายให้ผ่อนคลายคล้ายเราเป็นปุยเมฆเบา ลอยอยู่กลางอากาศอันไร้น้ำหนัก 

         ตามลมหายใจลึกๆ ช้าๆ สักครู่ อาจจะสัก ๓ ครั้งหรือจนกว่าจะพอใจ แล้วนึกเอาใจไปที่กระหม่อมศีรษะ เปิดใจรับความรู้สึกที่เข้ามาตรงนั้น แล้วค่อยๆ เคลื่อนความรู้สึกมาที่ใบหน้า ผ่อนคลายกล้ามเนื้อบนใบหน้า หน้าผาก หว่างคิ้ว ปาก และริมฝีปาก ใบหู และส่วนอื่นๆ ที่อยู่บนใบหน้าอย่างช้าๆ

         รับรู้และผ่อนคลายกับอวัยวะอื่นๆ เรื่อยๆ มาที่คอ บ่า แขน กระดูก หน้าอก ลำตัว ปอด หัวใจ กระดูก กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น อวัยวะภายใน 

         เราอาจจะพูดขอบคุณอวัยวะต่างๆ ในร่างกายไปด้วย เช่น ขอบคุณดวงตาที่ทำให้เรามองเห็นสิ่งสวยงาม ให้เรารู้สึกชื่นบานกับสิ่งต่างๆ ขอบคุณหัวใจที่ทำหน้าที่อย่างดีมาชั่วชีวิต ไม่ขี้เกียจหรือทำร้ายเราเลย และหากเราเจ็บปวดที่ส่วนใด เราอาจกล่าวคำขอโทษที่เราไม่ได้ดูแลร่างกายให้ดีพอ ทำให้เขาอ่อนแอ เกิดโรค และขอบคุณความปวดนั้นที่เขามาเตือนเราให้เห็นโทษการปล่อยปะละเลยเอาใจใส่ร่างกาย 

นอกจากแผ่เมตตาให้ร่างกายและความเจ็บปวดแล้ว จะดียิ่งขึ้นหากผู้ที่กำลังเผชิญความเจ็บปวดสามารถแผ่ความรักความเมตตาให้ผู้อื่นและผู้ที่กำลังเจ็บปวดทรมานเช่นกันได้ด้วย (อ่าน ผ่อนพักกาย ผ่อนคลายใจให้สุขสงบด้วย Body Scan ในหน้า ๔๔ เพิ่มเติม) 

 

การสร้างจินตภาพ 

         การใช้จินตนาการบรรเทาความเจ็บปวดค่อนข้างเป็นวิธีที่ได้ผลดีกับเด็ก เช่น เด็ก ๕ ขวบคนหนึ่งป่วยด้วยมะเร็งไต เขากระสับกระส่ายมากด้วยความเจ็บปวด พยาบาลจึงพูดนำจินตนาการให้เขานึกถึงอุลตร้าแมนที่เขาชอบโดยค่อยๆ พูดนำอย่างเป็นขั้นเป็นตอนว่า กำลังพาไปซื้ออุลตร้าแมนที่ห้างสรรพสินค้า ได้เดินผ่านแผนกต่างๆ จนไปถึงแผนกของเล่น เมื่อซื้อเสร็จก็พาไปสวนสัตว์ และพาไปกราบพระที่เขานับถือ พูดไปเรื่อยๆ ราว ๑๕ นาที เด็กมีอาการสงบลง ไม่ได้แสดงความเจ็บปวดอะไร จนกระทั่งสิ้นลมหายใจใน ๓ ชั่วโมงหลังจากนั้น

 

บทภาวนาจินตนาการกับความปวด 

         ตัวอย่างบทจินตนาการ ภาวนา และ เยียวยาความเจ็บปวด ในหนังสือ Who Dies? An investigation of Conscious Living and Conscious Dying โดย Stephen Levine 

 

 

เริ่มจากนั่งหรือนอนลงในท่าที่สบาย รู้สึกตัวว่ากำลังนั่ง หรือ นอนอยู่ 

นำความรู้สึกตัวไปจุดที่รู้สึกไม่สบายตัว เจ็บปวด

รู้สึกถึงความเจ็บปวดในบริเวณนั้นอย่างแผ่วเบา อ่อนโยน รับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะ 

ปล่อยให้ใจได้สัมผัสรับรู้ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความเจ็บปวดอย่างอิสระ

ความรู้สึกเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง และหายไป ความรู้สึกใหม่เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงและจางหายเป็นเช่นนี้เรื่อยๆ ไป 

สังเกตเห็นกล้ามเนื้อเกร็งบริเวณที่เจ็บปวดไหม มือของเรากำแน่น เล็บเท้าจิกเกร็งหรือเปล่า นี่คือความพยายามจะปิดบัง กดข่มความเจ็บปวด 

ขอให้เราให้กายเปิดรับความเจ็บปวดอย่างเบาๆ   

รับรู้แรงต้านของกายและใจที่พยายามขัดขืน ต่อสู้กับความเจ็บปวด 

สังเกตความพยายามของเราที่จะแยกความเจ็บปวดออกไป ปิดขังมัน 

อย่าขับไล่ไสส่งความเจ็บปวด เปิดใจต้อนรับฉันท์เพื่อนผู้มาเยี่ยมเยือน 

จินตนาการเห็นมือของเรากำแน่นและเกร็งตัวแน่นเพื่อต่อสู้กับความเจ็บปวดบริเวณนั้น 

ลองเปิดใจรับความเจ็บปวด คลี่ใจออกให้ความเจ็บปวดแสดงตัวอย่างช้าๆ อ่อนโยน จินตนาการว่า กำปั้นที่กำความเจ็บปวดนั้นเริ่มคลายออก กล้ามเนื้อที่เขม็งเกลียวคลี่คลาย 

ความเจ็บปวดนั้นคล้ายกับก้อนฟืนแดงกรุ่นด้วยไฟ หากเรากำมันก้อนฟืนแน่น เราจะยิ่งเจ็บปวดแสบร้อน  

แต่หากเราคลายมือออก ความเจ็บร้อนจะเบาไป 

จินตนาการเห็นกำปั้นที่กำความเจ็บปวดแน่นนั้นค่อยๆคลายตัวออกอย่างช้าๆ อ่อนโยน สบายๆ  

ปล่อยความปวดออกจากกำมือของเราเสีย ปลดปล่อยความกลัว ความกังวลของเราไปด้วย   

สังเกตเห็นความกลัวที่อยู่รายรอบความปวด ปล่อยให้ความกลัวนั้นหลอมละลาย ความตึงเครียดสลายออก ปล่อยให้ความรู้สึกต่างๆ ผุดพราย และจางคลายไปตามจังหวะธรรมชาติของมัน 

อย่าพยายามจับยึดความเจ็บปวด ปล่อยให้มันผุดขึ้น และล่องลอยอย่างอิสระ 

อย่าได้ขืนต้านความปวดอีกเลย  

คลายมือที่กำความปวดออก คลี่นิ้วทีละนิ้วจนมือแบออก  

ความรู้สึกต่อต้านความเจ็บปวดคลายลง เปิดใจยอมรับความเจ็บปวด 

ความเจ็บปวดอ่อนนุ่ม ปล่อยความปวดให้เป็นไป อย่าขัดขืนประสบการณ์นี้ อย่าจับยึด อย่าผลักไส ปล่อยให้มันเป็นไปอย่างอิสระ 

ปล่อยให้กายผ่อนคลายและเปิดออก ให้ความรู้สึกล่องลอย ไหลเคลื่อนอย่างอิสระ บางเบา อ่อนโยน 

มีเพียงความรู้สึกล่องลอยอิสระ อ่อนโยน เบาสบาย 

 

 

         อย่างไรก็ตาม การใช้ยาเพื่อลดความปวดยังคงมีความจำเป็นที่ไม่ควรปฏิเสธ หากเราใช้อย่างเหมาะสมและรู้เท่าทัน  โดยคุณหมอเต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี จากหน่วยรังสีวิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ศึกษาการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งมาอย่างยาวนาน ได้ให้ข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับการใช้ยาเพื่อดูแลความปวดที่ผู้ป่วยและญาติควรทราบ ดังนี้ 

 

การใช้ยาระงับปวดในผู้ป่วยระยะสุดท้าย

 จะเลือกใช้ยาอะไร

         แพทย์จะเลือกใช้ยาขึ้นกับความรุนแรงและลักษณะของอาการปวด ถ้าปวดน้อยใช้พาราเซตามอล ปวดปานกลางใช้โคเดอีนหรือทรามาดอลร่วมกับพาราเซตามอล ปวดรุนแรงใช้มอร์ฟีนร่วมกับพาราเซตามอล โดยสามารถใช้ยาเสริมตามลักษณะของอาการปวด เช่น ปวดกระดูกเพิ่มยาลดการอักเสบ ปวดลำไส้บิดเป็นพักๆ เพิ่มยาลดการบีบตัวของลำไส้ ปวดแสบปวดร้อนจากระบบประสาทเพิ่มยากันชัก หรือยาระงับอาการซึมเศร้า เป็นต้น

 

 จะรับประทานยาตอนไหน

         ถ้าอาการปวดไม่มากหรือปวดเป็นครั้งคราว สามารถรับประทานยาเมื่อมีอาการได้ แต่ความปวดในผู้ป่วยระยะสุดท้ายส่วนใหญ่ เช่น มะเร็ง เอดส์ มักเป็นความปวดต่อเนื่องตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอทั้งวันตามเวลาที่แพทย์กำหนดอย่างสอดคล้องกับกิจวัตรประจำวัน ถ้ารอรับประทาน เมื่อมีอาการแล้ว มักจะไม่ค่อยได้ผล 

ยาระงับปวดส่วนใหญ่ ไม่มีฤทธิ์ระคายกระเพาะอาหาร จึงไม่จำเป็นต้องรับประทานหลังอาหาร สามารถรับประทานขณะท้องว่างได้ ยกเว้น แอสไพรินหรือยาลดการอักเสบที่ใช้ในอาการปวดกระดูก

 

 รับประทานพาราเซตามอลมากๆ ได้หรือไม่

         ไม่ควรรับประทานพาราเซตามอลเกิน วันละ ๘ เม็ด ถ้ารับประทานขนาดนี้แล้ว อาการปวดไม่ดีขึ้นใน ๒๔ ชั่วโมง ควรเปลี่ยนเป็นยาอื่น เนื่องจากมีผลเสียต่อตับ

 

 ทำไมต้องใช้มอร์ฟีน

         จำเป็นต้องใช้มอร์ฟีนสำหรับผู้ป่วยที่ปวดรุนแรง เนื่องจากออกฤทธิ์ได้ผลดี และปลอดภัยสูง สามารถเพิ่มปริมาณยาได้ไม่จำกัดตามความรุนแรงของอาการ และยังมีหลายรูปแบบ ทั้งชนิดน้ำเชื่อมออกฤทธิ์เร็ว ชนิดเม็ดออกฤทธิ์ช้าแบบต่อเนื่อง และชนิดฉีด จึงสามารถปรับเปลี่ยนยาได้สะดวก

 

 จะติดมอร์ฟีนหรือไม่

         ถึงแม้มอร์ฟีนจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติด และผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องใช้ยาเพิ่มขึ้นเมื่ออาการปวดมากขึ้นตามระยะของโรค แต่การติดยาเพราะภาวะทางจิตที่หวังผลสุขสบายจากยา โดยไม่เกี่ยวข้องกับผลระงับปวด เกิดขึ้นน้อยมากกับผู้ป่วยระยะสุดท้ายในการดูแลของแพทย์ 

         ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาความปวดจากโรคด้วยวิธีอื่น เช่น การฉายรังสี หัตถการทางวิสัญญี เมื่อได้ผลแล้วจะสามารถลดปริมาณหรือหยุดการใช้มอร์ฟีนได้

 

 ต้องระวังอะไรบ้าง เวลารับประทานมอร์ฟีน

         ผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุดของมอร์ฟีนคือ อาการท้องผูก จึงควรรับประทานยาระบายชนิดเพิ่มการบีบตัวของลำไส้ควบคู่ไปด้วยทุกวัน 

         มอร์ฟีนชนิดน้ำเชื่อมจะมีอายุการใช้งานไม่นาน ควรดูวันหมดอายุก่อนใช้ยาทุกครั้งและเก็บรักษาตามที่โรงพยาบาลให้คำแนะนำ 

         มอร์ฟีนชนิดเม็ด ไม่ควรบด เคี้ยวหรือละลายน้ำเวลารับประทาน เนื่องจากจะทำให้เม็ดยาสูญเสียคุณสมบัติการออกฤทธิ์ช้าแบบต่อเนื่องไป

 

         นอกเหนือจากวิธีการต่าง ๆ ที่นำเสนอไปแล้ว ยังมีทางเลือกอื่น ๆ อีก เช่น กายบริหาร ไท้เก๊ก ชี่กง กลิ่นบำบัด ศิลปะ วาดรูป ปั้น และประดิษฐ์ การขออโหสิกรรม การทำบุญหรือทำกิจตามความเชื่อทางศาสนา การภาวนาทางอเลน ซึ่งเราสามารถนำมาใช้ในการดูแลความเจ็บปวดทรมานได้ โดยสิ่งสำคัญต้องไม่ลืม คือเพื่อการมีสภาวะทางกาย และใจที่เกื้อกูลต่อการเรียนรู้ทางจิตวิญญาณ และนำไปสู่การตายที่ดีในที่สุด 

---

เอกสารประกอบการเรียบเรียง

  • “กายปวด ใจไม่ปวด” โดย กรรณจริยา สุขรุ่ง (ใช้เป็นเอกสารหลัก)
  • เหนือความตาย และ การช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยวิธีแบบพุทธ  โดย พระไพศาล วิสาโล
  • การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดย ผศ. นพ. พรเลิศ ฉัตรแก้ว และคณะ บรรณาธิการ
  • งานวิจัย “ทางเลือกในการจัดการกับความปวดในผู้ป่วยที่มีความปวด: ผลของการสร้างจินตภาพ” โดย บำเพ็ญจิต แสงชาติ และคณะ

 

คอลัมน์:

ผู้เขียน: