Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

บทบาทของพระสงฆ์ ในสังฆะแห่งการดูแลผู้ป่วย

-A +A

 

   
      "ตอนแรกเพื่อนอาตมาก็แซวกันว่า หลวงพี่...วันนี้ตายกี่คน ตอนแรกอาตมาก็รู้สึกไม่ดี ตอนหลังก็เริ่มชิน เพราะโยมผู้ป่วยที่อาตมาไปเยี่ยมบอกว่าตอนนี้อยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง อยากทำบุญ ใจเริ่มเปิดกว้าง แกบอกว่าของแบบนี้เงินก็ซื้อไม่ได้ แกปวารณาว่าถ้าหายแล้วจะไปเยี่ยมอาตมาที่วัด อาตมาภูมิใจที่ได้ช่วยให้คนๆ หนึ่งรู้จักตัวเอง รู้จักขอบคุณตัวเอง" 

          พระธนภัทร ฉนฺทธมฺโม แห่งวัดบ้านใหญ่ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา กล่าวถึงประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยเรื้อรังระยะสุดท้ายในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาว่า พยาบาลและเจ้าหน้าที่ในบริเวณที่มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ยิ้มสดชื่นเมื่อได้ฟังถ้อยคำเหล่านั้น ยกมือประนมสาธุ สาธุ ที่ในสังคมมีพระปฏิบัติดีเพิ่มขึ้นอีกรูปหนึ่งผ่านการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

 

          เรื่องจิตใจเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย เพราะโรคทางกายเหล่านั้นไม่อาจหายขาดได้ ทำได้เพียงประคับประคองตามอาการ หากผู้ป่วยและญาติไม่สามารถทำใจอยู่ร่วมกับความเจ็บป่วยที่ปรากฏขึ้น ความทุกข์ทรมานกระสับกระส่ายยิ่งจะเพิ่มขึ้นเท่าทวีคูณ

          ในขณะที่โรงพยาบาลไม่อาจให้การดูแลมิติทางใจได้เต็มที่เพราะมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ต้องดูแลทางกาย จิตอาสาให้ความช่วยเหลือได้เท่าที่โอกาสอำนวย เพราะมีภาระหน้าที่การงานหรือครอบครัวที่ต้องดูแล ดังนั้นพระสงฆ์จึงเป็นความหวังของผู้ป่วยที่จะให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านจิตใจได้มากที่สุด เป็นหนึ่งในสังฆะที่สำคัญที่จะร่วมดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย

 

โอกาสและอุปสรรค

          พระสงฆ์มีโอกาสช่วยเหลือผู้ป่วยได้มาก เพราะโดยหลักการแล้ว พระสงฆ์มีความรู้เรื่องจิตใจทั้งในทางปริยัติและปฏิบัติ พระไม่มีครอบครัวหรือการงานการเงินที่ต้องห่วงกังวล การดูแลจิตใจผู้ป่วยเป็นกิจของสงฆ์ที่พึงปฏิบัติดังที่พระพุทธเจ้าได้เยี่ยมและโปรดให้สาวกได้เห็นเป็นตัวอย่าง พระองค์เยี่ยมพุทธบริษัทที่เจ็บป่วย ชี้ให้เห็นความทุกข์และวิธีดับทุกข์ที่อยู่เบื้องหน้าจนผู้ป่วยเห็นสัจธรรมและสำเร็จธรรมขั้นสูง ดังนั้นการเยี่ยมดูแลจิตใจผู้ป่วยจึงเป็นการทำหน้าที่ของพระสงฆ์โดยแท้จริง พระสงฆ์มีโอกาสทำให้พุทธธรรมกลับมามีความหมายต่อผู้ป่วย ตอบสนองสิ่งที่มนุษย์ผู้เจ็บและกำลังตายต้องการ พระสงฆ์ที่เยี่ยมเยียนผู้ป่วยถึงข้างเตียงทั้งที่บ้านและโรงพยาบาลทำให้ศาสนาที่ปัจจุบันดูห่างเหินจากประชาชนเข้ามาใกล้ชิดกันอีกครั้ง

          เพราะในความเป็นจริง ผู้เขียนพบว่าพระสงฆ์ในปัจจุบันดูจะห่างเหินจากประชาชนเหลือเกิน พระหลายรูปสะท้อนว่าท่านกลัวที่จะเดินเข้าไปในชุมชนที่มีผู้ป่วย เพราะชาวบ้านมองว่าพระเป็นทูตแห่งความตาย ที่ทางของพระจึงคับแคบลงทุกที พระถูกรับรู้ว่าปรากฏตัวได้เพียงบางโอกาสและจำเป็นต้องมีพิธีกรรมทางศาสนารองรับเท่านั้น เช่น ตักบาตรตอนเช้า ตักบาตรหมู่ เทศน์ในโอกาสสำคัญ ขึ้นบ้านใหม่ พิธีศพ เป็นต้น

 

บทบาทใหม่ของพระสงฆ์

          ในบางชุมชนพระมีบทบาทในการเยียวยาจิตใจด้วยพิธีกรรมสงฆ์ เช่น การให้ศีลให้พร ทำพิธีตัดเวรตัดกรรม ขอขมาต่อพระรัตรนตรัย ให้น้ำมนต์ เทศน์ในยามที่ผู้ป่วยใกล้เสียชีวิต แต่โครงการส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ โรงพยาบาลและชุมชน ในการเยียวยาผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้ายมองว่า พระมีโอกาสที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยได้มากขึ้น เช่น การเข้าไปสอบถามรับฟังความทุกข์ของผู้ป่วยด้วยความห่วงใยตั้งแต่ผู้ป่วยเจ็บไข้ในระยะแรกๆ เยี่ยมยามถามข่าวดังที่เพื่อนบ้านพึงกระทำต่อกัน การขยายความเพิ่มเติมหลังจากเสร็จพิธีกรรมทางศาสนา การเตือนสติให้ข้อคิดตามความเหมาะสม การดูแลจิตใจของญาติที่เฝ้าไข้ การนำเจริญภาวนาด้วยวิธีง่ายๆ การประสานความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นๆ ในท้องถิ่น เป็นต้น

          พระสงฆ์ที่เข้าร่วมอบรมและปฏิบัติหน้าที่เยี่ยมผู้ป่วยในหลายพื้นที่รู้สึกยินดีที่ได้เยี่ยมเยียนผู้ป่วย พระบางรูปนำความรู้จากการเยี่ยมเยียนไปประยุกต์ในการเผยแผ่ศาสนธรรมอื่นๆ เช่น จัดรายการวิทยุ สอนเยาวชนในโรงเรียน การเขียนหนังสือ การเทศน์ในวาระสำคัญ เป็นต้น

          พระอธิการครรชิต อกิญฺจโน วิทยากรในการอบรมพระสงฆ์เรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย กล่าวว่า พระที่ทำงานเยี่ยมผู้ป่วยจะมีความมั่นคงในสมณเพศมากขึ้น มีความเข้าใจในข้อธรรมที่ลึกซึ้งมากขึ้น “อาตมาใช้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในการพัฒนาพระ เพราะผู้ดูแลต้องสามารถอยู่กับปัจจุบันขณะในห้วงเวลาแห่งการดูแลผู้ป่วยให้ได้ ต้องรู้เท่าทันจิตใจของตัวเอง มีความเมตตากรุณา การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายคือหลักสูตรปฏิบัติธรรมขั้นสูงของอาตมา”

          โอกาสในการส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ยังมีอยู่มาก พระสงฆ์จำนวนมากมีความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการ ในภูมิภาคต่างๆ ของระเทศไทยมีพระสงฆ์แกนนำสนับสนุนโครงการฯ บางวัดเปิดหลักสูตรการปฏิบัติธรรมสำหรับผู้ป่วย บางวัดมีการให้บริการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังทั้งทางกายและจิตใจ เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต บางวัดร่วมมือกับโรงพยาบาลเป็นศูนย์สุขภาพชุมชน ถึงแม้วัดลักษณะเช่นนี้จะยังมีสัดส่วนน้อย แต่สถานการณ์ดังกล่าวก็สะท้อนว่าสังคมไทยต้องการให้พระเข้ามามีบทบาทส่งเสริมสุขภาพกายใจของประชาชนอย่างมาก

          พระสงฆ์และผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการสามารถขอรับ คู่มือพระภิกษุเพื่อการเยี่ยมพระอาพาธและผู้ป่วยระยะสุดท้าย เรียบเรียงโดยพระวิชิต ธมฺมชิโต โดยติดต่อขอรับได้ตามที่อยู่ท้ายเล่ม นอกจากนี้พระสงฆ์ที่สนใจเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาลด้วยตนเองเองอาจติดต่อบุคลากรในโรงพยาบาลในหน่วยงานดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative Care) และอาจเริ่มเยี่ยมญาติโยมที่ป่วยในชุมชน หรือเยี่ยมดูแลพระอาพาธที่อยู่ในวัดได้เลย

          สำหรับผู้อ่านที่เป็นฆราวาสก็อาจส่งเสริมให้พระสงฆ์มีบทบาทในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้ายได้ด้วยการแสดงมุทิตาจิต เปิดโอกาสให้ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ตามเหตุปัจจัย อานิสงส์มิได้ตกอยู่กับใครนอกจากตัวเราเองที่ต้องตกเป็นผู้ป่วยเข้าในวันวันใดวันหนึ่ง

คอลัมน์: