Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

พินัยกรรมชีวิตที่ให้สิทธิเราตายอย่างสงบ

-A +A

         เมื่อยังเด็ก ฉันเคยเชื่อว่าไม่มีใครหนีความตายได้พ้น ยกเว้นตัวฉัน นั่นคือความเขลาในวัยเยาว์

         มาตอนนี้ คนที่ฉันเห็นในกระจกช่างแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากเด็กหญิงผู้ไม่ประสีประสาคนนั้น เส้นผมสีเทาแต่ละเส้นยืนยันถึงย่างก้าวเข้าใกล้สิ่งที่ไม่อาจหนีพ้น สิ่งที่ฉันกลัวที่สุดไม่ใช่ตัวความตาย แต่คือการสูญเสียการควบคุมตัวเองว่าจะตายอย่างไร

         นั่นคือความเขลาอีกรูปแบบหนึ่งใช่หรือไม่

         แต่ขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิการตายในประเทศไทยไม่เชื่อเช่นนั้น ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงพยายามผลักดันกฎหมายพินัยกรรมชีวิตออกมา เพื่อว่าเมื่อถึงคราที่ความตายเยี่ยมกรายมา เราจะสามารถตายอย่างปรกติตามธรรมชาติ แวดล้อมด้วยผู้คนที่เรารัก แทนที่จะถูกปล่อยให้นอนเป็นผัก ในสภาพไม่ต่างจากหุ่นยนต์ที่ยังมีลมหายใจ อยู่ได้ด้วยเครื่องมือช่วยชีวิตทางการแพทย์สมัยใหม่

         พวกเขายืนกรานว่า กฎหมายและวงวิชาชีพแพทย์ ควรต้องเคารพในสิทธิที่จะตายอย่างมีศักดิ์ศรีของเรา 

         ในการทำประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายฉบับนี้ที่กรุงเทพฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา การอภิปรายเน้นไปที่วิธีการทางการแพทย์และถ้อยคำในทางกฎหมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าวงวิชาชีพแพทย์ กลัวการเอาผิดทางกฎหมาย มากกว่าจะใส่ใจความต้องการการดูแลอย่างมีคุณภาพและจากไปอย่างสงบของผู้ป่วยใกล้ตาย

         หากพักประเด็นเรื่องความกลัวคดีความไว้ก่อน เป็นไปได้ไหมว่าความกังวลของวงวิชาชีพแพทย์ มีต้นเหตุมาจากการเรียน การสอน การฝึกฝนเพื่อประกอบวิชาชีพ จนทำให้พวกเขามองภารกิจของแพทย์เป็นการทำสงครามต่อสู้กับความตาย และเทคโนโลยีสมัยใหม่คือ อาวุธที่ใช้พิชิตธรรมชาติ?

         หรือมันเป็นเพียงความตื่นตัวเพื่อตั้งรับกับการท้าทายจากภาคประชาสังคมที่ออกมาต่อต้านวงวิชาชีพแพทย์ ซึ่งเพลินไปกับการใช้อำนาจในการกำหนดว่า ผู้ป่วยรายใดสมควร หรือสามารถจะรอดหรือตาย

         ฉันเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยเข้าใจประเด็นความกลัวของบรรดาแพทย์ทั้งหลายเรื่องการละเมิดกฎหมายหรือจริยธรรมทางการแพทย์นัก 

         เราลองมาพิจารณาเรื่องนี้บนพื้นฐานความเป็นจริง เมื่อคนยากจนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมได้ และงบประมาณอันจำกัดจำเขี่ยถูกนำไปให้ผู้ป่วยที่สามารถรักษาโรค รักษาชีวิตไว้ได้ก่อน ดังนั้น วิธีปฏิบัติทั่วไปอย่างหนึ่งของแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐซึ่งงบฝืดเคือง ก็คือการปล่อยให้คนไข้ที่ใกล้ตายจำนวนหนึ่งต้องตายไป ใช่หรือไม่ 

         นักวิพากษ์บางรายถึงขนาดออกมากระแนะกระแหนว่า การต่อต้านพินัยกรรมชีวิตมักคิดถึงเรื่องเงินเป็นหลัก เพราะการผ่าตัดยืดชีวิตผู้ป่วยส่วนใหญ่จะทำกันในโรงพยาบาลเอกชนซึ่งเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมกว่า

         ถ้าพ่อแม่ของคุณกำลังป่วยขั้นวิกฤตและหมอบอกว่ามีวิธีที่ “อาจจะ” ช่วยชีวิตท่านได้ เพียงแต่คุณต้องจ่ายค่ารักษาก่อน คุณจะทำอย่างไร? ถ้าคุณปฏิเสธ คุณจะเสี่ยงต่อการกลายเป็นคนอกตัญญู และทนทุกข์อยู่กับความรู้สึกผิดที่ไม่ทำสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อช่วยชีวิตของท่าน

         ดังนั้นคุณจึงจำต้องจ่าย การแสวงหาประโยชน์จากการแพทย์เชิงพาณิชย์เช่นนี้ เป็นเหตุให้หลายครอบครัวต้องล้มละลายมาแล้ว

         นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมฉันจึงต้องเขียนพินัยกรรมชีวิตของตัวเองขึ้นมา เพราะมันไม่เพียงช่วยให้สมาชิกในครอบครัวรอดพ้นจากความรู้สึกผิดอย่างไม่จำเป็นและการล้มละลายเท่านั้น แต่การมีเจตจำนงล่วงหน้ายังช่วยผลักดันให้ฉันใคร่ครวญถึงความตายของตัวเองอีกด้วย

         มันจะบังคับให้ฉันได้สำรวจวิธีการต่างๆ เพื่อช่วยให้ตัวเองเปิดรับความตายอย่างสงบ ได้รู้ว่าจะจากไปอย่างไรโดยไม่รู้สึกเสียใจหรือขุ่นเคือง และจะเตรียมตัวเผชิญกับชั่วขณะแห่งวิกฤตนั้นอย่างไร โดยผ่านการบ่มเพาะสติตื่นรู้อยู่กับปัจจุบัน

         รากฐานทางจิตวิญญาณคือพลังขับดันให้เกิดร่างกฎหมายพินัยกรรมชีวิต แต่โชคร้ายที่สาระสำคัญของมันถูกผลักให้เป็นเรื่องรองๆ ขณะที่ร่างฯ ฉบับนี้ค่อยๆ เลื่อนไถลไปสู่ปัญหาทางเทคนิคของกฎหมายลึกขึ้น (ลงไป) ทุกทีๆ 

         พินัยกรรมชีวิตไม่ใช่แค่เรื่องการกรอกแบบฟอร์ม การทำตามกฎหมาย และความต้องการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการพูดคุยอย่างเปิดใจในเรื่องชีวิตและความตายกับคนในครอบครัว และความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกันมากขึ้นระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรสุขภาพ

         ทั้งยังเกี่ยวข้องกับการยอมรับข้อจำกัดของเทคโนโลยี ยอมรับความไม่เที่ยงของชีวิต และเข้าใจว่าอะไรบ้างที่จะช่วยเอื้อให้เกิดการตายที่ดี

         นอกจากนี้ มันยังช่วยให้เรามีมุมมองใหม่ต่อชีวิตซึ่งจะช่วยปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระจากความกลัว และความหดหู่จากความตายและการสูญเสีย

         หากปราศจากฐานความคิดเหล่านี้ ความปรารถนาสุดท้ายที่จะตายอย่างมีศักดิ์ศรีของเราย่อมเสี่ยงต่อการถูกมองข้าม ไม่ว่าจะมีพินัยกรรมชีวิตหรือไม่ก็ตาม

http://www.bangkokpost.com/blogs/index.php/2009/06/05/a-living-will-that...

คอลัมน์: