Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

รับฟังอย่างลึกซึ้ง: ประตูสู่หัวใจ ช่วยคลายทุกข์และเยียวยา

-A +A

           ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมท่านหนึ่งซึ่งเสียชีวิตไปแล้วเคยเล่าให้ฟังว่า ระหว่างที่เธอป่วยอยู่ มีอาสาสมัครคนหนึ่งมาเยี่ยมให้กำลังใจเธอที่บ้านเกือบทุกวัน แต่เผอิญอาสาสมัครท่านนั้นก็ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าด้วยเช่นกัน เธอจึงมาเยี่ยมพร้อมกับเรื่องราวความคับข้องใจมากมาย เหตุการณ์จึงกลับตาลปัตร ผู้ป่วยกลายเป็นผู้เยียวยาอาสาสมัคร ด้วยการรับฟังเขาระบายความในใจ นานครั้งละเป็นชั่วโมงๆ ทั้งพูดคุยต่อหน้า และผ่านทางโทรศัพท์ เกือบทุกวันเป็นเวลา ๔ เดือนเต็ม  หลังจากนั้น อาสาสมัครกลับมาขอบคุณเธอยกใหญ่ เพราะเขาอาการดีขึ้นมากจนคุณหมอที่ดูแลแปลกใจว่าไปทำอะไรมา เขาบอกว่าเป็นเพราะเขาได้พูดสิ่งที่อยากพูดอยากระบายให้กับผู้ป่วยท่านนั้นฟัง (ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่มีโอกาสได้ทำเมื่อไปหาหมอ...ฮา) และเธอก็รับฟังอย่างอดทนและเมตตาด้วยใจจริง

           นี้คืออานุภาพของการฟังอย่างลึกซึ้ง ซึ่งหมายถึงการฟังด้วยหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักและเมตตาอย่างไม่มีเงื่อนไข ฟังอย่างใส่ใจและสัมผัสได้ถึงอารมณ์ ความรู้สึก ความต้องการ ที่แอบซ่อนอยู่เบื้องหลังคำพูด การฟังเช่นนี้เองที่ช่วยคลี่คลายความทุกข์ ความกังวล สับสน ทดท้อใจ ฯลฯ ให้กับผู้ป่วย รวมทั้งเป็นการเยียวยาจิตใจ เพราะความรู้สึกของเขาได้รับการยอมรับ โอบอุ้ม ดูแล เข้าใจ และให้เกียรติ การฟังอย่างลึกซึ้งจึงเป็นเหมือนกระจกช่วยสะท้อนให้เขาเห็นความคิด ความรู้สึก และปัญหาของตัวเองชัดขึ้น จึงเกิดสติ และอาจเกิดปัญญามองเห็นทางออกด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีใครช่วยเหลือก็เป็นได้

           แล้วจะฟังอย่างไร จึงจะเรียกว่ารับฟังอย่างลึกซึ้ง ให้เข้าถึงหรือได้ยินเสียงหัวใจของอีกฝ่ายหนึ่ง 

           ลองฝึกตามคำแนะนำง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ

  • ตั้งสติ เตือนตัวเองว่าเราจะรับฟังคนตรงหน้าอย่างใส่ใจ ฟังด้วยหัวใจทั้งหมด เปิดใจเต็มที่ เพื่อรับรู้ทุกสิ่งตามที่เป็นจริง ด้วยใจที่เมตตา กรุณาเต็มร้อย
  • วางสถานภาพ ลดตัวตน ลดอคติ ทำจิตให้ว่าง และฟังอย่างเคารพผู้พูดเต็มที่
  • ฟังอย่างมีสติ แต่ผ่อนคลาย สบาย ๆ ฟังตั้งแต่ต้นจนจบโดยไม่ต่อต้าน ไม่ตัดสินถูกผิดหรือให้คุณค่าว่าชอบ ไม่ชอบ ไม่ด่วนสรุปหรือแปลความตามความคิดของเรา ไม่พูดแทรกหรือรีบแสดงความคิดเห็นขณะที่เขายังพูดไม่จบ
  • ขณะที่ฟังหากเผลอตัดสิน หรือมีความคิดเห็นโต้แย้ง ไม่เห็นด้วย หรือเกิดความอึดอัดคับข้องใจกับคำพูดของเขา ขอให้รับรู้ และตั้งสติกลับมาฟังเขาอีกครั้ง  พร้อมกับเตือนตัวเองว่าเราจะฟังเขาอย่างลึกซึ้ง 
  • แสดงความใส่ใจผ่านสีหน้า แววตา การพยักหน้า  หรือคำพูดสั้น ๆ ที่บ่งบอกว่าเราติดตามเรื่องราวของเขาจริง ๆ รวมทั้งสังเกตปฏิกิริยา ท่าที น้ำเสียง อารมณ์ ความรู้สึกขณะที่เขาเล่าด้วย 
  • อาจพูดทวนความ หรือทวนความรู้สึกของเขาที่เรารับรู้ในจังหวะที่เหมาะสม หรืออาจตั้งคำถามบางอย่างเพื่อให้เขาเล่าได้ลื่นไหลขึ้น แต่ไม่เปลี่ยนประเด็นที่เขากำลังเล่าอยู่ และควรถามเท่าที่จำเป็น (เน้นฟังจนจบก่อน)
  • หากเรื่องที่เล่าเป็นเรื่องราวความทุกข์ใจ และเขาร้องไห้ออกมา ไม่ควรห้ามหรือรีบเปลี่ยนประเด็น ควรนั่งอยู่เป็นเพื่อนเงียบ ๆ อาจจับมือหรือสัมผัสเพื่อเป็นกำลังใจ และอดทนรอจนกว่าเขาจะพร้อมเล่าต่อ เมื่อเขาได้ระบายความรู้สึกจนคลายจากอารมณ์แล้ว อาจพูดเตือนสติ ให้ข้อคิด หรือให้กำลังใจ ให้ความหวังที่เป็นจริง เพื่อช่วยให้เขารู้สึกดีขึ้น

           ลองฝึกการฟังแบบนี้บ่อยๆ ในทุกการสนทนากับทุกผู้คนที่เกี่ยวข้อง แม้ในขณะที่ให้การพยาบาล รักษา หรือดูแลคนไข้ แล้วจะพบว่าหัวใจคุณอ่อนโยน เปิดกว้าง และเดินทางเข้าใกล้หัวใจของใครๆ ที่อยู่รอบข้างได้อย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อนั้นสัมพันธภาพที่ดีจะก่อเกิด ช่วยเปิดประตูแห่งความเข้าใจ คลี่คลายความทุกข์ และเยียวยาได้อย่างแท้จริง

คอลัมน์:

ผู้เขียน: