Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

งานอาสากับนักศึกษาแพทย์

-A +A

         ในแต่ละปี โครงการอาสาข้างเตียง เครือข่ายพุทธิกา จะจัดกิจกรรมให้อาสาสมัครเข้าเยี่ยมผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้ายในโรงพยาบาลเพียง ๒-๓ รุ่น แต่ในปี ๒๕๕๒ มีแพทย์ผู้สนใจติดต่อให้จัดกิจกรรมอาสาสมัครถึง ๔ รุ่น ได้แก่ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ๑ รุ่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ๒ รุ่น และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี อีก ๑ รุ่น 

         นอกจากอาสาสมัครจะเป็นบุคคลทั่วไป ซึ่งมีอายุตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยเกษียณแล้ว ในระยะหลังๆ ทางโรงพยาบาลยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาแพทย์เข้าร่วมกิจกรรม โดยแพทย์ผู้จัดมีความตั้งใจที่จะจุดประกายให้นักศึกษาได้เรียนรู้และเข้าใจผู้ป่วยทางด้านจิตใจ อันจะนำไปสู่การเป็นแพทย์ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์

         นักศึกษาแพทย์ทั้งจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ก็เป็นเช่นเดียวกับคนทั่วไปที่ไม่คุ้นเคยกับความเจ็บป่วย และไม่ถนัดในการเข้าเยี่ยมผู้ป่วย แม้เครือข่ายพุทธิกาจะจัดการอบรมอาสาสมัครให้แล้ว แต่หลายคนก็ยังคงกังวล ไม่รู้จะเริ่มต้นพูดคุยกับคนไข้อย่างไร แล้วในที่สุดก็ตัดสินใจที่จะวางทฤษฎีต่างๆ ลง มาใช้ใจนำทาง ให้เอาใจเขามาใส่ใจเราเข้าหาผู้ป่วย

         แต่ใช่ว่าทุกคนจะผ่านครั้งแรกไปได้อย่างง่ายๆ เพราะนักศึกษาบางคนเพียงได้ยินคำพูดจากผู้ป่วยว่า “อ่อนเพลีย” “ง่วงนอน” หรือพูดเป็นนัยว่า “เวลานี้เป็นช่วงที่ต้องพักผ่อน” บางคนจะรีบขอตัวถอยทัพกลับบ้านไปเลย ทั้งที่ยังไม่ทันรู้แน่ว่าคนไข้รำคาญจริงๆ หรือเพียงแค่เล่าให้ฟัง อาจารย์แพทย์จึงย้อนถามนักศึกษาว่า เคยจีบสาวไหม และแนะนำว่าให้ตื้อต่อไป 

         บางคนที่ได้รับมอบหมายให้เป็นเพื่อนให้กำลังใจผู้ป่วยที่ช่างคุย มีอารมณ์ดี จะรู้สึกไม่ต้องทำงานหนักในการพยายามเข้าหาผู้ป่วย แต่กลับรู้สึกผิดที่ตนเองไม่ได้ทำตัวให้เป็นประโยชน์มากเท่าที่ควร ต่อมาภายหลังจึงเข้าใจว่า สิ่งที่ผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้ายต้องการ ไม่ใช่คำแนะนำหรือสั่งสอน เพราะไม่ว่าข้อเสนอแนะนั้นจะดีเพียงไหน ก็ไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงของเขา แต่เป็นของเราที่ต้องการยัดเหยียดให้เขาต่างหาก คนไข้ต้องการเพียงผู้รับฟังอย่างตั้งใจ และยอมรับความรู้สึกอย่างที่เขาเป็น ไม่ว่าจะทุกข์ สุข เศร้า หรือกังวล 

         นักศึกษาบางคนเจอกรณีผู้ป่วยยากๆ ซึ่งมีความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจจากภาวะของโรค หรือจากความเจ็บปวด หรือจากการต้องอยู่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน ไม่มีญาติมาเยี่ยม หรือยังไม่สามารถยอมรับสภาพของตนเองได้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ค่อยพูดคุย เอาแต่เงียบ เมื่อเจอสถานการณ์อย่างนี้หลายคนจะท้อ คิดว่าตนเองทำอะไรผิดไปหรือเปล่า แต่ที่จริงนี่คือโอกาสดีในการสำรวจใจของตัวนักศึกษาเอง ว่ารู้สึกอย่างไรเมื่ออยู่ในภาวะเงียบจนทำอะไรไม่ถูก เพราะบางทีในความเงียบอาจเป็นช่วงที่คนไข้กำลังทบทวนและเรียบเรียงความคิดอยู่ก็ได้ 

         ประสบการณ์หลายสิ่งหลายอย่างที่นักศึกษาแพทย์ได้มาเป็นอาสาสมัครกับเครือข่ายพุทธิกาเข้าเยี่ยมผู้ป่วยตลอด ๓ เดือน ทำให้พวกเขาเข้าใจผู้ป่วยมากขึ้น โดยเฉพาะมิติทางด้านจิตใจ หลายคนตั้งคำถามขึ้นว่า เขาควรเป็นแพทย์ที่เก่งหรือแพทย์ที่เข้าใจคนไข้ ความสมดุลนั้นอยู่ตรงไหน เราคงหาคำตอบแทนเขาไม่ได้ แต่สิ่งที่เขาได้สัมผัสจากประสบการณ์จริง คงช่วยให้เขาคลี่คลายปริศนาของเขาเอง และในอนาคตเราคงได้มีแพทย์ที่เข้าใจชีวิตมากขึ้น

คอลัมน์:

ผู้เขียน: