จิตอาสาดูแลผู้ป่วยในสังคมไทย: บทสำรวจโดยสังเขป
นับจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อปลายปี ๒๕๔๗ เป็นต้นมา มีการขับเคลื่อนงานจิตอาสากันอย่างกว้างขวางทั้งในหน่วยงานของภาครัฐและองค์กรธุรกิจ ทำให้แนวคิดและกระบวนการจิตอาสาได้รับการพัฒนาและต่อยอดจากทุนทางสังคมเดิมที่มีอยู่ จนเกิดการพัฒนาในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประสบภัย การช่วยเหลือสงเคราะห์เด็กต่างๆ รวมทั้งการขับเคลื่อนในระบบสุขภาพ
เดิมงานอาสาสมัครในระบบสุขภาพ เกิดขึ้นครั้งแรกโดยกาชาดไทยระดมกำลังแพทย์ และอาสาสมัครช่วยเหลือรักษาผู้ป่วยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ และมีพัฒนาการมาจนมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ซึ่งปัจจุบันคาดหวังให้ดูแลงานสุขภาพชุมชน รวมถึงเกิดกระแสการทำงานจิตอาสาขยายตัวสู่โรงพยาบาล เพราะมองเห็นว่าผู้ป่วยมีความทุกข์ทั้งทางจิตใจและร่างกาย จึงต้องการความหวังและกำลังใจ
การสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ในโรงพยาบาลต่างๆ มีการดำเนินงานด้านจิตอาสา ๕๑๗ แห่ง (สำรวจเมื่อกลางปี ๕๑) มีคนทำงานจิตอาสา ๘,๐๐๐ คน เป็นอย่างต่ำ โดยโรงพยาบาลหลายแห่งริเริ่มโครงการจิตอาสาขึ้น โดยมีทั้งบุคลากร ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และผู้สนใจเข้าร่วมทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง อาทิ ศูนย์มิตรภาพบำบัด, กลุ่ม Blue Angle รพ.รามาธิบดี, รพ.พระนั่งเกล้าฯ, รพ.ภูมิพล, รพ.ชลประทาน, รพ.จุฬาฯ และ รพ.เด็ก เป็นต้น ทำให้งานจิตอาสาในระบบสุขภาพค่อยๆ ก่อรูปขึ้นอย่างรวดเร็ว และได้รับการยอมรับว่ามีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนขบวนการจิตอาสาในสังคมไทย และมีแนวโน้มว่าจะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาเชิงระบบเพื่อความยั่งยืนในอนาคต
ลักษณะของการทำงานจิตอาสาในโรงพยาบาล
เมื่อพิจารณาจากลักษณะการเริ่มต้นของกิจกรรมจิตอาสาในโรงพยาบาล เราอาจแบ่งออกเป็น ๒ รูปแบบ คือ การตั้งต้นจากปัญหาที่ประสบ จากสภาพการทำงานที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก ต้องการความช่วยเหลือผ่อนบรรเทาจากบุคลากรภายใน ชุมชน และคนภายนอก
และ การตั้งต้นจากแนวคิด ว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาและมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่การดูแลไม่สามารถทำได้โดยลำพังคนเดียว ต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัคร และผู้ป่วย
ลักษณะการทำงานจิตอาสาในโรงพยาบาลแต่ละแห่งก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป บางแห่งเป็นการริเริ่มหรือดำเนินการโดยบุคลากรหรือหน่วยงานภายในโรงพยาบาลเป็นหลัก โดยพยายามเข้าไปจัดตั้งกลุ่มทำงานในเนื้องานที่น่าจะพัฒนางานจิตอาสาได้ เช่น ชมรมผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง เป็นต้น
บางแห่งก็มีองค์กรหรือหน่วยงานภายนอกเข้ามาดำเนินการในโรงพยาบาล เช่น มูลนิธิกระจกเงาเข้าไปทำกิจกรรมสันทนาการที่สถาบันสุขภาพเด็กฯ และ รพ.รามาธิบดี, เครือข่ายพุทธิกาที่เข้าไปทำโครงการอาสาข้างเตียงที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี มีงานจิตอาสาในหลายโรงพยาบาลที่ดำเนินการจากองค์กรภายนอกในระยะแรกและค่อยๆ พัฒนาเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในภายหลัง เช่น มูลนิธิพุทธฉือจี้ร่วมกับ รพ.สงขลานครินทร์ ทำโครงการจิตอาสาขึ้นในโรงพยาบาล เครือข่ายพุทธิการ่วมมือกับสถาบันสุขภาพเด็กฯ ศูนย์ศิลปะฮิวแมนร่วมกับ รพ.จุฬาลงกรณ์ เป็นต้น ที่สนใจก็คือ มีโรงพยาบาลหลายแห่งที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ป่วยและญาติพัฒนางานอาสาสมัครขึ้นมาในโรงพยาบาลเพื่อให้เกิดกระบวนการช่วยเหลือเยียวยาซึ่งกันและกัน เช่น กลุ่มมิตรภาพบำบัด กลุ่มอาทรเพื่อนมะเร็ง ชมรมผู้ป่วยไร้เสียง ชมรมผู้ป่วยธาลัสซีเมีย ชมรมเพื่อนวันพุธ เป็นต้น
ทิศทางการขับเคลื่อนงานอาสาสมัครในระบบสุขภาพ
จากจุดเริ่มต้น ๒ แบบ คือ จากปัญหาการบริการทางการแพทย์ และจากความคิดที่จะทำให้การช่วยเหลือผู้ป่วยและญาติมีคุณภาพ การทำงานจิตอาสาจึงมีลักษณะผสมผสานระหว่างระบบจัดการของโรงพยาบาล กับความไม่เป็นทางการของกลุ่มอาสาสมัคร และมีการขับเคลื่อนงานในหลายระดับ ตั้งแต่ระดับบุคคล และกลุ่มเพื่อน โดยสละทรัพย์สละเวลาตามความสมัครใจกันเอง หรือระดับหน่วยงาน ทั้งนอกระบบ อาทิ องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรภายในระบบ เช่น โรงพยาบาลซึ่งยังต้องอาศัยงบประมาณจากภาครัฐเป็นหลัก จึงจำต้องอาศัยความเข้าใจจากผู้บริหารหน่วยงาน เพื่อทำให้เกิดการสนับสนุนงบประมาณและระบบการจัดการเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
โดยอาสาสมัครจำนวนมากจะอยู่ในวัยเกษียณแล้ว เช่น รพ.บ้านแพ้ว รพ.ชลประทาน ทำให้มีความคล่องตัวในการมาช่วยเหลือส่วนรวม เนื่องจากไม่มีภารกิจการงานรัดตัว อาสาสมัครที่เป็นคนหนุ่มสาวยังเป็นส่วนน้อย โดยจะมีบทบาทในกิจกรรมของโรงพยาบาลต่างๆ ตามช่วงเวลาที่สะดวก เช่น ช่วงเย็นหลังเลิกงาน และวันหยุดสุดสัปดาห์
แต่การพัฒนางานจิตอาสายังมีอยู่อย่างจำกัดตามศักยภาพและความพร้อมของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง เช่น บางโรงพยาบาลฝ่ายแพทย์สนับสนุน แต่บางโรงพยาบาลฝ่ายพยาบาลต้องพัฒนาเอง จึงขาดการสนับสนุนในภาพรวม หรือผลักดันให้การทำงานจิตอาสาเป็นวาระร่วมของสังคมโดยเชื่อมโยงกับปัญหา เช่น ปัญหาผู้ป่วยผู้สูงอายุ ปัญหาผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ และจิตอาสาดูแลผู้ป่วยในชุมชน ไม่มีกองทุนสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน และไม่มีการเชื่อมต่อระหว่างกลุ่มจิตอาสา และหน่วยงานในระบบสุขภาพอย่างเพียงพอ มีเพียงกลไกการสื่อสารระหว่างจิตอาสาทางอินเตอร์เน็ต ดังตัวอย่างการริเริ่มการสร้างเว็บไซต์เพื่อเชื่อมโยงความต้องการจิตอาสากับคนที่อยากทำงานอาสาสมัครของเครือข่ายจิตอาสา ที่ทำเว็บ www.volunteerspirit.org เป็นต้น
การขับเคลื่อนงานจิตอาสาจึงจำต้องดำเนินการในสองส่วน คือ การพัฒนาอาสาสมัคร และการพัฒนากลไกที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นขยายกลุ่มอาสาสมัครในวัยหนุ่มสาวให้มากขึ้น เนื่องจากกลุ่มคนเกษียณอายุมีข้อจำกัดในการทำงานบางด้าน สนับสนุนในด้านความรู้ ทักษะการทำงานที่จำเป็นในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนามิติการเรียนรู้ทางด้านจิตวิญญาณ ซึ่งจะทำให้การทำงานจิตอาสามีความยั่งยืน เพราะช่วยทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่มาจากภายในมากกว่าปัจจัยภายนอกต่างๆ
ตลอดจนการพัฒนากลไกการทำงานในระบบจิตอาสา ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารระหว่างอาสาสมัครกันเอง และกับบุคลากรในระบบ ตลอดจนผู้บริหารของหน่วยงานที่เข้าไปทำงาน ให้เกิดความเข้าใจกันและกัน การพัฒนาระบบฐานข้อมูลจิตอาสา เพื่อให้ความต้องการอาสาสมัครและเงื่อนไขของอาสาสมัครมีความสอดคล้องกัน รวมถึงการพัฒนาแผนงานและกองทุนเพื่อสนับสนุนการทำงานจิตอาสาในระยะยาว
อาทิตย์อัสดง จึงขอเสนอประสบการณ์การทำงานจิตอาสาดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของเครือข่ายพุทธิกา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวในวัยทำงาน และมุ่งเน้นมิติการเรียนรู้ทางด้านจิตวิญญาณเป็นสำคัญ โดยการจัดกระบวนการให้อาสาสมัครได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นในการทำงาน ตลอดจนมีเวทีแลกเปลี่ยนร่วมกันระหว่างอาสาสมัครและบุคลากรในระบบระหว่างการทำงาน เพื่อเป็นกรณีศึกษาหนึ่งสำหรับการนำมาเรียนรู้การทำงานจิตอาสาดูแลผู้ป่วยร่วมกันพอเป็นสังเขปสำหรับผู้สนใจต่อไป
ประสบการณ์ทำงานอาสาข้างเตียงของเครือข่ายพุทธิกาโดยสังเขป
การทำงานจิตอาสาคือการทำบุญ
การทำงานจิตอาสาดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรงพยาบาล ถือว่าเป็นกิจกรรมจิตอาสาแนวใหม่สำหรับสังคมไทยที่เพิ่งจะริเริ่มขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยอาจกล่าวได้ว่าเป็นพัฒนาการสืบเนื่องมาจากการทำงานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในศาสนสถาน เช่น วัดพระบาทน้ำพุ หรือสันติวนา (คริสต์ศาสนา) และมีองค์กรหลายแห่งที่ทำงานดังกล่าว เช่น มูลนิธิสายธารแห่งความหวัง (Wishing Well) รวมทั้งเครือข่ายพุทธิกา ซึ่งมีภารกิจเพื่อการพัฒนาพระพุทธศาสนาให้เข้มแข็งด้วยการประยุกต์หลักธรรมให้มีพลังในการแก้ไขปัญหาของสังคมสมัยใหม่อย่างบูรณาการความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาของปัจเจกบุคคลกับปัญหาสังคม โดยเฉพาะการขยายแนวคิดเรื่องการทำบุญจากเพียงแค่การให้ทานในรูปของวัตถุ มาเป็นการทำบุญในลักษณะอื่นๆ อาทิ การทำประโยชน์ต่อผู้อื่น หรือขวานขวายช่วยในกิจการที่ชอบ โดยเครือข่ายพุทธิกาเริ่มทำความเข้าใจและเผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับตายที่ดีตามแนวทางของพุทธศาสนาตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ ผ่านการจัดกิจกรรมเสวนา พิมพ์หนังสือ และการอบรมการเผชิญความตายอย่างสงบ ก่อนจะพัฒนามาเป็นโครงการ “อาสาข้างเตียง” และ “ศิลปะเพื่อการเยียวยาผู้ป่วยเด็กโรคเรื้อรังและโรคระยะสุดท้าย” ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาฯ เพื่อดำเนินงานในเรื่องอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยตรง
โดยเชื่อว่าการดำเนินงานดังกล่าว จะเกิดทั้งประโยชน์ท่าน (ผู้ป่วย) ประโยชน์ตน (อาสาสมัคร) และประโยชน์สังคม กล่าวคือไม่เพียงแต่จะมีผลกระทบเฉพาะต่อผู้ป่วยโดยตรง แต่ยังสามารถส่งผลต่อระบบบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะโรงพยาบาล เพราะแพทย์และพยาบาลจะไม่เพียงสนใจแต่เฉพาะการเยียวยากายเพียงอย่างเดียว แต่จะคำนึงถึงความสำคัญกับเรื่องจิตใจด้วย ซึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วย ญาติ กับแพทย์และพยาบาลดีขึ้น และจากการดำเนินงาน เครือข่ายพุทธิกาพบว่ากิจกรรมการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายนอกจากจะทำให้อาสาสมัครเกิดการพัฒนาใน ๔ มิติ คือ ทางกาย ทางสังคม ทางจิตใจ และทางปัญญา ตามแนวทางของพุทธศาสนาแล้ว ยังทำให้อาสาสมัครเกิดการเรียนรู้และใคร่ครวญตนเองในเรื่องทางจิตใจและทางปัญญาได้อย่างลงลึกกว่ากิจกรรมจิตอาสาในลักษณะอื่นๆ เนื่องจากอาสาสมัครได้เผชิญหน้าความตายอย่างใกล้ชิด ทำให้เกิดความตระหนักและใคร่ครวญถึงความหมายของชีวิตและความตายอย่างจริงจัง
“มารดาย่อมตามรักษาบุตรคนเดียวผู้เกิดในตนด้วยชีวิต ฉันใด, กรณียเมตตาสูตร
|
ทำไมจึงเริ่มต้นจากในโรงพยาบาล
แม้ว่าการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่พึงปรารถนาอาจไม่จำต้องอยู่ในโรงพยาบาล แต่สังคมไทยยังขาดความพร้อมทั้งในด้านองค์ความรู้ บุคลากร และกลไกต่างๆ อย่างเหมาะสมเพียงพอที่จะรองรับแนวคิดดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ การขับเคลื่อนในเรื่องงานจิตอาสาดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยเริ่มจากในโรงพยาบาลจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะงานจิตอาสาดูแลผู้ป่วยระยะสุดในปัจจุบันซึ่งยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น คือการเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลเพื่อเปิดทางให้อาสาสมัครสามารถเข้าไปทำงาน จะเป็นฐานการทำงานอย่างดีในอนาคต โดยเฉพาะการสะสมองค์ความรู้ที่จำเป็นในด้านต่างๆ ความเป็นทางการของโรงพยาบาลจะช่วยทำให้การทำงานจิตอาสาเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ชัดเจน มีกลไกบางอย่างในการดูแลและป้องกันผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยและญาติมั่นใจว่าอาสาสมัครมีที่มาที่ไป ไม่ได้เข้ามาลอยๆ
โดยการทำกิจกรรมจิตอาสาที่มีคนเข้าไปดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และลงลึกในเรื่องจิตวิญญาณได้ นอกเหนือจากการมีอาสาสมัครที่ต้องการทำความดีแล้ว ยังต้องมีระบบการจัดการที่ดีอีกด้วย แต่เนื่องจากโรงพยาบาลขาดแคลนบุคลากรที่จะมาทุ่มเทในเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะ จึงจำต้องมีองค์กรประสานงานที่เข้าไปรับผิดชอบดูแลอาสาสมัคร เพื่อช่วยเกื้อหนุนและลดช่องโหว่บางอย่างของระบบโรงพยาบาล เช่น การช่วยคัดกรอง การอบรมเพื่อให้ความรู้ และเครื่องมือในการทำงาน การสร้างความเข้าใจถึงขอบเขตการทำงานที่ระบบเปิดให้ ตลอดจนสร้างช่องทางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสื่อสารระหว่างกัน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นความไม่เข้าใจกัน หรือไม่ไว้วางใจกัน เพื่อให้เกิดความมั่นใจก่อนจะสามารถขยายขอบเขตการทำงานร่วมกับทีมสุขภาพในรูปแบบอื่นๆ นอกโรงพยาบาลต่อไป
ความเข้าใจ: หัวใจของอาสาข้างเตียง
จากประสบการณ์ในการดำเนินงานโครงการอาสาข้างเตียง ๙ รุ่น ระหว่างปี ๒๕๔๙-๒๕๕๑ เครือข่ายพุทธิกาพบว่า การดำเนินงานจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญสามประการ คือ การเตรียมบุคลากรภายในโรงพยาบาล การเตรียมอาสาสมัคร และการจัดกระบวนการเรียนรู้
สิ่งสำคัญอันดับแรกในการทำงานจิตอาสาในโรงพยาบาล คือการสร้างความเข้าใจร่วมกันของบุคลกรภายในโรงพยาบาลเพื่อรองรับกิจกรรมจากภายนอก โดยการหาผู้เชื่อมโยงหรือประสานงานภาพรวม และพยาบาลประจำหอผู้ป่วย มาจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับอาสาสมัคร เพื่อให้เกิดการเชื่อมสัมพันธ์และมิตรภาพที่ดีร่วมกัน จะทำให้การทำงานเกิดความยืดหยุ่น สอดคล้องกับบุคคลและสถานที่
ต่อด้วยการเตรียมอาสาสมัคร เริ่มตั้งแต่การเปิดรับและคัดกรองอาสาสมัคร เริ่มจากการเขียนจดหมายแนะนำตัวถึงประสบการณ์และแรงบันดาลใจในการทำงานจิตอาสาดูแลผู้ป่วย จัดปฐมนิเนศเพื่อให้อาสาสมัครและผู้จัดโครงการรู้จักกัน ให้ข้อมูลในภาพรวม ความคาดหวัง เพื่อให้ต่างฝ่ายตัดสินใจเลือกได้อย่างเหมาะสม จัดกระบวนการฝึกอบรมทักษะต่างๆ ที่จำเป็น เพื่อไปเป็นเพื่อนและดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังและระยะสุดท้ายเป็นรายบุคคล เช่น การทำความเข้าใจศักยภาพในการเยียวยา การฟังอย่างลึกซึ้ง บทบาทสมมติเหตุการณ์เยี่ยมผู้ป่วย และการฝึกเยี่ยมผู้ป่วยจริงในโรงพยาบาล เพื่อทดสอบการเรียนรู้ก่อนนำไปใช้ในสถานการณ์จริงด้วยตนเอง
จากนั้นในระหว่างการมอบหมายให้อาสาสมัครเยี่ยมผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา ๓ เดือน จะต้องมีการจัดกระบวนการเรียนรู้ระหว่างการเข้าเยี่ยม โดยจัดเวทีแลกเปลี่ยนระหว่างอาสาสมัครและบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ (เดือนละครั้ง) เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของอาสาสมัครในการเยี่ยมผู้ป่วย ทั้งความประทับใจ ปัญหาอุปสรรคต่างๆ และวิธีการก้าวข้าม เพื่อสรุปบทเรียนและหาทางคลี่คลายต่อไป
เสียงจากอาสาสมัคร
“การได้มาเป็นอาสาสมัครข้างเตียงดูๆ ก็น่ากลัวมีแต่เรื่องเศร้า แต่ถ้าเรามองในแง่ดีก็ทำให้เรารู้จักวางเฉย เช่นเราที่ไม่รู้วันตายก็จะมัวแต่มุ่งทำงานหาเงินหาทองความสุขใส่ตัว แต่พอวันหนึ่งรู้ว่าเป็นมะเร็งจะต้องตายก็เริ่มที่จะคิดถึงชีวิตที่แท้จริง และวางเฉยกับทุกสิ่งทุกอย่างมากขึ้นคิดว่าตัวเองได้ในสิ่งเหล่านี้ว่าชีวิตไม่เที่ยง ควรวางเฉยและสู้กับอุปสรรคทุกอย่างที่เกิดขึ้น” (อาสาสมัครหญิง)
“ด้วยความที่ผมชอบประดิษฐ์ของอยู่แล้ว การมาทำกิจกรรมกับเด็ก มันกลายเป็นว่าผมได้บำบัดตัวเองไปโดยปริยาย ผมได้ใช้สิ่งที่ผมมี มาทำประโยชน์ น้องก็ได้ พ่อแม่ได้เห็นก็มีความสุข พอมีกิจกรรม น้องก็รู้สึกดี โรคของเขาก็จะบรรเทาลง ” (อาสาสมัครชาย)
หลังจากการจัดกิจกรรมอาสาข้างเตียง เครือข่ายพุทธิกาจะได้รับโทรศัพท์จากญาติผู้ป่วยอยู่เสมอๆ ว่าอยากได้อาสาสมัครมาดูแลผู้ป่วยเป็นบางวัน เพราะเขาติดภารกิจบางอย่าง ไม่สามารถจะดูแลผู้ป่วยได้ หรือบางคนอยากได้คำแนะนำ บางคนอยากให้ไปช่วยฉีดยา เพราะผู้ป่วยเคลื่อนย้ายลำบาก จึงต้องการคนสนับสนุน โดยที่ผ่านมาเครือข่ายพุทธิกาทำได้เพียงให้คำปรึกษาหรือแนะนำให้ติดต่อไปยังเครือข่ายที่รู้จักกันเท่านั้น แม้ว่าหลายโรงพยาบาลพยายามจะทำโครงการออกไปเยี่ยมบ้าน แต่เจ้าหน้าที่มีน้อย จึงตอบสนองได้เพียงบางส่วน การส่งเสริมงานจิตอาสาในระบบสุขภาพจึงเป็นกลไกสำคัญในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างมีคุณภาพชีวิตที่มิอาจละเลยได้
ไม่มีสูตรสำเร็จในการทำงาน
ในปัจจุบันการขับเคลื่อนงานอาสาข้างเตียงจะมีลักษณะ “ทำไป ปรับไป ซ่อมไป” หรือเรียนรู้ผ่านการทำงานจริง เพราะยังไม่มีองค์ความรู้ที่ชัดเจนเพียงพอในเรื่องการจัดการอาสาสมัคร มีเพียงแค่การมองเห็นความเป็นไปได้ในการทำงาน โดยเริ่มจากการรู้จักอาสาสมัคร พร้อมๆ ไปกับการเรียนรู้ระบบ ว่าทำไปแล้วเกิดปัญหาอะไร ควรแก้ไขอย่างไร ระบบและอาสาสมัครควรปรับตัวอย่างไร เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างอาสาสมัครกับบุคลากร แต่อาจสรุปการเรียนรู้จากการทำงานจิตอาสาในโรงพยาบาลได้อย่างคร่าวๆ คือ
๑. ต้องสร้างความเข้าใจกับบุคลากรที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ ตั้งแต่ฝ่ายบริหาร หัวหน้าหอผู้ป่วย ตลอดจนถึงเจ้าหน้าที่ในหอผู้ป่วย
๒. มีแนวทางการจัดงานจิตอาสาอย่างชัดเจน ในกรณีเครือข่ายพุทธิกา จะเน้นการช่วยเหลือป่วยตามแนวทางประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน และประโยชน์สังคม
๓. มีผู้ประสานงานกลาง ทำหน้าประสานงานอาสาสมัคร กับเจ้าหน้าที่ และส่วนอื่นๆ เพื่อช่วยลดแรงเสียดทาน ทำให้เกิดความคล่องตัว ต่อเนื่อง
๔. ควรให้หัวหน้าหอผู้ป่วย และพยาบาลเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับอาสาสมัคร เพื่อให้เกิดกลไกรองรับการทำงานในระยะยาวที่คล่องตัวและมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องรอคำสั่งจากส่วนกลาง
๕. ควรมีการจัดกระบวนการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างพยาบาลกับอาสาสมัคร เพื่อรับรู้ เข้าใจ และร่วมกันแก้ไขความอึดอัดติดขัดในการทำงานของทุกฝ่าย
๖. อาสาสมัครไม่จำต้องมีประสบการณ์หรือความรู้เรื่องการเยียวยา แต่ควรมีทัศนคติในการมองโลกที่ดี และร่างกายแข็งแรง
๗. การจัดอบรมต้องให้ความสำคัญกับมิติการดูแลทางด้านจิตใจและจิตวิญญาณที่มีอยู่ในตัวอาสาสมัคร มากกว่าเรื่องทักษะและเครื่องมือต่างๆ
๘. มีเวทีแลกเปลี่ยนเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้อาสาสมัครได้เรียนรู้ตนเองและผู้ป่วย สะท้อนปัญหาการทำงาน เสริมสร้างความเข้าใจและมิตรภาพที่ดีร่วมกัน
๙. มีการจัดระบบรองรับอาสาสมัครที่ต้องการทำงานอย่างต่อเนื่อง
โดยเครือข่ายพุทธิกามีโครงการจะทำการศึกษาถึง “องค์ความรู้ที่จำเป็น” เพื่อการเข้าใจแนวคิดหลัก และโครงสร้างในการทำงานจิตอาสาดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในประเด็นต่างๆ เช่น การพัฒนางานจิตอาสาดังกล่าวจะต้องเริ่มต้นอย่างไร มีรายละเอียดหรือต้องใส่ใจในเรื่องอะไร จะสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างไร รวมถึงการพัฒนาโมเดลแบบต่างๆ ในการทำงานโรงพยาบาล โดยการขยายไปยังโรงพยาบาลแห่งอื่นๆ ที่มีบริบทแตกต่างกัน เช่น ในปัจจุบันมีความร่วมมือกับโรงพยาบาลเด็ก จะทำให้ได้ความรู้ว่าในกรณีผู้ป่วยเด็ก จะมีเงื่อนไขแตกต่างกันออกไปอย่างไร แต่ละโรงพยาบาลซึ่งที่มีจุดเด่นต่างกัน จะสร้างช่องทางทำงานในรูปแบบใดได้บ้าง
สิ่งที่เครือข่ายพุทธิกาได้เรียนรู้ คือการทำงานดังกล่าวไม่มีรูปแบบสำเร็จรูปตายตัว หรือสมบูรณ์แบบ หากขึ้นอยู่กับบริบทของโรงพยาบาลแต่ละแห่งที่จะต้องพัฒนาระบบการทำงานให้สอดคล้องกับศักยภาพของตนเอง ธรรมชาติของตัวเอง และเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยมากที่สุด การให้โรงพยาบาลรักษาความเป็นอิสระของระบบในการออกแบบกระบวนการด้วยตัวเองจึงมีความสำคัญยิ่ง เพื่อทำให้เกิดความสบายใจในการมาร่วมมือกันทำงาน
ทิศทางการทำงานในอนาคต
คุณวรรณา จารุสมบูรณ์ เคยเล่าว่า “ในการอบรมคราวหนึ่งให้กับมหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้เข้าร่วมอบรมจะมีโอกาสไปทำกิจกรรมการเยี่ยมบ้าน ทำให้พบว่าเวลาชาวบ้านทำงานอาสาสมัคร พวกเขาจะมีปัญญาอย่างนึกไม่ถึง เช่น มีผู้ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ เคลื่อนไหวไม่ค่อยสะดวก อยู่บ้านคนเดียว และซึมลงเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่ที่ไปเยี่ยมบ้านถามว่า เขาอยากทำอะไร ผู้ป่วยบอกว่าอยากไปวัด พอได้ยินแล้ว บางทีบุคลากรในระบบจะนึกไม่ออกว่าจะช่วยเขาอย่างไร แต่พอชาวบ้านเขารู้ วันรุ่งขึ้นเขาไปหาไม้ไผ่มาทำแคร่ พาไปวัดเลย ง่ายมาก บางทีงานอาสาสมัครก็สามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ เพราะชาวบ้านเค้ามีจิตใจอาสาอยากช่วยเหลือคนอื่นอยู่แล้ว แต่บางครั้งชาวบ้านเขาไม่รู้ว่าทำได้หรือเปล่า ควรทำแค่ไหนอย่างไร บางทีต้องให้กำลังใจ ต้องการคนเชื่อม อาจต้องมีบุคลากรในโรงพยาบาลเป็นตัวกลาง โดยปรับบทบาทจากการเป็นคนไปดูแล บำบัด เยียวยา ไปเป็นคนเอื้ออำนวยให้เกิดพื้นที่ในการเกื้อกูลกัน ทำให้สองฝ่ายสื่อสารกัน แทนที่จะไปเยี่ยมบ้านเพื่อตรวจรักษาหรือจ่ายยาเพียงอย่างเดียว อาจต้องทำให้เกิดพื้นที่แบ่งปัน หรือสื่อสารว่าในชุมชนของเรามีใครที่เจ็บป่วย และเขาขาดเหลืออะไร”
แม้ว่าการพัฒนาอาสาสมัครและระบบการจัดการจะมีความจำเป็น แต่ทิศทางการทำงานจิตอาสาในอนาคตที่เครือข่ายพุทธิกาให้ความสำคัญไม่แพ้กัน คือการปรับทัศนคติให้อาสาสมัครมีพื้นที่ในการเข้าไปทำงานอย่างเท่าเทียมกัน ได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของทีมสุขภาพที่สำคัญไม่ได้น้อยไปกว่าบุคลากรอื่นๆ สามารถแลกเปลี่ยนแนวคิดร่วมกันได้ เพราะเราเชื่อว่า ยิ่งเปิดพื้นที่ให้มากเท่าไร ยิ่งจะทำให้รูปแบบของงานจิตอาสาแตกยอด หลากหลาย และยืดหยุ่น ได้มากขึ้นเท่านั้น ดังตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น และเมื่อสื่อสารตัวอย่างรูปธรรมของการทำงานในลักษณะดังกล่าวออกไปในวงกว้าง จนเกิดความกล้าในการเปิดพื้นที่ให้มากยิ่งๆ ขึ้นแล้ว เราเชื่อว่าจะทำให้การทำงานอาสาสมัครเกิดการขยายตัวทั้งในทางปริมาณและคุณภาพอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว
การทำงานจิตอาสาเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย หากมองไปในระดับสากลแล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายทั้งระบบ (อ่าน “การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือ Hospice care: พัฒนาการโดยสังเขป ใน อาทิตย์อัสดง เล่ม ๓) โดยอาสาสมัครได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของทีมดูแลเท่าๆ กับบุคลากรทางการแพทย์ หากในสังคมไทย แม้งานจิตอาสาดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายจะอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น แต่ภายใต้บรรยากาศการปรับเปลี่ยนทัศนคติของบุคลากรทางการแพทย์เพื่อสร้างระบบการแพทย์ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ ที่ค่อยๆ เคลื่อนตัวเข้าสู่ระบบสุขภาพในปัจจุบัน ย่อมทำให้งานอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีโอกาสได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้เติบใหญ่แข็งแรงและเป็นส่วนสำคัญในระบบสุขภาพในเวลาอันไม่ไกลจากนี้ไป
---
* ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากการประชุมปฏิบัติการเพื่อพัฒนางานอาสาสมัครในระบะสุขภาพ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๑ และการสัมภาษณ์คุณวรรณา จารุสมบูรณ์ ผู้ดูแลโครงการเผชิญความตายอย่างสงบ เครือข่ายพุทธิกา
** โครงการอาสาข้างเตียง เป็นกิจกรรมจิตอาสาดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังและโรคระยะสุดท้าย ที่เครือข่ายพุทธิกา ดำเนินงานร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ โดยการรับอาสาสมัครเข้ารับการฝึกอบรม และมอบหมายให้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นเวลา ๓ เดือน ปัจจุบัน ได้ขยายการจัดกิจกรรมดังกล่าวร่วมกับโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า และโรงพยาบาลเด็ก อีกด้วย รวมแล้วถึงปีละ ๕ รุ่น (๒๕๕๓) โดยมีคุณเพ็รชลดา ซึ้งจิตสิริโรจน์ เป็นผู้ดูแลและประสานงาน