Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

ข้อถกเถียงเรื่องการุณยฆาตในอังกฤษ

-A +A

          เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๒ เซอร์เอ็ดวาร์ด ดาวนส์ (Sir Edward Downes) วาทยกรเลื่องชื่อชาวอังกฤษพร้อมด้วยภรรยาในวัย ๘๕ ปีและ ๗๔ ปีตามลำดับ ได้ตัดสินใจที่จะฆ่าตัวตาย เนื่องจากสภาพร่างกายของเขาสูญเสียการมองเห็นและการได้ยิน ส่วนภรรยาป่วยด้วยโรคมะเร็ง ทั้งสองเลือกใช้บริการของบริษัท Dignitas ซึ่งให้บริการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ต้องการจบชีวิตของตนเองลง ตั้งอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากนั้นในเดือนกันยายน ๒๕๕๒ ดาเนียล เจมส์ (Daniel James) นักรักบี้หนุ่มอายุ ๒๓ ปี ที่เคยติดทีมชาติอังกฤษรุ่นอายุต่ำกว่า ๑๖ ปี ประสบอุบัติเหตุระหว่างซ้อมจนทำให้เป็นอัมพาตมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ได้ตัดสินใจเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์เพื่อใช้บริการของ Dignitas เพื่อจบชีวิตของตนเช่นกัน คาดว่า เจมส์จะเป็นชาวอังกฤษอายุน้อยที่สุดที่เดินทางไปใช้บริการของ Dignitas  

          นับตั้งแต่ต้นปี ๒๕๕๒ เป็นต้นมา มีชาวอังกฤษเดินทางไปฆ่าตัวตายผ่านบริการของ Dignitas ราว ๑๑๕ คน เนื่องจากการกระทำการุณยฆาตในประเทศอังกฤษผิดกฎหมาย มีกฎหมายเอาผิดผู้ที่ช่วยเหลือให้ผู้อื่นฆ่าตัวตาย โดยมีโทษจำคุกสูงสุดถึง ๑๔ ปีสำหรับ แต่ยังไม่ปรากฏว่า ญาติของผู้ที่เดินทางไปฆ่าตัวตายต้องตกเป็นจำเลยในข้อหานี้แต่อย่างใด 

          พฤติกรรมของบริษัท Dignitas ได้ตกเป็นข้อถกเถียงว่า การกระทำของพวกเขาจะอยู่ในข่ายของการกระทำการุณยฆาตได้หรือไม่ เมื่อไม่นานมานี้ สภาสูงของอังกฤษได้มีการอภิปรายเพื่อการแก้ไขกฎหมายในเรื่องการอนุญาตให้ญาติพี่น้องสามารถช่วยเหลือผู้ที่ต้องการฆ่าตัวตายให้เดินทางออกไปฆ่าตัวตายได้ และได้มีการหยิบยกเอากรณีบริษัท Dignitas มาเป็นตัวอย่าง โดยบางคนเห็นว่า Dignitas ไม่อาจจะเรียกว่าคลินิกได้ เพราะไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายแต่อย่างใด  ผู้ก่อตั้งบริษัท Dignitas ลุดวิค มิเนลลี่ (Ludwig Minelli) เคยประกาศไว้ว่า ปรารถนาจะช่วยผู้ที่สุขภาพดีและเจ็บป่วยทางจิตใจให้ฆ่าตัวตายได้ 

          ทางการสวิตเซอร์แลนด์วิตกในประเด็นนี้เช่นกัน โดยได้พยายามที่จะออกกฎหมายมาควบคุมเรื่องการุณยฆาต ร่างกฎหมายนี้กำหนดให้ผู้ป่วยที่ต้องการทำการุณยฆาต ต้องได้รับการยืนยันทางการแพทย์ว่า ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง และจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่กี่เดือน โดยจะมีการทำประชาติในเดือนมีนาคม ๒๕๕๓ นางเอฟลีน วิดเมอร์-ชูลัมพฟ์ (Eveline Widmer-Schlumpf) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของสวิตเซอร์แลนด์ ได้กล่าวว่า ไม่ต้องการให้ประเทศของเธอมีชื่อเสียงในเรื่องการท่องเที่ยวเพื่อฆ่าตัวตาย เนื่องมีผู้คนจากทั่วยุโรปเดินทางมาที่สวิตฯ เพื่อรับการช่วยเหลือให้ตายสมใจอยาก ศูนย์ฯ ดังกล่าวได้ช่วยทำให้คนตายไปแล้ว ๘๖๘ คนนับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นมา เฉพาะในสองปีสุดท้ายมีคนตายด้วยการช่วยเหลือของศูนย์ฯ ถึง ๓๓๕ คน โดยประเทศที่เดินทางมามากที่สุด ๓ อันดับแรกคือ เยอรมัน อังกฤษ และฝรั่งเศส 

 

ศาลออสเตรเลียอนุญาตให้ผู้ป่วยอัมพาต งดการรับอาหารเพื่อจบชีวิตตนเองได้

          เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๒ ศาลสูงของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ได้ระบุว่า ไบร์ท วอเตอร์ แคร์กรุ๊ป (Bright water Care Group) สถานดูแลที่ทำการดูแล คริสเตียน รอสสิเตอร์ (Christian Rossiter) จะไม่มีความผิดทางอาญา หากหยุดให้อาหารและน้ำแก่เขาตามคำร้องขอ เนื่องจาก คริสเตียน รอสสิเตอร์ มีสิทธิในการจะกำหนดแนวทางการรักษาของเขาได้ด้วยตนเอง รอสสิเตอร์ป่วยเป็นอัมพาตจากการถูกรถชนเมื่อ ๖ ปีที่แล้ว และตั้งใจที่จะปฏิเสธการรักษาดูแลในทุกรูปแบบ เนื่องจากอาการของเขาไม่มีทางรักษาให้ดีขึ้นหรือหายขาดได้ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ใช่ผู้ป่วยที่มีอาการอยู่ในระยะสุดท้าย แต่เขาต้องการจะยุติการมีชีวิตอยู่ของตนเอง “ผม คริสเตียน รอสสิเตอร์ ต้องการจบชีวิตของผมเอง ผมถูกกักขังในร่างกายของตัวเอง ผมขยับไม่ได้ แค่จะเช็ดน้ำตาของตัวเอง ผมยังทำไม่ได้เลย” รอสสิเตอร์มีชีวิตอยู่ด้วยการรับอาหารผ่านสายยางทางหน้าท้องของตัวเอง  อย่างไรก็ดีคำพิพากษาของศาลไม่ได้เป็นข้อยุติ รอสสิเตอร์สามารถเปลี่ยนใจได้หากต้องการ 

          นายแพทย์สก็อต แบล็คเวล (Scott Blackwell) ซึ่งทำงานในเรื่องการดูแลรักษาแบบประคับประคอง ได้เตือนสาธารณชนว่า ไม่ควรจะเข้าใจไปว่ากรณีของรอสสิเตอร์เป็นเรื่องของการุณยฆาต แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของสิทธิในการปฏิเสธที่จะรับการรักษา “ชาวออสเตรเลียตะวันตกทุกคนมีสิทธิในทางกฎหมายที่จะปฏิเสธการรักษาดูแลทางการแพทย์...ศาลในออสเตรเลียและต่างประเทศได้วินิจฉัยมานานแล้วว่า การให้อาหารโดยเครื่องมือ อย่างเช่น ท่อ-PEG (percutaneous endoscopic gastrostomy tube) เป็นการรักษาทางการแพทย์” คริสเตียน รอสสิเตอร์ ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบในสถานดูแล (เขาเสียชีวิตด้วยสาเหตุจากการติดเชื้อในช่องอก) ในเวลาเช้าของวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๓    

 

ชายชาวเบลเยี่ยมซึ่งนอนป่วยโคม่ามานาน ๒๓ ปี ฟื้นขึ้นมาได้ 

          รอม อูเบน (Rom Huben) หนุ่มชาวเบลเยี่ยม ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ เมื่อปี ๒๕๒๖ หลังจากอุบัติเหตุ ๖ เดือน เขาเกิดอาการอัมพาตทั้งตัว ไม่สามารถตอบสนองหรือแสดงสัญญาณใดๆ ที่บ่งบอกว่ายังมีความรับรู้อยู่ จากการตรวจด้วยวิธีการต่างๆ ทำให้แพทย์วินิจฉัยว่า เขาอยู่ในสภาพไร้การตอบสนองและเข้าสู่ภาวะผัก รวมไปถึงสมองตาย จนกระทั่งในปี ๒๕๔๙ อูเบนได้รับการตรวจด้วยวิธีการใหม่จาก ดร. สตีเว่น ลอร์เรย์ (Steven Laureys) นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัย Liege ในเบลเยี่ยม ผลการสแกนสมองพบว่าสมองของเขายังทำหน้าที่เกือบเป็นปกติ รับรู้ได้ทุกอย่าง เพียงแต่ไม่สามารถสื่อสารหรือโต้ตอบได้เท่านั้น ซึ่งผลการตรวจนี้สอดคล้องกับความเชื่อของมารดาของเขาที่เชื่อมาตลอดว่า ลูกชายของเธอยังรับรู้ได้อยู่ 

          ปัจจุบันอูเบนสื่อสารผ่านทางจอคอมพิวเตอร์แบบสัมผัสด้วยนิ้วมือนิ้วเดียว และเคลื่อนไหวได้บ้างเล็กน้อย อูเบนบอกว่าเขารู้เห็นทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเขา มองเห็นหมอและพยาบาลทุกคนที่เข้ามาดูแล ได้ยินทุกอย่างที่เขาพูดกัน รับรู้ทุกอย่างที่ครอบครัวของเขาเล่าให้ฟัง อูเบนกล่าวถึงตอนที่เขาถูกวินิจฉัยว่าเป็นผักและไม่สามารถสื่อสารได้ว่า  “ผมได้แต่ครุ่นคิดไป หรือนึกฝันเฟื่องถึงชีวิตตัวเอง ผมไม่อยากจะกล่าวโทษใคร มันไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น แต่ผมรู้สึกเป็นหนี้ชีวิตต่อครอบครัวของผม ขณะที่คนอื่นๆ หมดหวังไปแล้ว” “ผมได้เรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวผม ว่ามันเป็นเหมือนกับชิ้นส่วนเล็กๆ ของฉากละครแห่งโลก ได้เรียนรู้ถึงนิสัยประหลาดๆ ของคนไข้คนอื่นๆ ในห้องนั่งเล่น ข้อมูลของหมอที่เข้ามาในห้องของผม เรื่องซุบซิบนินทาเกี่ยวกับเพื่อนชายของพวกพยาบาล ที่คุยอย่างไม่อายต่อหน้า “คนที่ไร้ชีวิต” ทั้งหมดนี้ทำให้ผมกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องความสัมพันธ์” 

          เรื่องของอูเบนทำให้เกิดความรู้ใหม่ว่า คนที่เป็นอัมพาตแบบเต็มรูปแบบยังสามารถรับรู้ได้อย่างเป็นปกติเช่นกัน และยังทำให้เกิดการถกเถียงกันใหม่อีกในเรื่องสิทธิที่จะตาย ว่าคนที่เข้าสู่ภาวะโคม่านั้น ยังคงสติสัมปชัญญะรับรู้เรื่องราวต่างๆ ได้จริงหรือไม่    

---

เก็บความจาก มติชนออนไลน์ www.guardian.co.uk www.christian.org.uk http://news.bbc.co.uk http://www.lifenews.com http://www.timesonline.co.uk http://www.meegigg.com http://www.abc.net.au http://www.news.com.au http://www.thewest.com.au http://www.dailymail.co.uk

 

คอลัมน์: