กิจกรรมกลุ่มสร้างสรรค์ สรรค์สร้างพลังชีวิต
มีคำกล่าวว่ายาทางการแพทย์นั้นสำคัญต่อการรักษาโรค แต่ยาใจก็สำคัญไม่แพ้กัน ยาหรือเทคโนโลยีทางการแพทย์อาจช่วยให้คนไข้มีชีวิต แต่ยาใจช่วยให้มีชีวาและมีพลังชีวิตที่จะอยู่ต่อไปอย่างมีความสุข การรวมกลุ่มระหว่างคนไข้และญาติเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้สึก หรือทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เป็นยาใจชนิดหนึ่งที่ช่วยเพิ่มพลังชีวิต เยียวยาจิตใจให้คลายจากความทุกข์ได้ เพราะคนไข้ได้เดินออกจากโลกที่ทุกข์เศร้าของตัวเองมาพบกับเพื่อนที่กำลังเผชิญปัญหาใกล้เคียงกัน ได้พูดคุยระบายความในใจ เข้าใจความรู้สึก เห็นอกเห็นใจ ได้ช่วยเหลือให้กำลังใจกัน ทำให้มองเห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่น มองเห็นความหวังของชีวิต และที่สำคัญช่วยทำให้ความทุกข์ของตัวเองเล็กลง และมีความสุขมากขึ้น
คุณกานดาวศรี ตุลาธรรมกิจ พยาบาลหน่วยรังสีรักษา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ผู้มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายมากว่า ๒๐ ปี และเป็นผู้ริเริ่มโครงการ “รวมพลังสายใยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตผู้ป่วยและญาติ” ซึ่งจัดกิจกรรมกลุ่มให้กับผู้ป่วยและญาติเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละ ๒ ครั้ง เล่าให้ฟังว่าผู้ป่วยได้ประโยชน์มากจากการเข้ากลุ่ม และมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เช่น ผู้ป่วยหญิงคนหนึ่งเคยทุกข์มากจนฆ่าตัวตายมาแล้ว แต่เมื่อได้มาเข้ากลุ่ม เธอได้รับความรัก กำลังใจ อ้อมกอดอบอุ่น จึงมีความสุขและไม่คิดที่จะฆ่าตัวตายอีก หรือคุณลุงคนหนึ่งเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ชอบเล่นซอ เมื่อมาเข้ากลุ่มได้เล่นซอให้กลุ่มฟัง คุณลุงมีความสุขมาก ก้อนมะเร็งยุบลง และอยู่ต่อมาได้ ๔-๕ ปีจนปัจจุบัน
จากประสบการณ์ที่จัดกิจกรรมกลุ่มมานับครั้งไม่ถ้วน คุณกานดาวศรีได้ให้ข้อแนะนำเพื่อเป็นแนวทางจัดกิจกรรมกลุ่มสร้างสรรค์ ดังนี้
- ควรจัดอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอตามศักยภาพและความเหมาะสม เช่น ทุกสัปดาห์ สัปดาห์เว้นสัปดาห์ เดือนละครั้ง เป็นต้น
- มีการวางแผนล่วงหน้า วางวัตถุประสงค์ในแต่ละครั้ง และออกแบบกิจกรรมที่สอดคล้องเหมาะสม
- สร้างการมีส่วนร่วมกับทุกฝ่าย โดยดึงสหวิชาชีพเข้ามามีบทบาทร่วมจัดกิจกรรมเป็นทีมเดียวกัน เช่น โภชนากร เภสัชกร นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา นักกายภาพบำบัด แพทย์ พยาบาล อาสาสมัคร ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย ฯลฯ
- ผู้เข้าร่วมควรให้ผู้ป่วย ๑ คน มาพร้อมญาติ ๑ คน โดยจำนวนรวมให้พิจารณาตามศักยภาพและความเหมาะสมของกิจกรรม งบประมาณ สถานที่ ฯลฯ
- ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงครึ่งสำหรับการทำกิจกรรมกลุ่มแต่ละครั้ง
- ทุกกิจกรรมที่ทำควรสร้างการมีส่วนร่วมแบบสองทางระหว่างวิทยากรและผู้เข้าร่วม เช่น เปิดโอกาสให้พูดแสดงความคิดเห็น หรือมีการตอบคำถามชิงรางวัล เป็นต้น เพื่อสร้างบรรยากาศสนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ
- ก่อนเริ่มกิจกรรมควรเตรียมความพร้อมของกลุ่มด้วยการให้ทำความผ่อนคลาย หรือนั่งสงบร่วมกัน รวมทั้งมีการสร้างสัมพันธภาพให้เกิดบรรยากาศไว้วางใจก่อน เช่น ชวนพูดคุยเรื่องทั่วๆ ไป หรือเล่นเกมง่ายๆ เป็นต้น
- ตัวอย่างของกิจกรรมกลุ่มที่คุณกานดาวศรีเคยใช้
- สุนทรียสนทนา
- คลื่นเสียงบำบัด
- ศิลปะสื่อตัวตน “ฉันคือใคร”
- การให้ความรู้ที่จำเป็นสำหรับการดูแลรักษาตนเอง เช่น การกินยาอย่างถูกวิธี กินอาหารอย่างไรให้ได้ประโยชน์ สาธิตวิธีการทำอาหาร เป็นต้น
- สอนการทำสิ่งต่างๆ เพื่อเพิ่มความสามารถ และอาจนำไปประกอบอาชีพเสริมได้ เช่น งานประดิษฐ์ งานศิลปะ การทำยาหม่องน้ำ การนวดแผนโบราณ ฯลฯ
- เปิดโอกาสให้คนไข้ได้แสดงความสามารถที่มีอยู่ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าในตัวเองที่ได้สร้างความสุขให้ผู้อื่น เช่น เล่นดนตรีไทย ร้องเพลง ขับเสภา ร้องโนราห์ ฯลฯ หรืออาจชวนคนไข้มาเล่าประสบการณ์ที่ต้องเผชิญการรักษาที่ยาวนาน แต่สามารถปฏิบัติตนได้ดีและอยู่กับโรคได้อย่างมีความสุข เพื่อเป็นตัวอย่างและสร้างกำลังใจให้คนไข้อื่นๆ
- ให้ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรม เช่น หนังตะลุง โนราห์ ฯลฯ
- จัดกิจกรรมตามโอกาสพิเศษ เช่น วันพ่อ วันแม่ เป็นต้น
- ไม่ว่าจะจัดกิจกรรมประเภทใด หลังกิจกรรมทุกครั้งควรมีช่วงเวลาที่ให้พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึก และพูดเชื่อมโยงให้เห็นข้อคิดที่เป็นประโยชน์จากกิจกรรมนั้นๆ มีการพูดให้กำลังใจกัน หรืออาจดึงธรรมะเข้ามาใช้อธิบายแต่ไม่ใช่เทศนาสั่งสอนตรงๆ เช่น เล่านิทานชาดกแล้วให้ร่วมตอบคำถามชิงรางวัล เพื่อให้คนไข้รู้วิธีที่จะอยู่กับโรคอย่างมีความสุข
ข้อควรระวังในการจัดกิจกรรมกลุ่ม
- ควรกันคนไข้ที่มีความทุกข์มากและยังจมจ่อมอยู่กับความทุกข์ของตัวเอง หรือมีพฤติกรรมต่อต้าน ก้าวร้าว ไม่ให้เข้ามาร่วมในกลุ่ม เพราะอาจจะฉุดกำลังใจของคนในกลุ่มให้ทุกข์ตามเขาไปด้วย
- ระมัดระวังกลุ่มคนที่ทำทีเข้ามาช่วยเหลือแต่เบื้องหลังหวังผลประโยชน์ เช่น ขายอาหารเสริม ไม่ให้มีบทบาทนำในกลุ่ม
- ไม่ควรบังคับให้มาเข้าร่วมกลุ่ม (ทั้งฝ่ายวิทยากรและผู้เข้าร่วม) ควรให้สมัครใจมาเต็มร้อย เพราะมีผลต่อพลังและกำลังใจของกลุ่ม
การจัดกิจกรรมกลุ่มให้กับผู้ป่วยและญาติ เป็นงานที่ต้องอาศัยทั้งแรงกาย แรงใจ แรงศรัทธา และความเสียสละที่จะทำสิ่งดีๆ เพื่อผู้อื่น ดังนั้น อาจเริ่มต้นทำจากกลุ่มเล็กๆ ตามกำลังของเราก่อน หาวิธีสื่อสารให้ผู้ป่วยและญาติเห็นว่าการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มนั้นให้ประโยชน์กับเขาอย่างไร เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เข้าร่วม แล้วค่อยๆ ประสานความร่วมมือสร้างเครือข่ายผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และเห็นประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย ให้มาทำความดีร่วมกัน จะช่วยให้เราสรรค์สร้างกิจกรรมที่หลากหลาย และมีกำลังใจที่จะทำงานอย่างสนุกสนานและเป็นสุข ไม่มีวันหมดพลังค่ะ