งานศพคนเป็น "ตาย" อย่างมีค่าเป็นอย่างไร?
เสียงเพลง... เสียงร้องไห้... ถ้อยคำสรรเสริญ อ้อมกอดของผู้คนที่มีหัวอกเดียวกัน ไม่ได้ทำให้ "งานศพ" ของ เดวิด เซิ่ง แตกต่างจากพิธีศพทั่วไปในไต้หวัน ความแตกต่างที่โดดเด่นเป็นพิเศษเพียงอย่างเดียวก็คือ เดวิดเป็นเจ้าของงานศพ ที่ยังมีลมหายใจอยู่!!!
แล้วเขาจัด "งานศพ" ของตัวเองขึ้นมาทำไม?
เดวิด หนุ่มฉกรรจ์วัย ๒๕ บอกกับนักข่าวเอเอฟพีในกรุงไทเปว่า "ผมไม่รู้เลยว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกกี่วัน ผมจึงอยากจะจัดพิธีศพให้ตัวเอง เพื่อประกาศความปรารถนาครั้งสุดท้ายที่ผมอยากบริจาคร่างกายให้โรงพยาบาล เพื่อเป็นประโยชน์ทางการแพทย์" หนุ่มน้อยซึ่งกำลังป่วยหนักจากโรคร้ายที่ไม่มีทางรักษา และ ทำให้เขาเป็นอัมพาตตั้งแต่ยังเด็ก จากกล้ามเนื้ออ่อนแรง และทำให้ทุกวันนี้เขาต้องนั่งหายใจรวยรินอยู่บนรถเข็นบอก
ทั้งนี้ ในเอเอฟพีเล่าว่า ลิฟวิ่ง ฟิวเนอรัล หรือ "งานศพคนเป็น" อย่างเช่นเดวิด กำลังได้รับการตอบรับมากขึ้นเรื่อยๆ จากผู้คนที่ป่วยหนัก สำหรับเดวิด ชายชาวเมืองเกาเสียง เขาได้จัดพิธีศพขึ้นเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ท่ามกลางสมาชิกในครอบครัว หมอ และนักเรียนแพทย์ร่วม ๑๐๐ คน จากโรงเรียนแพทย์ที่จะได้รับร่างไร้วิญญาณของเขา เมื่อ "วันนั้น" มาถึง
"ผมอาจมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน แต่ผมก็มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวและผู้คนมากมายที่ห่วงใยผม ผมได้เรียนจบมหาวิทยาลัย ได้เขียนหนังสือ...ไม่ได้ใช้ชีวิตผ่านไปอย่างไร้ประโยชน์ ผมคิดว่าสิ่งสำคัญในชีวิตคนเรา มันอยู่ที่การใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ไม่ได้ขึ้นอยู่ว่าเราจะอยู่ได้นานแค่ไหน ดังนั้น เราจึงควรใช้เวลาที่เรามีให้เต็มที และทำสิ่งดีๆ ไว้"
บาทหลวงพอล ชาน วัย ๘๕ ก็เป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนความคิดนี้ และเคยจัดพิธีศพ "กู๊ดบาย ทัวร์" ของตัวเองขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๐ ที่บาทหลวงได้มีโอกาสพูดในสิ่งที่อยากจะพูด รวมทั้งได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การต่อสู้ รับมือกับโรคมะเร็งปอด กับเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกัน
"เราหวังว่า สิ่งที่พวกเราทำจะเป็นแรงบันดาลให้ ผู้ป่วยหนักไม่กลัวความตาย และช่วยพวกเขาจัดพิธีศพเพื่อบอกลาครอบครัว บุคคลอันเป็นที่รักอย่างที่เขาจะจัด" โจชิงหัว หัวหน้ามูลนิธิโจว ต้า กวน ซึ่งสนับสนุนไอเดียจัดพิธีศพคนเป็นบอก
สำหรับรูปแบบงานศพคนเป็นอาจเรียบง่ายมาก มีแค่การกล่าวถ้อยความในใจที่เจ้าของงานศพอยากจะพูดเท่านั้น หรืออาจจัดขึ้นในรูปแบบงานคอนเสิร์ต เป็นทริปเดินทาง หรืองานนิทรรศการภาพวาดที่มี "ความหมาย" ต่อคนที่รู้ตัวดีว่า ความตายกำลังคืบใกล้เข้ามาทุกขณะ
"พวกเขามีโอกาสได้พูดถึงสิ่งที่พวกเขาอยากจะบอกให้คนอื่นรู้ และได้ทำสิ่งที่พวกเขาอยากจะทำ ก่อนที่มันจะสายไป อีกทั้งการได้ฟังคำสรรเสริญต่างๆ ขณะที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่ ยังสามารถช่วยให้พวกเขามีกำลังใจ และเผชิญหน้ากับช่วงสุดท้ายของชีวิตได้อย่างผ่อนคลาย" โจบอก
และนั่นก็เป็นสิ่งที่พ่อของเดวิดเห็นด้วย และว่า ลูกชายมีกำลังใจดีขึ้นมากหลังจากพิธีศพ "มีกำลังใจหลั่งไหลมาล้นหลาม มีคนมากมายโทรศัพท์มาให้กำลังใจเดวิด หรือเดินทางมาเยี่ยมเมื่อพวกเขารู้ข่าว สิ่งเหล่านี้ทำให้เดวิดเข้มแข็งขึ้น มีศรัทธากล้าแกร่งขึ้นด้วย" แซม เซิ่งเล่า
ในเอเอฟพีบอกว่า พิธีศพคนเป็นได้สะท้อนให้เห็นถึงการ "เปิดใจ" ยอมรับเรื่องความตายในไต้หวัน ซึ่งในอดีตนั้น แม้แต่การพูดถึง "ความตาย" ยังมีความเชื่อว่า จะนำโชคร้ายมาให้ การเตรียมพร้อม วางแผนจัดเตรียมงานศพของตัวเอง ยิ่งเป็น "ข้อห้าม" ที่ห้ามทำเด็ดขาด!!!***
"แต่เดี๋ยวนี้มีคนมากขึ้นที่เต็มใจพูดถึงเรื่องตาย มีการจัดทำพินัยกรรม และวางแผนว่าอยากให้จัดพิธีศพยังไง" หยางกั้วฉู อาจาร์ยมหาวิทยาลัยหนานฮัวเล่า
หยางให้ความเห็นว่า ทัศนคติที่เปลี่ยนไปเป็นผลมาจากการศึกษาเรื่องความตาย ซึ่งมีการสอนกันในโรงเรียน ขณะที่รัฐบาลก็สนับสนุน ส่งเสริมให้ประชาชนมีการวางแผนถึงเรื่องนี้กันไว้ เพื่อลดความขัดแย้งเรื่องมรดก
"งานศพคนเป็นมีผลดีหลายอย่าง อาทิ ช่วยให้คนป่วยรู้สึกสบายใจขึ้น และลบล้างความเชื่อ ข้อห้ามเก่าๆ เกี่ยวกับความตาย ผมไม่คิดว่าพิธีแบบนี้จะสามารถมาแทนที่พิธีศพตามประเพณีได้หรอก แต่ก็อาจเป็นไปได้ ถ้าหากสักวันหนึ่งสังคมเรามีค่านิยม มุมมอง ขนบธรรมเนียมประเพณีในเรื่องนี้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง"
เดวิด ซึ่งปัจจุบันน้ำหนักตัวลดเหลือแค่ ๒๓ กิโลกรัม ต้องนอนนิ่งอยู่บนเตียง มีถุงออกซิเจนช่วยหายใจ บอกว่า เขาพร้อมที่จะไปเมื่อไรได้ทุกเมื่อ
"ตอนนี้ผมไม่มีความเสียใจใดๆ เลย ผมพร้อมจะตายเมื่อไรก็ได้ และเมื่อถึงวันที่ผมจากไป ผมอยากให้ครอบครัวจัดงานปาร์ตี้ค็อกเทล ฉลองการจากไปของผม แทนการมานั่งเศร้าเสียใจ"
ที่มา http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01lad01091152&se...
โดย กองสาราณียกร(แปล)