Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

เรียนรู้จากอาสาข้างเตียง

-A +A

          โครงการอาสาข้างเตียง เครือข่ายพุทธิกา ในปี ๒๕๕๒ มีการจัดกิจกรรมอาสาสมัครเข้าเยี่ยมผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้ายในโรงพยาบาลถึง ๕ รุ่น เป็นทั้งนักศึกษาแพทย์และบุคคลทั่วไป ซึ่งหลายต่อหลายคนได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับอาสาสมัครสามคนนี้ คนแรกเป็นนักศึกษาแพทย์ปีที่ ๑ อีกสองคนเป็นบุคคลทั่วไปที่เข้าเยี่ยมผู้ป่วยที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และเข้าเยี่ยมผู้ป่วยเด็กที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ เรามาลองดูกันว่าอาสาสมัครได้พบเรื่องราว และรู้สึกประทับใจอะไรบ้าง

 

เกษมสันต์ เกิดเกียรติขจร

          ผมเป็นนิสิตแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ ๑ เข้ามาทำกิจกรรมอาสาข้างเตียงเพราะคิดว่าเราจะไปเป็นแพทย์ในอนาคต กิจกรรมนี้น่าจะช่วยให้เรามองเห็นภาพของแพทย์ที่เราควรจะเป็นได้ เพราะเรามีโอกาสไปพูดคุยกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย และยังเป็นกิจกรรมที่ทำเพื่อคนอื่น ใช้เวลาของเราเพื่อผู้อื่น 

          เคสที่ผมได้รับมอบหมายเป็นคุณลุงอายุประมาณ ๗๐ ปี ป่วยเป็นโรคมะเร็งตับระยะสุดท้าย วันแรกที่เราได้ไปเยี่ยมคุณลุงคือวันอาทิตย์ที่ ๘ สิงหาคม คุณลุงเป็นไข้หวัด พูดเสียงเบา เราคุยกันผ่านผ้าปิดจมูกทำให้ไม่ค่อยรู้เรื่อง หลายครั้งได้แต่พยักหน้าโดยไม่รู้ว่าคุณลุงพูดถึงเรื่องอะไร เราคุยกันหลายเรื่อง ส่วนมากจะเป็นเรื่องทั่วไปกับอดีตของคุณลุง เมื่อพูดถึงเรื่องในอดีตบางครั้งคุณลุงจะน้ำตาไหล

          คุณลุงมีคุณป้ามาเฝ้า คุณป้าใจดีมาก และรักคุณลุงมากๆ คอยดูแลอยู่ข้างๆ ตลอดเวลา คุณลุงมีลูกสลับมาเยี่ยมบ่อยๆ อาทิตย์แรกของการเยี่ยม พี่พยาบาลบอกว่าอยากให้คุณลุงกลับบ้านแต่คุณลุงไม่อยากกลับ เพราะอยู่ที่นี่สบายกว่า ผมมาเยี่ยมอีกทีวันจันทร์ คุณลุงก็พูดกับเราไม่ได้แล้ว เพราะต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด พี่พยาบาลบอกว่าถ้าคุณลุงไม่ป่วยอยู่ก่อนแล้วก็คงหาย แต่คุณลุงเป็นโรคมะเร็งจึงยากที่จะหาย อาการของคุณลุงทรุดลงไปเรื่อย ยิ่งทรุดลงมากขึ้นเท่าไหร่ ผมก็เห็นคุณป้าร้องไห้บ่อยขึ้นเท่านั้น แล้วคุณลุงก็เสียตอนตี ๒ ของวันศุกร์ที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๒

          ช่วงที่คุณลุงป่วยหนัก สิ่งที่ทำได้คือให้กำลังใจคุณป้า มีสิ่งหนึ่งที่ประทับใจคือ ตอนที่คุณลุงป่วยหนัก พวกผมได้เขียนจดหมายไว้ฉบับหนึ่ง เผื่อตอนที่คุณลุงเสีย เมื่อคุณลุงเสียแล้ว คุณป้าได้อ่านจดหมายฉบับนั้นกับร่างของคุณลุง ทำให้พวกผมรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันมีค่าสำหรับพวกท่าน

          ในการทำกิจกรรมครั้งนี้ มีสิ่งที่ได้เรียนรู้หลายอย่าง บางสิ่งอาจเขียนเป็นคำพูดได้ บางสิ่งที่เราได้เรียนรู้โดยที่ตัวเราเท่านั้นที่เข้าใจ ไม่สามารถเขียนออกมาได้ เพราะมันอาจเป็นแค่ความรู้สึก ครั้งหนึ่งผมเคยถามพี่จากพุทธิกาว่า “มันเป็นสิ่งที่ไม่ดีเหรอครับที่จะบอกให้ผู้ป่วยคิดถึงแต่สิ่งดีๆ ในอดีต ไม่ต้องสนใจสิ่งไม่ดีเพราะมันแก้ไขอะไรไม่ได้” พี่ตอบว่า “ผู้ป่วยเขาก็รู้ว่าการคิดแต่สิ่งดีๆ เป็นสิ่งที่ดีนะ แต่มันต้องเป็นสิ่งที่ตัวผู้ป่วยคิดขึ้นได้เอง ไม่ใช่ให้ใครมาบอกว่าคิดอย่างนี้เถอะนะ” มันทำให้ผมเข้าใจสิ่งต่างๆ มากขึ้นว่า การให้คำแนะนำผู้อื่นในบางสิ่ง ต้องเป็นสิ่งที่ตัวเองเท่านั้นที่จะแนะนำตัวเองได้ นอกจากนี้กิจกรรมอาสาข้างเตียงยังสอนให้ผมรู้จักการทำสิ่งเล็กๆ สำหรับตัวเรา แต่เป็นสิ่งที่มีความสำคัญสำหรับผู้อื่น

 

เกศนี วรพันธุ์

          บทเรียนของการจากไป วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๒ เคสแรกเป็นคุณลุง โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร วันแรกที่ไปเยี่ยมเราไปกัน ๔ คน คุณลุงกำลังสาละวนกับการยกเลิกเอสเอ็มเอสข่าว แต่ทำไม่ได้ เลยให้เราช่วย เราก็คิดเลยว่านี่คือภารกิจแรกเราต้องช่วยแก แต่ทำไม่เป็น มีพี่อีกคนทำเป็นก็เลยจัดการให้จนสำเร็จ พอเสร็จแล้วคุณลุงก็นอนเลย และมีอารมณ์คุยกับเรามากขึ้น เราเองก็ไม่กล้าเท่าไหร่ เพราะไม่รู้จะเริ่มคุยอะไรดี แต่มีเพื่อนไปจึงทำให้บรรยากาศไม่น่าอึดอัดเท่าไหร่

          วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๒ วันนี้เรานัดทำกิจกรรมกับคุณป้าที่เคยเรียนถ่ายรูปด้วยกัน มือถือเราเลยตั้งเป็นระบบสั่น ใครโทรมาก็ไม่ได้ยิน เรานัดเพื่อนจะไปเยี่ยมลุงประมาณบ่ายสอง แต่เพลินไปหน่อยเลยมาสายจนเพื่อนกลับไปแล้ว เราเจอพี่พยาบาลบอกว่าคุณลุงกลับบ้านไปแล้ว เราถามว่าหมายความว่ายังไง เขาก็บอกว่ากลับบ้านเก่า เราใจเต้นรัวเป็นกลอง เหงื่อแตก ไม่นึกว่าจะเร็วอะไรปานนั้น พี่พยาบาลเห็นเราหน้าซีดก็เลยให้สติ สอนเรื่องมรรคมีองค์แปด อุเบกขา การเจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดา ให้รู้จักวางใจให้เป็น และเมื่อวาระสุดท้ายมาถึงควรทำอย่างไร ให้คิดดีก็จะได้ไปที่ที่ดี เราก็เลยสงบ แวะสวนลุมซักพัก อยากเห็นอะไรเขียวๆ เรียนรู้ว่าสังขารไม่เที่ยง และการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะไป

          วางใจให้เป็นกับความพอดี ความกลัว และรู้จักดูแลตัวเอง เคสที่ ๒ เป็นคุณลุงโรคมะเร็งตับอ่อน อาการทั่วไปไม่น่าเป็นห่วง คุณลุงกลัวผ่าตัดจนมีไข้ วันที่แกผ่าตัดเราอยากไปอยู่ด้วย แต่แม่บอกว่าเป็นหน้าที่ของญาติเขา จะไปทำอะไรให้ จ่ายตังค์หรือหาเตียงให้เหรอ เราจึงนึกถึงคำพูดว่าหน้าที่ของเรา คือพูดคุยเป็นเพื่อนให้กำลังใจ และให้เขาไปอย่างสงบด้วยจิตสุดท้าย ทำให้เขาระลึกถึงความดี จะได้ไปที่ดีๆ เราเลยกลับมาทำหน้าที่ของเรา ไปเยี่ยมและพูดคุย วันนั้นอากาศร้อน เราไม่ได้แสดงอาการ แต่คุณลุงรู้สึกได้ถามว่าเราร้อนไหม เปิดพัดลมได้นะ เรารู้สึกดีที่ผู้ป่วยเขาก็ใส่ใจเราเหมือนกัน ความภูมิใจที่เราได้ทำ คือคุณลุงอยากกินข้าวต้ม เคยบอกพยาบาลแล้วแต่ไม่ได้จัดให้ เราเลยบอกจนพี่พยาบาลจัดให้

          คุณลุงมีถุงน้ำดีและถุงของเสียอื่นๆ ติดตัวประมาณ ๕ ถุง แต่ไม่มีถุงผ้าใส่ แกต้องเดินหิ้วถุงก๊อปแก๊ปใส่ของเสียของแก เราเลยถามว่าไปตลาดมารึไง แกก็ขำ พอเห็นอาการคุณลุงเลยคิดขึ้นมาได้ว่าตัวเองปวดท้องบ่อย คิดว่าอาจเป็นโรคกระเพาะ ก็เลยไปหาหมอรักษาอย่างจริงจัง รักษามา ๑ เดือนไม่หาย หมอเลยให้ตรวจเลือดและอุจจาระ เรากลัวเป็นมะเร็ง ก่อนวันไปหาหมอไข้ขึ้นเลย อาจจะเหมือนกับคุณลุงกลัวผ่าตัดก็ไข้ขึ้นเหมือนกัน เพื่อนบอกว่าจะทำอะไรให้ดูที่จิต พอคิดได้ไข้ก็ลด ก็ดูแลตัวเองกินข้าวกินยา และผลออกมาก็ไม่เป็นอะไรมาก สุดท้ายลุงก็กลับบ้านได้ และยังคงติดต่อโทรคุยกันบ้าง เจอกันบ้าง

          ความสุขของแม่และเตรียมความพร้อมเมื่อเหตุการณ์นั้นๆ มาถึง เคสที่ ๓ คุณลุงเป็นโรคตับและเป็นอัมพฤกษ์ด้วย ตอนนี้เราบินเดี่ยวได้ ไม่กลัวที่จะคุยกับคนอื่นแล้ว เพื่อนบอกว่าคุณลุงชอบให้นวด เราคุยไปก็นวดไป คุณลุงบอกว่าสบายดี เลือดไหลเวียนสะดวกดี เราก็นวดตรงนั้นตรงนี้ พอกลับบ้านก็ถามตัวเองทำไมคุณลุงรู้สึกดีทั้งที่เรานวดไม่เป็น แม่เองยังไม่อยากให้นวดเลย จึงคิดว่าถ้าทำให้คนอื่นก็ต้องทำให้แม่ด้วย แต่ทำยังไงแม่จะรู้สึกสบายล่ะ เลยซื้อหนังสือนวดมาให้เป็นเรื่องเป็นราวไป กลับมาก็นวดให้แม่ ซึ่งท่านก็รู้สึกดี 

          คุณลุงไม่ได้ผ่าตัดสักทีเพราะไข้ขึ้น ไม่รู้ว่าคุณลุงกลัวเหมือนเราไหม เราพยายามจะไปให้กำลังใจคุณลุงก่อนผ่าตัด เตรียมตัวแต่เช้ามืด นั่งรถมอเตอร์ไซด์จากพุทธมณฑลสาย ๔ มาโรงพยาบาลจุฬา เพราะกลัวไม่ทัน ปรากฏว่าคุณลุงกลับบ้านแล้ว วันอังคารจะมาใหม่ ครั้งที่ ๒ นั่งรถมาอีก แต่คุณลุงไข้ขึ้นผ่าตัดไม่ได้ แต่ได้เจอคุณลุงตอน ๗ โมงเช้า ได้นวดและพูดคุยกับ อีก ๒ อาทิตย์ต่อมาคุณลุงถึงได้ผ่าตัด พอผ่าตัดเสร็จ จากที่แกเคยยิ้มเคยร่าเริงมันหายไปหมด หมอบอกแค่ประคับประคองแต่รักษาไม่หาย เรายังนวดเหมือนเดิม 

          เรากลับมาคิดว่าถ้ามันเกิดกับครอบครัวเรา เราจะรับมือกับมันอย่างไร ต้องเข้มแข็ง และให้กำลังใจโดยไม่สร้างความหวังว่าเดี๋ยวก็หาย ให้เขายอมรับดีกว่า เพื่อให้คิดสิ่งที่ดีและไปที่ที่ดี แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลานั้น แม่อยากได้อะไรที่เราพอจะทำให้ได้ อยากได้ซีดีบี้ เดอะสตาร์ ทั้งคาราโอเกะ และคอนเสิร์ต หรือบี้เป็นพรีเซ็นเตอร์เขาช่อง แม่ก็สั่งซื้อ หรืออยากกินเป็ดพูลสิน หรือเกี๊ยวซ่า หรืออะไรที่สามารถจัดให้ได้ก็จัดไป พยายามเก็บเงินและคิดทำประกันชีวิตไว้บ้าง และรู้สึกมีความสุขมากขึ้น ได้เพื่อนที่ดีเป็นกัลยาณมิตร รู้สึกดีมากที่ได้มาทำโครงการนี้

คอลัมน์:

ผู้เขียน: