ที่รัก... โปรดปล่อยฉันไป
หากว่า บุคคลที่คุณรักมาก แสนรักเหลือเกิน จากไป คุณจะทำอย่างไร
เจ้าหมาน้อยฮาชิ เลือกที่จะเฝ้ารอคอยเจ้านายที่มันรักอยู่ที่สถานีรถไฟร่วม ๑๐ ปี มันอาจรับรู้ เข้าใจ หรือไม่เข้าใจก็ได้ ว่าเจ้านายได้จากไปแล้ว ไปอยู่ในอีกดินแดนหนึ่งที่คนเป็นหรือสิ่งมีชีวิตไม่สามารถก้าวล้ำได้ มันอาจเป็นความรัก ความซื่อสัตย์ก็ได้ ที่ทำให้เจ้าฮาชิเลือกที่จะรอคอย ไม่ว่าฤดูกาลใดจะเวียนผ่าน ความประทับใจในความรัก ความซื่อสัตย์ของเจ้าฮาชิเป็นที่ซาบซึ้ง กล่าวขวัญ กระทั่งมีการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อระลึกถึง
อีกครั้งที่ความตายไม่อาจพรากความรัก ความซื่อสัตย์ที่เจ้าหมาน้อยมีต่อมนุษย์ เจ้านายของมัน น่าสนใจว่าในช่วง ๑๐ ปีแห่งการรอคอย หัวใจของเจ้าหมาฮาชิทนรับความผิดหวัง และการรอคอยที่ไม่มีวันมาถึงได้อย่างไร บางทีอาจเป็นความหวังที่ช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจของมันว่า สักวันหนึ่ง เจ้านายของมันจะปรากฏตัว และพามันกลับบ้านไปด้วยกัน หรืออาจเป็นการหลอกลวงตัวเอง ด้วยการไม่ยอมรับความจริง
ในอีกมุมหนึ่ง เมื่อ “เภา” หญิงสาวคนรักของ “เต็น” ประสบอุบัติเหตุ เธอกลายเป็นผัก อยู่ในภาวะสมองตาย ทำให้เธอไม่สามารถรับรู้ และดำรงชีวิตได้ด้วยตนเอง เธอมีชีวิตโดยใช้เครื่องช่วยหายใจ มันหมายถึงการมีชีวิตโดยต้องอาศัยคนที่อุทิศตัวได้ เต็นต้องใช้เวลาเกือบตลอด ๒๔ ชั่วโมงเพื่อคอยดูแลเธอ และหมายถึงการสละช่วงเวลาทำมาหากิน เต็นเคยให้คำมั่นสัญญากับเภา ว่าจะดูแลเธอในฐานะของขวัญวันเกิด จากภาพยนตร์ Happy Birthday เต็นคงรักเภาจากหัวใจอย่างแท้จริง การพยายามรักษาสัญญา ความรัก ความผูกพันที่ชายหนุ่มมีต่อหญิงสาวดูช่างซาบซึ้ง แต่ในอีกทางหนึ่งก็เป็นการพยายามยื้อยุดเธอจากความตาย สภาพการมีชีวิตที่ต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจ ไม่สามารถตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว ลักษณะเช่นนี้ไม่อาจเรียกได้ว่าการมีชีวิต แต่จะเพราะความรัก ความหวัง ความเชื่อในปาฏิหาริย์ หรือความเห็นแก่ตัวที่ไม่ยอมรับ การสูญเสียสิ่งที่ตนรัก (ซึ่งยากจะตัดสินว่าเพราะอะไร) ก็ตาม เภาถูกยื้อยุดให้มีชีวิตเพื่อชะลอความตาย
กระโดดไปที่ตำนานความรักลือลั่น ถูกสร้างเป็นละคร ภาพยนตร์ รวมถึงละครเพลงมากมาย ความรักของนางนากที่มีต่อสามีของเธอ แม้ว่าตนเองจะอยู่ต่างภพภูมิ แต่ความรัก ความผูกพันทำให้เธอเลือกที่จะวนเวียน และต่อสู้ความจริง ด้วยการพยายามฝืนชะตากรรมอยู่กินกับพ่อมาก ฉันท์สามีภรรยา แม้ว่าจะอยู่ต่างภพภูมิ แม่นากออกอาละวาดจนเป็นที่หวาดกลัวของผู้คน กระทั่งธรรมะจากพระภิกษุช่วยให้เธอยอมรับความจริง และลาจากไปด้วยความสุขสงบ
เราทุกคนต่างมีหน้าที่ต่อความตาย ความตายทำให้เราพบและตระหนักรู้ว่าช่วงเวลาอันแสนสุขนั้นมีจำกัด และสิ่งที่มีคุณค่านั้นไม่ได้อยู่ยั่งยืนเสมอไป วันหนึ่งสิ่งนั้นต้องลาจากไป เช่นเดียวกับชีวิตที่วันหนึ่งความตายต้องมาจากพรากไป เพียงแต่ว่าเมื่อไรและอย่างไร สิ่งที่ก่อความทุกข์และปฏิกิริยามากที่สุด คือปฏิกิริยาต่อความตายที่เกิดขึ้น การพยายามต่อรองด้วยการยื้อยุดความตายให้ชะลอเวลาออกไป เทคโนโลยีหลายอย่างถูกใช้ ดังเช่นภาพของเภาที่มีสายระโยงระยางจากเครื่องมือแพทย์ หรือแม้แต่การใช้อิทธิฤทธิ์ของภูตผีปิศาจในหนังผีไทยหลายๆ เรื่อง เพื่อยื้อยุดความตาย และเพื่อยึดเหนี่ยวความรัก ความหวงแหนให้อยู่นานที่สุดเท่าที่ทำได้
ตัวละครแต่ละตัวมีทางเลือกอะไรบ้าง ยามบุคคลที่เรารักต้องถูกพรากจากไปในลักษณะเช่นนี้ การมีความหวังนับเป็นสิ่งที่ดี ข่าวคราวหลายแห่งนำเสนอเรื่องราวความรักและการต่อสู้ยื้อยุดบุคคลอันเป็นที่รักให้รอดพ้นความตาย บ้างก็สำเร็จ บ้างก็ล้มเหลว แต่ที่แน่นอนคือ ทรัพยากรจำนวนมากถูกใช้เพื่อยื้อยุดความตายนี้ เพราะอะไรความตายจึงเป็นประเด็นสำคัญและก่อปฏิกิริยาความทุกข์กับมนุษย์เราทุกคน สาเหตุสำคัญ คือเราทุกคนต่างมี “ความคิดฝังจำ” ต่อเรื่องความตาย ว่า
๑) ความตายคือสิ่งน่ากลัว สิ่งที่พึงหลีกเลี่ยงในทุกกรณี
๒) ความตายคือสิ่งอัปมงคลที่ไม่ควรแตะต้องทั้งโดยการ กล่าวถึง เรียนรู้ และแน่นอน การยอมรับ เราต่างตระหนักดีว่าความตายมาหาเรา โดยไม่เลือกเวลาและสภาพ แต่สำนึกในใจของเรา ยังรู้สึกว่าความตายเป็นเรื่องราวที่อยู่อีกห่างไกลจากตัวเราอยู่ดี จากความคิดฝังจำดังกล่าว ปฏิกิริยาหลีกเลี่ยง เช่นการไม่พยายามต่อสู้หรือยื้อยุดความตาย คือสิ่งที่แสดงความอ่อนแอ ความดูดาย ไม่ใช่สิ่งที่คนรักกันพึงกระทำ เราจึงเห็นการพยายามปลอบใจ การพยายามไม่กล่าวถึงเพื่อตระเตรียมหรือยอมรับความจริง รวมไปถึงการปลอบใจ และการไม่พูดความจริงกับคนไข้ที่ป่วยไข้ด้วยโรคร้ายแรง
ความคิดฝังจำมีบทบาทสำคัญ เนื่องเพราะสำนึกของตัวตนที่รักตัวเอง ไม่ต้องการสูญสลาย ไม่ต้องการถูกทำร้าย ทำให้เกิดสำนึกของ “ความกลัวตาย” ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงความตายที่เราหวาดกลัว เราจึงต้องชดเชยความคิดฝังจำในเรื่องความตายด้วยการกระทำสิ่งตรงข้าม ตัวอย่างเช่น
๑) การมุ่งใส่ใจกับการเฉลิมฉลองวันเกิด โดยมุ่งเน้นมิติของความสุข ความยินดี และไม่พึงหรือกล่าวถึงอายุที่มากขึ้น สภาพร่างกายที่เสื่อมถอยลงเรื่อยๆ คำพูดที่กล่าวถึงในช่วงวันเกิด คือ คำอวยพร “ขอให้สุขภาพแข็งแรง” “ขอให้ไม่มีโรคภัย” ฯลฯ
๒) การพยายามใช้เทคโนโลยีเพื่อยื้อยุดต่อสู้กับความตาย โดยไม่ได้คำนึงถึงความพร้อมหรือสภาพร่างกายผู้ป่วย จนกระทั่งหลายกรณีที่การรักษาโดยใช้เทคโนโลยีสร้างความทุกข์ทรมานกับผู้ป่วย
๓) การติดเครื่องหมาย “ความรัก” “ความกตัญญู” “ความจงรักภักดี” รวมถึงความซื่อสัตย์ ดังตัวอย่างของภาพยนตร์ที่กล่าวมา จนราวกับว่าการยอมรับความตาย คือ ความเลวร้าย การทอดทิ้ง การละเลย ไร้น้ำใจ หลายครอบครัวต้องเผชิญกับความขัดแย้งทั้งในจิตใจและในความสัมพันธ์ เพราะท่าทีที่แตกต่างกันต่อเรื่องความตาย และการยุติการรักษา สำหรับคนป่วยไข้ที่ป่วยไข้รุนแรง
บทความนี้ ผู้เขียนไม่ได้มุ่งหมายปฏิเสธการรักษาเยียวยา หรือส่งเสริมการยอม รับความตาย เพียงแต่ต้องการชี้แง่มุมเรื่องความคิดฝังจำ รวมถึงปฏิกิริยาที่เราทุกคนมีต่อเรื่องนี้ จนกระทั่งความกลัวตาย และปฏิกิริยาต่อความตายสร้างความทุกข์ และการรับรู้ที่คลาดเคลื่อนบางอย่าง โดยเฉพาะบทเรียนคุณค่าความตายที่มีต่อชีวิต และการดำรงชีวิตอย่างมีความตาย ไม่ใช่การดำรงชีวิตโดย หลงลืมความตายในฐานะส่วนหนึ่งของชีวิต
เพราะการมีชีวิตที่มี “มรณสติ” ให้ความหมายและความมีคุณค่าที่เราอาจมองข้ามไป