Error message

  • Deprecated function: Methods with the same name as their class will not be constructors in a future version of PHP; views_display has a deprecated constructor in require_once() (line 3066 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/bootstrap.inc).
  • Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

วิถีแห่งจิตวิญญาณ

-A +A

          น้องพยาบาลคนหนึ่งเคยถามฉันว่า “พี่คะ...เราจะประเมินอย่างไรจึงจะรู้ความต้องการด้านจิตวิญญาณของคนไข้ได้คะ?” 

          นั่นสินะ! ดูแลคนไข้มาก็มาก ตอนดูแลเขาก็ทำไปโดยอัตโนมัติ เรียกให้เข้าสมัยก็ต้องว่า มันเป็นองค์ความรู้ที่สั่งสมในตัว ทุกอย่างที่ทำเป็นองค์รวม ดูกายแล้วก็ดูใจรวมไปถึงจิตวิญญาณ 

          “ถามว่าทำอย่างไร ถ้าพี่ตอบเป็นข้อๆ เป็นขั้นเป็นตอนเลย ก็จะไม่เห็น How to ขอเล่าเรื่องการดูแลคนไข้ให้ฟังสักคนดีกว่า แล้วตอนท้ายเราอาจได้วิธีการประเมิน และเข้าถึงความต้องการของคนไข้ได้บ้างนะคะ”

          ภาพการดูแลคนไข้แต่ละคนที่ผ่านมาผุดขึ้นในความคิดของฉัน และหยุดที่ “ป้าเล็น” อีกหนึ่งความประทับใจในการดูแลคนไข้ระยะสุดท้าย ที่ทำให้ฉันออกจากกรอบการดูแลคนไข้แบบเดิมๆ ในแง่ของจิตใจ และจิตวิญญาณ 

          ป้าเล็นเป็นคนไข้มะเร็งเต้านมระยะสุดท้ายที่ส่งต่อมาให้ติดตามดูแลที่บ้าน ป้ามีแผลขนาดใหญ่ที่หน้าอกด้านซ้าย ซึ่งสร้างความเจ็บปวดให้กับป้ามาก ป้าเล็นช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง ภาระในการดูแลป้าตกอยู่ที่ “พี่ติ๋ม” น้องสาวและ “พี่ออด” น้องเขย 

          ป้าเล็นเล่าให้ฟังว่า “พอรู้ว่าเป็นมะเร็งก็ไม่ได้ไปรักษา กลัวผ่าตัด จนก้อนมันแตก มันเจ็บมาก น้องๆ เขาทนไม่ได้ก็พาไปหาหมอ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว ได้แต่รักษาไปตามอาการ” ฉันให้ความมั่นใจกับป้าว่าจะมาช่วยดูแล 

          นอกจากช่วยเหลือดูแลทางด้านร่างกาย บรรเทาความทรมานจากความเจ็บปวด และช่วยให้ครอบครัวสามารถดูแลป้าได้แล้ว ฉันก็พยายามโน้มน้าวให้ป้าน้อมคิดถึงความดีงาม และการระลึกบุญกุศลที่เคยทำมา เพื่อทำให้จิตใจสงบ เพราะฉันยึดหลักการดูแลแบบองค์รวม จึงต้องการให้ป้าได้รับการดูแลด้านใจ และจิตวิญญาณด้วย แต่มันเป็นไปแบบที่ฉันเชื่อ ที่ฉันเคยได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังเขาทำกันมา 

          ป้าแกตอบฉันว่า “ไม่เคยทำอะไรดีๆ เลย มีลูกก็ไม่เคยเลี้ยง สนุกไปวันๆ ไหว้พระทำบุญก็ไม่เคย เย็นลงก็ตั้งวง” ป้าบอกว่าตอนเด็กๆ นับถือศาสนาอิสลามตามแม่ โตมาเริ่มติดเหล้า เบียร์ จึงหันมานับถือศาสนาพุทธเหมือนพ่อ มีลูกกี่คนๆ คลอดแล้วก็มาฝากน้องสาวเลี้ยง 

          ตอนนั้นฉันฟังแล้วก็ยังพยายามหาสิ่งดีๆ ให้ป้ายึดเหนี่ยวให้ได้ ตามความเชื่อของฉันที่คิดว่าป้าจะได้ จากไป (ตาย) ดี เมื่อป้าหาไม่ได้ฉันก็สรุปให้แกว่า “ป้าต้องเคยทำอะไรดีๆ มาบ้างแหละนะ ไม่อย่างนั้นคงไม่มีพยาบาลมาช่วยดูแลป้าถึงบ้านอย่างนี้หรอก เพียงแต่เรายังนึกไม่ออกเท่านั้นเอง ส่วนเรื่องทำบุญ ป้าไปไม่ไหว ก็ให้น้องเตรียมข้าวปลาอาหารให้ แล้วป้าก็อธิษฐาน ก่อนให้น้องไปใส่บาตรให้ก็ได้นะคะ” แล้วฉันก็กลับมาอย่างสบายใจ คิดในใจว่าวันนี้ได้ทำภารกิจสำเร็จแล้ว ฉันหาวิธีให้ป้าได้ทำบุญแล้ว เดี๋ยวป้าก็จะมีสิ่งดีๆ ไว้ให้คิดถึง โดยไม่รู้ว่าหลังจากนั้นเกิดอะไรกับป้าและครอบครัวบ้าง

          สองวันต่อมา ฉันไปเยี่ยมป้าที่บ้านอีกครั้ง พี่ออดเล่าให้ฉันฟังว่า ช่วงนี้ป้าบ่นแต่เรื่องตาย แกบอกว่า “ฉันตายไปคงต้องตกนรก ไม่เคยทำความดีอะไรเลย นึกไปก็มีแต่ทำความลำบากให้พี่น้อง จะตายก็ยังเป็นภาระ แล้วแกยังรบเร้าจะให้เตรียมของใส่บาตร พวกผมเช้าๆ ก็วุ่น เพราะติ๋มเขาต้องรีบเช็ดตัว ทำแผลให้พี่เล็นก่อนออกไปทำงาน ไม่มีเวลาไปใส่บาตรให้ก็มีปากเสียงกัน”

          ฉันชาไปทั้งตัวเลย คิดในใจว่า เราทำอะไรลงไป ฉันอยู่กับความคิดความเชื่อของตัวเอง ไม่ได้อยู่กับคนไข้ที่อยู่ตรงหน้าเลย ไม่เคยฟังเรื่องราวชีวิตของเขา และครอบครัว สิ่งที่ฉันคิดและทำไป แทนที่ป้าจะระลึกถึงความดีงาม กลับกลายเป็นการกระตุ้นเตือนให้ป้าแกทบทวนการใช้ชีวิตที่ผ่านมา ที่ป้าแกบอกว่า “หาดีไม่เจอ” การทำบุญที่ฉันอยากให้ป้าแกได้ทำ เพื่อหวังให้ป้าได้มีสิ่งดีงามไว้ยึดเหนี่ยว กลับกลายเป็นการสร้างภาระและความลำบากใจแก่ครอบครัว

          แต่ฉันก็ดีใจที่ได้รับรู้ เพราะยังมีเวลาแก้ไข ป้าเล็นยังอยู่ตรงหน้า ฉันคิดถึงคำที่ว่า “คนที่อยู่ตรงหน้าสำคัญที่สุด” ไม่ใช่เป้าหมาย ไม่ใช่หลักการ หรือความคิดใดๆ ทั้งนั้น เมื่อตั้งสติได้ฉันก็ตั้งใจฟังสิ่งที่พี่ออดเล่า ขณะดูแลป้าก็ตั้งใจฟังป้ามากกว่าการพยายามตั้งคำถาม หรือการให้คำแนะนำ

          ฉันไม่ได้นึกถึงแผนที่วางไว้ ไม่สนใจเป้าหมายที่กำหนดมา มันทำให้ฉันได้ยินเสียงของป้าเล็น และเห็นป้าชัดขึ้นกว่าทุกครั้ง ครั้งนี้ฉันได้ยินว่าป้าเล็นพูดถึงคนชื่อแดงบ่อยมาก ซึ่งก็คงพูดมาหลายครั้งแล้วแต่ฉันไม่สนใจ

          แต่ครั้งนี้ฉันถามป้าแกว่า “แดงเป็นใครคะ? ป้าพูดถึงเขาบ่อยจัง”

          “ลูกสาวป้าเอง มันไม่มาเยี่ยมเลย จริงๆ แล้วมันน่าจะมาดูแลแม่มันบ้าง ไม่ใช่ปล่อยเป็นธุระของน้ามัน” น้ำเสียงฟังดูโกรธ แต่แววตาห่วงใย ถ้าเป็นเมื่อก่อนฉันคงคิดว่าก็ป้าไม่เคยเลี้ยงเขานี่ แต่จากประสบการณ์ที่เพิ่งผ่านมา ฉันไม่รีบตัดสิน แต่ต้องหาข้อมูลก่อนว่าความสัมพันธ์ของแม่ลูกเป็นอย่างไร แล้วที่ป้าแกพูดมามีความหมายอะไร? แกรู้สึกอะไรกันแน่ระหว่างโกรธกับห่วงใย? แต่ดูป้าอ่อนเพลียเกินกว่าจะคุยนานๆ ฉันจึงเก็บคำถามไว้ในใจ หันไปคุยกับพี่ติ๋มที่เพิ่งกลับจากที่ทำงานแทน

          พี่ติ๋มเล่าว่าแดงเป็นลูกสาวป้าเล็นที่มาฝากให้พี่ติ๋มเลี้ยง ตอนนี้มีครอบครัวแล้ว ที่ป้าพูดถึงบ่อยๆ เพราะเป็นห่วงแดง เนื่องจากก็มีก้อนที่เต้านมเหมือนกัน ไปตรวจที่โรงพยาบาลพร้อมกัน แต่แดงไม่ยอมไปฟังผลตรวจ เลือกที่จะไปรักษาด้วยสมุนไพรเพราะกลัวต้องถูกตัดเต้านม พอแกรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งก็ห่วงว่าลูกจะเป็นเหมือนกับตัวเอง

          ฉันเลยถามป้าเล็นว่า “ป้าห่วงแดงเหรอ?” ป้าแกมองหน้าฉันและตอบอย่างอ่อนแรงว่า “เป็นห่วงมัน ไม่รู้จะเป็นตายร้ายดียังไง? ป้าเองอยู่ที่นี่ใกล้โรงพยาบาล มีพวกคุณๆ มาเยี่ยม แต่แดงไม่รู้ข่าวมันเลย” 

          “ป้าคงอยากเจอแดง” ฉันลองหยั่งถาม ป้าพยักหน้า “หนูจะติดต่อแดงให้นะ” ฉันรับปากป้าแกไป ในใจก็คิดว่าพี่ติ๋มคงมีข้อมูลของแดงอยู่ และคงจะช่วยฉันได้ 

          “ได้หรือคุณ!” แค่นี้ฉันก็รู้แล้วว่ามาถูกทาง ความหวังของป้า คือการได้พบลูก นี่แหละจิตวิญญาณของป้า ฉันขอให้พี่ติ๋มช่วยติดต่อแดง เพื่อให้แม่ลูกได้เจอกันสักครั้ง ฉันไม่รู้ว่าเวลาของป้าเหลืออยู่สักเท่าไร ฉันต้องการความช่วยเหลือจากครอบครัวซึ่งเป็นผู้ที่ทราบข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับคนไข้มากที่สุด ป้าคงมีเวลาไม่มากพอที่จะให้ฉันตามหาแดงด้วยตัวเอง

          เมื่อฉันไปเยี่ยมป้าอีกครั้ง พี่ติ๋มบอกว่า “แม่ลูกเขาได้คุยโทรศัพท์กันแล้วค่ะ แดงมันยังสบายดี แต่คงมาเยี่ยมแม่ไม่ได้ เพราะกำลังรักษาตัวอยู่ เขาไปอยู่ทางใต้ บ้านสามีเขา ถ้ารักษาครบแล้วเขาก็จะกลับมาอยู่กรุงเทพฯ” แม้จะอ่อนแรงมากแล้ว แต่แววตาป้าที่มองมาฉัน พร้อมรอยยิ้มที่มุมปากเหมือนกับจะบอกว่า “ป้าตายตาหลับแล้ว!” 

          การจะเข้าถึงจิตวิญญาณของคนไข้ เราต้องฟังเขาอย่างตั้งใจ ฟังให้ได้ยินเรื่องราวของเขา เข้าใจเขาอย่างที่เขาเป็น รับรู้ถึงความต้องการของเขา และไม่รีบตัดสิน จิตวิญญาณอาจไม่ใช่การยึดมั่นในศาสนา หรือความดีงามเท่านั้น แต่อาจเป็นเพียงความหวัง ความปรารถนา ความต้องการบางอย่างที่อาจดูเล็กน้อยในความรู้สึกของเรา แต่สิ่งนั้นมีคุณค่าสำหรับคนไข้ ไม่ใช่สำหรับเรา และนอกเหนือจากทีมสหสาขาแล้ว ครอบครัวเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญของทีมดูแล เพราะต้องเป็นผู้ให้การดูแลคนไข้ ตลอดเวลา เราเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือให้การดูแลเป็นไปตามความต้องการของคนไข้และครอบครัวเท่านั้นเอง 

คอลัมน์: