เก็บเล็กผสมน้อย ศิริราช พาลลิเอทีฟ แคร์ เดย์ ครั้งที่ ๗
มาอย่างเงียบๆ แทบไม่รู้ตัว สังคมไทยได้เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (ผู้มีอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป) อย่างแน่นอนแล้ว อธิบายให้ง่ายๆ คือ หากเดินไปบนท้องถนน ในคนสิบคนจะเป็นผู้สูงอายุเสียหนึ่งคน และอีกไม่ถึง ๒๐ ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น ๑ ใน ๔ ของจำนวนประชากร
หน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะในด้านสาธารณสุขจึงมีการเตรียมความพร้อมอย่างเงียบๆ เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวของสังคม เช่นเดียวกับ ศิริราชพาลลิเอทีฟเดย์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ระหว่างวันที่ ๑๗-๑๙ ตุลาคม ณ อาคารศรีสวรินทิรา โรงพยาบาลศิริราช ที่หยิบยกเอาเรื่องการดูแลแบบประคับประคองมาเป็นธีมหลักของงาน มีปาฐกถา การเสวนา และการอบรมเชิงปฏิบัติการหลายอย่างที่น่าสนใจ โดย อาทิตย์อัสดง ฉบับนี้ขอเก็บเล็กผสมน้อยเรื่องราวในงานมาเล่าสู่กันอ่านแค่พอสังเขป ก่อนจะนำเสนอเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียดในโอกาสต่อไป
......................
หลังจากการปาฐกถาเกียรติยศ สุมาลี นิมมานนิตย์ เรื่อง “ศักยภาพของการแพทย์ไทยในการดูแลผู้ป่วยแบบ Palliative Care” โดย รศ.นพ.ทวี เลาหพันธ์ ในวันแรกไปแล้ว เริ่มวันที่สองของงาน ผศ.นพ.รุ่งนิรันด์ ประดิษฐ์สุวรรณ นำเสนอเรื่อง “Living to the end - Palliative care for an ageing population” โดยเริ่มด้วยการชี้ให้เห็นความเปลี่ยแปลงของแนวคิดเก่า-ใหม่ของการดูแลแบบประคับประคอง จากการเริ่มดูแลเมื่ออยู่ในช่วงวาระสุดท้ายแล้วยุติเมื่อผู้ป่วยเสียชีวิต มาเป็นการเริ่มดูแลเมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าไม่มีทางรักษาหาย หรือแพทย์ไม่แปลกใจหากผู้ป่วยจะต้องตายภายใน ๑ ปี ก่อนเข้าสู่การดูแลแบบประคับประคองอย่างเต็มที่เมื่อถึงช่วงระยะสุดท้ายก่อนเสียชีวิต ตลอดจนต่อเนื่องไปจนถึงการดูแลความเศร้าโศกของญาติและผู้ดูแลหลังการตายอีกด้วย
หลักใหญ่ใจความของการดูแลแบบประคับประคองในผู้สูงอายุ มีสองเรื่องหลักๆ คือ จะต้องช่วยให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุด และมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดในระยะสุดท้ายของชีวิต โดยใช้การสังเกตและฟังอย่างใส่ใจเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจความกังวล อาการป่วย และความทุกข์ของผู้ป่วยสูงอายุ เพื่อให้การรักษาเป็นองค์รวมทั้งทางกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ ซึ่งจำต้องใช้ทีมสหสาขาวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ นักสังคมสงเคราห์ พยาบาล นักจิตวิทยา เป็นต้น เนื่องจากแต่ละคนมีทักษะที่จำเป็นในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองแตกต่างกันไป
ตลอดปาฐกถาในช่วงเช้า คุณหมอรุ่งนิรันดร์ได้ยกเอางานวิจัยเรื่องความต้องการของผู้ป่วยระยะสุดท้ายในเรื่องต่างๆ มาพูดคุยและอธิบายหลายเรื่อง ล้วนแล้วแต่เป็นน่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง เช่น
การสื่อสารเพื่อบอกข่าวร้าย ผู้สูงอายุร้อยละ ๙๒ ต้องการทราบความจริงจากปากของหมอ แพทย์ร้อยละ ๙๐ ต้องการบอกความแก่ผู้ป่วย ในขณะที่ญาติผู้ป่วยร้อยละ ๗๗ ต้องการบอกความจริงให้กับผู้ป่วย
การมีส่วนร่วมของผู้ป่วย ผู้สูงอายุร้อยละ ๗๓ ต้องการตัดสินใจเอง มีเพียงร้อยละ ๒๗ ที่ต้องการให้ลูกหลานตัดสินใจ
การจัดการและควบคุมโรค ผู้สูงอายุร้อยละ ๙๓ และญาติผู้ป่วยร้อยละ ๙๗ ล้วนต้องการให้ควบคุมอาการของโรคโดยเฉพาะความปวด โดยแพทย์ ทีม ผู้ป่วย ญาติ ควรพูดคุยกันเพื่อวางแผนการรักษาล่วงหน้า
การช่วยให้ผู้ป่วยตายดีในความเห็นของผู้ป่วยสูงอายุระยะสุดท้าย คือ การได้อยู่ใกล้คนที่รัก การหยุดรักษาถ้าเป็นเพียงการยืดชีวิต ต้องการทราบความจริง การสนองตอบความต้องการของผู้ป่วย ตลอดจนการดูแลความทุกข์ทรมานทางกายของผู้ป่วย
คุณหมอรุ่งนิรันดร์ปิดท้ายปาฐกถาด้วยคำสั่งสอนของ ศ.พญ.สุมาลีนิมมานนิตย์ ผู้เป็นอาจารย์ในเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายว่า
“การดูแลคนไข้แบบประคับประคองไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว คนไข้แต่ละคน ครอบครัวแต่ละครอบครัวม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่สำคัญคือ การที่เราปฏิบัติการด้วยเจตนาที่ดีที่สุด บนฐานแห่งปัญญาที่รู้ถ่องแท้ที่สุด”
หลังจากมีอาจารย์แพทย์สามท่านมาพูดคุยเรื่อง “Palliative Care for Neurodegenerative disease” ในช่วงสายๆ แล้ว ต่อบ่าย คุณสุรีย์ ลี้มงคล พยาบาลจากศูนย์บริรักษ์ ศิริราช ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐ จึงสนทนาเรื่อง “Nursing Care for Elderly” กล่าวถึงพาลลิเอทีฟแคร์ในความเข้าใจของเธอ คือการดูแลที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์และเป็นองค์รวม โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ การดูแลให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีความสุขสบาย ลดความทุกข์ทรมานจากอาการทางกาย และเพิ่มคุณภาพชีวิตในช่วงระยะสุดท้ายให้ดีที่สุด
คุณสุรีย์เสนอว่า การดูแลผู้ป่วยสูงอายุจำเป็นต้องคำนึงความแตกต่างหลากหลายของผู้ป่วย เธอจึงแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุออกเป็น ๓ กลุ่มเป็น กลุ่มติดสังคม เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังกระฉับกระเฉง ชอบออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน กลุ่มติดบ้าน ชอบอยู่บ้าน และกลุ่มติดเตียง ไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวก ซึ่งในแต่ละกลุ่มการดูแลย่อมจะไม่แตกต่างกัน
แม้ว่าแนวคิดในเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองคล้ายคลึงกับสิ่งที่คุณหมอรุ่งนิรันดร์เสนอมา แต่เธอเพิ่มเติมว่า จากประสบการณ์การดูแลญาติหรือผู้ดูแลจะต้องทำตั้งแต่ในช่วงก่อนที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิต เพราะบางครั้งจำเป็นต้องคลายปมที่ติดค้างระหว่างญาติและผู้ป่วยออกเสียก่อน
คุณสุรีย์ยังเสนอรูปธรรมง่ายๆ ว่า การทำพาลลิเอทีฟแคร์ควรทำตั้งแต่ยังมีสุขภาพดี โดยแต่ละคนอาจใช้วิธีจำลองสถานการณ์ให้ตนเองป่วยหนัก แล้วตรวจสอบความรู้สึกของตัวเองก่อน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเมื่อต้องอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ
คุณสุรีย์เห็นด้วยกับเรื่องการวางแผนการรักษาล่วงหน้าที่คุณหมอรุ่งนิรันดร์ โดยย้ำว่า สิ่งที่ผู้ป่วยและครอบครัวต้องการทราบ คือ โรคอยู่ขั้นใด รักษาอะไรได้บ้าง การพยากรณ์โรค รูปแบบการเสียชีวิต และอาการที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์หรือทีมผู้รักษาต้องให้ข้อมูลที่เพียงพอ โดยอาศัยทักษะการสื่อสารที่ดี คือ การฟัง รวมถึงการเปิดใจยอมรับความเปลี่ยนแปลง เพราะการวางแผนการรักษาล่วงหน้าไม่ใช่ทำครั้งเดียวจบ แต่สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา
การดูแลแบบประคับประคองจึงต้องอาศัยความร่วมมือของ ผู้ป่วย ครอบครัว ระบบสุขภาพ และสังคม ช่วยเหลือเกื้อกูลกันจึงจะบรรลุผล
วันสุดท้ายของงาน ดร.นพ.โกมตร จึงเสถียรทรัพย์ มาบรรยายเรื่อง “เรียนรู้สู่สังคมสูงวัย” โดยชี้ให้เห็นว่า ทัศนคติเกี่ยวกับภาวะสูงวัยที่ครอบงำสังคมทั่วไปในปัจจุบัน มาจากการนิยามความสูงวัยว่าเป็นภาวะที่มีแต่ความเสื่อมในด้านต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นภาวะทางกายภาพ
แต่หากมองสุขภาวะในมิติใหม่ ว่าคือ ดุลยภาพของมิติต่างๆ ทั้งทางกายภาพ จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ย่อมจะทำให้การนิยามและทัศนติที่มีต่อภาวะสูงวัยแตกต่างออกไป เพราะแม้มิติทางกายภาพจะเสื่อมลงไป แต่มิติอื่นๆ ยังสามารถพัฒนาไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
คุณหมอโกมาตรให้ข้อคิดเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงวัยให้มีสุขภาวะที่ดี ว่าต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่ว่าการให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ดูแลด้วย ระบบการดูแลต่างๆ จะต้องเชื่อมโยงกัน ไม่ให้สะดุด ไม่ว่าจะเป็นการดูแลต่อเนื่องจากที่โรงพยาบาลไปสู่ที่บ้าน หรืองานสุขภาพชุมชน ที่ต้องอาศัยชุมชนมาช่วยด้วย โดยหัวใจในการทำงาน คือ การมีความเชื่อมั่นในคุณค่า ศักดิ์ศรี และศักยภาพของความเป็นมนุษย์