การวางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้า (Advance care plan)
ความเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับการบริการสาธารณสุขในแวดวงการให้บริการสุขภาพของไทยในช่วงที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะในประเทศที่มีการใช้กฎหมายในลักษณะดังกล่าวมาก่อน อาทิ สหรัฐอเมริกา ยังต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจและยอมรับเป็นเวลานานกว่าสิบปี ไม่รวมถึงปัญหาที่พบจากการใช้จริงหลายประการ อันเป็นที่มาของการปรับปรุงกฎหมายเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ที่พบ และพัฒนาไปสู่วิธีการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างครอบคลุมที่เรียกว่า “วางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้า” (Advance care plan)
จากการพิเคราะห์สถานการณ์แล้ว ปัญหาเรื่องหนังสือแสดงเจตนาฯ ในเมืองไทยคงจะยังไม่มีข้อยุติเด็ดขาดในระยะเวลาอันใกล้ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “การวางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้า” ถือเป็นอีกหนทางหนึ่งในการนำเสนอสิ่งที่อาจจะเป็นทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์ได้
“การวางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้า” คืออะไร
กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ.๒๕๕๓ ตามมาตรา ๑๒ วรรค ๒ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔
สาระสำคัญของกฏหมาย คือ การเคารพสิทธิของผู้ป่วย และ คุ้มครองบุคลากรสุขภาพที่กระทำตามเจตนาของผู้ป่วย โดยเน้นการแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาต่างๆ ในวาระสุดท้ายของชีวิตเป็นลายลักษณ์อักษรไว้เป็นหลักฐานให้ชัดเจน เพื่อจะได้ไม่ทะเลาะกันในช่วงวิกฤตที่ต้องตัดสินใจว่า จะทำหรือไม่ทำอะไร โดยเฉพาะในสังคมที่มีลักษณะเป็นครอบครัวขยายอย่างสังคมไทย ความเห็นของลูกหลานหลายคน หมอ พยาบาล อาจไม่ตรงกันสักเท่าใด
แต่ในทางปฏิบัติพบว่า หากมุ่งเน้นแต่เรื่องปฏิเสธการรักษาเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะเน้นแต่การได้มาซึ่งตัวเอกสาร โดยไม่สนใจกระบวนการการสื่อสารสองทางระหว่างคนทำกับบุคลากรสุขภาพ และการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง จะประสบปัญหาเช่นเดียวกับที่เกิดในสหรัฐอเมริกา คือ คนทำเอกสารไว้ แต่พอถึงเวลาไม่ได้ใช้ แล้วบุคลากรสุขภาพที่ต้องปฏิบัติตามไม่ค่อยรู้...ไม่ค่อยเชื่อ...และไม่ค่อยปฏิบัติตามสิ่งที่เขียนเอาไว้
ในปัจจุบัน ทั่วโลกจึงหันมาให้ความสำคัญกับกระบวนการ “วางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้า” (Advance care plan) ซึ่งมีรายละเอียดครอบคลุมมากกว่าเป็นแค่การปฏิเสธการรักษาตามกฏกระทรวงมาตรา ๑๒ คือ
๑. Patient preference คือ สิ่งที่ผู้ป่วยต้องการ หรือให้ความสำคัญ รวมถึงเป้าหมายการดูแลรักษาเมื่อถึงเวลา ซึ่งต้องเกิดจากการที่ผู้ป่วยรับรู้แล้วว่า ตนเองเป็นโรคอะไร ถึงขั้นไหนแล้ว การรักษาได้ผลเป็นอย่างไร เช่น อยากกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน ขอให้ได้กล่าวคำขอบคุณ เสียใจ ขอโทษและให้อภัยกับใคร อยากให้ใครอยู่ด้วยหรือไม่อยากเห็นหน้าใครตอนนั้น อยากทำหรืออยากให้ใครทำอะไรให้ จะสวดมนต์ ลูบหัว เกาหลังหรือดูแลความสะอาดให้ระดับไหน เป็นต้น สิ่งนี้ไม่มีข้อกำหนดทางกฏหมายมารองรับ แต่เป็นที่ยอมรับว่า มีความสำคัญอย่างมาก และการดำเนินการเรื่องนี้ จะช่วยให้กระบวนการที่สอง คือการแสดงเจตนาว่าจะรับ/ไม่รับการดูแลรักษา ประสบความสำเร็จมากขึ้น
๒. Advance decisions คือ การแสดงเจตนาว่าจะรับ/ไม่รับการดูแลรักษา เมื่อถึงเวลา หรือเมื่อผู้ป่วยไม่อยู่ในภาวะที่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง คือการปฏิบัติในส่วนที่กฎกระทรวงมาตรา ๑๒ รองรับ และเป็นสิ่งที่ต้องวินิจฉัยก่อนปฏิบัติตามว่าผู้ป่วยอยู่ในภาวะนั้น หรือถึงเวลาที่จะต้องปฏิบัติตามแล้วหรือยัง
๓. Proxy nomination คือ การเลือก “บุคคลใกล้ชิด” ผู้ทำหน้าที่แสดงเจตนาแทน เมื่อไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง ซึ่งต้องผ่านการวินิจฉัยทางการแพทย์ก่อนว่าผู้ป่วยอยู่ในภาวะไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเองแล้วหรือยัง
การวางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้า จึงเน้นที่กระบวนการสื่อสารสองทางระหว่างผู้แสดงเจตนาหรือผู้ป่วยกับผู้เกี่ยวข้อง เช่น คนในครอบครัว และผู้ดูแลรักษา คือบุคลากรสุขภาพ ไม่ใช่ตัวเอกสาร
ผลลัพธ์ที่ควรติดตาม คือผู้ป่วยได้รับการปฏิบัติตามที่แสดงเจตนาไว้หรือไม่เมื่อถึงเวลานั้น ไม่ใช่ผู้ป่วยทำเอกสารหรือไม่ เมื่อมีผู้แสดงเจตนาจะทำเอกสาร Living Will จึงเป็นโอกาสทองที่บุคลากรสุขภาพต้องช่วยเขาวางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้าไปด้วย
สื่อสาร ไม่ใช่ เอกสาร การสื่อสารว่าจะพูดคุยเรื่อง “การวางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้า” กับผู้ป่วยอย่างไรดี
|
ก่อนมาเป็น “วางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้า”
ในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศแรกๆ ที่มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการทำหนังสือแสดงเจตนาฯ (Living Will) มาใช้กับผู้ป่วยระยะสุดท้าย การคำนึงถึงสิทธิผู้ป่วยเป็นปัญหาในทางกฎหมายของสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่ ค.ศ.๑๙๑๔ เมื่อมีการดำเนินการทางกฎหมายกันในเรี่องความยินยอมของผู้ป่วยหากต้องทำการผ่าตัด
แต่เดิมจริยธรรมของแพทย์วางอยู่บนความเป็นมืออาชีพและประโยชน์ที่เกิดกับผู้ป่วย โดยมีสมมติฐานว่า บุคคลากรทางการแพทย์จะกระทำการเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสิ่งที่ดีที่สุด จึงทำให้แพทย์กลายเป็นผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องการดูแล และมุ่งเน้นไปที่การรักษาหรือดูแลตัวผู้ป่วยเป็นชั้นแรก ต่อมาด้วยความเจริญรุดหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ในการยืดชีวิต อาทิเครื่องช่วยหายใจ ทำให้จุดเน้นในเรื่องการดูแลไปอยู่ในเรื่องความเป็นไปได้ในทางเทคนิคเพื่อการยืดชีวิตออกไป เพื่อทำสิ่งที่ดีที่สุดตามความเชื่อของตนเองและตามประสิทธิภาพของเทคโนโลยีที่มีอยู่ หากแต่ใส่ใจสิ่งที่เกิดกับผู้ป่วยในด้านอื่นๆ น้อยลง
ใน ค.ศ.๑๙๖๐ ขบวนการเคลื่อนไหวที่สนับสนุนสิทธิผู้ป่วยและผู้บริโภครวมไปถึงสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย พยายามจะปลดปล่อยผู้ป่วยระยะสุดท้ายออกจากการรักษาที่มุ่งยืดชีวิต ซึ่งกระทำต่อผู้ป่วยด้วยความรุนแรงและไร้ประสิทธิภาพ โดยเน้นการดำเนินกระบวนการทางกฎหมาย จนพัฒนาเป็นรูปแบบเบื้องต้นของการดูแลแบบก้าวหน้า (Advance directive) ได้แก่ หนังสือแสดงเจตนาฯ (หรือ Living Will)
จุดมุ่งหมายของหนังสือแสดงเจตนาฯ เป็นไปเพื่อดำรง “เสียง” ของปัจเจกในการตัดสินใจในเรื่องทางการแพทย์และเพิ่มอำนาจให้ปัจเจกบุคคลในการกำหนดสภาพการดูแลรักษาตนเองในวาระสุดท้ายของชีวิต นำไปสู่การออกกฎหมายรับรองสิทธิดังกล่าวในเวลาต่อมา
ความขัดแย้งจากการใช้หนังสือแสดงเจตนาฯ
ต่อมาในราว ค.ศ.๑๙๘๐ จุดอ่อนสำคัญของหนังสือแสดงเจตนาฯ ได้ปรากฏออกมาให้เห็นเรื่องหนึ่ง คือการขาดสภาพบังคับในยามที่ผู้เขียนไม่อยู่ในภาวะที่สื่อสารกับคนอื่นได้ อีกทั้งตัวหนังสือแสดงเจตนาฯ เองครอบคลุมเพียงไม่กี่เรื่องที่เกี่ยวพันกับการช่วยชีวิตเท่านั้น แต่ไม่ได้รวมถึงปัญหาอีกจำนวนมากที่เกิดขึ้นในกระบวนการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เช่น การตัดสินใจใช้การรักษาดูแลที่รุนแรงต่อผู้ป่วย ใครจะเป็นผู้ตัดสินใจในกรณีที่ผู้ป่วยไมได้ทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ไว้ และสิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดในเรื่องการตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลในระยะสุดท้ายของชีวิต คือการสื่อสารที่ล้มเหลวระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับการดูแลผู้ป่วย เช่น ตัวผู้ป่วยเอง ครอบครัว ผู้ให้การดูแล หรือกระทั่งความไม่ไว้วางใจต่อกัน หรือเห็นต่างกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว กับผู้ให้บริการทางการแพทย์จากการพยากรณ์แนวโน้มของโรค
ความขัดแย้งดังกล่าวเกิดได้จากหลายแง่มุม เช่น บางครั้งการมุ่งรักษาคนป่วยด้วยความเชื่อมั่นในมาตรฐานและจริยธรรมในวิชาชีพ อาจนำไปสู่การรักษาที่รุนแรงต่อผู้ป่วยเกินกว่าที่คาดไว้ หรือการรักษาผู้ป่วยตามที่ญาติหรือผู้ป่วยต้องการ ใช้เทคโนโลยีในการยืดชีวิตบางประเภทกับผู้ป่วย ขณะที่ผู้ให้บริการทางการแพทย์เห็นว่ายังไม่สมควรทำ หรือความขัดแย้งที่เกิดจากความเชื่อ ศาสนา และวัฒนธรรม ที่แตกต่างกัน บางครั้งผู้ให้บริการทางการแพทย์จึงเลือกใช้วิธีการแก้ไขความขัดแย้ง โดยลดบทบาทการตัดสินใจเรื่องการดูแลรักษาของผู้ป่วยและญาติแทน อันเป็นการตัดกระบวนการมีส่วนร่วมในเรื่องเป้าหมายของการดูแลรักษา ซึ่งเป็นมิติทางสังคมที่สำคัญอย่างยิ่งออกไปเสีย
พัฒนาการสู่วางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้า
กล่าวได้ว่า ความคาดหวังต่อการวางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้า เป็นผลต่อเนื่องจากแนวคิดเรื่องการทำหนังสือแสดงเจตนาฯ แต่เรื่องดังกล่าวจะเป็นไปได้ไกลเพียงไหนยังน่าสงสัยอยู่ เพราะแม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเอง ยังมีพียงคนจำนวนน้อยที่เขียนหนังสือแสดงเจตนาฯ ไว้ การตัดสินใจเรื่องการดูแลในวาระสุดท้ายของชีวิตจึงมาจากปฏิสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการของผู้ป่วย ครอบครัว และแพทย์ โดยไม่มีการเขียนหนังสือแสดงเจตนาฯ อย่างเป็นทางการมากกว่า เนื่องจากมักไม่ทันต่อเหตุการณ์ สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกันโดยส่วนใหญ่จึงเป็นการดูแลกันโดยไม่มีหนังสือแสดงเจตนาฯ จากผู้ป่วย
ในสหรัฐอเมริกา แม้จะมีความพยายามส่งเสริมการวางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้าและการทำหนังสือแสดงเจตนาฯ แต่ผลจากการศึกษาพบว่ามีเพียงร้อยละ ๑๘ - ๓๖ ของชาวอเมริกันที่มีการทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ไว้ แม้แต่ในกลุ่มบุคคลที่ป่วยร้ายแรงในขั้นน่าเป็นห่วง ซึ่งต้องใช้หนังสือแสดงเจตนาฯ โดยตรง ก็มีปริมาณการใช้สูงกว่ากลุ่มคนทั่วไปเพียงเล็กน้อย และยังมีข้อน่าสังเกตว่า แพทย์ราวสองในสามที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยที่มีหนังสือแสดงเจตนาฯ แล้ว ไม่ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของหนังสือฯ ดังกล่าวแต่อย่างใด
หนังสือแสดงเจตนาฯ ยังไม่ค่อยมีผลต่อการดูแลรักษาจริงๆ นัก อีกทั้งไม่ค่อยจะมีการนำเข้ามาพิจารณาการวางแผนการรักษา หรือระบุไว้ในบันทึกทางการแพทย์ จนกระทั่งผู้ป่วยจะตกอยู่ใน ”ภาวะสิ้นหวังจริงๆ” แพทย์และคนในครอบครัวมีแนวโน้มที่จะรอจนผู้ป่วยใกล้จะตายแล้วถึงจะนำหนังสือแสดงเจตนาฯ เข้ามาใช้ในการดูแลรักษา ซึ่งทำให้การดูแลแบบประคับประคองมักจะเริ่มสายเกินการณ์ คนที่จะตัดสินแทนมักไม่อยู่หรือไม่ก็เครียดเกินกว่าจะตัดสินใจได้ เมื่อไม่มีคนตัดสินใจ แนวทางในการวางแผนการรักษาก็จะไม่คำนึงถึงวิธีการที่ผู้ป่วยเลือก และหลายครั้งผู้ตัดสินใจแทนมักจะเลือกแนวทางการรักษาที่รุนแรงเกินกว่าที่ผู้ป่วยต้องการ
เป้าหมายและวิธีการวางแผนรักษาล่วงหน้า: การศึกษาจากสหรัฐอเมริกา
ถึงแม้ว่าหนังสือแสดงเจตนาฯ และการวางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยเหลือผู้กำลังเผชิญหน้ากับความตาย หากกล่าวเฉพาะในสหรัฐอเมริกา มีหลักฐานว่า การตัดสินใจใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการดูแลในระยะสุดท้าย ยังมีการปฏิบัติกันไม่มากนัก ข้อจำกัดหลักๆ ของการทำหนังสือแสดงเจตนาฯ คือ “ความยาก” เนื่องจากไปเกี่ยวพันกับประเด็นอื่นๆ อีกมาก ปัญหาไม่ได้จำกัดแค่เรื่องการทำหนังสือแสดงเจตนาฯ อย่างเดียว
หากรวมไปถึงการจัดการดูแลรักษาที่ไม่เป็นการยืดชีวิต การสร้างเงื่อนไขต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถบรรลุเป้าหมายที่ต้องการในเรื่องการวางแผนดูแลรักษาในระยะสุดท้ายล่วงหน้าได้ การเพิ่มประสิทธิภาพของการวางแผนดูแลฯ และการประเมินแนวทางการดูแลในระยะสุดท้ายของชีวิต เป็นกระบวนการที่ต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ต้องมีการสื่อสารกันระหว่างผู้ป่วย ผู้ให้บริการทางการแพทย์ สมาชิกในครอบครัว และการดูแลสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่จะทำให้ผู้ป่วยได้รับสิ่งที่ต้องการ รวมถึงต้องใส่ใจกลุ่มผู้ป่วยที่มีโอกาสน้อยหรือเข้าถึงกระบวนการในการวางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้า หรือทำหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ได้ยากด้วย อาทิ กลุ่มคนพิการ หรือกลุ่มคนชายขอบกลุ่มต่างๆ
จากการศึกษาเรื่องดังกล่าวของสหรัฐอเมริกา ทำให้มีข้อเสนอว่า ต้องใส่ใจกับการสร้างความสามารถในการตัดสินใจให้เพียงพอต่อการสร้างตัวแบบ (model) ของวางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้า รวมถึงใช้วิธีการต่างๆ เพื่อพัฒนากระบวนการตัดสินใจในการรักษา และการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวจำต้องมีการประเมินศักยภาพในด้านต่างๆ ของผู้ป่วยเพื่อการตัดสินใจ ในกรณีที่มีความซับซ้อน การพูดคุยกันในเรื่องการวางแผนการรักษาไว้ล่วงหน้าจะมีประโยชน์มาก หากผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการสื่อสารไปกระทันหัน
การปรึกษาหารือกันในเรื่องวางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้า ควรเป็นเรื่องที่ทำกันปรกติในชุมชนและในสถานพยาบาล เพื่อเป็นหลักประกันว่าเป้าหมายของการดูแลรักษาสอดคล้องกับสภาพของผู้ป่วยในปัจจุบัน ควรมีการเตรียมพร้อมในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลดความตึงเครียด การจัดการกับความปวดและอาการต่างๆ การเตรียมตัวให้ผู้ป่วยและครอบครัวพร้อมรับกับสิ่งที่คาดการณ์ไว้ รวมไปถึงมีการสนับสนุนในด้านอารมณ์และจิตวิญญาณ
โดยมีเป้าหมายเพื่อเติมเต็มชีวิต และจัดการปัญหาความสัมพันธ์ ตลอดจนดูแลผู้ป่วยอย่างเป็น “มนุษย์”
วางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้าทำอย่างไร: บทเรียนจากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์
การวางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้า ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย ต้องมีการเตรียมความพร้อมความเข้าใจกับบุคลากรทางแพทย์เป็นสำคัญ ดังตัวอย่างจากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ ที่ควรนำมาพิจารณาเพื่อการเรียนรู้ในเรื่องดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจ
นายแพทย์เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี ผู้ร่วมก่อตั้งหน่วยชีวันตาภิบาล (Palliative care) ในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ กล่าวถึงการเตรียมตัวของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้มีความประสงค์จะทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ไว้ว่า
“แรกสุด คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลจะแต่งตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยรวบรวมคนที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องจากหน่วยชีวันตาภิบาล พยาบาลของหน่วย งานสิทธิประโยชน์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ งานเวชระเบียน แล้วพ่วงนิติกรมาด้วย เผื่อมีข้อกฏหมายที่อ่านไม่รู้เรื่อง
จากการพูดคุยกันเรื่องแนวทางดำเนินการหลายครั้ง ได้ข้อสรุปว่า
ไม่ประชาสัมพันธ์เชิงรุกกับผู้ป่วย ชนิดที่ว่า ... พอผู้ป่วยเดินเข้ามาในโรงพยาบาลปุ๊บ จะมีประชาสัมพันธ์เดินเข้าไปประกบ แล้วถามว่า รู้จักสิทธิปฏิเสธการรักษาฯ ไหม ถ้าไม่รู้...สนใจจะทำไหม หรือให้หมอยื่นแบบฟอร์มคล้ายๆ แบบฟอร์มยินยอมการรักษา แล้วบอกว่า มาโรงพยาบาลนี้ต้องเขียนหนังสือแสดงเจตนาฯ ไว้ก่อนทุกคน เพราะมีหวังโดนผู้ป่วยค้อนใส่ตาเขียวปัด ...ตั้งใจจะมารักษา หวังฝากผีฝากไข้ แต่ดันมาชวนให้ทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษา จะแช่งกันหรือเปล่า จะไม่รักษาเราเต็มที่หรือเปล่า ...คิดได้สารพัด
การประชาสัมพันธ์เชิงรุก น่าจะเป็นบทบาทของคนอื่น เช่น สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นต้นเรื่องของกฏหมายดังกล่าว ไม่ใช่บทบาทของโรงพยาบาลรัฐ ที่เสี่ยงต่อข้อครหาว่า...ทิ้งผู้ป่วย
แต่โรงพยาบาลจะวางแผ่นพับให้ความรู้สำหรับประชาชนที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดทำขึ้นไว้ตามจุดต่างๆ ถ้ามีคนอ่านแล้วสนใจ เขาจะเป็นคนเดินมาถามเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเอง
เตรียมบุคลากรที่มีความรู้และทักษะเพื่ออำนวยความสะดวก ให้ผู้ป่วยหรือผู้ประสงค์จะทำหนังสือแสดงเจตนาฯ แม้ว่าโอกาสที่จะมีคนสนใจอยากทำเองจะเกิดน้อยมาก แม้แต่สหรัฐอเมริกาที่มีทั้งกฏหมาย แนวทางกำหนด ยังมีคนทำเป็นเอกสารแค่ร้อยละ ๕ - ๒๕ เท่านั้น แต่ถือเป็นโอกาสทองที่จะประชาสัมพันธ์เรื่อง “การวางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้า” ซึ่งสำคัญกว่า และเป็นหัวใจสำคัญของการดูแลแบบประคับประคองนั่นคือ การมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและครอบครัวในการตัดสินใจเรื่องการดูแลรักษาต่างๆ
พูดง่ายๆ คือ ใช้กฏหมายมาช่วยงานของเรา”
แม้ว่าความเห็นในเรื่องหนังสือแสดงเจตนาฯ จะมีความแตกต่างหลากหลายกันอยู่ไม่น้อย แต่ในระหว่างที่ยังไม่มีข้อยุติอย่างเห็นพ้องต้องกัน หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องถือเอาประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นหลักอย่างแท้จริง จะดีกว่าไหมหากทุกฝ่ายมาร่วมมือกันหาแนวทางอื่นๆ ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้ “ตายดี” ได้ ดัง “วางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้า” ที่กล่าวมาเป็นแนวทางหนึ่ง เพราะถึงที่สุดแล้วหลักการสำคัญคือ การดูแลผู้ป่วยด้วยความละเอียดอ่อนต่อความเป็นมนุษย์ของเขาอย่างแท้จริงนั่นเอง
จะคุยเรื่อง “การวางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้า” กับผู้ป่วยอย่างไร การคุยกับผู้ป่วยเรื่องจะปั๊มหรือไม่ปั๊ม (DNR discussion) นับเป็นสุดยอดเคล็ดวิชาของวางแผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้า (Advance care plan) เพราะเป็นเรื่องยากที่สุด มีคนถกเถียงกันมากที่สุดว่าควรทำหรือไม่ทำอย่างไร แต่หนังเรื่อง “Wit” สามารถสื่อออกมาได้อย่างง่ายที่สุด พูดไปกินไอติมไป เป็นการเปรียบเปรยที่สุดยอดในความเห็นของผม ถึงหนังจะไม่ใช่เรื่องจริง และความจริงอาจไม่ง่ายและเนียนแบบนั้น แต่สามารถใช้กระตุ้นให้คิดวิธีการพูดคุยเรื่องนี้กับผู้ป่วยและครอบครัวได้เป็นอย่างดี เช่น จะเริ่มยังไง ควรจะคุยกับผู้ป่วยกลุ่มไหน ต้องมีขั้นตอนหรือไม่ อย่างไร แล้วจะปิดท้ายยังไง - นพ.เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี
|
-----
ข้อมูลจาก
“ฉวยโอกาสมาทำ advance care plan กันเถอะ” โดย รศ.นพ.เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี
“ADVANCE DIRECTIVES AND ADVANCE CARE PLANNING: REPORT TO CONGRESS”, U.S. Department of Health and Human Services Assistant Secretary for Planning and Evaluation Office of Disability, Aging and Long-Term Care Policy