Error message

Deprecated function: The each() function is deprecated. This message will be suppressed on further calls in menu_set_active_trail() (line 2385 of /home/budnetorg/domains/budnet.org/public_html/sunset/includes/menu.inc).

เปิดประตูสู่สังฆะกับการดูแลผู้ป่วย

-A +A

          คอลัมน์ สังฆะกับการดูแลผู้ป่วย เป็นคอลัมน์ใหม่ เนื่องจากเครือข่ายพุทธิกากำลังดำเนินโครงการ "ส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ โรงพยาบาล และชุมชนในการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย" เพื่อส่งเสริมให้เกิดทีมดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายและผู้ป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาลหรือชุมชน ประกอบด้วยพระสงฆ์ พยาบาล และจิตอาสาในชุมชน เพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างเป็นองค์รวม ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา โดยมีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการ ๑๔ แห่ง โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายและผู้ป่วยเรื้อรัง ค้นหาบทเรียนว่าอะไรคือเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดระบบการดูแลผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นปัจจัยที่ทำให้คนในสังคมมีโอกาสเข้าถึงการตายดีได้มากขึ้น

          ชื่อโครงการยาวเกินกว่าที่จะเรียกชื่อเต็ม แต่ถ้าเรียกชื่อเล่นว่า "โครงการส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ฯ" ก็ดูจะละเลยโรงพยาบาลและจิตอาสาซึ่งเป็นหุ้นส่วนสำคัญไป จึงชวนกันคิดชื่อเล่นของโครงการว่า "สังฆะกับการดูแลผู้ป่วย" โดยขอขยายความคำว่า "สังฆะ" ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของโครงการว่า

          “สังฆะ” ในทัศนะของอาจารย์พุทธทาสภิกขุ มีความหมายสามระดับ ได้แก่ สังฆะระดับที่เป็นคณะพระสงฆ์ไทย ระดับถัดมาคือ สังฆะที่เป็นอุดมการณ์ เป็นวิถีของพระสงฆ์ คือ "อยู่อย่างต่ำ มุ่งกระทำอย่างสูง" และระดับที่กว้างที่สุดคือ สังฆะ ที่เป็นวิถีแห่งความเกื้อกูล พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน อันเป็นวิถีปกติธรรมชาติของสรรพสิ่งในสากลจักรวาล "สังฆะ" ในชื่อคอลัมน์ "สังฆะกับการดูแลผู้ป่วย" มีความหมายที่สอดคล้องกับสังฆะในทัศนะของอาจารย์พุทธทาสเช่นเดียวกัน ดังนี้

          ประการที่หนึ่ง สังฆะ คือ พระสงฆ์ หรือนักบวชในศาสนาต่างๆ ที่เป็นผู้นำ และผู้ช่วยเหลือด้านจิตใจ หรือจิตวิญญาณ เมื่อผู้คนประสบกับภาวะวิกฤตของชีวิต โดยเฉพาะในยามเจ็บป่วยหรือใกล้ตาย พระสงฆ์สามารถช่วยเหลือให้ผู้ป่วยได้บำเพ็ญกุศล ให้กำลังใจ มีภาพประทับที่ดีในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต พระสงฆ์ยังอาจชี้ให้ผู้ป่วยเห็นสัจธรรมของชีวิตจนเกิดปัญญาที่จะสามารถปล่อยวางความเจ็บป่วย ทรัพย์สิน การงาน ญาติมิตร ตัวตน อันนำไปสู่การตายดีในที่สุด อย่างไรก็ตามการช่วยเหลือด้านจิตใจของผู้ป่วยไม่ได้จำกัดเพียงพระสงฆ์เท่านั้น ทุกคนสามารถทำหน้าที่ช่วยเหลือด้านจิตใจ หรือจิตวิญญาณของผู้ป่วยได้เช่นกันถ้ามีจิตใจเมตตา กรุณา มีทัศนคติและทักษะเกี่ยวกับความเจ็บป่วยและการตายที่ถูกต้อง

          ประการที่สอง สังฆะ คือ อุดมการณ์ที่จะทำบทบาทหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุดในการช่วยเหลือผู้ป่วย ซึ่งไม่ได้มาจากการถูกบังคับให้แสดงบทบาทตามที่เขียนไว้ในเอกสารจริยธรรมวิชาชีพเท่านั้น แต่มาจากหน้าที่ที่ตนยินดี สมัครใจทำเพราะเห็นคุณค่าในงาน งานนั้นได้เติมเต็มความสุขและความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ในการนี้พระสงฆ์สามารถใช้ความรู้ด้านศาสนาในการเยียวยาดูแลจิตใจ เป็นเนื้อนาบุญให้ผู้ป่วยได้บำเพ็ญกุศล ขณะที่บุคลากรโรงพยาบาลสามารถดูแลด้านร่างกายอย่างประณีตให้ผู้ป่วยไม่เจ็บปวดทุกข์ทรมานจนเกินไป จิตอาสาในชุมชนสามารถใช้ต้นทุนความสัมพันธ์ ความรู้เกี่ยวกับบริบทสังคมวัฒนธรรมในการดูแลให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลด้านสังคม จิตใจ และสามารถปิดช่องว่างที่บุคลากรโรงพยาบาลมักจะมีงานล้นมือได้เป็นอย่างดี

          ประการที่สาม สังฆะ คือ การพึ่งพา เกื้อกูลซึ่งกันและกันของผู้คน หน่วยงาน ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมเพื่อดูแลผู้ป่วย สังฆะในความหมายนี้คือสภาวะแห่งความเป็นชุมชนร่วมกัน และไม่สามารถแยกได้อย่างชัดเจนว่า นี่คือพระ นั่นคือจิตอาสา โน่นคือพยาบาลหรือผู้ป่วย เพราะทุกคนคือเพื่อนร่วมชุมชนแห่งความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ผู้ดูแลได้เกื้อกูลผู้ป่วยด้วยการเยียวยาร่างกายและจิตใจ ผู้ป่วยก็เยียวยาผู้ดูแลด้วยการเปิดเผยให้ได้เห็นความจริงแห่งการเกิด แก่ เจ็บ ตาย การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปอย่างถ่องแท้ สังฆะในระดับนี้จึงไม่ได้ต้องการเพียงแค่ทีมดูแลผู้ป่วยที่ประกอบด้วยพระสองรูป พยาบาลสองคน จิตอาสาสามคน ที่ดูแลผู้ป่วยห้าคนในตำบลหนึ่ง แต่ต้องการบุคลากรทั้งองคาพยพที่จะเกื้อกูลผู้ป่วยด้วยการดูแลร่างกาย จิตใจ สังคม ปัญญา อันเป็นวิถีที่สอดคล้องกับการเกื้อกูลตามธรรมชาติในสากลจักรวาล

          การดูแลผู้ป่วยไม่สามารถแยกส่วนอย่างโดดเดี่ยว บุคลากรของโรงพยาบาลประสบวิกฤตในการดูแลสุขภาพ ประสบกับความเครียดและความกดดันในทุกทิศทุกทางผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจนไม่สามารถให้บริการได้อย่างมีคุณภาพและทั่วถึง พระสงฆ์ถูกสังคมคาดหวังให้ทำงานตอบโจทย์ของสังคมมากขึ้น นอกเหนือไปจากการทำพิธีกรรมทางศาสนาและใช้ทุนทางสังคมที่มีอยู่มากมายให้เกิดประโยชน์ ผู้ป่วยจำนวนมากอยู่ในชุมชน แต่ไม่ได้พบกับจิตอาสาที่มีศักยภาพ มีความเข้าใจสังคมวัฒนธรรมและความสัมพันธ์เป็นทุนเดิม ดังนั้น การสร้างโอกาสและพื้นที่ในการทำงานดูแลผู้ป่วยร่วมกันระหว่างบุคลากรด้านสุขภาพ ผู้นำทางศาสนา และคนในชุมชน จึงเป็นความพยายามหนึ่งในการหาทางออกจากวิกฤตการดูแลสุขภาพที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น

          การเอื้ออำนวยให้เกิดระบบสังฆะในการดูแลผู้ป่วยยังมีเรื่องท้าทายอีกมาก เนื่องจาก พระ พยาบาล จิตอาสาในชุมชน ต่างมีชุดความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรมเป็นของตนเอง การจัดกระบวนการเรียนรู้และระบบดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ยังต้องฝ่าฟันก้าวข้ามอุปสรรคทั้งที่เป็นเรื่องภายในจิตใจของแต่ละคน ความสัมพันธ์ระหว่างทีมดูแลผู้ป่วย ตลอดจนระบบโครงสร้างขององค์กรสงฆ์ โรงพยาบาล และชุมชน แต่ด้วยงานดูแลผู้ป่วยมีคุณค่าในตัวเอง การได้ช่วยเหลือเยียวยาความทุกข์ของผู้คนย่อมสร้างความสุขแก่ทีมดูแลผู้ป่วย เป็นพลัง แรงบันดาลใจ และกำลังใจในการทำงานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายและผู้ป่วยเรื้อรังอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในที่สุด

คอลัมน์: